อินโนเวชั่นที่ปลูกแรงบันดาลใจ

2 พี่น้อง CORO พอท มิตรดนัย และ พีท พันดนัย สถาวรมณี

“คลอโรฟิลล์” สารสีเขียวช่วยสร้างพลังงานให้กับพืชพันธุ์ฉันใด CORO Field ฟาร์มเกษตรสวยที่ปลูกด้วยนวัตกรรมก็ให้พลัง มอบแรงบันดาลใจให้เกษตรกรไทย รวมทั้งผู้มาเยือนฉันนั้น ฟาร์มที่เป็นมากกว่าธุรกิจแต่คือแพสชั่นอันแรงกล้าของสองพี่น้องที่ต้องการสร้างคุณค่าให้สังคมรอบตัว และยกระดับเกษตรกรไทย

หนีความเครียดอันจำเจ สู่โซลูชั่นที่แพสชั่น เงิน เวลาและความสุขมาพบกัน


“5 ปีแรกของการทำงานกับธุรกิจปุ๋ยออแกนิคของครอบครัว ผมมีโอกาสทำงานกับลูกค้าซึ่งก็คือเกษตรกรตั้งแต่เหนือจรดใต้ เดือนนึงได้นอนบ้านไม่เกิน 3 วัน แทบไม่เจอพ่อแม่เลย ทุกดือนต้องแบกปุ๋ยไปเอง ลงนาข้าวมาเป็นพันๆ ที่ ชีวิตเหนื่อยมาก ลองคิดถึงภาพเซลขายปุ๋ยที่ต้องลุยไปทั่วประเทศดูสิ” คุณพอทเล่าถึงจุดเริ่มต้นของชีวิตหนุ่มนักเรียนนอกที่เพิ่งจะจบมาหมาดๆ  ในการก้าวเข้าสู่ธุรกิจการเกษตรเต็มตัว เมื่อถามว่าเหนือมั้ยกับการทำงานหนักขนาดนี้ คุณพอทตอบว่าไม่เหนื่อยเพราะว่าไม่ท้อ ความเครียดกับการทำงานหนักมันต่างกัน ต่างที่ความสุข เพราะในวันนั้นคุณพอทยังมีแพสชั่น  “มีคุณยายคนหนึ่งทำนาข้าวที่เชียงรายมา 70 ปี คุณยายบอกไม่เคยมีเจ้าของบริษัทไหนเลยที่ลงมาเดินดูนาข้าวกับแกแบบนี้  ผมเจอประโยคแบบเดียวกันอีกมาก มันเป็นแรงบันดาลใจให้เรารู้ว่าสิ่งที่ทำอยู่มันยังมีคุณค่า”

poch

ส่วนคุณพีทผู้น้อง ชีวิตการทำงานในตลาดหุ้นที่ดูโก้หรู แต่ต้องเคร่งเครียด มีแต่ความเร่งรีบทุกวัน อยู่กับหน้าจอ ดูกราฟ ดูตัวเลข “จริง ๆ ก็สนุก เป็นสิ่งที่เราชอบ แต่มันคงไม่ใช่อย่างเดียวที่เราอยากมีในชีวิต เคยจินตนาการว่าถ้าเราอายุ 60 มีเงินเยอะมาก ๆ แต่เราอาจไม่มีความสุขก็ได้ หรือรู้สึกเสียดายชีวิตที่ผ่านมาจัง”

เมื่อต้องทำสิ่งเดิม ๆ ซ้ำ ๆ ที่ไม่ใช่เป้าหมายที่แท้จริงของชีวิต ความเครียด ความเหนื่อยล้าสะสม การตั้งคำถามเรื่องคุณค่าของชีวิต ว่าเราเกิดมาทำไม? ณ โมเมนท์ ที่สองพี่น้องเกิดประกายความคิดเรื่องการใช้ชีวิตที่มีคุณค่าขึ้นมาพร้อม ๆ กัน  ถึงแม้จะอยู่ในบริบทที่ต่าง แต่พวกเขาก็มีจุดหมายเดียวกัน “ถ้าเงินเป็นเรื่องสำคัญ มันจะดีกว่ามั้ยถ้าเราหาเงินและมีความสุขไปด้วย แล้วมันก็สร้างคุณค่าบางอย่าง สิ่งที่มีคุณค่ามากกว่า ก็คือเวลาของเรา” และนั่นเป็นจุดเริ่มต้นของโปรเจค CORO Field นั่นเอง

สร้างนวตกรรมที่ทำได้จริง ต่อยอด เพิ่มมูลค่าให้สิ่งที่มี


“เราบอกว่าอยากพัฒนาคุณภาพชีวิตเกษตรกรไทย แต่มันไม่เกิดขึ้นจริง เราพูดเท่ๆ แต่เรารู้ว่าสิ่งที่เราลงมือทำมันไม่ใช่   เลยเริ่มเกิดคำถามว่าเราทำอะไรอยู่ แล้วเราจะทำสิ่งนี้ไปจนตายหรือเปล่า?”


เมื่องานเดิมที่ทำ ไม่ได้ตอบโจทย์ที่ต้องการมีส่วนร่วมในการมอบสิ่งดี ๆ ให้สังคมและยกระดับเกษตรกรไทย และที่สำคัญเป็นสิ่งที่มีแพสชั่นที่จะทำสิ่งนั้นได้ในระยะยาว จึงย้อนกลับมาดูต้นทุนเดิมที่มีอยู่ ทั้งที่ดินที่สวนผึ้งและโรงงานปุ๋ยออแกนิคของครอบครัวที่สามารถนำมาต่อยอดได้ “มันคงไม่ใช่มีแค่เราที่ต้องใช้ชีวิตเร่งรีบแบบนี้ เลยเป็นแรงบันดาลใจที่จะทำสถานที่ท่องเที่ยวขึ้นมา อยากให้มันเป็นที่ที่ให้พลังบวกกับคนที่มาเที่ยว จึงกลายเป็นชื่อ CORO Field เพราะ Chlorophyll เป็นสารที่ให้พลังกับพืช เราก็หวังว่าที่นี่จะเป็นสถานที่ท่องเที่ยวที่ให้พลังกับคนที่ทำงานเคร่งเครียด เร่งรีบเหมือนที่พวกเราเป็น กลับไปแล้วมีแรงในการทำงานต่อไป” ทั้งคู่ตั้งโจทย์ที่ยิ่งใหญ่มากว่า “เราต้องการทำฟาร์มที่ดีสุดที่ว่าไม่ใช่เพราะเราอยู่สวนผึ้งแล้วคนมาเที่ยวสวนผึ้งก็เลยแค่แวะมา แต่ต้องการทำให้ดีขนาดที่ว่าคนต่างชาติที่มาเที่ยวประเทศไทยเพราะ CORO Field อยู่ประเทศนี้

จึงเป็นที่มาของทุกดีเทลที่ใส่เข้าไปเต็มที่ คือดีที่สุดเท่าที่ประสบการณ์ของเด็กสองคนในวันนั้นจะพึงนึกได้ ทั้งสองเริ่มศึกษาและทำ R&D โปรเจคนี้อย่างเข้มข้นตั้งแต่ปี 2012  เพราะคุณพีทเองไม่มีความรู้เรื่องการเกษตรเลย แต่มุ่งมั่นว่าต้องปลูกเองให้ได้จริง ๆ ไม่ใช่แค่สร้างภาพหลอก ๆ กับนักท่องเที่ยว  ถ้าเราจะอินสไปร์คนอื่นได้เราต้องทำให้ได้จริงก่อน ทั้งคู่ใช้เวลากว่าสามปีจนสามารถเปิด CORO Field ในปี 2015

ความสวยงามที่เรียบง่าย ความเนี้ยบทุกอย่างที่เห็นไม่ใช่เรื่องง่ายแค่ดีดนิ้ว แต่เกิดจากการศึกษาและใส่ใจในทุกรายละเอียดอย่างจริงจัง “ตั้งแต่กระดาษทิชชู จนถึงเพลงที่เปิดในร้านผมก็เป็นคนกดเลือกมาเอง เพราะเป็นโปรเจคที่เราอยากจะทำเงินด้วย แล้วก็อยากมันส์กับมันด้วย”


ไกลกว่าแค่เรา แต่คือการยกระดับเกษตรกรไทย

“ตอนที่ผมบวช ไปบิณฑบาต เรารู้อยู่แล้วว่าญาติโยมเขาตั้งใจเอาของที่ดีที่สุดมาตักบาตรให้เรา ตอนเปิดฝาขึ้นมาเหมือนชีวิตโดนฟ้าผ่าเป็นครั้งแรก เพราะทั้งบาตรมีแต่ข้าว ข้าวเหนียว ข้าวเจ้า ไม่มีกับข้าวเลย นี่เขาให้สิ่งที่ดีที่สุดแล้ว คนทั้งหมดที่มาตักบาตรเขาคือลูกค้าเราที่เป็นเกษตรกรทั้งนั้น  วันนั้นผมตัดสินใจได้ทันทีตั้งแต่ตอนยังเป็นพระเลยว่า พอเราสึกออกมาแล้วเราจะไม่ทำธุรกิจนี้แล้ว เราจะไม่ทำอะไรที่ขายของเกษตรกรอย่างเดียวแต่มันต้องเป็นอะไรที่มากกว่านั้น” คุณพอทเล่าถึงเหตุกาณ์ก่อนที่เขาและคุณพีทตัดสินใจทำ CORO Field

แล้วดอทที่สองก็เคลื่อนมาบรรจบ เมื่อคุณพอทเริ่มปลูกผักสลัดออแกนิคขายร่วมกับรุ่นพี่คนหนึ่ง เมื่อคนขายปุ๋ยไม่เคยปลูกพืช และครั้งนั้นเป็นการปลูกพืชจริง ๆ เป็นครั้งแรก เขาถึงได้เข้าใจว่าทำไมขายปุ๋ยแล้วลูกค้าบอกว่าไม่ได้ผล ได้บทเรียนสำคัญว่าการทำการเกษตรนั้นมีปัญหาต่างๆ มากมาย ทำไมคนทำเกษตรถึงไม่สามารถหลุดออกจากวงจรหนี้นอกระบบได้ เพราะเกษตรกรไม่ใช่คนทำตลาด เขาไม่มีตลาดในมือ ทุกอย่างมันอยู่ที่ปลายทาง แต่วันนี้เราอยากเป็นส่วนหนึ่งในการพัฒนาคุณภาพและคุณค่าของวงการเกษตรไทย เท่าที่เราสามารถทำได้ “เรารู้ตัวเองดีว่าเราไม่มีกำลังที่จะสามารถทำทุกอย่างได้ แต่มันเป็นแพสชั่นว่าจากนี้ไป เราอยากให้เรื่องของเราเป็นมากกว่าเรื่องของเรา เราอยากจะพูดถึงเรื่องคนอื่น เราอยากจะพัฒนาสินค้าในแบบสวนผึ้งที่มันมีคุณค่า ในรูปแบบที่คนกรุงเทพต้องซื้อสิ่งนี้ ไม่ใช่เพราะว่าเขาสงสารเกษตรกร แต่ว่าสินค้านั้น มันดีจริง ๆ...อยากจะบอกคนบนโลกใบนี้ เวลาเจอคนอิสราเอล คนญี่ปุ่น คนเนเธอร์แลนด์ เราจะบอกเขาว่า ถ้าคุณอยากดูเกษตรที่มันเจ๋งมาก ๆ คุณต้องมาเมืองไทย ที่นี่มีเกษตรขนาดจิ๋วอยู่ประมาณล้านฟาร์มและทุกฟาร์มเจ๋งในแบบที่เขาเป็น”

ไม่ได้แค่ปลูกต้นไม้ แต่เราปลูกแรงบันดาลใจ

“ที่นี่เราไม่ได้ปลูกต้นไม้ แต่เราปลูกแรงบันดาลใจให้กับคนที่มาที่นี่ ไม่ว่าจะเป็นเกษตรกรหรือคนเมืองที่มาเที่ยว อยากให้เขาได้แรงบันดาลใจที่ดีให้กับตัวเอง ไปสร้างอะไรดีๆ ให้กับตัวเอง เมื่อคุณแข็งแรงขึ้น คุณก็จะมีเวลาที่จะสร้างอะไรดีๆ ให้กับคนที่อยู่รอบตัวคุณได้ ณ สังคมและสถานที่แห่งนั้น” คุณพอทเล่าอย่างภูมิใจ

ความพิเศษของที่นี่ คือการผสมผสานกันอย่างลงตัวระหว่างการปลูกพืชที่เรียกว่าปลูกยากในเมืองไทยและเรื่องของดีไซน์ที่ใช้ในการปลูกพืช ซึ่งสามารถนำไปใช้ได้จริงกับผู้ที่มาเยี่ยมชมด้วย จึงเกิดเป็นส่วนผสมที่รวมกันแล้วเป็นสิ่งที่เห็นในวันนี้ ณ CORO Field สวนผึ้ง  จริง ๆ บ้านเรามีของดีๆ มีผลไม้ที่อร่อยมากมาย อยากให้เกษตรกรไทยสามารถยืนในเวทีโลกได้และเราอยากเป็นส่วนหนึ่งในการสร้างสิ่งนั้น ทำให้เห็นว่าถึงแม้จะยาก แต่ก็ทำได้จริงถ้าเราศึกษาอย่างจริงจังและไม่ยอมแพ้ ที่นี่เป็นเหมือนมินิมิวเซี่ยมของสองพี่น้องที่ให้คนเขาเข้ามาสัมผัสได้จริง มากกว่าแค่เปิดร้านอาหาร เพราะบางทีคนทานอาจไม่เคยเห็นต้นพืชนั้นตอนอยู่บนดินเลย มีลูกค้าหลายคนที่บอกว่าเพิ่งเคยเห็นต้นสลัดเป็นครั้งแรก ตอนเปิดแรกๆ เวลาทำกิจกรรมบนแปลงดินก็ให้ถุงมือเขาไปมือจะได้ไม่เปื้อน แต่เขาโยนถุงมือทิ้งแล้วเอามือไปคลุกกับดิน เราเห็นพ่อ แม่ ลูก สนุกด้วยกัน มีรอยยิ้มกับการทำการเกษตรเล็กๆ ด้วยกัน ถึงแม้จะเป็นเพียงช่วงเวลาสั้นๆ ความสุขที่ความเรียบง่ายโดยใช้ธรรมชาติเป็นสื่อ และการมีโมเมนท์ที่ใกล้ชิดกันของครอบครัวที่นับวันจะน้อยลงทุกทีในสังคมเมืองที่เต็มไปด้วยความเร่งรีบ


ยิ่งยาก ยิ่งยั่งยืน

“ถ้าเลือกทำอะไรที่ง่ายไม่นานคนอื่นก็ทำตาม แต่ถ้าเลือกทำอะไรที่ยาก ที่มี Barrier to entry ที่มันหนามาก ๆ มันยากมากเมื่อเวลาที่คุณทำสำเร็จแล้ว คนอื่นจะทำตามได้ ยากกว่าแต่สนุกและยั่งยืนกว่า” ประโยคนี้ของคุณพีททำให้เรามีแรงฮึดที่จะต่อสู้เพื่อทำเป้าหมายที่ยากให้เกิดขึ้นจริง

มีคนถามทั้งคู่เยอะว่าทำไมถึงเลือกปลูกเมลอนญี่ปุ่น  ที่เลือกเมลอนเพราะ ณ วันนั้นเป็นพืชที่ไม่ได้ปลูกง่าย ทั้งสองอยากหาพืชที่สามารถสร้างแรงบันดาลใจ พืชเมืองนอกแต่ปลูกได้ที่สวนผึ้งซึ่งห่างจากกรุงเทพไม่ถึงสองร้อยกิโลเมตร นอกจากเมลอน ยังมีมะเขือเทศเชอรรี่จากเนเธอร์แลนด์และผักสลัดต่าง ๆ ซึ่งคอนเซ็ปต์คือ พยายามหลีกเลี่ยงการปลูกพืชที่ใคร ๆ ก็ปลูกได้ พยายามทำน้อยแต่ว่าได้มาก โดยมีกฎในการเลือกพืชที่จะมาปลูกอยู่ 5 ข้อ คือ 1) เป็นพืชที่ปลูกได้ในต้นทุนที่มี  2) เลือกพืชที่ปลูกได้ดีกว่าค่าเฉลี่ยของตลาด 3) ต้องมีตลาดรองรับสินค้า 4) ต้องยากที่จะทำตาม และ 5) เมื่อลงทุนแล้วต้องสามารถทำต่อเนื่องได้เพราะมันเป็นธุรกิจ ซึ่งทั้งหมดมีต้นทุน มีพนักงานที่ไม่ใช่แค่จะจ้างเขามาสามเดือนแล้วให้เขาออก และในวันที่ไม่มีผลผลิต ก็ต้องสามารถเลี้ยงพวกเขาให้มีรายได้เท่าเดิมได้

จนในที่สุดจึงเลือกเมลอนเพราะคนที่มาเที่ยวสวนผึ้งส่วนใหญ่เป็นคนไทย เลยมองว่าคนไทยชอบของนอก บวกกับเมลอนเป็นผลไม้ที่ทั้งคู่ชอบ “พื้นฐานคืออีก 10 ปีเราจะยังอยากกินหรืออยากทำในสิ่งที่เราทำในวันนี้หรือไม่ เพื่อไม่ให้สิ่งที่เราทำในวันนี้มันเสียเปล่า” รวมทั้งต้องสามารถเพิ่มมูลค่าของสิ่งที่ทำได้ด้วยคือการสร้างประสบการณ์ให้ผู้มาเยือน นอกจากเรื่องสถานที่ก็ยังมีสินค้าที่ไปทำร่วมกับผู้เชี่ยวชาญด้านอื่น ๆ เช่น มีแยมที่ทำกับเชฟทีมชาติไทย หรือไอศกรีมเมลอนที่นำไปวางขายตามซุปเปอร์มาเก็ตดังๆ


สร้างคอมมูนิตี้เพื่อแบ่งปัน เพราะเกษตรเป็นธุรกิจที่โดดเดี่ยวไม่ได้

“แพสชั่นของพวกผมคืออยากทำให้เกษตรกรไทยยั่งยืนขึ้น วันนี้ถือว่าเราเป็นตัวแทนของภาคเกษตรที่อยากจะสัญญาและบอกตัวเองว่าหนึ่งปีที่อยู่กับ SCB เราจะทำหน้าที่ยื่นมือไปจับเกษตรกรให้เยอะที่สุด ให้เขารู้ยังมีออฟชั่นมากมายที่ช่วยให้เขาไม่ต้องเดินคนเดียว” จริง ๆ แค่ยื่นมือเข้ามา เขาจะได้ประโยชน์อะไรมากมายจากที่เขาไม่เคยรู้เลยว่าสามารถจะได้ความรู้และความช่วยเหลือมากมายจากธนาคารเพื่อต่อยอดธุรกิจของเขา

เมื่อทั้งคู่ได้พบกับผู้บริหารและ Mentor รุ่นพี่หลายๆ คน จึงเห็นเจตนาของแบงก์ที่มีความจริงใจในการสนับสนุน SME ไทยให้เติบโต ทั้ง SCB และ Mentor มีทั้งความรู้ ประสบการณ์ที่พร้อมจะให้อย่างจริงใจ รวมทั้งบริการต่าง ๆ ที่สามารถสนับสนุนหรือแก้ปัญหาให้นักธุรกิจ การมีคนช่วยชี้ทางนั้นมันง่ายกว่าและเร็วกว่า มีคนที่มีความเชี่ยวชาญในแต่ละเรื่องคอยให้คำปรึกษา เราไม่ต้องเก่งเองทุกเรื่อง “เราอยากสร้างคอมมูนิตี้ แบ่งปันกับเกษตรกรด้วยกัน เพราะการทำการเกษตรเป็นธุรกิจที่อยู่คนเดียวไม่ได้ แล้วเราก็ผ่านอุปสรรค ต่าง ๆ มาแล้ว เรายินดีที่จะสานต่อความตั้งใจนี้กับ SCB และร่วมกันแก้ปัญหาให้กิจการเกษตรกรไทยได้เติบโตขึ้นจริง ๆ”

บทสนทนากับคุณพอทและคุณพีททำให้เห็นว่าคุณรุ่นใหม่ที่มีความคิดสร้างสรรค์ มีความมุ่งมั่นและพร้อมที่จะใช้ศักยภาพที่ตัวเองมีในการยกระดับภาคเกษตรไทยที่เป็นคนส่วนใหญ่ของประเทศให้มีคุณภาพชีวิตที่ดีขึ้นยังมีอยู่ สองพี่น้อง CORO ทำให้เราเห็นว่าการเกษตรเป็นอาชีพที่ “Cool” และสามารถเบรนด์กับอุตสาหกรรมอื่น ๆ ได้อย่างกลมกลืน ไม่ว่าจะเป็นเกษตรกับการท่องเที่ยว การเกษตรเพื่อสุขภาพ และเรื่องอื่น ๆ อีกหลากหลาย เพราะเกษตรคือรากฐานของชีวิตไม่ใช่แค่ประเทศไทย แต่มันคืออุตสาหกรรมพื้นฐานที่หล่อเลี้ยงชีวิตของคนทั้งโลก


#SCBSME #SMEwithPurpose #เพื่อSMEเป็นที่1 #SCBmentor

ผลิตภัณฑ์และบริการที่เกี่ยวข้อง