มนุษย์เงินเดือนวางแผนซื้อรถอย่างไรดี?

เชื่อว่าการมี ‘รถคันแรก’ คงเป็นความฝันของใครหลายๆ คน เพราะนอกจากจะช่วยเพิ่มความสะดวกสบายในยามเดินทางแล้ว รถยนต์ยังเป็นทรัพย์สินที่สามารถบ่งบอกฐานะได้ในระดับหนึ่ง อย่างไรก็ตาม การมีรถที่เกินฐานะทางการเงิน และกำลังในการผ่อนของตนเอง ก็อาจก่อให้เกิดปัญหาแก่ตนเองได้ ดังนั้นก่อนตัดสินใจซื้อรถ ควรถามตัวเองดังนี้


1. มีเงินเก็บบ้างแล้วหรือยัง

ในการซื้อรถ จำเป็นต้องมีเงินดาวน์ก้อนหนึ่ง โดยเฉลี่ยจะอยู่ที่ประมาณ 10% ของราคารถ เราจึงต้องมีเงินออมสำหรับการดาวน์รถ หากยังไม่มี ต้องรีบวางแผนเก็บเงิน ซึ่งก่อนจะวางแผนเก็บเงินเพื่อซื้อรถ เราควรมีสภาพคล่องอย่างน้อย 3 – 6 เท่าของค่าใช้จ่ายต่อเดือนก่อน ดังนั้นเราจึงต้องมีการวางแผนการเงินที่ดี มีการสำรวจรายได้ ค่าใช้จ่าย เงินเก็บ และความสามารถในการผ่อนชำระต่อเดือน ก่อนตัดสินใจซื้อรถ

ยกตัวอย่าง มนุษย์เงินเดือนมีรายได้เดือนละ 20,000 บาท มีค่าผ่อนรถและดอกเบี้ยรายเดือนอย่างต่ำก็ประมาณ 8,000 บาท ซึ่งเงิน 8,000 บาทจะกลายเป็นค่าใช้จ่ายคงที่ของทุกๆ เดือน เป็นภาระที่ตามมา ทำให้เหลือเงินต่อเดือนเพียง 12,000 บาทเท่านั้น และยังต้องมีภาระค่าใช้จ่ายในด้านอื่นๆ อีก ส่งผลให้อาจมีเงินไม่พอใช้ หรือไม่มีเงินเก็บได้ ดังนั้น ในการวางแผนการเงินที่ดี ภาระหนี้ไม่ควรเกิน 35% ของรายได้ต่อเดือน เราจึงต้องทบทวนสถานะทางการเงินของเราให้ดีก่อน


2. พิจารณาเป้าหมายและความจำเป็นในการซื้อรถ

ก่อนการตัดสินใจซื้อรถ เราต้องรู้เป้าหมายและความจำเป็นในการซื้อ เพราะรถยนต์เป็นสินทรัพย์ที่จะอยู่กับเรานานกว่า 1 ปี และตามมาด้วยภาระหนี้สิน ถ้าเรารู้ความจำเป็นในการซื้อรถแล้ว เราก็สามารถเลือกรถได้ตรงตามความต้องการ เพื่อให้การใช้งานเป็นไปตามวัตถุประสงค์ และช่วยสร้างความคุ้มค่าให้กับเงินที่เสียไปของเราด้วย


นอกจากนี้ ควรมีการเปรียบเทียบด้วยว่า ปัจจุบันมีค่าใช้จ่ายในการเดินทางเท่าไหร่ หากมีรถยนต์แล้ว จะช่วยประหยัดค่าใช้จ่ายในการเดินทางนี้ลงไปได้หรือไม่ หรือหากไม่สามารถประหยัดได้ ให้พิจารณาถึงความคุ้มค่าทางเศรษฐกิจของการมีรถ เช่น หากบ้านอยู่ไกลจากที่ทำงาน และต้องเดินทางหลายต่อกว่าจะมาถึงที่ทำงาน ทำให้เสียเวลา และเสียสุขภาพจิต (จากการรอรถประจำทางนานๆ หรือหารถไม่ได้ในช่วงเวลาเร่งด่วน) แม้การมีรถอาจจะไม่ได้ช่วยประหยัดค่าใช้จ่ายในการเดินทางได้เท่าไหร่ แต่ก็ช่วยประหยัดเวลาในการเดินทางได้ ก็ถือได้ว่ามีความคุ้มค่า


อย่างไรก็ตาม การเปลี่ยนรถบ่อยๆ ในระยะสั้น หรือซื้อมาขับเท่ๆ แล้วใช้ไม่เต็มสมรรถนะ หรือไม่มีความจำเป็นที่จะซื้อเลย ขอให้ลองทบทวนดูอีกครั้ง ถ้าไม่อยากมีปัญหาหนี้สินและลามไปถึงปัญหาครอบครัวในภายหลัง

3. รู้จักค่าใช้จ่ายต่างๆ ที่จะตามมาภายหลังการซื้อรถ

นอกจากค่าผ่อนรถแล้ว ยังมีค่าใช้จ่ายอีกหลายตัวที่เกี่ยวกับรถยนต์ ซึ่งจะตามมาทันทีที่เราตัดสินใจซื้อรถ อาจเรียกได้ว่าเป็น ‘ค่าใช้จ่ายแฝง’ เช่น ค่าน้ำมันรถ ค่าประกันภัย พรบ. และภาษีรถยนต์ ค่าเช็กระยะและถ่ายน้ำมันเครื่อง ค่าที่จอดรถ ค่าทางด่วน และค่าเปลี่ยนยาง เฉลี่ยออกมาอยู่ที่เดือนละประมาณ 5,000 – 6,000 บาท เมื่อรวมกับค่าผ่อนรถข้างต้น ก็เท่ากับว่าเราจะมีค่าใช้จ่ายที่เกี่ยวข้องกับการมีรถยนต์อยู่ที่เดือนละประมาณ 13,000 - 14,000 บาท หากมีเงินเดือนแค่ 20,000 บาทต่อเดือน เมื่อหักค่าใช้จ่ายที่เกี่ยวกับรถยนต์ออกไปแล้ว จะเหลือเงินไว้ใช้จ่ายไม่เกิน 7,000 บาท ซึ่งไม่น่าจะพอ และจะทำให้คุณไม่มีเงินเก็บสำหรับเป้าหมายการเงินด้านอื่นๆ ที่สำคัญไม่แพ้กัน (หรืออาจจะสำคัญกว่า)


นอกจากนี้รถยนต์ยังด้อยค่าลงทุกวัน ทันทีที่ขับรถออกมาจากโชว์รูมรถยนต์ รถนั้นก็ด้อยค่าลงแล้ว เช่น หากซื้อรถมาในราคา 800,000 บาท ถ้าต้องการขายคืน หรือไปขายที่เต๊นท์รถมือสอง จะไม่สามารถขายได้ในราคา 800,000 บาท เพราะรถยนต์นั้นมีค่าเสื่อมราคา เนื่องจากเมื่อเวลาผ่านไปรถก็จะทรุดโทรมลงตามสภาพการใช้งาน ยิ่งมีรุ่นใหม่ๆ ออกมา มูลค่าของรถคันเก่าก็มีแต่จะน้อยลงทุกที ทำให้เราไม่มีกำไรจากการขายรถ

4. มีที่จอดรถหรือไม่

เรื่องที่จอดรถนับว่าเป็นปัญหาใหญ่สำหรับคนอยากมีรถ แต่ไม่มีที่จอดรถ บางคนอยู่หอพักหรือบ้านแบ่งเช่า ที่อาจมีที่จอดรถไม่เพียงพอ บางคนอยู่บ้านทาวน์เฮาส์ แต่ก็ต่อเติมบ้านในส่วนที่เป็นลานจอดรถให้เป็นพื้นที่ใช้สอยอย่างอื่น จึงต้องเอารถมาจอดหน้าบ้าน ทำให้เกิดปัญหากีดขวางการจราจร นอกจากจะเป็นปัญหากับเพื่อนบ้านแล้ว ยังเสี่ยงที่จะถูกเฉี่ยวชนอีกต่างหาก


นอกจากนี้ที่ทำงานบางแห่งอาจมีที่จอดรถไม่เพียงพอ ทำให้หลายคนต้องออกจากบ้านตั้งแต่เช้ามืด เพื่อมาจับจองที่จอดรถในที่ทำงาน หรือหากอยากมีที่จอดรถแน่ๆ ก็ต้องจ่ายค่าที่จอดรถ ก็เป็นค่าใช้จ่ายเพิ่มเข้ามาอีก


ดังนั้นหากบ้านไม่ได้อยู่ไกลจากที่ทำงานมาก และการคมนาคมสาธารณะยังพอสะดวกสบาย ก็แนะนำว่าอย่าเพิ่งซื้อรถจะดีกว่า หากเรายังไม่มีความพร้อมในด้านใดด้านหนึ่งข้างต้น


สิ่งที่สำคัญที่สุด คือ การพิจารณาว่ารถมี “ความจำเป็น” กับเรามากน้อยแค่ไหน วางแผนค่าใช้จ่ายและพิจารณาความสามารถของตัวเองให้เหมาะสม เพื่อที่การซื้อรถในครั้งนี้ จะทำให้เราและครอบครัวได้ใช้ประโยชน์จากรถนี้อย่างคุ้มค่าที่สุด

บทความโดย :  นิภาพันธ์ พูนเสถียรทรัพย์ CFP®, ACC

นักวางแผนการเงินอิสระ นักเขียนและวิทยาก