จากกระดาษแห่งความรัก สู่ธุรกิจสร้างสรรค์ระดับเวิลด์คลาส

แคทลียา ท้วมประถม - วิริยา ท้วมประถม

The Idea Essential


คำกล่าวที่ว่า “ธุรกิจของครอบครัวมักจะส่งต่อไปไม่ถึงทายาทรุ่นที่ 3” ถูกตอกย้ำว่าเป็นความจริงซ้ำแล้วซ้ำเล่า ยิ่งถ้าสินค้าในธุรกิจนั้นคือ “การ์ดแต่งงาน” ที่ปัจจุบันมีความต้องการลดลงเรื่อยๆ จากทั้งกระแสโลกออนไลน์และค่านิยมการแต่งงานที่เปลี่ยนไป แต่สองพี่น้องทายาทรุ่นหลานอย่าง คุณกิ๊ฟ-แคทลียา และ คุณนดา-วิริยา ท้วมประถม เลือกที่จะสานต่อธุรกิจที่บรรพบุรุษได้วางรากฐานไว้ และเส้นทางนี้ก็ได้มอบทั้ง “ทดสอบและบทเรียน” ที่เปลี่ยนแปลงทั้งคู่มาจนทุกวันนี้

ที่เล็ก หัวใจใหญ่

จุดเริ่มต้นธุรกิจครอบครัวของคุณกิ๊ฟและคุณนดาถือกำเนิดขึ้นในช่วงสงครามโลกครั้งที่ 2 จากแผงเล็กๆของรุ่นย่า ขายการ์ดแต่งงานและของชำร่วยบนถนนพาหุรัด ซึ่งย่านสำเพ็ง-พาหุรัดถือเป็นแหล่งรวมสินค้าขายส่ง เสื้อผ้า แพรพรรณ เครื่องประดับ คลาคล่ำไปด้วยผู้คนจากทั่วทุกสารทิศที่มาจับจ่าย ไม่ว่าจะขายอะไรในย่านนี้ก็ล้วนขายดิบขายดี เป็นทำเลทองที่พ่อค้าแม่ขายต่างแย่งกันจับจองพื้นที่ ไม่เว้นแม้แต่แผงเล็กๆ ของรุ่นย่าคุณกิ๊ฟและคุณนดา ที่ต่อมาได้ขยับขยายมาเป็นร้าน

ทั้งสองได้มาดูแลกิจการการ์ดแต่งงานและของชำร่วยที่เป็นร้านเล็กที่สุดของรุ่นพ่อ คุณกิ๊ฟซึ่งเรียนจบมาดูแลธุรกิจก่อนคุณนดา 2 ปี ได้ตั้งเป้ากับตัวเองว่า “จะต้องทำร้านที่เล็กที่สุด ให้กลายเป็นธุรกิจที่สร้างรายได้มากที่สุดให้ได้” และนี่ก็คือจุดเริ่มต้นการสานต่อธุรกิจครอบครัวของทายาทรุ่นที่ 3 คู่นี้

gift-cattleya

งานเก่า ของเลือดใหม่

ลองนึกภาพย้อนกลับไปในยุคทองของย่านการค้าแห่งนี้ ถนนพาหุรัดเป็นแหล่งที่ใครจะทำการ์ดหรือหาของชำร่วยก็ต้องมาที่นี่ แต่ละร้านขายของเหมือนๆ กัน จะเดินเข้าร้านไหนก็ไม่ต่างกันนัก เพื่อให้ลูกค้าเลือกที่จะเข้าร้านของพวกเธอ จึงต้องสร้างแบรนด์ให้เป็นที่จดจำและประทับใจ เพราะคนไม่ได้ซื้อแค่สินค้า แต่ซื้อเพราะแบรนด์ด้วย ทั้งคู่จึงลุกขึ้นมาเปิดประสบการณ์และมุมมองใหม่ของการ์ดแต่งงานให้กับลูกค้า ลบภาพการ์ดหงส์แดงมังกรทองแบบเดิมๆ ออกไป สร้างความต่างเพิ่มมูลค่าด้วยงานดีไซน์ที่สร้างสรรค์ขึ้นจาก Insight ของลูกค้า ใส่ความเป็นตัวตนของว่าที่บ่าวสาวลงไป และไม่ลืมประทับโลโก้เล็กๆ เป็นซิกเนเจอร์บอกให้รู้ว่า การ์ดใบนี้ทำจากร้านของพวกเธอ เราจะได้เห็นการ์ดแต่งงานแนวแฮรี่ พอตเตอร์ หรือการ์ดที่ดูคล้ายพาสปอร์ตที่บอกเล่าเส้นทางกว่าจะมีวันนี้ของว่าที่บ่าวสาว ตลอดจนการ์ดที่ดูแปลกตาคล้ายตั๋วหนังแบบคลาสสิกจนเราต้องหยิบขึ้นมาดู ทำให้เห็นรอยปรุที่สามารถทำเป็นหางบัตรให้ฉีกออกมาลุ้นรางวัลในงานได้ด้วย การ์ดแต่ละแบบจึงมีเอกลักษณ์เฉพาะตัว แต่ในขณะเดียวกันก็ยังคงความหมายของการเรียนเชิญและให้เกียรติแก่ผู้รับไว้อย่างครบถ้วน จากการ์ดแต่งงานที่ขายได้ใบละสิบกว่าบาท กลายเป็นการ์ดที่ลูกค้ายินดีจ่ายในราคาใบละเป็นร้อยหรือเป็นพัน ภายใต้แบรนด์ "VIRIYA" และ "ANYA"

การทำการ์ดแต่งงานไม่ใช่แค่เรื่องของคนสองคน แต่เป็นครอบครัวสองครอบครัวที่กำลังจะมาเชื่อมโยงกัน เราจะได้เห็นโมเมนต์ที่น่ารักอยู่เสมอ เช่น เจ้าสาวมาเลือกการ์ดกับพ่อเจ้าบ่าว หรือบ่าวสาวมาเลือกการ์ดแต่ให้คุณแม่เป็นคนตัดสินใจ นอกจากนี้ยังมีโมเมนต์ที่ต้องทำการ์ดให้ดีที่สุดและเร็วที่สุดเพื่อให้คุณพ่อที่ป่วยเป็นมะเร็งได้ทันเป็นส่วนหนึ่งในวันแต่งงานของลูก

เด็ดเดี่ยว ในวันที่โดดเดี่ยว

มีคำพูดหนึ่งที่คุณนดาเคยได้ยินที่ว่า “ถ้ามันเกิดเหตุการณ์อะไรขึ้น อยากให้เกิดก่อนอายุ 30” แล้วก็มีเหตุการณ์เกิดขึ้นจริงในช่วงวัยยี่สิบกว่าของทั้งคู่ และกลายเป็นจุดเปลี่ยนครั้งสำคัญในชีวิตที่ทั้งคู่ไม่อาจลืมได้เลย วันที่ทุกอย่างกำลังไปด้วยดี มีงานออกแบบเข้ามาล้นมือ แต่แล้วข่าวร้ายก็มาเยือน ทีมดีไซน์เนอร์ถูกคู่แข่งซื้อตัวและพากันมาลาออกแบบยกทีม! ดั่งกองทัพที่ไร้ทหาร แม่ทัพจึงยิ่งต้องเข้มแข็ง วันนั้นทั้งคู่ตระหนักได้ทันทีว่า “ไม่ควรเอาธุรกิจไปผูกติดกับใคร เราจะต้องทำให้เป็นทุกหน้าที่ หากเกิดเหตุการณ์อะไรขึ้น ธุรกิจของเราจะยังอยู่ได้” แม้วันนั้นจะเสียน้ำตา แต่สิ่งที่ได้กลับมาคือแนวคิดและรูปแบบการทำธุรกิจที่เปลี่ยนแปลงทั้งคู่มาจนทุกวันนี้ "ไม่เป็นไร เดี๋ยวนดาจะเป็นดีไซเนอร์เอง" คำพูดที่เด็ดเดี่ยวและแน่วแน่ในวันนั้น ทำให้คุณนดาได้ค้นพบศักยภาพใหม่ๆ ของตัวเอง จากคนที่เรียนบัญชีบริหารด้านผู้ประกอบการ มาวันนี้ทำงานกราฟิกดีไซน์ได้ด้วย ถ้าไม่มีเหตุการณ์ในวันนั้น ก็จะไม่มีผู้หญิงเก่งสองคนที่ทำได้ทุกอย่างในวันนี้

เมื่อ “แหล่ง” ไม่ใช่จุดขายอีกต่อไป

ธุรกิจในทำเลทองของคุณกิ๊ฟและคุณนดาที่ทุกอย่างดูเหมือนจะเป็นไปด้วยดี จากร้านคูหาเดียวถูกขยายเป็นสองคูหาเพื่อรองรับลูกค้าที่มากขึ้น แต่แล้วจุดแข็งนี้ก็ถูกแทนที่ด้วยร้านเล็กๆ มากมายบนโลกออนไลน์ ทำให้วันนี้ไม่เหมือนเดิมอีกต่อไป จากทำเลที่ทุกคนแย่งกันมาเปิดร้าน หลายร้านทยอยปิดตัวลง คำว่า “ไม่ยิ้มก็ขายได้” ใช้ไม่ได้อีกต่อไป ลูกค้ามีทางเลือก ของทุกอย่างในย่านนี้สามารถหาซื้อได้ง่ายๆ เพียงปลายนิ้ว มีส่วนลดและโปรโมชันมากมาย ขายไม่จำกัดจำนวนชิ้น แถมส่งถึงที่อีกต่างหาก ธุรกิจของสองพี่น้องก็ได้รับผลกระทบเช่นกัน จากที่ลูกค้าเคยสั่งทำการ์ดครั้งละหมื่นใบ พันใบ ปัจจุบันเหลือไม่กี่ร้อยใบ ในวันที่คู่แข่งไม่ใช่เพื่อนบ้าน แต่เป็นใครไม่รู้บนโลกออนไลน์ที่ไม่มีทั้งทำเลและหน้าร้าน แต่ขายของเหมือนกับเราได้ การปรับตัวจึงเกิดขึ้นอีกครั้ง เมื่อออนไลน์มาดิสรัปท์ธุรกิจ ก็ต้องแก้วิกฤตินี้กลับด้วย "ออนไลน์" ลูกค้าอยู่ที่ไหน สินค้าของพวกเธอต้องไปอยู่ที่นั่น และจากการทำการตลาดออนไลน์อย่างจริงจัง ทำให้คุณกิ๊ฟและคุณนดาได้ลูกค้าในน่านน้ำใหม่ๆ ทั้งในประเทศและต่างประเทศ ปัจจุบันนอกจากมีร้าน VIRIYA ที่พาหุรัดแล้ว ยังมีร้าน ANYA ที่ทองหล่อ และขยายธุรกิจต่อยอดไปเปิดในประเทศเพื่อนบ้านอย่างเมียนมา และลาวอีกด้วย

สนุกกับทุกการปรับเปลี่ยน

แม้จะสามารถขายการ์ดได้มากขึ้น แต่ในวันที่มีลูกค้าครบสามคนมาบอกกับพวกเธอว่า “การ์ดแต่งงานไม่ต้องทำแพง เดี๋ยวเค้าก็ทิ้ง” คุณกิ๊ฟบอกกับคุณนดาทันทีว่า "เราต้องหาอะไรใหม่ๆ ทำแล้ว" คำว่าธุรกิจของครอบครัวในความคิดของทั้งคู่ไม่ได้จำกัดอยู่ที่ตัวสินค้า แต่จะเป็นอะไรก็ได้ที่สามารถพัฒนาต่อยอดออกไปเพื่อให้ถึงเป้าหมายที่ตั้งไว้ “เราไม่จำเป็นต้องโตจากสิ่งที่เคยมี ไม่จำเป็นต้องยึดธุรกิจการ์ดแต่งงานเป็นที่ตั้ง”

ธุรกิจของทั้งคู่จึงไม่ได้หยุดอยู่แค่การ์ดแต่งงานและของชำร่วย ในเมื่อมีทีมดีไซน์เนอร์ที่แข็งแกร่ง ก็สามารถต่อยอดไปได้หลากหลาย เป็นการพลิกโฉมจากร้านเล็กที่สุดของครอบครัวในวันนั้น มาเป็นธุรกิจสิ่งพิมพ์ งานออกแบบ พร้อมของชำร่วย ครบวงจร จากการ์ดแต่งงานขยายไปสู่สิ่งพิมพ์ในรูปแบบต่างๆ ไม่ว่าจะเป็น Stationary สวยๆ หรืองานออกแบบโลโก้ และแพ็กเกจจิ้ง แปลงของชำร่วยงานแต่งให้เป็นของพรีเมียม ปรับแต่งติดริบบิ้นสีดำทำเป็นของชำร่วยงานศพ นอกจากนี้ยังให้คำปรึกษาเรื่องแบรนดิ้งและการตลาดตามความถนัดที่ได้ร่ำเรียนมา พวกเธอเชื่อว่าถ้าไม่ยึดติดก็จะมีความสุขและสนุกกับการปรับเปลี่ยน เรียนรู้และทดลองทำสิ่งใหม่ๆ เพื่อพัฒนาตัวเองอยู่เสมอ เพราะ " สิ่งที่น่ากลัวก็คือเด็กรุ่นใหม่ๆ ที่จะก้าวมาเป็นคู่แข่งในอนาคต" คุณนดาทิ้งทายไว้อย่างน่าคิด

เพื่อนที่ผูกพัน คู่คิดคู่ธุรกิจ

SCB เป็นธนาคารที่ครอบครัวของคุณกิ๊ฟและคุณนดาเลือกใช้มาตั้งแต่รุ่นคุณพ่อ เปรียบเหมือนเพื่อนที่รู้จักกันมานาน และเพื่อนคนนี้ก็ได้นำสิ่งดีๆ เข้ามาในธุรกิจ “ทุกครั้งที่เข้าไปคุยกับ SCB จะได้ความสบายใจกลับไป ถ้าไม่มี SCB ก็ไม่มีวันนี้” คุณกิ๊ฟกล่าวด้วยน้ำเสียงสดใสปนรอยยิ้ม โดยเฉพาะการที่ทั้งคู่ได้มาเป็นส่วนหนึ่งของ SCB SME ทำให้รู้จักโครงการ IEP (Intelligent Entrepreneur Program) ที่เป็นเหมือนการพาตัวเองไปอยู่ท่ามกลางคนเก่งๆ ที่ช่วยเปิดโลกธุรกิจในมุมมองใหม่ๆ ได้ประสบการณ์ที่หาจากที่ไหนไม่ได้ ช่วยให้ธุรกิจเติบโตแบบก้าวกระโดด

นอกจากเพื่อนต่างธุรกิจแล้ว ยังได้รู้จักเพื่อนในกลุ่มธุรกิจเวดดิ้งที่สามารถแชร์เคสและปรึกษาปัญหาที่คล้ายๆ กันได้ เป็นคอนเนกชันที่สร้างประโยชน์และความสำเร็จได้มากกว่าเดิม หลังจากนั้นทั้งคู่กลับมาเป็น"ผู้ให้"ด้วยการเป็นหนึ่งใน Mentor ที่ SCB Business Center รวมถึงยังรับเชิญเป็นวิทยากรในหลักสูตรและงานสัมมนาต่างๆ ที่จัดโดยธนาคารไทยพาณิชย์อีกด้วย

แง่งามของความเป็น Family Business

มุมที่ท้าทายของธุรกิจครอบครัวคือการเปลี่ยนความคิดคนรุ่นก่อนให้ยอมรับการปรับเปลี่ยนเพื่อให้เท่าทันโลกธุรกิจในยุคดิสรัปชัน คนรุ่นใหม่ต้องรู้จัก Compromise ค่อยๆ ทำให้รู้ พิสูจน์ให้เห็น ในขณะเดียวกันก็ต้องให้ความเคารพคนรุ่นก่อน “ อย่าลบล้างสิ่งที่เขาเคยทำมา เพราะนั่นคืออาณาจักรและความสุขของเขา” คุณนดาให้ประโยคที่เป็นข้อคิดนี้ไว้

นอกจากนี้ทั้งคู่ยังบอกถึงเสน่ห์ในการทำธุรกิจครอบครัวที่เธอไม่สามารถหาได้จากที่ไหนก็คือ การได้อยู่ใกล้ชิดพ่อแม่ที่เป็นทั้งที่ปรึกษาชีวิตและธุรกิจ ได้กินข้าวด้วยกัน ได้เดินไปโอบกอดกันทุกวัน เราไม่แปลกใจเลยว่า สองสาว“ครอบครัวถ้วมประถม” คู่นี้ได้ DNA ที่เป็นพลังบวกในการทำธุรกิจมาจากใคร

#SCBSME #SMEwithPurpose #เพื่อSMEเป็นที่1 #SCBmentor

ผลิตภัณฑ์และบริการที่เกี่ยวข้อง