แชมป์ประเทศไทย ผู้เปลี่ยนแพสชันเป็นธุรกิจเพื่อคนรักจักรยาน

นพปฎล พิริยะกุล

พิริยะ อินเตอร์เนชั่นแนล


“ถ้าวันนั้นผมไม่กล้าขอแม่ไปเบลเยียม ก็จะไม่มีวันนี้ เพราะเมื่อยี่สิบกว่าปีก่อน เงินสามหมื่นถือว่ายิ่งใหญ่มากสำหรับเด็กต่างจังหวัดที่พ่อเป็นข้าราชการครู และต้องเลี้ยงดูคนในครอบครัวถึงสามคน”


ในวันนั้น มีเด็กหนุ่มวัย 18 ปี ดีกรีแชมป์จักรยานประเทศไทยออกเดินทางเพื่อล่าฝันกว่า 5,000 ไมล์ จนได้พบธุรกิจจากสิ่งที่รัก ที่วัดความละเอียดกันในระดับมิลลิเมตร เขากลับมาเพื่อทำธุรกิจท่ามกลางเสียงไม่เห็นด้วยของคนรอบข้างและคำว่าเป็นไปไม่ได้ ตั้งหน้าตั้งตาต่อจิ๊กซอว์แห่งความสำเร็จ วันแล้ววันเล่าโดยไม่ย่อท้อ จน ณ วันนี้ ในแวดวงจักรยานไม่มีใครที่ไม่รู้จัก คุณบาส นพปฎล พิริยะกุล กรรมการผู้จัดการ บริษัท พิริยะ อินเตอร์เนชั่นแนล จำกัด ผู้นำเข้าจักรยานและอุปกรณ์ระดับโลกที่คัดสรรมาแล้วเพื่อคนไทย

bass-piriya

ออกล่าฝัน ผจญโลก

“ผมเห็นหิมะในหนัง เลยถามพ่อว่า หิมะเป็นยังไง มันเย็นจริงมั้ย มันเป็นน้ำแข็งจริงเปล่า พ่อหันมาตบไหล่เบาๆ แล้วบอกว่า พ่อไม่รู้ พ่อก็ไม่เคยเห็นหิมะ ถ้ามีโอกาสได้ไปเห็นก็บอกพ่อด้วยว่าหิมะเป็นยังไง” บทสนทนาระหว่างพ่อกับคุณบาสในวัยเด็ก ยังประทับอยู่ในความทรงจำมาตลอด จนทำให้วันหนึ่งเขาตัดสินใจออกล่าฝันสู่การเป็นนักกีฬาจักรยานอาชีพ ด้วยการเดินทางข้ามน้ำข้ามทะเลโดยลำพังไปยังกรุงบรัสเซลส์ ประเทศเบลเยียม ที่ซึ่งเต็มไปด้วยผู้คนที่ชื่นชอบในจักรยาน และเป็นแรงบันดาลใจให้กับคนรักจักรยานได้เป็นอย่างดี เป็นการเดินทางไกลครั้งแรกของเด็กต่างจังหวัดคนหนึ่ง ด้วยเงินที่ได้จากครอบครัว 30,000 บาท หมดไปกับค่าตั๋วเครื่องบิน 22,000 บาท เหลือเงินสำหรับเริ่มต้นที่เบลเยียมเพียง 8,000 บาท กับเสื้อผ้าติดตัวไปไม่กี่ชุด ไม่มีแม้แต่เสื้อกันหนาวสักตัว เป็นการไปด้วยความกล้า บวกกับความไม่รู้โดยแท้จริง ไม่รู้ว่าเบลเยียมอยู่ไกลแค่ไหน ไม่รู้ว่าอากาศเป็นอย่างไร ไม่รู้ภาษาที่จะใช้สื่อสารกับคนที่นั่น ไม่รู้เลย...


ที่สุดแล้ว คุณบาสต้องทำงานล้างจานเพื่อความอยู่รอด และใช้ภาษาท่าทางในการสื่อสารกับคนที่บรัสเซลล์ที่ใช้ภาษาฝรั่งเศสเป็นหลัก หลายสิ่งไม่เป็นไปอย่างที่คิด โดยเฉพาะการที่ได้ไปทดสอบฝีเท้าของตัวเองในประเทศที่เป็นโลกของจักรยานและวิทยาศาสตร์การกีฬาเจริญก้าวหน้าระดับหนึ่งแล้ว ทำให้คุณบาสรู้ตัวว่า เขาสู้คนที่นี่ไม่ได้ และการจะเป็นนักกีฬามืออาชีพก็คงไม่สามารถเลี้ยงตัวเองได้ แต่ความรักและหลงใหลในจักรยานก็ไม่ได้หดหายไปแม้แต่น้อย จนวันหนึ่งเขาก็พาตัวเองมาทำในสิ่งที่รักจนได้ ด้วยการที่เข้าไปช่วยซ่อมจักรยานให้กับคุณลุงคนหนึ่งที่กำลังต่อคิวรอซ่อม ลุงคนนั้นทึ่งในความสามารถของคุณบาส ที่แค่มองก็จับจุดแก้ไขได้อย่างง่ายดาย พอเจ้าของร้านจักรยานรู้เข้า จึงรับคุณบาสมาเป็นช่างประจำร้านตั้งแต่วันนั้นเป็นต้นมา

ขอทำในสิ่งที่รัก และจะไม่ขออะไรอีกแล้ว

การได้ทำงานในร้านจักรยาน ทำให้คุณบาสได้เห็นสินค้าเกี่ยวกับจักรยานหลายอย่างที่ประเทศไทยยังไม่มี แต่ถ้ามีจะดีมาก ได้เห็นโอกาสในการทำธุรกิจจากสิ่งที่รัก เพราะโลกของจักรยานต้องอาศัยความเข้าใจ และใส่ใจรายละเอียดในระดับมิลลิเมตร แค่เปลี่ยนสเต็มสูงขึ้นหรือต่ำลง 2 มิลลิเมตร หรือความยาวของเฟรมต่างกัน 10 -20 มิลลิเมตร ก็มีผลต่อท่าและประสิทธิภาพของการขี่ หลังจากอยู่เบลเยียมได้ปีกว่า คุณบาสตัดสินใจกลับเมืองไทยเพื่อเปิดบริษัทนำเข้าจักรยานและอุปกรณ์กีฬาชนิดนี้ นี่จึงเป็นจุดเปลี่ยน และเป็นจุดเริ่มต้นของทุกๆ อย่างในชีวิตของผู้ชายที่ชื่อ นพปฎล พิริยะกุล ผู้มีความกล้าและความเพียรเป็นที่ตั้งเหมือนชื่อสกุลของเขา และเป็นที่มาของ บริษัท พิริยะ อินเตอร์เนชั่แนล จำกัด


คุณบาสกลับมาบ้านเกิดด้วยเงิน 200,000 บาท เขาบอกที่บ้านว่า “ผมจบด็อกเตอร์ชีวิตแล้ว และอยากเปิดร้านนำเข้าอุปกรณ์จักรยาน” ในตอนนั้นคุณบาสไม่กล้าบอกว่าจะเปิดบริษัท เพราะเป็นเรื่องที่เข้าใจยาก เขากราบเท้าขอเงินจาก แม่ ป้า และน้า มาเป็นทุนเปิดร้าน แม้ทุกคนจะไม่เห็นด้วย แต่ก็ให้เงินทุนมาคนละ 200,000 บาท รวมแล้วเป็น 800,000 บาท คุณบาสรู้ว่าสิ่งที่เขากำลังจะทำ ขัดกับความรู้สึกของผู้ใหญ่ เพราะตอนนั้นทั้งอำเภอที่เขาอยู่มีข่าวออกไปว่า “ลูกอาจารย์ที่เรียนหนังสือไม่จบ กลับมาแล้ว” พ่อคุณบาสเป็นครูสอนคนมาเยอะ แต่ลูกชายตัวเองกลับเรียนหนังสือไม่จบ ความรู้สึกของพ่อแม่จะเป็นเช่นไรคงเดาได้ไม่ยาก เขาจึงรับปากที่บ้านว่าจะกลับไปเรียนวิศวกรรมศาสตร์ที่ดรอปไว้ให้จบ แต่เมื่อจบแล้ว จะขอทำในสิ่งที่ตนเองรัก และจะไม่ขออะไรอีกแล้ว!

ก้าวแรกกับสินค้าตัวแรก

แม้จะบอกที่บ้านว่าจะเรียนให้จบก่อน แต่ธุรกิจรอไม่ได้ ในเมื่อไฟแห่งการเป็นผู้ประกอบการถูกจุดให้ติดแล้ว คุณบาสจึงเลือกที่จะเรียนไปด้วย ทำงานไปด้วย เขาขอเช่าพื้นที่จากคนรู้จักแถวรามคำแหงมาจดทะเบียนบริษัท แล้วนั่งลิสต์ว่าอยากจะมีแบรนด์อะไรบ้าง แต่ด้วยเงินทุนหลักแสน จึงต้องเริ่มต้นจากหมวกกันน็อกก่อน โดยแบรนด์ที่เขาเลือก นอกจากต้องได้มาตรฐานแล้ว ยังต้องเหมาะกับศีรษะคนเอเชียด้วย เขาบินไปกลับเมืองนอกปีกว่า หมดเงินไปเกือบ 400,00 บาท เพื่อให้ได้แบรนด์แรกนี้ คุณบาสเล่าให้ฟังว่า ทางนั้นต้องการมาเช็กตลาดเมืองไทย และจะแวะมาเยี่ยมออฟฟิศกับดีลเลอร์ของคุณบาส ก่อนจะตัดสินใจให้เป็นตัวแทนจำหน่ายหรือไม่ ซึ่ง ณ ขณะนั้น ออฟฟิศคุณบาสเป็นเพียงที่อยู่บนเว็บไซต์กับกระดาษเท่านั้น ดีลเลอร์สักรายก็ยังไม่มี เขาจึงต้องเลี่ยงไปว่าออฟฟิศกำลังรีโนเวทอยู่ แล้วลงทุนไปเปิดห้องพักที่โรงแรมหรูแห่งหนึ่งติดริมน้ำเจ้าพระยาให้ทางนั้นเข้าพัก รวมถึงใช้เป็นที่พูดคุยธุรกิจกันด้วย


เนื่องจากคุณบาสมีความเข้าใจสินค้าอย่างแท้จริง และนำเสนอได้เป็นอย่างดี ยิ่งเมื่อทางนั้นรู้ว่าคุณบาสเป็นนักกีฬาด้วย ก็ยิ่งพอใจ แต่เรื่องไม่จบเท่านี้ ทางเจ้าของแบรนด์จะขอไปเยี่ยมดีลเลอร์ก่อนกลับประเทศด้วย คุณบาสคิดหนักว่าจะเอาอย่างไรดี สุดท้ายจึงตัดสินใจพาไปร้านขายจักรยานที่เขาพอจะรู้จัก และทำทีเป็นพูดคุยกับเจ้าของร้านเรื่องหมวก จบลงด้วยการถ่ายรูปร่วมกัน หลังจากนั้น 3 วัน ชื่อบริษัท พิริยะ อินเตอร์เนชั่นแนล ก็ได้ไปอยู่ในรายชื่อตัวแทนของแบรนด์นี้อย่างเป็นทางการ นับเป็นความภูมิใจเล็ก ๆ แต่ยิ่งใหญ่สำหรับเด็กหนุ่มวัยเพียงยี่สิบต้นๆ ที่สามารถนำเข้าสินค้าตัวแรกที่เป็นแบรนด์ระดับโลกได้สำเร็จ

เมื่อเด็กหนุ่มต้องขายความเป็นมืออาชีพ

ช่วงแรกของการเปิดบริษัทที่ต้องเรียนไปด้วย ทำงานไปด้วย ต้องแบ่งทั้งร่างกายและสมอง เวลา 24 ชั่วโมงจึงแทบไม่มีเวลาพักผ่อน คุณบาสใช้เวลาช่วงก่อนนอนในการแพคสินค้า เข้านอนตีสาม ตื่นหกโมงเช้า ขึ้นมาเคลียร์งาน และเอกสารต่างๆ พอสายก็แต่งตัว ใส่ชุดทำงานออกไปส่งของ จากนั้นขับรถไปเยี่ยมดีลเลอร์ เสนอสินค้าตัวใหม่ เที่ยงกินข้าว บ่ายเปลี่ยนเป็นเสื้อเชิ้ตขาวเพื่อเข้าห้องเรียน พอเลิกเรียนก็เปลี่ยนกลับเป็นเสื้อทำงาน แล้วทำงานต่อ เพราะเขาจะขายความเป็นเด็กไม่ได้ ต้องขายความเป็นมืออาชีพ จึงต้องไม่ให้ใครรู้ว่าเขายังเรียนอยู่ กว่าจะได้กินข้าวเย็นก็ประมาณสองทุ่ม จากนั้นตอบอีเมลกับเมืองนอก หาสินค้าใหม่ๆ แล้วกลับมาแพคของเพื่อเตรียมส่งในวันถัดไปอีกครั้ง วงจรชีวิตของคุณบาสเป็นเช่นนี้อยู่เกือบ 4 ปี นอนแค่วันละ 3 ชั่วโมง เคยขับรถไปหาลูกค้าที่ต่างจังหวัด แล้วหลับในจนเกือบเกิดอุบัติเหตุก็มี


ส่วนการดีลงานกับต่างประเทศ หลายครั้งที่ฝรั่งไม่เชื่อว่าคุณบาสเป็น MD (Managing Director) เพราะเขาเป็นคนผอม แก้มตอบ ใส่สูทแล้วดูไม่สง่า เพื่อนชาวต่างชาติจึงแนะนำให้คุณบาสเพิ่มน้ำหนัก และบอกกับเขาว่า “เวลาดีลงานที่เมืองนอก เขาไม่รู้ว่าเรากินข้าวกับอะไร บ้านเราใหญ่แค่ไหน เขาดูเราแค่ 3 อย่าง คือ นาฬิกา รองเท้า และปากกาที่เราใช้เซ็นสัญญา” คำพูดของเพื่อนในวันนั้นทำให้คุณบาสปรับภาพลักษณ์ตัวเองใหม่ ไม่ว่าจะเป็นการเพิ่มน้ำหนักตัว ตัดผมสั้น ลงทุนเรื่องการแต่งกาย  เพราะสุดท้ายแล้ว ทุกอย่างคือการสร้างความน่าเชื่อถือนั่นเอง

ในวันที่ชีวิตและธุรกิจไม่เหมือนเดิม

คุณบาสทำงานคนเดียวมา 4 ปี ด้วยเงินตั้งต้น  800,000 บาทในการหมุนเวียนธุรกิจ จนผ่านไปประมาณ 9 ปีหลังจากเปิดบริษัท ภรรยาคุณบาสได้รับเอกสารติดต่อมาจาก SCB เพื่อเสนอวงเงินให้กับธุรกิจ ขณะนั้นคุณบาสอยู่ที่ฝรั่งเศส จึงให้ภรรยาตอบปฏิเสธไป แต่ก็ยังได้รับการติดต่อจากธนาคารกลับมาอีก จนคุณบาสยอมรับนัด แต่นัดในเวลา 11:30 น เพราะตั้งใจจะคุยแค่ครึ่งชั่วโมง แต่สุดท้ายบทสนทนาในวันนั้นกลับยาวไปถึง 5 โมงเย็น คุณบาสเล่าให้ฟังว่า “เป็นการคุยกันที่สนุกมาก เหมือนได้เปิดโลกใบใหม่ ให้ผมได้รู้ในสิ่งที่ผมไม่รู้” หลังจากวันนั้น คุณบาสก็ได้วงเงินจาก SCB มาก้อนหนึ่ง และเงินก้อนนี้ก็ได้กลายเป็นปัจจัยสำคัญที่ทำให้ธุรกิจของเขาเติบโตขึ้นแบบก้าวกระโดด


"วันนั้นเราคิดว่าแค่นี้เราพอ เรามีความสุขกับการทำแบบนี้ และเราก็ได้ยินมาตลอดว่าการเป็นหนี้ไม่ดีนะ แต่จริงๆ แล้วไม่ใช่! เพราะเราฟังจากคนที่ไม่ได้ทำธุรกิจ พอผมมีโอกาสได้คุย ทำให้เห็นเลยว่า การเข้าถึงแหล่งเงินทุนเป็นเรื่องสำคัญ วันที่เราไม่มี เราต้องใช้ วันที่เรามีแล้วเราต้องการขยาย เราก็ต้องใช้ สุดท้ายแล้ว ผมประทับใจมาก และจากวงเงินก้อนแรกนี้ ผมโตขึ้น 180% จาก 45 ล้าน ขึ้นเป็น 65 ล้าน ภายในปีนั้นเลย


นอกจากวงเงินก้อนแรกที่เขาได้จาก SCB แล้ว เขายังได้รู้อีกว่า SCB มีเครื่องมือมากมายที่สามารถหยิบยื่นให้ผู้ประกอบการอย่างเขาได้ เช่น บริการสินเชื่อเพื่อการนำเข้า (Trust Receipt) ที่สามารถชำระเงินด้วย Letter of Credit (L/C)  ทำให้ไม่ต้องใช้เงินสดในการสั่งซื้อไปก่อน ช่วยให้มีความปลอดภัยและเกิดสภาพคล่องในการทำธุรกิจมากขึ้นอีกด้วย

ความสำเร็จ จากหัวใจที่ใหญ่พอ

การเริ่มต้นมักยากเสมอ แต่ก็ไม่ยากเกินความพยายาม เวลาเจออุปสรรค ปัญหา คุณบาสจะไม่ฟังเสียงที่สองของตัวเอง แต่เขาจะบอกตัวเองว่า “การตัดสินใจครั้งแรกถูกต้องเสมอ” กว่าจะมาถึงวันนี้ เขาไม่ได้โชคดี แต่เขาซื่อสัตย์กับแพสชันของตนเอง และลงมือทำ ถ้าใจเราใหญ่พอ มีความปรารถนามากพอ เราก็สามารถทำได้ เหมือนสถิติที่ถูกทำลายอยู่เสมอ เพราะมีคนที่พยายามพัฒนาตัวเองตลอดเวลา “ผมเลือกที่จะเสียใจ ไม่เลือกเสียดาย ทำให้มันสุด ดีกว่ามาพูดว่า รู้อย่างนี้ทำก็ดี เพราะฉะนั้น อยากสำเร็จต้องรักในสิ่งนั้น ตั้งใจ มุ่งมั่น หาทางสู่ความสำเร็จ เหมือนหลักอิทธิบาท 4 ของพระพุทธเจ้า”


ถ้ามีคนบอกว่าช่วงนี้วงการจักรยานไม่ดี ให้เปลี่ยนธุรกิจ คุณบาสให้คำตอบไว้ว่า “ผมไม่เปลี่ยนแน่นอน แต่ผมจะปรับให้ผมทันสมัยมากขึ้น” นอกจากนี้เขายังบอกอีกว่า การที่เราจะเป็นอย่างไรในอีก 5 ปีข้างหน้า ขึ้นอยู่กับหนังสือที่เราอ่านและเพื่อนที่เราคบ นี่เป็นเหตุผลที่ทำให้คุณบาสเข้ามาร่วมเป็นหนึ่งใน Mentor ให้กับ SCB SME เพราะเขาอยากทำหน้าที่เป็นเพื่อนที่พูดภาษาเดียวกับผู้ประกอบการ เหมือนนักกีฬามาคุยกัน ไม่ใช่คนบนอัฒจรรย์มาพูดสอน “ผมเป็นผู้เล่นเหมือนคุณ ผมอยากให้กำลังใจคุณ คุณมีความมุ่งมั่นอยู่แล้ว เราพูดภาษาเดียวกัน ธุรกิจมีแค่เรื่องคน เรื่องเงิน ปัญหาจริงไม่มี ถ้าเข้าใจก็จะอยู่รอด”

ปัจจุบันคุณบาสนำเข้าจักรยานและอุปกรณ์จักรยาน รวมแล้ว 22 แบรนด์ทั่วโลก เช่น อิตาลี เยอรมัน อังกฤษ อเมริกา ญี่ปุ่น ไต้หวัน เป็นต้น ซึ่งทุกแบรนด์ล้วนเป็นสิ่งที่นักปั่นจักรยานอย่างเขาคัดสรรมาแล้วว่าเหมาะกับสรีระและการใช้งานของคนไทย มีราคาที่สมเหตุสมผล และตรงกับความต้องการของลูกค้าอย่างแท้จริง รวมถึงบุคลากรที่จะมาทำงานในบริษัทของคุณบาส ก็ต้องมีความรักในจักรยานเช่นกัน เพราะออฟฟิศของเขาไม่ได้ตั้งอยู่ในห้างหรือแหล่งคอมมูนิตี้ที่แวดล้อมไปด้วยความสะดวกสบาย แต่ต้องอยู่กับล้อ ยางใน เส้นลวด ดังนั้นถ้าไม่รักจักรยานจริงก็จะอยู่ไม่ได้  คุณบาสจึงมีสูตรในการหาคนอยู่ว่า “เราต้องทำตัวให้ดีพอ เพื่อให้เค้าหาเราเจอ” และนี่ก็คือตัวตนของ บริษัท พิริยะ อินเตอร์เนชั่นแนล ที่ทำธุรกิจเพื่อคนรักจักรยานอย่างแท้จริง

#SCBSME #SMEwithPurpose #เพื่อSMEเป็นที่1 #SCBMentor #Bike #PiriyaInternational

ผลิตภัณฑ์และบริการที่เกี่ยวข้อง