เติมเชื้อเพลิงอย่างไรให้ปลอดภัย

เชื้อเพลิงเป็นหัวใจสำคัญของรถยนต์ แต่ขณะเดียวกันก็จัดเป็นวัตถุอันตรายที่ผู้ใช้รถควรจะเรียนรู้ ทำความเข้าใจ และปฏิบัติให้ถูกต้อง เพื่อความปลอดภัยทั้งต่อคนและรถยนต์


บ่อยครั้งที่ได้ยินว่า ผู้ขับขี่หลายคนเติมเชื้อเพลิงผิดประเภทไม่ว่าจะเชื้อเพลิงกลุ่ม ก๊าซ หรือ กลุ่มน้ำมัน ซึ่งก่อให้เกิดความเสียหายตามมา


ในส่วนของก๊าซ การเติมผิดประเภทในปัจจุบันคงจะไม่เกิดขึ้นแล้ว แต่ในอดีตเมื่อครั้งที่บ้านเราเริ่มนิยมใช้ก๊าซธรรมชาติ หรือ NGV ใหม่ๆ เพราะน้ำมันมีราคาที่แพงขึ้นอย่างมาก


พบว่ามีการเติมผิดประเภทหลายครั้ง และผลเสียที่ตามมานั้นร้ายแรงอาจถึงขั้นเสียชีวิตโดยเฉพาะการเติมก๊าซ NGV เข้าไปในถังที่ออกแบบมาสำหรับก๊าซปิโตรเลียมเหลว หรือ LPG เพราะก๊าซทั้ง 2 ประเภทนี้ มีแรงดันที่ต่างกันมหาศาล โดย NGV มีแรงดันสูงกว่ามาก ดังนั้นเมื่อเติมเข้าถัง LPG ที่ไม่ได้ออกแบบมารองรับแรงดันสูงมากๆ ทำให้ถังระเบิดรุนแรงถึงระดับที่ทำให้สถานีบริการเติมก๊าซเสียหายเกือบทั้งหมด


แต่วันนี้ ทั้งผู้ใช้รถ รวมถึงพนักงานที่สถานีบริการ มีความเข้าใจในความแตกต่าง ทำให้ไม่เกิดปัญหาขึ้นอีก อย่างไรก็ตาม ควรนำเรื่องนี้มาเป็นบทเรียนว่าก่อนที่จะทำอะไร จะต้องศึกษาข้อมูลให้ถ่องแท้เสียก่อน เพื่อว่าในอนาคตหากมีเชื้อเพลิงใหม่ๆ เข้ามา จะได้ไม่เกิดความผิดพลาดขึ้นอีก

เติมน้ำมันให้ถูกประเภท

ปัญหาการเติมก๊าซผิดหมดไป แต่สิ่งที่ยังคงเติมผิดซึ่งมีให้เห็นอยู่เสมอก็คือ “น้ำมัน” ซึ่งก็เป็นเรื่องที่น่าเห็นใจ เพราะบ้านเรานั้น อาจจะกล่าวได้ว่ามีชนิดน้ำมันที่หลากหลายในอันดับต้นๆ เช่น กลุ่มเบนซิน มีทั้ง เบนซิน 95, แก๊สโซฮอลล์ 95, แก๊สโซฮอล์ 91, E10,E20,E85กลุ่มดีเซล ก็มีทั้ง ดีเซล พรีเมียม, ดีเซล, B7, B20 เป็นต้น


ดังนั้นสิ่งแรกต้องดูข้อมูลให้ชัดเจนว่า รถยนต์ที่ใช้อยู่นั้นใช้เชื้อเพลิงชนิดใดได้บ้าง เพราะบางสถานีบริการน้ำมัน อาจจะไม่มีชนิดน้ำมันที่ใช้อยู่เป็นประจำ ก็ยังสามารถเติมเชื้อเพลิงชนิดอื่นแทนกันได้ และขณะเดียวกันก็ต้องรู้เช่นกันว่า เชื้อเพลิงชนิดใดที่เติมไม่ได้เด็ดขาด

น้ำมันเบนซิน

น้ำมันที่เติมแทนได้

ออกเทน 95

-

ออกเทน 91

ออกเทน 95

น้ำมันแก๊สโซออล์

น้ำมันที่เติมแทนได้

E85

E20, แก๊สโซฮอล์91 และ 95, เบนซิน

E20

แก๊สโซฮอล์ 91 และ 95, เบนซิน

แก๊สโซฮอล์ 91

แก๊สโซฮอล์ 91 และ 95

แก๊สโซฮอล์ 95

แก๊สโซฮอล์ 95 กับ เบนซิน


เช่น เครื่องยนต์เบนซิน หากระบุว่า ให้เติม E85 นั่นหมายความว่ารถคันนั้นสามารถเติมเชื้อเพลิงกลุ่มเบนซินได้ทั้งหมด แต่ถ้าระบุเติม E20 ได้ ก็หมายถึงเติมได้ทุกชนิดยกเว้น E85 หรือถ้าระบุเติม แก๊สโซฮอล์ 95 ก็จะเติมได้เฉพาะ แก๊สโซฮอล์ 95 กับ เบนซิน เท่านั้น หรือ ถ้าระบุเป็น แก๊สโซฮอล์ 91 จะสามารถเติม แก๊สโซฮอล์ 91 กับ แก๊สโซฮอล์ 95 ได้ เป็นต้น

น้ำมันดีเซล

น้ำมันที่เติมแทนได้

ดีเซลพรีเมียม

ดีเซล

ดีเซล

ดีเซล พรีเมียม, บี7

บี 7

ดีเซลพรีเมียม, ดีเซล

บี 20

ทุกชนิด


ในกลุ่มเครื่องยนต์ดีเซล ก็เช่นกัน ต้องดูให้ชัดเจนว่าสเปกเครื่องยนต์เติมอะไรได้บ้าง ซึ่งปัจจุบันน้ำมันดีเซลที่จำหน่ายจะมีส่วนผสมของไบโอดีเซลอยู่ด้วย ซึ่งเครื่องยนต์แต่ละประเภทจะรองรับได้ไม่เท่ากัน


หลักการคร่าวๆ คือ ถ้าชนิดของน้ำมันระบุตัวเลขส่วนผสมสูงๆ สามารถใช้ดีเซลที่มีส่วนผสมของไบโอดีเซลต่ำกว่าได้ เช่น ปิกอัพหลายรุ่น ระบุว่าเติม B20 ได้ หมายความสามารถเติมกลุ่มดีเซลได้ทุกชนิด แต่ถ้าระบุว่า เติมได้แค่ B7 ก็เติมได้เฉพาะ B7 เท่านั้น ส่วนอย่างอื่นเติมไม่ได้ แม้แต่เชื้อเพลิงที่ระบุว่าเป็น “ดีเซล” เพราะจริงๆแล้ว ดีเซล เป็นเชื้อเพลิงที่เปลี่ยนชื่อมาจาก B10 หมายถึงว่า เชื้อเพลิงชนิดนี้ มีไบโอดีเซลผสมอยู่ 10%

เติมข้ามประเภท เสี่ยงเครื่องพัง

การเติมผิดประเภทในกลุ่มเดียวกัน อาจจะมีปัญหาเครื่องยนต์เดินไม่สะดวก หรือเกิดการอุดตันของหัวฉีด แต่ถ้าเติมผิดประเภทข้ามกลุ่ม ระหว่างดีเซล กับเบนซิน จะสร้างปัญหาความเสียหายร้ายแรงและต้องมีค่าใช้จ่ายตามมา


เมื่อเติมผิดแล้ว หากใช้รถต่อไปได้สักระยะ เครื่องยนต์จะมีอาการสะดุด และดับไปในที่สุด สิ่งที่ต้องทำคือ ห้ามสตาร์ทเครื่องยนต์ใหม่อย่างเด็ดขาด และให้จัดการถ่ายน้ำมันที่เติมผิดทิ้งไป ไล่ระบบน้ำมันใหม่ ก่อนจะเติมชนิดน้ำมันที่ถูกต้องเข้าไปแทน แล้วไล่ระบบน้ำมันอีกครั้ง นอกจากนี้ยังมีบางอย่างที่ต้องทำเพิ่มเติม เช่น การทำความสะอาดหัวเทียนสำหรับเครื่องยนต์เบนซิน หรือการเปลี่ยนหรือทำความสะอาดไส้กรองน้ำมันขั้นตอนต่างๆ เหล่านี้ แนะนำว่าหากไม่มีความรู้ด้านเครื่องยนต์กลไก ควรให้ช่างที่มีความเชี่ยวชาญจัดการแก้ไขเป็นวิธีที่ดีที่สุด และสิ่งที่อยากเน้นย้ำคือ อย่าพยายามสตาร์ทเครื่องยนต์เด็ดขาด  เพราะจะทำให้เกิดความเสียหายมากขึ้น


ป้องกันความผิดพลาด แค่เรื่องง่ายๆ

เพื่อไม่ให้เกิดความยุ่งยาก เสียเวลา และความเสียหายที่จะเกิดขึ้น สิ่งที่ดีที่สุดคือ พยายามเติมน้ำมันให้ถูกชนิด ซึ่งไม่ใช่เรื่องยากอะไร เพียงแค่ใส่ใจเท่านั้น


แนวทางที่ดีที่สุดในการเติมน้ำมันแต่ละครั้งคือ ควรจะลงจากรถ ซึ่งจะทำให้เห็นการทำงานของพนักงานในสถานีบริการว่าเติมถูกต้องหรือไม่ แต่ปัจจุบันผู้คนส่วนใหญ่ไม่ค่อยปฏิบัติสักเท่าไร


แต่อย่างน้อยที่สุด หากยังคงนั่งอยู่ในรถ ให้ดับเครื่องยนต์ทุกครั้ง หลีกเลี่ยงสิ่งที่ทำให้เกิดประกายไฟ และก่อนเติมให้หันไปดูว่า พนักงานหยิบหัวจ่ายมาถูกต้องหรือไม่ และหลีกเลี่ยงสตาร์ทเครื่องยนต์ระหว่างเติมเชื้อเพลิง


การลงจากรถทุกครั้งก่อนการเติมเชื้อเพลิงนั้น ไม่ใช่แค่ป้องกันการเติมผิดประเภท หรือการตรวจดูความเรียบร้อยไม่มีน้ำมันหกเลอะเทอะเปรอะเปื้อนตัวรถ แต่สิ่งสำคัญกว่านั้น คือ การลงจากรถเป็นหลักการด้านความปลอดภัย เพราะหากเกิดความผิดพลาดขณะเติมเชื้อเพลิง เช่น เกิดไฟลุกไหม้ หรือเกิดการระเบิด การอยู่นอกรถย่อมดีกว่าอยู่ในรถอย่างแน่นอน


และทุกครั้งที่ลงจากรถ ต้องดับเครื่องยนต์ และนำกุญแจติดตัวมาด้วยทุกครั้ง เพื่อป้องกันมิจฉาชีพที่ใช้จังหวะนี้ฉวยโอกาสขโมยรถไปต่อหน้าต่อตา ซึ่งเป็นเรื่องที่เคยเกิดขึ้นมาแล้วหลายครั้ง


และคงเห็นว่าตามปั๊มน้ำมันจะมีคำเตือนห้ามใช้โทรศัพท์มือถือ ซึ่งควรปฏิบัติตาม แม้จะไม่ค่อยได้ยินข่าวว่าเกิดเหตุร้ายจากเรื่องนี้ก็ตาม แต่การป้องกันไว้ก่อนย่อมดีกว่า เพราะการใช้โทรศัพท์จะเกิดคลื่นไมโครเวฟ ซึ่งอาจมีผลทำให้เกิดการลุกไหม้ได้ และอย่าเข้าใจผิดว่าอยู่ห่างจากน้ำมันไม่น่าจะมีปัญหา เพราะส่วนใหญ่เหตุลุกไหม้ ไม่ได้เกิดกับน้ำมันโดยตรง แต่เป็นการทำปฏิกิริยากับไอน้ำมันที่ระเหยอยู่ตลอดเวลา


ไม่ใช่เรื่องยุ่งยากอะไร กับแนวทางปฏิบัติเพื่อให้การเติมเชื้อเพลิงแต่ละครั้งเป็นไปด้วยความปลอดภัย และไม่เกิดความเสียหายกับรถยนต์ เพียงแค่ใส่ใจรายละเอียดเล็กๆน้อย ท้ายที่สุดก็จะกลายเป็นความเคยชิน ที่จะทำโดยอัตโนมัติทุกครั้งไป