วางแผนเกษียณ หลัง New Normal

ในอดีตถ้าถามว่า “มีความกังวลอะไรมากที่สุด หากเข้าสู่วัยเกษียณ” คำตอบที่ได้มักจะเป็น “กังวลว่าเงินจะไม่พอใช้” หรือ “กลัวลูกหลานจะไม่เลี้ยงดู” แต่หลังจากเกิดวิกฤต COVID-19 คนวัยเกษียณหรือผู้ที่กำลังเข้าสู่วัยเกษียณ มีความกังวลมากขึ้นกว่าเดิม เนื่องจากการลงทุนมีความเสี่ยงเพิ่มสูงขึ้น หรือผลตอบแทนมีความผันผวนตลอดเวลา ซึ่งอาจส่งผลกระทบต่อเป้าหมายทางการเงินได้


ดังนั้น สิ่งที่สามารถลดความเสี่ยงและเพิ่มความมั่นคงทางด้านเงิน คือ การเริ่มต้นวางแผนการเงินเพื่อเกษียณให้เร็วที่สุด เช่น ตั้งแต่เดือนแรกเมื่อเริ่มทำงานได้เงินเดือน ค่อยๆ สะสมเงินลงทุนสร้างผลตอบแทน


อย่างไรก็ตาม วิกฤต COVID-19 ส่งผลกระทบต่อรายได้ ขณะที่รายจ่ายยังคงเท่าเดิมหรือเพิ่มสูงขึ้น เมื่อเป็นเช่นนี้ทำให้หลายคนเลือกที่จะแก้ปัญหาด้านสภาพคล่องทางการเงิน ด้วยการหยุดวางแผนการเงินเพื่อเกษียณ


ดังนั้น เพื่อให้ผ่านช่วงวิกฤตนี้ไปได้ ต้องปรับความคิดการบริหารจัดการด้านการเงิน เตรียมพร้อมรับมือกับสถานการณ์ในอนาคตและสภาวะการลงทุนที่มีความผันผวน ที่สำคัญทำอย่างไรให้แผนการเงินเพื่อเกษียณยังเดินหน้าต่อไปโดยไม่สะดุด

1.กระจายการลงทุน

เมื่อไม่สามารถควบคุมความผันผวนได้ จึงควรให้ความสำคัญกับสิ่งที่ควบคุมได้ คือ การกระจายการลงทุนซึ่งเป็นการกระจายความเสี่ยง ขณะเดียวกันก็สามารถรักษาสมดุลผลตอบแทนให้สอดคล้องกับเป้าหมายระยะยาว


ยกตัวอย่างเช่น มีการประเมินว่าหลังจากวิกฤต COVID-19 จะต้องใช้ระยะเวลาในการฟื้นฟูเศรษฐกิจ อาจทำให้การลงทุนยังมีความผันผวน ดังนั้น เป้าหมายการลงทุนจึงไม่ใช่การสร้างผลตอบแทนสูงที่สุด แต่เป็นการควบคุมความเสี่ยงด้วยการกระจายการลงทุนไปยังสินทรัพย์หลากหลายในสัดส่วนที่เหมาะสมกับระดับความเสี่ยงที่ยอมรับได้


เช่น หากรับความเสี่ยงได้ระดับต่ำ ควรกระจายการลงทุนไปยังสินทรัพย์ที่มีความผันผวนต่ำ เช่น เงินฝากประจำ กองทุนรวมตลาดเงิน กองทุนรวมพันธบัตรระยะสั้น เป็นต้น แม้ว่าผลตอบแทนที่ได้รับอาจจะไม่มาก แต่ก็ทำให้รู้ได้ค่อนข้างแน่นอนว่าจะได้ผลตอบแทนเป็นเท่าใดและเมื่อไร ซึ่งก็คุ้มค่ากับความปลอดภัยสำหรับเงินลงทุน


หากรับความเสี่ยงได้ปานกลาง ยอมรับความผันผวนได้ในระดับหนึ่งแต่ไม่มากจนเกินไป ควรกระจายการลงทุนไปยังสินทรัพย์ที่ให้ได้ทั้งการเพิ่มมูลค่าได้ในระยะยาวและกระแสเงินสดที่สม่ำเสมอจากการลงทุน แม้ว่าจะมีความผันผวนในระยะสั้นบ้างก็ตาม เช่น กองทุนรวมผสม กองทุนรวมหุ้นที่มีนโยบายจ่ายเงินปันผล หรือหุ้นปันผล


หากรับความเสี่ยงได้ในระดับสูง หมายถึงมีโอกาสที่จะได้รับผลตอบแทนในระดับที่สูงขึ้นด้วยเช่นกัน ควรกระจายการลงทุนไปยังสินทรัพย์ที่มีการเพิ่มมูลค่าได้สูงในระยะยาว แม้ว่าจะมีความผันผวนในระยะสั้นบ้าง เช่น หุ้น กองทุนรวมหุ้น กองทุนรวมต่างประเทศ ทองคำ

2.เน้นลงทุนระยะยาว

ถึงแม้ในช่วงวิกฤต ตลาดมีความผันผวนและอาจทำให้เกิดการขาดทุนได้ แต่สถานการณ์ดังกล่าวจะเกิดขึ้นในช่วงระยะเวลาสั้นๆ เท่านั้น อย่างไรก็ตาม เนื่องจากการลงทุนเพื่อวัยเกษียณเป็นการลงทุนระยะยาว ดังนั้น จึงควรให้ความสำคัญกับแผนการลงทุนเพื่อให้บรรลุเป้าหมายทางการเงินที่วางเอาไว้ และเมื่อมีการเปลี่ยนแปลงต่างๆ เกิดขึ้น ต้องพร้อมปรับเปลี่ยนแผนหรือกลยุทธ์การลงทุน ตลอดจนสัดส่วนเงินลงทุนในทางเลือกการลงทุนประเภทต่างๆ ได้อย่างเหมาะสม หมายความว่าควรมีการบริหารพอร์ตการลงทุน (Portfolio Management) ซึ่งมีหลักการพื้นฐาน ดังนี้

  • กระจายความเสี่ยงอย่างสมดุล คือ ไม่ลงทุนในสินทรัพย์ใดสินทรัพย์หนึ่งด้วยเงินทั้งหมดที่มี

  • มีสัดส่วนการลงทนเหมาะสมกับเป้าหมายของตัวเอง คือ มีความสมดุลระหว่างการลงทุนที่มีความเสี่ยงน้อย ให้ผลตอบแทนแน่นอน กับการลงทุนที่มีความเสี่ยงสูง ผลตอบแทนสูง แต่ก็มีโอกาสขาดทุนสูง โดยต้องกำหนดสัดส่วนให้เหมาะสมกับตัวเอง

  • มีความยืดหยุ่น คือ สามารถปรับเปลี่ยนแผนการลงทุนได้เมื่อสถานการณ์เปลี่ยนแปลงไป

3.วางแผนการเงินเพื่อสุขภาพมากขึ้น

นอกจากการวางแผนการเงินเพื่อเกษียณต้องเดินหน้าต่อไปแล้ว พบว่าจากการแพร่ระบาดของเชื้อไวรัส COVID-19 ทำให้เกิดการตื่นตัวด้านการดูแลสุขภาพมากขึ้น ขณะเดียวกันประกันสุขภาพก็ได้รับความนิยมตามไปด้วย ซึ่งถือเป็นการเตรียมพร้อมด้านการประกันและเป็นสวัสดิการคุ้มครองตัวเอง เพื่อเตรียมรับมือกับโรคระบาดใหม่


วิธีการซื้อประกันสุขภาพควรซื้อเพื่อป้องกันความเสี่ยงจากโรคหลายชนิดดีกว่าการซื้อเพื่อป้องกันโรคเพียงชนิดเดียว โดยหากจะทำประกันประกันสุขภาพกับเงินเก็บก้อนแรก ควรแบ่งสัดส่วนการชำระเบี้ยประกันไม่ให้กระทบการเงินส่วนอื่นๆ และสามารถชำระเบี้ยประกันได้ครบตลอดระยะเวลาของสัญญา โดยหลักการเบื้องต้น คือ แบ่งเงินประมาณ 10% ของรายได้แต่ละเดือนมาทำประกัน และเพื่อไม่ให้กระทบกับเงินก้อนอื่นๆ ควรคำนึงถึงประโยชน์ของการทำประกัน ผลประโยชน์ทางด้านภาษี วงเงินความคุ้มครองเงินเก็บในอนาคต รวมถึงสวัสดิการค่ารักษาพยาบาล หากเกิดการเจ็บป่วยหรือเกิดอุบัติเหตุไว้ด้วย

4. อย่ามองข้ามเงินเฟ้อ

ถึงแม้ว่าในช่วงนี้ อัตราเงินเฟ้อจะอยู่ในระดับต่ำ แต่หากเศรษฐกิจฟื้นตัวและขยายตัวอย่างต่อเนื่อง อัตราเงินเฟ้อจะเพิ่มขึ้นตามไปด้วย ซึ่งส่งผลให้มูลค่าของเงินลดลง ดังนั้น อัตราเงินเฟ้อจึงถือเป็นความเสี่ยงสำคัญเรื่องหนึ่งสำหรับการวางแผนการเงินเพื่อวัยเกษียณ


อัตราเงินเฟ้อจะทำให้รายจ่ายหรือภาระค่าครองชีพสูงขึ้น มีความสามารถจับจ่ายซื้อสินค้าและบริการได้น้อยลง และอาจทำให้รายได้ที่มีหรือเงินที่หามาได้ไม่เพียงพอกับการดำรงชีวิต ดังนั้น เมื่อเก็บออมเงินเพื่อเตรียมไปใช้ในวัยเกษียณ ต้องคำนวณเงินเฟ้อเข้าไปด้วย เพื่อให้สะท้อนมูลค่าที่แท้จริงในอนาคต เพราะยิ่งอัตราเงินเฟ้อสูงเท่าไหร่ มูลค่าเงินก็ยิ่งลดลงมากตามเท่านั้น


เช่น ปัจจุบันอายุ 30 ปี มีเป้าหมายว่าก่อนเกษียณต้องมีเงินเก็บ 5,000,000 บาท แต่ลืมไปว่า เงิน 5,000,000 บาทเป็นการคิดเทียบกับมูลค่าปัจจุบัน ไม่ได้คิดเป็นมูลค่าตอนอายุ 60 ปี (หรืออีก 30 ปีข้างหน้า)


สมมติว่าจากวันนี้ไปอีก 30 ปีข้างหน้า อัตราเงินเฟ้อเฉลี่ย 2% ต่อปี ส่งผลให้เงิน 5,000,000 บาทวันนี้ จะเหลือ 2,760,354 บาท ดังนั้น ถ้าต้องการมีเงิน 5,000,000 บาท ตอนอายุ 60 ปี วันนี้ต้องเก็บเงินให้ได้ 9,056,808 บาท


เมื่อการใช้ชีวิตเปลี่ยนไป แผนการเงินย่อมเปลี่ยนแปลงตามไปด้วย เช่น รายได้ลดลง ขณะที่ค่าใช้จ่ายเพิ่มสูงขึ้น อย่างไรก็ตาม ถ้าสามารถวางแผนการเงินเพื่อเกษียณให้ได้ตามเป้าหมายที่วางเอาไว้ ก็สามารถเกษียณอายุได้อย่างมีความสุข ไม่เป็นภาระของลูกหลาน ที่สำคัญ คือ มีเงินใช้จ่ายอย่างพอเพียง