AccRevo นวัตกรรมที่ทำให้นักบัญชีได้ดูซากุระบานในเดือนเมษายน

ราชิต ไชยรัตน์ CEO & Co-Founder CNR GROUP , AccRevo

นวลศิริ วรเมธวิวัฒน์ Director & Co-Founder CNR GROUP, AccRevo

 

สัญญาณชีพของหัวใจที่เต้นเป็นจังหวะสำคัญต่อชีวิตของคนเราฉันใด บัญชีซึ่งเปรียบเสมือนสัญญาณชีพของธุรกิจก็สำคัญต่อการอยู่รอดและเติบโตของธุรกิจฉันนั้น...ไม่ต้องหาซินแซหรือหมอแมะมาชี้ทางเติบโตหรือช่องโหว่ทางธุรกิจ เพราะข้อมูลบัญชีที่แม่นยำนั่นแหละคือการแมะที่แม่นยำที่สุดในการนำพาธุรกิจให้อยู่รอดและเติบโต

เวิร์คไลฟ์ที่ไม่บาลานซ์ จุดเจ็บของนักบัญชี

ในยามพลบค่ำของเดือนเมษายน ตึกสำนักงานกลางกรุง ทยอยดับไฟลงชั้นต่อชั้นจนแทบไม่เหลือดวงไฟที่เปิดอยู่ ซึ่งเป็นสัญญาณว่าพนักงานส่วนใหญ่ทยอยเลิกงานและกลับบ้านกันแล้ว แต่ยังมีชั้นหนึ่งที่ดวงไฟยังสว่างจ้า ยังมีมนุษย์ออฟฟิศจำนวนหนึ่งยังคงทำงานอยู่อย่างคร่ำเคร่งในยามค่ำคืน อาจจะพอเดาได้ว่าชั้นนั้นต้องเป็นฝ่ายบัญชีที่ยุ่งอยู่กับตัวเลขเพื่อปิดงบประจำปีสำหรับปีที่ผ่านมา สำนักงานบัญชีเป็นงานที่หนัก ต้องจมอยู่กับกองเอกสาร สิ่งสำคัญเหนือสิ่งอื่นใดคือคุณภาพชีวิต “ชีวิตนักบัญชีใครก็รู้ว่างานหนัก เหนื่อย เครียด สงกรานต์ก็ไม่ได้หยุด ไม่มีเวลาดูแลครอบครัว แล้วถ้าเลือกที่จะอยู่ในวิชาชีพนี้ในระยะยาว ย้อนกลับมามองดูว่าเราจะมีคุณภาพชีวิตแบบนี้ต่อไปหรือเปล่า มันมีบางอย่างผิดพลาด สิ่งที่ผิดคือกระบวนการที่ใช้แรงคนมากเกินไป” คุณเต้ยเป็นผู้สอบบัญชีรับใบอนุญาตและทำวิชาชีพนี้รวมแล้วมากกว่า 20 ปี หลังจากเคยทำงานกับบริษัทระดับ Big 4 ของแวดวงบัญชี ก็ย้ายมาช่วยธุรกิจของคุณพ่อและดูแลต่อเนื่องจากคุณพ่อมาจนทุกวันนี้ รวมระยะเวลา 12 ปี “เราเคยมีชีวิตอย่างนั้นมา รู้สึกว่าเราก็เหมือนนักบัญชีคนอื่นๆ เรากลับดึกเพื่อนก็กลับดึก ก็เฮฮาปกติ

acc-revo5

แต่มีครั้งหนึ่งผมเสร็จงานตี 3 ขับรถกลับบ้าน ระหว่างที่ขับรถกลางถนนสาทร ก็ตั้งคำถามกับตัวเองว่าแล้วเราจะมีชีวิตแบบนี้ไปอีกนานแค่ไหน? ถ้าวูบหลับไป ถ้าวันนั้นเราสะลึมสะลือแล้วมีอุบัติเหตุ จะเป็นยังไง เลยตั้งคำถามว่าจริงๆ เราควรมีคุณค่าชีวิตแบบนี้มั้ย? การทำงานแต่เช้า แล้วเสร็จเช้าอีกวัน มันไม่ใช่คุณภาพชีวิตที่ดี และทำให้น้องๆ ที่เข้ามาอยู่ในวิชาชีพนี้ไม่อยากทำ เพราะรู้สึกว่างานหนักไม่มี lifestyle ไม่มี work life balance”


เมื่อนักบัญชีอยากมีชีวิตบาลานซ์และสื่อสารกับนักธุรกิจได้ง่ายขึ้น

จาก pain point เรื่องคุณภาพชีวิตของนักบัญชีเอง การทำงานที่ต้องใช้เวลาและแรงงานมาก รวมทั้งปัญหาในการสื่อสารกับลูกค้าเพราะนักธุรกิจส่วนใหญ่มองว่าบัญชีเป็นเรื่องเข้าใจยาก เมื่อตระหนักว่าปัจจุบันเทคโนโลยีมีบทบาทมากขึ้น คุณเต้ยและคุณหมุยจึงเริ่มมองว่าจะสามารถนำเทคโนโลยีอะไรมาใช้ในการพัฒนาวิชาชีพนี้ได้บ้าง ทำให้ทั้งคู่เริ่มมองหาเทคโนโลยีเพื่อช่วยให้การทำงานง่ายขึ้น มีประสิทธิภาพมากขึ้น เหนื่อยน้อยลง รวมทั้งเจ้าของธุรกิจเองก็ได้ใช้ประโยชน์สูงสุดจากข้อมูลบัญชีที่ถูกต้องแม่นยำและที่สำคัญคือเร็ว จึงลองหาเทคโนโลยีที่มีอยู่ในตลาดแต่พบว่ายังไม่ตอบโจทย์ที่ต้องการทั้งหมด ทั้งคู่จึงนำเทคโนโลยีที่มีอยู่มาพัฒนาต่อเป็นแพลทฟอร์มของตัวเองซึ่งก็คือ AccRevo (Accounting Services Platform) โดยใช้เวลาในการทดสอบระบบประมาณ 6 เดือน โดยช่วงแรกทดลองใช้กับลูกค้าเดิม เมื่อใช้ระบบเข้ามา ทำให้สามารถปิดบัญชีได้เร็วขึ้นเท่าตัว ในปีถัดไปมีการพัฒนาอัลกอริทึ่มที่มีประสิทธิภาพสูงขึ้น ผลคือใช้เวลาในการทำงานเพียงแค่ 20% จากเวลาเดิมที่เคยใช้ ทำให้การบันทึกบัญชีเร็วขึ้น “การทำบัญชีเหมือนการต่อจิ๊กซอร์ นักบัญชีส่วนใหญ่ต่อจิกซอร์แบบไม่เห็นขอบ ซึ่งAccRevo ช่วยจัดขอบไว้ให้ เวลาเราต่อจิ๊กซอร์แต่ละตัวออกมาเสร็จมันจะออกมาเป็นงบการเงินเรียบร้อยไม่ต้องมานั่งจัดเรียงใหม่ ลูกค้าสามารถเห็นผลลัพธ์ของงานได้ตลอดเวลา ถ้ามีอะไรที่ไม่ตรงกันก็สามารถสื่อสารและปรับปรุงได้ทันที” ลูกค้าสามารถเห็นข้อมูลงบการเงินผ่านระบบ ทั้งคู่เรียกสิ่งนี้ว่า Accosystem (Accounting Eco System) “AccRevo ทำให้เกิด work life balance คนทำงานสามารถผสานชีวิตเข้ากับการทำงานได้และทำให้เขาสามารถพัฒนาตัวเองได้ตลอดเวลา” นั่นคือความสวยงามของการปรับใช้เทคโนโลยีเพื่อให้ชีวิตมีความสุขกับการทำงานมากขึ้น

“ผมได้หยุดพักผ่อนในช่วงสงกรานต์และไปดูซากุระบานที่ญี่ปุ่นและเราเคยปิดออฟฟิศแล้วพาพนักงานไปเที่ยวเกาหลีและไหว้พระที่ฮ่องกง ซึ่งปกติเดือนเมษายนและพฤษภาคม นักบัญชีจะยุ่งมากคือป่วยไม่ได้ เหนื่อยไม่ได้ ไปไหนไม่ได้ เพราะไม่งั้นงานไม่เสร็จ ไม่มีทางที่นักบัญชีจะไปดูซากุระหรือไปเที่ยวต่างประเทศกันได้แต่เราไปกันได้แบบไม่เครียดเลย


บัญชีคือเข็มทิศ นำทางธุรกิจ

ถ้าเปรียบครูเป็นเรือจ้าง นักบัญชีก็เปรียบเสมือนเข็มทิศในการนำทางธุรกิจ โลกปัจจุบันที่ธุรกิจแข่งขันกันด้วยข้อมูล นักธุรกิจบอกว่ามีข้อมูลคนเข้าร้าน คนออกร้าน ข้อมูลคนที่สนใจสินค้า แต่ข้อมูลบัญชีคือข้อมูลของคนซื้อจริง ขายจริง ลูกค้าที่มีตัวตนจริง ๆ เป็นข้อมูลที่บ่งบอกพฤติกรรมของลูกค้า พฤติกรรมของซัพพลายเออร์ รวมทั้งบอกได้ว่าพฤติกรรมการใช้จ่ายของคนในองค์กรเป็นอย่างไร ซึ่งทั้งหมดคือหัวใจ คือเข็มทิศนำทางธุรกิจ

การมีข้อมูลทางบัญชีที่เร็วจะสามารถเห็นทิศทางธุรกิจและสามารถกำหนดแนวทางที่ถูกต้องที่จะเดินต่อไปได้ ข้อมูลเหล่านี้ช่วยตัดสินใจในเรื่องของยอดขาย การเติบโต ต้นทุน การบริหารกำไร การเลือกผลิตภัณฑ์ที่จะพัฒนาขยายต่อ การบริหารการเงิน การจัดหาแหล่งเงินทุน และการบริหารเงินทุนหมุนเวียน นักธุรกิจสามารถเอาข้อมูลมาวิเคราะห์และใช้ในการวางกลยุทธ์ให้ธุรกิจเติบโตอย่างยั่งยืน “เราจะชนะในธุรกิจได้เราต้องมีข้อมูลที่ดีก่อน”

 

เป็นทั้งคู่คิดและบอดี้การ์ด

นักบัญชียุคใหม่ต้องสามารถเป็นเพื่อนคู่คิดกับผู้บริหารได้ ทำหน้าที่เป็นล่ามแปลข้อมูลทางบัญชีให้ผู้บริหารเข้าใจได้ง่ายๆ เพื่อนำไปวางกลยุทธ์ได้ถูกต้อง ไม่ใช่แค่ทำๆ ไปเพื่อส่งกรมสรรพากรเท่านั้น! “คนไทยประมาณ 95% รู้ข้อมูลทางบัญชีตัวเองในเดือนพฤษภาของปีถัดไป ทำบัญชีเสร็จเดือนธันวาคมยื่นงบเดือนพฤษภาเพราะฉะนั้นกว่าจะรู้ว่าบัญชีเราหน้าตาเป็นอย่างไรก็เสียเวลาไปห้าเดือนแล้ว ขณะที่สัญญาณชีพของเราเราต้องรู้นาทีต่อนาที นี่คือความแตกต่างที่เราไม่รู้สัญญาณธุรกิจ”

นักธุรกิจบางคนมองว่าบัญชีเป็นต้นทุนของธุรกิจ หรือนักบัญชีของบริษัทเองมักจะได้รับข้อมูลจากฝ่ายต่างๆ แล้วก็เอามาบันทึกสิ่งที่เกิดขึ้นไปแล้ว ซึ่งทำให้ความสำคัญของฝ่ายบัญชีไม่เทียบเท่ากับฝ่ายขาย แต่เมื่อเทรนด์ของโลกเปลี่ยนไป นักบัญชีจึงต้องปรับตัว ทำงานวิเคราะห์มากขึ้น ทำงานเคียงคู่ไปกับฝ่ายต่างๆ ไม่ใช่เป็นฝ่ายซัพพอร์ตเหมือนก่อน แต่ต้องก้าวขึ้นมาเป็นคู่คิดกับผู้บริหาร นักธุรกิจเองอาจไม่จำเป็นต้องรู้เรื่องบัญชี แต่นักธุรกิจจำเป็นต้องมีนักบัญชีที่เก่งในการที่จะช่วยวิเคราะห์ บอกได้ว่า สิ่งที่กำหนดราคาขายนั้นมีกำไรหรือไม่ หรือต้นทุนตัวไหนที่สูงเกินไป ถ้าเราเปรียบเทียบว่าฝ่ายการตลาดหรือฝ่ายขายเป็นคนหาเงินเข้าบริษัทเป็นมือขวา นักบัญชีที่เก่งก็คือมือซ้ายของนักธุรกิจนั่นเอง

“บางเคสที่เราเคยเจอ เจ้าของมารู้ตัวอีกทีคือเจอลูกน้องโกง เพราะอะไร? เพราะไม่เคยทำบัญชีให้เป็นระบบ มันจึงเกิดช่องโหว่ หลายๆ เคสที่เจอคือช่วงที่เรามาจัดระบบ จะพบการทุจริต ถ้าทำบัญชีดีตั้งแต่ต้นจะปิดช่องโหว่ได้ นอกจากเป็นคู่คิดแล้วนักบัญชียังเป็นบอดี้การ์ดคอยคุ้มกันรักษาผลประโยน์ของธุรกิจอีกด้วย”

 

ครอบครัวใหญ่ที่อบอุ่น แบ่งปัน เพื่อโตไปด้วยกัน

คุณเต้ยและคุณหมุยเล่าถึงความรู้สึกที่มีต่อการได้ร่วมงานกับ SCB ว่า “เป็นแบงก์ที่มีความจริงใจ แรกๆ อาจดูเข้าถึงยากแต่พอเข้าถึงได้แล้ว SCB ช่วยเต็มที่” SCB สร้างโอกาสในการเจอลูกค้า และทำให้เข้าใจลึกซึ้งถึงประโยคที่ว่า “ยิ่งให้ยิ่งได้” นั้นเป็นอย่างไร การมีโอกาสพบลูกค้า SCB การไปเป็น speaker ในงานต่างๆ รวมทั้งการให้คำปรึกษากับลูกค้าที่ Business center “เราพบว่ายิ่งเราแบ่งปันและอยากให้เขามีธุรกิจที่ดีขึ้นแค่ไหน ธุรกิจของเราก็โตขึ้นเท่านั้น” ก่อเกิดเป็นอีโคซิสเต็มที่ดี ซึ่งทั้งคู่พบว่าสิ่งเหล่านี้ช่วยให้ธุรกิจเติบโตขึ้นแบบไม่รู้ตัว

“นอกจากยิ่งให้ยิ่งได้แล้ว ครอบครัวนี้เป็นครอบครัวของคนดีๆ ที่มาอยู่ด้วยกัน มีการช่วยเหลือกันอย่างจริงใจ แต่ละคนก็จะเก่งกันคนละด้าน เราก็เอามาแชร์กัน แทนที่เราจะโตไปคนเดียว เราโตไปพร้อมกัน ซึ่งทำให้สังคมน่าอยู่ขึ้น” คุณหมุยเสริมได้เห็นภาพอันอบอุ่นของครอบครัว SCB


ในครอบครัว Mentor ของ SCB SME ไม่ว่าสมาชิกแต่ละคนจะมีปัญหา ไม่ว่าจะเรื่องดีไซน์ เรื่องแบรนด์ดิ้ง หรือแม้กระทั่งเรื่องหลังบ้านที่เกี่ยวกับไอที ก็จะมีคนในครอบครัวที่เชี่ยวชาญแต่ละด้านที่พร้อมจะช่วยเหลือกันด้วยความเป็นเพื่อน รวมทั้งพูดคุยและตั้งเป้าหมายเรื่องความสำเร็จ การขยายธุรกิจ การไม่ยอมแพ้ ซึ่งความคิดที่เป็นบวกและการเกื้อกูลกันแบบนี้ ช่วยเติมเต็มทำให้ธุรกิจเติบโต รวมถึงปรับ mindset ที่กว้างขึ้นและมองไปข้างหน้ากับการทำธุรกิจอย่างมีพลัง

“สิ่งสำคัญที่สุดคือเวลาเราทำธุรกิจหรือดำเนินชีวิต เราไม่ได้แข็งแรงตลอดเวลา หลายๆ ครั้งที่เราพบปัญหา ไม่รู้จะไปต่อยังไง รู้สึกเหมือนว่าเราไม่มีใคร แต่เรามีครอบครัว SCB Mentor ทั้งรุ่น 1 และ 2 ที่สามารถยกหูหา เข้าไปเจอได้ รับคำแนะนำที่ดี ได้รับกำลังใจที่ดี” ซึ่งคุณเต้ยมองว่าเมื่อเขาสามารถผ่านมาได้ เขาแข็งแรงขึ้น เมื่อพบเพื่อนนักธุรกิจที่เจอเหตุการณ์เดียวกันก็อยากยื่นมือไปช่วย เพราะเคยได้รับกำลังใจและคำแนะนำดีๆ มาก่อน จึงอยากจะให้ด้วยความเต็มใจ

บทสนทนากับคุณเต้ยและคุณหมุย ทำให้เห็นว่าไม่ว่าจะอยู่ในวิชาชีพใด ถ้าเราไม่หยุดที่จะพัฒนาตัวเอง มองหาโอกาสและวิธีการใหม่ๆ ที่จะทำให้การทำงานมีประสิทธิภาพมากขึ้น ส่งมอบบริการให้ลูกค้าได้ดีขึ้น รวมทั้งพัฒนาคุณภาพชีวิตของเราเองให้สูงขึ้น เราจะไม่ถูกดิสรัปไม่ว่าโลกและเทคโนโลยีจะเปลี่ยนไปอย่างไร เพราะโลกยุคนี้ไม่ใช่ยุคที่ปลาใหญ่กินปลาเล็ก แต่เป็นมหาสมุทรที่ปลาเร็วกินปลาช้า ถ้าเราปรับตัวเร็ว เข้าใจเทรนด์โลกและมีข้อมูลที่ดีและเร็ว ถึงแม้ธุรกิจเราจะไม่ใหญ่โต เราก็สามารถเป็นปลาเร็วได้ การเห็นคุณค่าของตัวเอง การเพิ่มมูลค่าของวิชาชีพที่เราทำ จะทำให้เราก้าวขึ้นไปข้างหน้าอย่างภาคภูมิ และที่สำคัญที่สุดการรวมกลุ่มอยู่ในสังคมที่ดีที่พร้อมจะแบ่งปัน ช่วยเหลือและให้กำลังใจซึ่งกันและกันด้วยความจริงใจ จะเป็นพลังผลักดันให้เราทะยานสู่ความสำเร็จที่ไกลขึ้นอย่างไม่โดดเดียว

#SCBSME #SMEwithPurpose #เพื่อSMEเป็นที่ 1 #SCBmentor

 

ผลิตภัณฑ์และบริการที่เกี่ยวข้อง