”แบตเตอรี่” หัวใจสำคัญของรถยนต์

ถ้าเปรียบกับเกมฟุตบอล แบตเตอรี่ ก็เหมือนกองกลางที่ทำหน้าที่คอยจ่ายบอล เพื่อให้เกมลื่นไหลไม่ติดขัด แต่ผู้เล่นที่จะยืนอยู่ตำแหน่งนี้ได้ ต้องมีพละกำลัง มีความแข็งแรงเพียงพอ หากวันไหนเหนื่อยล้าอ่อนแรง ผลงานของทีมก็จะเป๋ตามไปด้วย


แบตเตอรี่ มีหน้าที่จ่ายไฟให้กับระบบต่างๆ ในรถมากมาย เริ่มตั้งแต่การสตาร์ทเครื่องยนต์ ระบบไฟส่องสว่าง ทั้งไฟหน้า ไฟเลี้ยว ใบปัดน้ำฝน  และอุปกรณ์อื่นๆ


แม้ว่าเมื่อเครื่องยนต์สตาร์ทติดแล้ว ระบบการทำงานต่างๆ จะใช้ไฟที่ได้จากเจนเนอเรเตอร์ แต่อุปกรณ์หลายอย่างก็ยังต้องพึ่งพาแบตเตอรี่ รวมถึงช่วงที่อุปกรณ์ต่างๆ ต้องการกำลังไฟมากๆ แต่เจนเนอเรเตอร์จ่ายให้ไม่เพียงพอ ก็จะดึงไฟจากแบตเตอรี่เข้าไปเสริมเพื่อให้การทำงานของระบบต่างๆ เสถียร พูดง่ายๆ คือ แบตเตอรี่จะช่วยให้กระแสไฟคงที่นั่นเอง


นอกจากจ่ายไฟแล้ว แบตเตอรี่จะทำงานได้ดี ก็ต้องรับไฟจากไดชาร์จได้ดีด้วย ซึ่งเป็นหน้าที่ของผู้ใช้รถต้องคอยดูแล 

ดูแลแบตฯ ยืดอายุใช้งาน

สิ่งแรกที่ต้องทำคือดูแลเพื่อให้การรับ-จ่ายไฟ ไม่ติดขัด เริ่มจากสภาพภายนอกของแบตเตอรี่ต้องสมบูรณ์ ไม่มีร่องรอยเสียหาย เช่น แตก บวม แต่สิ่งที่มักจะเกิดขึ้นได้ง่าย คือ ขี้เกลือที่ขั้วไฟทั้ง 2 ข้าง วิธีการแก้ไขง่ายๆ ทำได้โดยใช้น้ำอุ่นราดลงไป แล้วเช็ดให้สะอาด จากนั้นควรหาจาระบีมาทาเคลือบไว้ เพื่อป้องกันปัญหาการเกิดขี้เกลือขึ้นอีก


อีกทั้งควรหมั่นตรวจดูความแน่นของขั้วแบตเตอรี่ด้วย บางคนตกม้าตาย รถไฟหมด เพราะขั้วหลวม โดยการขันขั้วแบตฯ ไม่ต้องแน่นมากแค่ตึงๆ มือก็ใช้ได้


อีกสิ่งที่ต้องตรวจเป็นประจำ คือ การเช็คปริมาณน้ำกรด ต้องอยู่ในระดับที่กำหนดเอาไว้ โดยให้อยู่ระหว่างขีดสูงสุด (Max) และต่ำสุด (Min) ซึ่งหากเห็นว่าระดับน้ำกรดลดลงไป ก็ให้หาน้ำกลั่นบริสุทธิ์มาเติม ย้ำว่าต้องบริสุทธิ์ ได้มาตรฐาน ไม่เช่นนั้นจะทำให้อายุการใช้งานของแบตเตอรี่สั้นลง และการเติมก็ต้องระวังไม่ให้เกินขีด Max ด้วยเช่นกัน


ส่วนแบตเตอรี่แบบกึ่งแห้ง หรือ Maintenance Free ที่ผู้ขายมักจะบอกว่าไม่ต้องเติมน้ำกลั่นตลอดอายุการใช้งานนั้น แต่ด้วยความที่บ้านเราเป็นเมืองร้อน โอกาสที่ระดับน้ำกรดจะระเหยจึงเป็นไปได้ จึงควรตรวจดู ผ่านช่องตาแมวเล็กๆ แต่ถ้าจะให้ชัดเจน การลอกสติกเกอร์รับประกันออก จะช่วยให้เห็นช่องเติมน้ำกลั่นเหมือนแบตเตอรี่ทั่วไป (หากแบตเตอรี่ยังอยู่ในระยะรับประกัน ห้ามลอกเด็ดขาด เพราะการรับประกันจะสิ้นสุดทันที ควรรอให้หมดระยะรับประกันเสียก่อน) จากนั้นเปิดดูว่าระดับน้ำท่วมแผ่นธาตุหรือไม่ ถ้าไม่ท่วมก็เติมน้ำกลั่นลงไป


สาเหตุที่ทำให้แบตเตอรี่เสื่อม

สำหรับแบตเตอรี่ เป็นอุปกรณ์ที่มีอายุการใช้งาน และจะเสื่อมประสิทธิภาพไปตามอายุการใช้งานเป็นเรื่องปกติ แต่ก็มีสาเหตุอื่นที่ทำให้เสื่อมได้เร็วกว่าปกติได้ เช่น การปล่อยให้น้ำกรดแห้ง หรือ ต่ำกว่าระดับที่กำหนด การชาร์จไฟกลับเข้าแบตเตอรีได้ต่ำกว่ามาตรฐาน ซึ่งก็มีสาเหตุทั้งจากขั้วแบตฯ สกปรกที่กล่าวไว้ตอนต้น หรือ ไดชาร์จเสื่อม ก็จะต้องแก้กันไปในแต่ละเรื่อง ซึ่งการปล่อยให้การชาร์จไฟเข้าแบตเตอรีต่ำกว่ามาตรฐานบ่อยๆ จะส่งผลเสียต่อความเสื่อมในระยะยาวได้


นอกจากนี้รถยนต์ที่นำไปตกแต่ง ดัดแปลง ติดตั้งอุปกรณ์ที่ใช้พลังงานไฟฟ้าเพิ่มเติม ก็เป็นสาเหตุที่ทำให้แบตเตอรี่เสื่อมด้วยเช่นกัน ดังนั้นหากมีการดัดแปลงทุกครั้ง ควรตรวจสอบด้วยว่ากำลังไฟจากแบตเตอรี่เพียงพอหรือไม่ หากไม่พอต้องเปลี่ยนขนาดใหม่ให้เหมาะสม


แต่จะด้วยสาเหตุอะไรก็แล้วแต่ การที่แบตเตอรี่เสื่อมย่อมไม่เป็นผลดี และมีความเสี่ยงในการใช้งาน และหากมีสภาพไม่เหมาะกับการใช้งานจริงๆ ควรเปลี่ยนทันที ไม่ต้องรอให้เสีย และแนะนำให้ใช้ลูกใหม่ ไม่ควรใช้สินค้ามือสอง


แล้วจะรู้ได้อย่างไรว่าแบตเตอรี่เสื่อมสภาพ อาการแรกที่เป็นตัวบอกเหตุ คือ การสตาร์ทรถที่ผิดปกติ เช่น ใช้เวลาสตาร์ทนานขึ้น และมีเสียงผิดปกติ เช่นเสียงดังแกรกๆ หรือต้องสตาร์ทหลายครั้งกว่าจะติด ซึ่งแม้ว่าปัญหานี้อาจจะมาจากหลายสาเหตุ เช่น ไดสตาร์ทเสื่อม ปั๊มน้ำมันเชื้อเพลิง (ปั๊มติ๊ก) เสื่อม เป็นต้น แต่แบตเตอรี่ก็เป็นหนึ่งในผู้ต้องสงสัย ดังนั้นหากดูอาการอื่นๆ ประกอบกัน รวมถึงอายุการใช้งาน ก็พอจะคาดเดาได้ว่า แบตเตอรี่มีส่วนหรือไม่


อาการอื่นๆ เช่น ไฟหน้าให้ความสว่างน้อยลง กระจกไฟฟ้าเมื่อปิด-เปิด รู้สึกได้ว่า เลื่อนขึ้น-ลง ช้ากว่าปกติ ซึ่งวิธีการตรวจสอบทั้ง 2 เรื่องนี้ ลองทำได้โดยไม่ต้องใส่กุญแจแล้วบิดกุญแจโดยไม่สตาร์ทเครื่องยนต์

พ่วงแบตเตอร์รี่ไม่ยาก แต่ต้องระมัดระวัง

กรณีที่เกิดปัญหาแบตเตอรี่หมด การพ่วงแบตเตอรี่ก็ไม่ใช่เรื่องยากอะไร แต่ต้องเข้าใจหลักการเล็กน้อยๆ เพื่อความปลอดภัย


สิ่งแรกที่สำคัญมากคือ รถที่จะมาช่วยเหลือ ต้องมีขนาดความจุแบตเตอรี่ไม่น้อยกว่ารถที่รอการช่วยเหลือ ยกตัวอย่างให้เห็นภาพง่ายๆ คือ ถ้ารถปิกอัพเสีย ไม่ควรเอารถเก๋งเล็กมาช่วย เพราะอาจทำให้คันที่มาช่วยเหลือเสียหาย แต่ทางกลับกันถ้าเก๋งเล็กเสีย ปิกอัพสามารถช่วยได้ทุกกรณี


จากนั้นนำสายพ่วงซึ่งส่วนใหญ่มี 2 สี คือ แดงกับดำ และสีแดงมักเลือกใช้กับขั้วบวก ซึ่งสีไม่มีผลทางเทคนิค แต่ง่ายกับการจำ


เริ่มด้วยการคีบสายพ่วงเข้าที่ “ขั้วบวก” ของรถคันที่แบตฯ หมดก่อน  แล้วจึงนำปลายอีกด้านมาคีบกับขั้วบวกคันที่มาช่วยเหลือ


จากนั้นนำอีกสายมาคีบที่ “ขั้วลบ” แต่คราวนี้ให้คีบคันที่มาช่วยเหลือก่อน แล้วจึงนำปลายอีกด้านไปคีบที่รถคันที่แบตฯ หมด แต่อย่าคีบที่ขั้วลบของแบตเตอรีโดยตรง ให้คีบไปบริเวณโลหะที่เป็นกราวด์ของเครื่องยนต์ เช่น บริเวณขาคอมพ์แอร์


เสร็จแล้ว จึงสตาร์ทรถคันที่มาช่วยเหลือ ปล่อยให้ทำงานรอบเดินเบา ไม่ต้องเร่ง แล้วจึงมาสตาร์ทคันที่แบตฯ หมด เพียงเท่านี้ก็เรียบร้อย


อีกขั้นตอนสำคัญที่ไม่ควรละเลย นั่นคือ การถอดสายพ่วง ให้เริ่มถอดสายขั้วลบของคันที่แบตเตอรี่หมดก่อน แล้วตามด้วยขั้วลบของคันที่มาช่วยเหลือ เสร็จแล้วให้ทิ้งลงพื้นไปก่อน เดี่ยวค่อยไปตามเก็บ เพื่อป้องกันสายไปเกี่ยวหรือถูกกับรถโดยไม่ตั้งใจ จากนั้นก็ถอดขั้วบวกคันที่แบตเตอรีหมดเช่นกัน  แล้วจึงตามด้วยการถอดคันที่มาช่วยเหลือ


การดูแลแบตเตอร์รี่ที่ดีที่สุดก็คือการหมั่นตรวจสอบดูการทำงานของเครื่องยนต์อย่างสม่ำเสมอ ไม่ปล่อยให้แบตเตอรี่เสีย จนต้องมาแก้ปัญหาให้ยุ่งยาก และสร้างความกังวลใจที่ต้องจอดรอความช่วยเหลือกลางทาง สรุปดูวกไปวนมา ใช้คำว่าไม่ใช่เรื่องยากบ่อยไป