5 วิธีดูแลรักษายางรถยนต์ พร้อมวิธีตรวจเช็คอายุยางรถยนต์ที่ควรรู้

“ยาง” เป็นอุปกรณ์ที่มีความสำคัญอย่างมาก แต่หลายคนมักจะมองข้ามหัวใจหลักของยางไป ด้วยการเลือกซื้อยางจากความสวยงาม โปรโมชั่น หรือ ราคา และเมื่อใช้งานก็ละเลยการดูแลเอาใจใส่ที่ดีพอ


หน้าที่ของยาง เกี่ยวข้องทั้งด้านสมรรถนะ ความปลอดภัย และความสะดวกสบาย เพราะทำหน้าที่ทั้งถ่ายทอดกำลังจากเครื่องยนต์ลงสู่ผิวถนนควบคุมทิศทาง รีดน้ำออกจากผิวถนน รองรับแรงเสียดทานที่รุนแรงจากการเร่ง เบรก หรือ เลี้ยว แบกรับน้ำหนักตัวรถ สัมภาระ รวมถึงมีผลต่อความเงียบ และความนุ่มนวล และยางไม่ว่าจะมีขนาดเท่าไรก็ตามระหว่างการใช้งาน แต่ละเส้นมีพื้นที่สัมผัสผิวถนน แค่ประมาณ 1 ฝ่ามือเท่านั้น  สำหรับรถเก๋ง หรือปิกอัพทั่วไป นั่นหมายถึงว่า คุณภาพยางเป็นเรื่องสำคัญอย่างมาก


สำหรับองค์ประกอบของยาง หลักๆ ก็คือ ส่วนผสมเนื้อยาง โครงยาง ลักษณะการออกแบบดอกยาง และร่องยาง ซึ่งปัจจุบันผู้ผลิตต่างก็มีแนวทางพัฒนาแตกต่างกันไป ตามจุดขายที่กำหนดเอาไว้ แต่ในมุมผู้บริโภคสิ่งสำคัญในการใช้งานหลักๆ คือ การเลือกซื้อและการดูแลรักษา ดังนั้นบทความนี้จะนำเสนอวิธีดูแลรักษายางรถยนต์ พร้อมวิธีตรวจเช็คอายุยางรถยนต์ที่ควรรู้สำหรับผู้ใช้รถ ดังนี้

1. เลือกยางให้ตรงประเภท “น้ำหนัก-ความเร็ว”

การเลือกซื้อยาง สิ่งแรกคือ เลือกให้ตรงประเภทการใช้งาน ซึ่งปัจจุบันบ้านเราพบเห็นการใช้ผิดประเภทบ่อยมาก เช่น รถตู้โดยสารที่ต้องรองรับน้ำหนักมากๆ กลับเลือกใช้ยางรถเก๋งที่รับน้ำหนักได้น้อยกว่า เพราะเห็นว่ามีความนุ่มนวลกว่า ซึ่งเรื่องนี้ใครที่ใช้บริการรถตู้บ่อยๆ ควรสังเกตก่อนใช้บริการ เพราะเกี่ยวข้องกับความปลอดภัย


ทั้งนี้ยางแต่ละเส้นจะกำหนดความสามารถในการรับน้ำหนักเอาไว้และแสดงให้เห็นที่แก้มยาง เป็นตัวเลข 2-3หลัก และมีตัวอักษรภาษาอังกฤษต่อท้ายเพื่อเทียบรหัสตัวเลขกับความสามารถรองรับน้ำหนักบรรทุก


ตัวเลขดังกล่าว ไม่ได้บอกถึงน้ำหนักที่ยางรับได้ แต่เป็นโค้ดสำหรับใช้ในการเปรียบเทียบความสามารถในการรับน้ำหนักของยาง ซึ่งสามารถขอดูตารางเปรียบเทียบได้จากร้านยางหรือผู้ผลิตยางเพื่อตรวจสอบได้


เช่น ถ้าเป็นเลข 80 หมายความยางเส้นนั้นจะรับน้ำหนักได้ 450 กก./เส้น  หรือ 96 รับได้ 710 กก./เส้น  หรือถ้าเป็น 112 หมายถึงรับน้ำหนักได้ 1,120 กก./ เส้น  เป็นต้น


เมื่อได้ตัวเลขแล้วก็สามารถคำนวณการใช้งานได้ไม่ยาก เช่น รหัส 80 รับน้ำหนักได้ 450 กก. ถ้า 4 เส้น เท่ากับรถคันนั้นรับน้ำหนักได้รวม 1,800 กก. ดังนั้นหากรถบางประเภท เช่น ปิกอัพ หากเลือกติดตั้งยางที่มีรหัสนี้ ก็จะมีความเสี่ยง เพราะแค่ตัวรถปิกอัพ ไม่รวมน้ำหนักบรรทุกสัมภาระ ก็ประมาณ 1,600 กก. เข้าไปแล้ว


ส่วนตัวอักษรภาษาอังกฤษที่ต่อท้ายเป็นค่ารองรับความเร็วสูงสุด เช่น ถ้าเป็น Nคือ รับการขับขี่ที่ความเร็วสูงสุด 140 กม./ชม. หรือY รับได้ถึง300 กม./ชม.


ทำไมต้องดูตรงนี้ คำตอบก็คือเพื่อความปลอดภัยในการใช้งาน และความคุ้มค่า เพราะถ้าขับขี่ด้วยความเร็วบ่อยๆ ก็ต้องเลือกยางที่รับความเร็วสูงได้ แต่ถ้าเป็นคนขับรถช้าๆ  กินลมชมวิว การเลือกใช้ยางที่รับความเร็วได้สูงมาก ก็ทำให้เสียค่าใช้จ่ายเพิ่มขึ้นโดยเปล่าประโยชน์



2. การเช็คอายุยางรถยนต์และการเก็บยางที่ถูกต้อง

อายุยางรถยนต์ก็เป็นอีกสิ่งหนึ่งที่จะต้องดูด้วยเช่นกัน แต่ไม่ต้องซีเรียสมากถึงขนาดจะต้องเอายางที่เพิ่งผลิตออกมาสดๆร้อนๆ เหมือนขนมเพิ่งออกจากเตา เพราะว่ายางมีกระบวนการผลิต ขนส่ง สต็อก ทั้งสต็อกโรงงาน และสต็อกที่ร้านยาง ดังนั้นหากผลิตมาแล้วประมาณ 1 ปี ก็ยังถือว่าเป็นยางใหม่ที่ใช้ได้ ไม่มีปัญหาอะไร


การดูอายุยาง  ดูได้จากเวลาที่ผลิตผ่านตัวเลข 4 ตัวที่แก้มยาง โดย 2 ตัวแรก หมายถึงสัปดาห์ 2 ตัวหลังหมายถึงปี เช่น 1219 หมายถึงผลิตในสัปดาห์ที่ 12 ปี 2019 หรือประมาณปลายเดือนมีนาคม 2562 นั่นเอง


สิ่งที่ควรซีเรียสมากกว่าคือการเก็บยาง เมื่อจะเปลี่ยนยางแต่ละครั้งให้ดูว่าร้านยางเก็บยางอย่างไร ถ้าวางกองสุมๆ ทับกัน ก็มีความเสี่ยงที่ยางจะเสียทรง เสียความกลมของเส้นรอบวง เมื่อใช้ไปอาจเกิดปัญหารถสั่นหรือเหวี่ยงได้


ดังนั้น ยางที่ดีควรเก็บด้วยการวางแนวตั้ง และไม่ซ้อนทับกัน และหากสามารถหมุนเปลี่ยนจุดที่สัมผัสพื้นอยู่เรื่อยๆ จะยิ่งดี 

3. เลือกขนาดยาง ที่เหมาะสมกับตัวรถ

ขนาดยางเป็นสิ่งที่ผู้ใช้รถให้ความสำคัญ หลายคนไม่ชอบขนาดยางมาตรฐานที่ติดมากับรถ และเปลี่ยนใหม่ด้วยความเชื่อว่ามีผลต่อประสิทธิภาพการขับขี่ หรือบางคนก็มองเรื่องของความสวยงาม

 

เปลี่ยนได้ไหม คำตอบคือ ได้ แต่ต้องเปลี่ยนขนาดให้เหมาะสม โดยสิ่งสำคัญที่ควรยึดไว้คือ ความยาวเส้นรอบวงที่ควรเปลี่ยนแปลงน้อยที่สุด หรือ ถ้าไม่เปลี่ยนเลยจะยิ่งดี เพราะเส้นรอบวงที่เปลี่ยนไปจะทำให้ค่าต่างๆ ผิดเพี้ยน เช่น ระยะทาง ความเร็ว เพราะคอมพิวเตอร์ของรถแต่ละคัน เซ็ตมาตามขนาดของยางที่ติดมากับรถ

 

นอกจากนี้สิ่งที่ต้องพึงรู้คือ การเปลี่ยนขนาดยางใหญ่ขึ้น จะมีผลโดยตรงต่อการสิ้นเปลืองเชื้อเพลิงและน้ำหนักการหักเลี้ยวพวงมาลัยที่เพิ่มขึ้น

 

และสิ่งที่ต้องระวังคือ ขนาดยางที่ใหญ่เกินไป ไม่ว่าจะเป็นหน้ายาง หรือเส้นรอบวงจะส่งผลต่อการควบคุมรถ เช่น เลี้ยวได้ไม่สุด วงเลี้ยวของรถเพิ่มขึ้น เพราะยางชนกับซุ้มล้อ หรือเมื่อขึ้นลงเนิน เช่น เนินลูกระนาด คอสะพาน ทางขึ้นลงอาคาร  ยางจะเสียดสีกับซุ้มล้อ ทำให้เกิดเสียงดัง และเมื่อใช้ไปเรื่อยๆ การเสียดสีทั้งแก้มยาง หรือหน้ายาง จะทำให้โครงสร้างยางเสียหาย และเป็นอันตรายร้ายแรงได้ นั่นคือ ยางระเบิดขณะขับขี่ ซึ่งเป็นสิ่งที่เคยเกิดขึ้นมาแล้ว

 

4. เติมลมยางให้เหมาะสมกับการใช้งาน

เมื่อเลือกยางได้ถูกต้องเหมาะสมแล้ว การใช้งาน ก็ต้องใช้ให้ถูกวิธีเพื่อยืดอายุยางให้ได้มากที่สุด เพราะราคาแต่ละเส้นไม่ใช่ถูกๆ สิ่งที่ทำได้ง่ายๆ ก็คือ หลีกเลี่ยงการออกตัวแรง หลีกเลี่ยงการใช้เบรกหนักๆ ไม่ขับขี่ในทางโค้งด้วยความเร็วสูง และไม่ควรหักเลี้ยวพวงมาลัยขณะที่รถจอดอยู่กับที่

 

ส่วนการดูแลยาง สิ่งแรกคือ เติมลมยางที่เหมาะสม โดยดูได้จากตัวเลขที่ติดมากับรถ ซึ่งส่วนใหญ่จะอยู่บริเวณ เสากรอบประตูด้านคนขับ เมื่อเปิดประตูก็จะเห็นแผ่นข้อมูลที่ระบุไว้ชัดเจนว่าต้องเติมลมด้วยแรงดันกี่ปอนด์ และหมั่นตรวจเป็นประจำ อย่างน้อยสัปดาห์ละ 1 ครั้ง โดยควรทำช่วงที่ยางเย็น เช่น ตอนเช้าก่อนใช้งานรถ

 

ลมยางที่อ่อนหรือแข็งเกินไป ทำให้การสึกของหน้ายางไม่เท่ากัน และลมยางที่อ่อนจะมีอันตรายมากว่าลมยางที่แข็ง เช่น ยางที่อ่อนจะรีดน้ำไม่ดีและหากขับที่ทางไกล ลมอ่อนทำให้แก้มยางยุบตัวและยืดตัวได้มากกว่า ทำให้เกิดความร้อนสะสม และมวลของอากาศภายในที่เบาบางกว่าจะเคลื่อนที่ไปมาได้มากกว่า ส่งผลให้ให้เกิดความร้อนมากกว่าปกติ

 

แม้ว่าปัจจุบันโอกาสที่ยางจะระเบิดเองขณะใช้งานมีน้อย แต่ยางที่ลมยางอ่อน มีโอกาสเกิดได้มากกว่ายางที่ลมยางปกติ หรือแข็งกว่าปกติ

 

ส่วนการเติมลงยางมากกว่าปกติทำได้หรือไม่ แน่นอน ทำได้และควรทำเมื่อต้องบรรทุกน้ำหนักมาก และเดินทางไกลๆ เช่น พาครอบครัวไปเที่ยวเต็มคันรถ พร้อมสัมภาระอีกหอบใหญ่ใต้ฝากระโปรงท้าย 

5. ตรวจสภาพยางด้วยตนเองอยู่เสมอ

สิ่งหนึ่งที่ควรทำตอนเช้าๆ ก่อนใช้งานรถทุกครั้ง คือ การเดินดูรอบๆ เพื่อดูสิ่งผิดปกติของทั้งตัวถัง และยาง

 

การตรวจยางคือดูว่ามีอะไรทิ่มอยู่หรือไม่ มีรอยแตก รอยถูกของมีคมบาด หรือบวมหรือไม่ และต้องตัดสินใจเด็ดขาด เช่น ถ้ามีรอยบาดลึกถึงโครงยาง มีรอยทิ่มต่ำที่แก้มยาง หรือ บวม ต้องเปลี่ยนใหม่เท่านั้น เพราะแก้มยางเป็นส่วนที่บอบบางที่สุด ส่วนกรณีมีอะไรทิ่มแทงที่หน้ายาง หากไม่ใหญ่เกินไป ก็สามารถนำไปปะเพื่อนำกลับมาใช้ใหม่ได้


นอกจากนี้ควรแคะเศษหิน กรวด หรืออะไรก็ตามที่เข้าไปคาในร่องยางออกทุกครั้ง เพราะหากปล่อยไว้ เมื่อใช้งานไปเรื่อยๆ แรงกดจะทำให้วัสดุเหล่านี้สร้างความเสียหายให้โครงสร้างยางได้


อีกสิ่งหนึ่งที่สำคัญคือ ดอกยางต้องมีความสูงเพียงพอ ร่องดอกยางต้องลึกพอ โดยดูว่าถ้าดอกยางสึกลงไปจนมีความสูงเท่ากับสะพานยางที่ทำไว้เป็นจุดสังเกตในร่องยาง ก็ต้องเปลี่ยนใหม่เช่นกัน


ทั้งหมดนี้ไม่ใช่เรื่องยาก แต่เป็นเรื่องของการใส่ใจ ที่จะช่วยเพิ่มประสิทธิภาพและความปลอดภัยในการใช้รถใช้ถนนให้มากขึ้นนั่นเอง