ค่าธรรมเนียมโอนที่ดิน ควรรู้ก่อนซื้อขายอสังหาริมทรัพย์

การลงทุนในอสังหาริมทรัพย์เป็นอีกหนึ่งการลงทุนทางเลือกที่น่าสนใจ ไม่ว่าจะเป็นแบบซื้อมาเพื่อปล่อยเช่า หรือเพื่อการเก็งกำไร โดยคาดหวังว่าจะได้ส่วนต่างกำไรจากราคาอสังหาริมทรัพย์ที่ซื้อมาและขายไป อย่างไรก็ตามการขายอสังหาริมทรัพย์ย่อมมีภาระภาษี ค่าใช้จ่ายและค่าธรรมเนียมต่างๆ มาเกี่ยวข้องเสมอ โดยบทความนี้จะเล่าให้ฟังว่า ในกรณีที่เป็นบุคคลธรรมดา หากขายอสังหาริมทรัพย์จะต้องเสียภาษี ค่าใช้จ่ายและค่าธรรมเนียมอะไรบ้าง

  1. ค่าธรรมเนียม เป็นค่าธรรมเนียมในการจดทะเบียนโอนกรรมสิทธิ์ คิดในอัตราร้อยละ 2 จากราคาประเมินหรือราคาขาย แล้วแต่ราคาใดจะสูงกว่า ก็ใช้ราคานั้นในการคำนวณ โดยราคาประเมิน คือ ราคาที่รัฐบาลกำหนดให้เป็นราคากลางของอสังหาริมทรัพย์ทั่วประเทศ เพื่อใช้เป็นเกณฑ์ในการคิดค่าธรรมเนียมโอนที่ดินและภาษีจากการซื้อขายอสังหาริมทรัพย์ โดยจะมีการปรับราคาประเมินใหม่ทั่วประเทศทุกๆ 4 ปี ปัจจุบันกรมที่ดินอัพโหลดข้อมูลเกี่ยวกับราคาที่ดินทั่วประเทศ เพื่อให้ประชาชนได้เข้าไปตรวจสอบเบื้องต้น บนว็บไซต์  http://property.treasury.go.th/pvmwebsite/index.asp เพื่อให้ผู้ที่จะซื้อหรือจะขายที่ดิน จะได้กำหนดราคาได้เหมาะสม ซึ่งราคาประเมินอาจจะสูงหรือต่ำกว่าราคาซื้อขายจริงก็ได้ แต่โดยส่วนใหญ่แล้วราคาประเมินจะต่ำกว่า ส่วนราคาตลาด คือ ราคาที่ใช้ในการซื้อขายกันจริง ซึ่งจะสอดคล้องกับอุปสงค์และอุปทานของตลาดในแต่ละช่วงเวลา มีการปรับตัวตามภาวะค่าครองชีพอยู่ตลอดเวลา  ราคาตลาดจึงมักสูงกว่าราคาประเมิน

  2. ค่าอากรแสตมป์ คือ ค่าอากรแสตมป์ที่ผู้ขายต้องเสียในขั้นตอนการจดทะเบียนโอนกรรมสิทธิ์ อยู่ที่ร้อยละ 0.5 ของราคาซื้อขายหรือราคาประเมินโดยเลือกราคาที่สูงกว่ามาใช้ในการคำนวณ

  3. ภาษีธุรกิจเฉพาะ กรณีผู้ขายถือครองอสังหาริมทรัพย์เป็นเวลาน้อยกว่า 5 ปี (แบบนับวันชนวัน) จะต้องเสียภาษีธุรกิจเฉพาะ แต่ถ้าถือครองอสังหาริมทรัพย์นานเกินกว่า 5 ปี หรือมีชื่ออยู่ในทะเบียนบ้านนานกว่า 1 ปี จะได้รับยกเว้นไม่ต้องเสียภาษีธุรกิจเฉพาะ ซึ่งคิดในอัตราร้อยละ 3.3 ของราคาซื้อขาย หรือราคาประเมิน โดยเลือกราคาที่สูงกว่ามาใช้เป็นฐานในการคำนวณ กรณีที่ต้องเสียภาษีธุรกิจเฉพาะ จะได้รับยกเว้นค่าอากรแสตมป์ในข้อ 2

  4. ภาษีเงินได้ หัก ณ ที่จ่าย เนื่องจากเงินจากการขายอสังหาริมทรัพย์ถือเป็นรายได้ จึงต้องนำมาคำนวณภาษีเงินได้บุคคลธรรมดา เพื่อเสียภาษีหัก ณ ที่จ่าย โดยใช้ราคาประเมิน (40(8) มาตรา 49 ทวิ แห่ง ประมวลรัษฎากร) หักด้วยค่าใช้จ่ายเป็นการเหมาตามที่กำหนดโดยพระราชกฤษฎีกา (ฉบับที่ 165 พ.ศ. 2529) ตามจำนวนปีที่ถือครอง ดังนี้

หากอสังหาริมทรัพย์นั้น ได้รับมาโดยทางมรดก หรือ รับจากการให้โดยเสน่หาให้หักค่าใช้จ่ายได้ ร้อยละ 50


จำนวนปีที่ถือครองนั้นจะนับตามปีบัญชี โดยหนึ่งปีจะเริ่มนับตั้งแต่วันที่ 1 มกราคมไปจนถึง 31 ธันวาคมของปีเดียวกัน การซื้อขายภายในปีเดียวกันนับเป็นการถือครอง 1 ปี หากครอบครองตั้งแต่เดือนธันวาคมปีนี้ถึงมีนาคมปีหน้าก็ให้นับเป็นถือครอง 2 ปี


กรณีการขายอสังหาริมทรัพย์ที่ได้มาโดยมิได้มุ่งค้ากำไร ภาษีที่คำนวณหัก ณ ที่จ่าย สูงสุดต้องไม่เกินร้อยละ 20 ของราคาขาย แต่หากเป็นกรณีขายโดยมุ่งค้ากำไร จะไม่มีการจำกัดเพดานภาษี นอกจากนี้การขายอสังหาริมทรัพย์ที่ตั้งอยู่นอกเขตกรุงเทพมหานคร เทศบาล สุขาภิบาล หรือ เมืองพัทยา ยังได้รับยกเว้น 200,000 บาทก่อน เหลือเท่าใดจึงนำไปคำนวณหักค่าใช้จ่าย


ตัวอย่างวิธีคำนวณภาษีเงินได้

นายมั่งคั่งได้ซื้อที่ดินมาเดือนมิถุนายน 2555 และขายไปเมื่อเดือน มกราคม 2562 ในราคา 4,000,000 บาท  

* การคำนวณภาษีจากการขายอสังหาริมทรัพย์ ไม่ได้รับยกเว้นสำหรับเงินได้สุทธิ 0 - 150,000 บาทแรก

** การนับจำนวนปีในการถือครองอสังหาริมทรัพย์ เศษของปี ให้นับเป็น 1 ปี และหากถือครองเกิน 10 ปี ให้นับเพียง 10 ปี ทั้งนี้รายได้จากการขายอสังหาริมทรัพย์ที่ไม่ได้มุ่งค้ากำไร ผู้มีเงินได้มีสิทธิ์เลือกที่จะเสียภาษีตามจำนวนที่ถูกหัก ณ ที่จ่ายไว้ โดยไม่ต้องนำไปรวมคำนวณภาษีกับรายได้อื่นตามปกติได้


จากตัวอย่างการซื้อขายที่ดินข้างต้น จะมีค่าใช้จ่ายทั้งหมด ดังนี้

  1. ค่าธรรมเนียมการโอนที่ดิน 2% ของราคาซื้อขาย หรือเท่ากับ 2% x 4,000,000 = 80,000 บาท ซึ่งค่าธรรมเนียมการโอนนี้สามารถเจรจาต่อรองระหว่างผู้ซื้อและผู้ขายได้ว่าใครจะเป็นผู้ชำระค่าธรรมเนียมนี้

  2. ค่าอากรแสตมป์ 0.5% ของราคาซื้อขาย หรือเท่ากับ 0.5% x 4,000,000 = 20,000 บาท ผู้ขายเป็นผู้ชำระ

  3. ภาษีธุรกิจเฉพาะ เนื่องจากนายมั่งคั่ง (ผู้ขาย) ถือครองที่ดินมาเกินกว่า 5 ปีจึงได้รับการยกเว้นไม่ต้องเสียภาษีธุรกิจเฉพาะนี้

  4. ภาษีเงินได้หักภาษี ณ ที่จ่าย ผู้ขายเป็นผู้ชำระตามที่ได้คำนวณดังตารางข้างต้น

           

บทความโดย :  นิภาพันธ์ พูนเสถียรทรัพย์ CFP®   นักวางแผนการเงินอิสระ นักเขียนและวิทยากร