มาสอนลูกหลานให้มีความรู้การเงินกันเถอะ

“สิ้นเดือนเหมือนสิ้นใจ”  “ชักหน้าไม่ถึงหลัง” ฯลฯ บ่งชี้ถึงสถานการณ์ทรัพย์จางที่ผู้ใหญ่วัยทำงานเผชิญอยู่ทุกเมื่อเชื่อวัน บ่งชี้ว่าความรู้ทางการเงิน หรือ Financial Literacy เป็นสิ่งจำเป็นอย่างยิ่งที่จะช่วยให้เราบริหารเงินในกระเป๋าให้พอใช้ตลอดรอดฝั่ง รวมถึงการมีเงินเก็บ เพิ่มพูนเงินออม สร้างความมั่นคงในชีวิต อย่างไรก็ตาม การที่ทำให้คนมีความรู้ทางการเงินไม่ใช่สิ่งที่จะทำได้ในระยะเวลาอันสั้น จะดีกว่ามั้ยถ้าเราจะปลูกฝังความรู้ทางการเงินให้ลูกหลานตั้งแต่ยังเล็ก เพราะ เด็กที่มีความรู้ทางการเงินในวันนี้ จะกลายเป็นผู้ใหญ่ที่มีความรู้ทางการเงินในวันหน้า

รอให้จนจบมัธยมก็สายเสียแล้ว!

“ไม้อ่อนดัดง่าย ไม้แก่ดัดยาก” ฉันใด “การฝึกนิสัยทางการเงินที่ดี ก็ต้องเริ่มตั้งแต่ยังเด็ก” ฉันนั้น จากผลวิจัยของมหาวิทยาลัยเคมบริดจ์ เผยว่าในวัย 7 ขวบ นิสัยการใช้เงินของเด็กจะถูกหล่อหลอมเป็นรูปเป็นร่างแล้ว ในช่วงอายุ 3-6 ปีเป็นเวลาสำคัญที่จะพัฒนาทักษะบริหารจัดการเงิน ดังนั้น จึงควรสอนการใช้เงินให้เด็กตั้งแต่อายุยังน้อยยิ่งเร็วยิ่งดี


ในอเมริกาได้มีการพัฒนาเว็บไซต์ Money as You Grow ให้ความรู้แก่พ่อแม่ในการสอนความรู้เรื่องการเงินในเด็กๆ แต่ละช่วงวัย โดยแบ่งเป็นช่วงอายุ 3-5 ปีที่เด็กสามารถเรียนรู้เรื่องเงินได้แม้จะไม่ได้จับเงิน หนึ่งบทเรียนที่สำคัญก็คือ “การรอคอย” ก่อนที่จะได้ของที่ต้องการ เด็กในวัยนี้ต้องเรียนรู้การอดทนและควบคุมความต้องการของตัวเอง ต่อมาในช่วงอายุ 6-10 ปี ที่เด็กมีโอกาสได้ใช้จ่ายเงิน ควรจะเรียนรู้การตัดสินใจเลือกใช้จ่ายและการตั้งเป้าหมายใช้จ่ายต่างๆ และตั้งแต่อายุ 11 ปีขึ้นไป ก็พร้อมที่จะทำความเข้าใจเรื่องดอกเบี้ยทบต้นให้เงินฝากงอกเงย ยิ่งเมื่อโตไปกว่านั้น ก็สามารถเรียนรู้เรื่องการเงินที่ซับซ้อนอย่างภาษี การกู้ยืมเงิน และการลงทุนได้

สร้าง 3 กระปุก : “ใช้” “เก็บ” “แบ่งปัน”

กระปุกออมสิน เป็นเครื่องมือง่ายที่สุดในการสอนนิสัยการเงินที่ดีให้เด็กๆ แต่ต้องเติมเรื่องจุดมุ่งหมายไปด้วย การแบ่งกระปุกออมสินเก็บเงินเป็น 3 อัน ได้แก่ “ใช้” “เก็บ” “แบ่งปัน”   โดยกระปุก “ใช้” เอาไว้ใช้จ่ายในชีวิตประจำวัน เช่นซื้อขนม ของเล่นเล็กๆ น้อยๆ ฯลฯ การใช้จ่ายด้วยเหรียญ ธนบัตร ทำให้เด็กรู้สึกว่าเงินเป็นสิ่งที่จับต้องได้จริง ใช้แล้วหมดไป เมื่อเทียบกับการใช้จ่ายผ่านบัตรเครดิตที่ดูเหมือนเงินไม่มีวันหมด


กระปุก “เก็บ” คือการเก็บออมระยะยาวสำหรับซื้อของชิ้นใหญ่ อย่าง รถจักรยาน เครื่องเกม แท็บแล็ตใหม่ ฯลฯ ควรจะกำหนดเป้าหมายจำนวนหรือเวลาการออม เพื่อส่งเสริมให้เด็กมีจุดมุ่งหมายการเก็บออมใหญ่ขึ้นเรื่อยๆ ต่อไป  สุดท้ายคือ กระปุก “แบ่งปัน” เป็นสอนเด็กเรียนรู้เรื่องการ “ให้” ว่าเงินในกระปุกนี้จะนำไปบริจาคเพื่อช่วยเหลือคนที่ลำบากกว่าเรา และเขาจะเติบโตเป็นผู้ใหญ่ที่รู้จักการให้และแบ่งปัน แนวคิดเรียบง่ายนี้ช่วยให้เด็กๆ รู้จักจัดการการเงิน แบ่งสันปันส่วนเงินออม และยอมรับผลที่มาจากการตัดสินใจของตัวเอง

ตัวอย่างสำคัญคือพ่อแม่

เรื่องการเงินก็เหมือนกับกับเรื่องอื่นๆ ในการเลี้ยงลูกที่พ่อแม่ต้องเป็นแบบอย่างที่ดีให้ลูก เพราะเด็กๆ จะเรียนรู้ตลอดเวลาและพ่อแม่เป็นผู้ที่มีอิทธิพลที่สุด พฤติกรรมการใช้จ่ายเงินของคุณ ไม่ว่าเล็กหรือใหญ่ อย่างการช้อปของลดราคา ซื้อของฟุ่มเฟือยให้ตัวเอง หรือการไปทานอาหารนอกบ้าน ฯลฯ ล้วนเป็นการแสดงให้ลูกเห็นถึงนิสัยการใช้จ่ายทั้งสิ้น ดังนั้น พ่อแม่ควรตระหนักในนิสัยการเงินของตัวเอง ทั้งจุดแข็งจุดอ่อน และพูดคุยกับลูกเรื่องการเงินกับลูกๆ อย่างตรงไปตรงมา เพื่อหล่อหลอมนิสัยทางการเงินที่ดีให้เด็กที่จะเติบโตเป็นผู้ใหญ่ในอนาคต



ขอบคุณข้อมูล

https://www.westernsouthern.com

https://www.sbs.com.au