ส่องพฤติกรรมการดื่มของคนเมียนมา

เมื่อกล่าวถึงเครื่องดื่มไทยที่วางจำหน่ายในเมียนมานั้น ในอดีตเคยเป็น 1 ใน 15 สินค้าต้องห้ามที่เคยถูกห้ามนำเข้าเมียนมาตั้งแต่ปี พ.ศ. 2542 (ตามประกาศกระทรวงพาณิชย์ สหภาพพม่า ฉบับที่ 9/99 วันที่ 26 พฤศจิกายน 2542) ทำให้สินค้าเหล่านี้ถูกลักลอบนำเข้าไปจำหน่ายตามชายแดนเมียนมาอย่างผิดกฎหมาย แม้จะเป็นสินค้าที่ได้รับความนิยมจากคนเมียนมาเป็นอย่างมากก็ตาม แต่หลังจากเปิดประเทศและยกเลิกการกีดกันทางการค้าจากต่างชาติ ทำให้สินค้าประเภทเครื่องดื่มสามารถเข้าไปวางจำหน่ายได้อย่างไม่มีขีดจำกัด ส่งผลให้ยอดนำเข้าเพิ่มสูงขึ้นจนกลายเป็นสินค้าที่ได้รับความนิยมมากที่สุดของคนเมียนมา กว่า 80% ของเครื่องดื่มในเมียนมานิยมนำเข้าจากไทย เพราะชื่นชอบในรสชาติ ราคาและคุณภาพเป็นที่ยอมรับ จึงเป็นโอกาสของผู้ประกอบการไทยที่จะเข้าไปเจาะตลาดเมียนมา วันนี้เลยนำเครื่องดื่มของคนเมียนมามาฝากกัน


ชา

หนึ่งในพืชเศรษฐกิจของเมียนมาคือใบชา ด้วยสภาพภูมิประเทศ และภูมิอากาศของเมียนมา ทำให้ได้ชาที่มีรสชาติกลมกล่อม ไม่ขม และมีกลิ่นหอมเป็นเอกลักษณ์ ชาที่คนเมียนมานิยมคือชาร้อน ด้วยอากาศที่เย็น และหนาวจัดในฤดูหนาว การดื่มชาร้อนจึงช่วยสร้างความอบอุ่นให้กับร่างกาย ประกอบกับน้ำดื่มในเมียนมาจะต้องนำไปต้มก่อนเพื่อสุขอนามัยที่ดี จึงนิยมใส่ใบชาผสมลงไปเพื่อเพิ่มรสชาติ และกลิ่นหอม การดื่มชาจึงเป็นวิถีชีวิตของคนเมียนมา ที่ไม่ต้องมีพิธีการชงชา หรือแสดงรสนิยมที่หรูหรา หากแต่เป็นกิจกรรมที่เกิดขึ้นในแต่ละวันตั้งแต่ตื่นเช้าจนถึงเข้านอน

เมนูติดดาวของคนเมียนมาเริ่มมีการผสมนมและน้ำตาลในชา เพื่อเพิ่มรสชาติให้กลมกล่อมยิ่งขึ้น แต่ก็ยังคงชื่นชอบการดื่มชาร้อน ที่มีกลิ่นไอความหอมของใบชาพม่าเป็นเอกลักษณ์ เมื่อสำรวจตลาดเมียนมา เราจะเห็นร้านน้ำชาน้อยใหญ่ตามข้างทาง ทำเลที่ตั้งของร้านน้ำชาที่ดีที่สุดคือใต้ร่มไม้ใหญ่ หรือริมทางที่ผู้คนสัญจรไปมา บทบาทของร้านน้ำชาในเมียนมาจะมีลักษณะคล้ายสภากาแฟของไทย คือเป็นสถานที่พบปะกันระหว่างคนในชุมชม และแลกเปลี่ยนบทสนทนาระหว่างกัน

ขณะที่เมืองหลักๆ เช่น ย่างกุ้ง มัณฑะเลย์ และเนปิดอว์ เริ่มมีร้านชาจากนานาประเทศเข้ามาเปิด เช่น ชาตรามือจากไทย, ชานมไข่มุกแบรนด์ดังๆ เช่น KOI the และ Tiger Sugar จากไต้หวัน, Tea Land จากสิงคโปร์ก็กำลังฮิตในกลุ่มคนชั้นกลาง (Middle Class) โดยเฉพาะผู้ที่เพิ่งเริ่มทำงานใหม่ๆ (First Jobber) หรือในกลุ่มนักเรียน และนักศึกษา กำลังซื้อที่เพิ่มสูงขึ้นเรื่อยๆ จากคนในประเทศ ทำให้เห็นถึงศักยภาพ ช่องทางการเติบโตในตลาดเมียนมาที่โดดเด่นไม่แพ้ชาติอื่นๆ ในแถบนี้เลย


กาแฟ

หากกล่าวว่า “ชา”  คือวัฒนธรรมเก่าของเมียนมาที่มีมาตั้งแต่อดีตและต่อเนื่องมาจนถึงปัจจุบัน “กาแฟ” ก็คือวัฒนธรรมใหม่ที่เพิ่งเข้ามานิยมในเมียนมาไม่นานนักนับแต่เริ่มเปิดประเทศ แต่เข้ามาปุ๊บก็ฮิตปั๊บทีเดียว เมียนมานับเป็นคลื่นลูกใหม่ในการผลิตเมล็ดกาแฟในแถบเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ เนื่องจากสภาพอากาศ และภูมิประเทศประกอบกับเทคโนโลยีสมัยใหม่ที่เข้ามาช่วยในการเพาะปลูก และคั่วเมล็ดกาแฟ ทำให้เมียนมาค้นพบว่าเมล็ดกาแฟที่ผลิตในประเทศมีคุณภาพสูง ส่งผลให้ปัจจุบันรัฐบาลเมียนมาพยายามผลักดันให้เมล็ดกาแฟเป็น 1 ใน 5 พืชเศรษฐกิจส่งออกที่สำคัญของประเทศ และตั้งเป้าจะส่งออกในทุกทวีปทั่วโลก “สมาคมกาแฟแห่งเอเชีย” (The Asian Coffee Association) ที่มณฑลยูนนาน ประเทศจีน ได้การันตีว่ากาแฟของเมียนมารสชาติดี และมีคุณภาพเป็นอันดับสองรองจากอินโดนีเซีย     


ความนิยมในการเข้าใช้บริการร้านกาแฟในเมียนมา จะเป็นลักษณะ Co-Working Space เพื่อนั่งทำงาน หรือพบปะพูดคุยเจรจาธุรกิจ ส่วนนักท่องเที่ยวก็นิยมใช้เพื่อเป็นที่นั่งพักผ่อนหย่อนใจตามกระแสสโลว์ไลฟ์บนโลกโซเชียล เมืองเศรษฐกิจหลัก เช่น ย่างกุ้งจึงนิยมเปิดร้านกาแฟแบบตะวันตกขึ้นมากมาย สำหรับผู้ประกอบการไทยที่ขยายตลาดไปยังเมียนมาและรู้จักกันแพร่หลาย ได้แก่ Black Canyon และ True Coffee

นอกจากนี้ กาแฟ 3in1 ก็ยังเป็นที่ชื่นชอบของคนเมียนมา จากเดิมคนเมียนมานิยมดื่มชา ไม่นิยมดื่มกาแฟเพราะมองว่ากรรมวิธีในการชงซับซ้อน และเป็นเครื่องดื่มสำหรับคนป่วย แต่ปัจจุบันมีการผลิตกาแฟ 3in1 ภายในประเทศ และนำเข้าจากต่างประเทศจำนวนมาก กาแฟแบรนด์ไทยหลายแบรนด์เป็นที่นิยมและติดตลาด การชงกาแฟสะดวกมากขึ้น และร้านน้ำชาก็มีกาแฟ 3in1 ไว้บริการลูกค้าด้วย การแข่งขันในตลาดกาแฟค่อนข้างเข้มข้น มีกิจกรรมส่งเสริมการขายทั้งของแถม และรางวัลชิงโชค กระตุ้นยอดขายกันอย่างดุเดือด


เครื่องดื่มชูกำลัง

แม้ว่าปัจจุบันเมียนมาจะมีสินค้าที่ผลิตได้เองภายในประเทศ แต่ก็ยังไม่สามารถผลิตสินค้าเพื่อตอบสนองความต้องการของคนในประเทศได้ ทำให้การนำเข้ามีความสำคัญอย่างมาก  เมียนมานำเข้าสินค้าประเภทเครื่องดื่มไม่มีแอลกอฮอล์ จากไทยเป็นอันดับ 1 มีมูลค่าประมาณ 3 พันล้านบาท โดยเฉพาะเครื่องดื่มชูกำลังจากไทยที่ได้รับความนิยมอย่างมาก เพราะมีรสชาติอร่อย ดื่มแล้วสดชื่น เป็นสินค้าเกรดพรีเมียม ดูหรูหราตอกย้ำการเป็นสินค้าระดับบนจากบทวิเคราะห์ของ Kim Eng อุตสาหกรรมเครื่องดื่มชูกำลังในเมียนมากำลังอยู่ในช่วงขาขึ้น เนื่องจากเมียนมากลายเป็นคลื่นลูกใหม่ เศรษฐกิจของประเทศอยู่ในช่วงขาขึ้น นั่นหมายความว่าคนเมียนมาต้องทำงานหนักขึ้น จึงนิยมดื่มเครื่องดื่มชูกำลังเพื่อความสดชื่น กระปรี้กระเปร่า และเพิ่มพลังงาน ความต้องการในการบริโภคเครื่องดื่มชูกำลังในเมียนมาจึงเพิ่มขึ้นตามการเติบโตของเศรษฐกิจ ซึ่งนับเป็นจังหวะดีของผู้ประกอบการไทยที่จะเข้าไปเจาะตลาดท้องถิ่นในเมียนมา

ปัจจุบันเครื่องดื่มชูกำลังแบรนด์ไทยที่เข้าสู่ตลาดเมียนมามีเครื่องดื่มในเครือโอสถสภา ได้แก่ M-150 และ Shark กินส่วนแบ่งในตลาดถึง 40% ของเครื่องดื่มชูกำลังที่นำเข้าจากต่างประเทศ และตามมาด้วยกระทิงแดง และ คาราบาว กลยุทธของนักลงทุนไทยมีการร่วมทุนกับบริษัทท้องถิ่น แล้วผลิตสินค้าภายในประเทศแทนการนำเข้าจากไทยโดยตรง เพื่อลดต้นทุนการผลิต, สิทธิประโยชน์ทางภาษี และเพื่อความคล่องตัวในการกระจายสินค้าไปสู่ท้องถิ่น


เครื่องดื่มสำหรับผู้เล่นกีฬาก็เป็นที่นิยมของคนเมียนมา คนรุ่นใหม่ที่อยู่ในเมืองใหญ่อย่างย่างกุ้ง  มัณฑะเลย์ และเนปิดอว์ หันมาใส่ใจสุขภาพมากขึ้น ชื่นชอบการเล่นกีฬาตามสถานที่ออกกำลังกายต่างๆ ซึ่งกระแสการออกกำลังกายเพิ่มมากขึ้นจากการที่เมียนมาได้เป็นเจ้าภาพซีเกมส์ ครั้งที่ 27 เมื่อปี 2556 เป็นต้นมา เครื่องดื่มผสมเกลือแร่จึงได้รับความนิยมเป็นอย่างมาก และเครื่องดื่มแบรนด์ไทยหลายยี่ห้อก็ได้รับความไว้วางใจจากคนเมียนมาเช่นเดียวกัน


เครื่องดื่มแอลกอฮอล์

จากการสำรวจของกรมการค้าระหว่างประเทศพบว่ากลุ่มคนที่นิยมดื่มคือเพศชาย อายุ 50 ปีขึ้นไป รายได้ยังคงเป็นปัจจัยในการตัดสินใจเลือกซื้อสินค้า คนเมียนมาดื่มแอลกอฮอล์น้อยมากเนื่องจากเป็นประเทศที่เคร่งครัดในพุทธศาสนา


เครื่องดื่มที่นิยมได้แก่เบียร์ที่ผลิตภายในประเทศเอง ได้แก่ Myanmar Beer, Dagon Beer และ ABC Beer แต่ทั้งนี้เบียร์นำเข้าจากต่างประเทศก็ยังได้รับความนิยม และกลายเป็นสินค้าเกรดพรีเมี่ยมของเมียนมา ได้แก่ Carlsberg, Heineken, Kirin, Asahi, Tiger และ สำหรับเบียร์สิงห์ และช้าง ก็ถือว่ากินส่วนแบ่งการตลาดเบียร์นำเข้าในเมียนมาค่อนข้างสูง เพราะเป็นเบียร์นำเข้าราคาถูกเมื่อเทียบกับเบียร์ท้องถิ่น

ในเมืองเศรษฐกิจอย่างเช่นย่างกุ้ง มัณฑะเลย์ และเนปิดอว์ เบียร์จะเป็นที่นิยมมากกว่าเหล้า เนื่องจากดื่มง่าย และมีวางขายในตู้เย็น สามารถหยิบจากตู้แช่เย็นแล้วดื่มได้เลย โดยจะมี Beer Station, ร้านเหล้า, ผับ, บาร์ มากมาย เพื่อให้บริการนักท่องเที่ยว และชาวต่างชาติจำนวนมาก ส่วนเครื่องดื่มที่วางจำหน่ายมีหลากหลายยี่ห้อ ตั้งแต่สุราท้องถิ่น ไปจนถึงวิสกี้ที่นำเข้าจากต่างประเทศ ในขณะที่ชนบทตู้เย็นยังเป็นสิ่งของไม่จำเป็น น้ำแข็งยังไม่เป็นที่บริโภคแพร่หลาย และมีราคาสูง ดังนั้นการบริโภคเครื่องดื่มแอลกอฮอล์เพื่อพบปะสังสรรค์คลายความเหน็ดเหนื่อยเมื่อยล้าจากการทำงาน หรือพูดคุยระหว่างกันนั้น คนเมียนมาจึงเลือกดื่มเหล้าแบรนด์ของเมียนมาเองและเป็นการดื่มแบบไม่ผสม 


น้ำผลไม้ และน้ำอัดลม

ปัจจุบันคนเมียนมาใส่ใจสุขภาพมากขึ้น เครื่องดื่มประเภทบำรุงสุขภาพจึงเป็นที่นิยมมาก ชาเขียวรสชาติต่างๆ จะนำเข้าจากไทย โดยเป็นที่นิยมมากในกลุ่มคนชั้นกลางลงไป ส่วนเครื่องดื่มประเภทน้ำผลไม้ 100% เพิ่งเข้าสู่ตลาดเมียนมาได้ไม่นาน โดยเป็นที่นิยมในกลุ่มผู้ที่มีฐานะดี และชาวต่างชาติที่อาศัยอยู่ในเมียนมา

หลังการยกเลิกการกีดกันทางการค้า ธุรกิจน้ำอัดลมเจ้าใหญ่ได้กลับเข้ามาลงทุนในเมียนมาอีกครั้ง โดยมีกลยุทธมากมายเพื่อแข่งขันทางการตลาดอย่างดุเดือด แต่ยังไม่สามารถลดราคาต่ำเท่ากับน้ำอัดลมแบรนด์ท้องถิ่นได้ แม้น้ำอัดลมนำเข้าจะมีคุณภาพดีกว่า แต่ด้วยราคาแพงจึงกลายเป็นสินค้าระดับพรีเมียมที่วางจำหน่ายเฉพาะร้านหรู และมักจะนำไปเป็นของขวัญมอบให้แก่กันในโอกาสพิเศษ

ปัจจุบันแบรนด์เครื่องดื่มน้ำอัดลมจากต่างชาติทำการตลาดอย่างเข้มข้น มีการร่วมทุนกับผู้ผลิตเครื่องดื่มน้ำอัดลมภายในประเทศ และร่วมกันกับหน่วยงานภาครัฐ จัดโครงการพัฒนาศักยภาพคนเมียนมามากมายเพื่อสร้างแบรนด์ และพยายามทำให้สินค้าเข้าถึงคนเมียนมาได้อย่างทั่วถึงในฐานะสินค้าทั่วไปเหมือนประเทศอื่น


ตลาดเครื่องดื่มในเมียนมายังสามารถรองรับการเติบโตของเศรษฐกิจได้อยู่ เนื่องจากความต้องการในสินค้าประเภทนี้ยังมีอีกมาก เพราะเมียนมากำลังเป็นประเทศที่ต่างชาติจับตาเข้าไปลงทุน ส่งผลให้เกิดการจ้างงานมากขึ้น คนเมียนมามีกำลังซื้อมากขึ้น และชื่นชอบในสินค้าไทย จึงเป็นโอกาสที่ดีสำหรับนักลงทุนไทยในการเข้าไปลงทุนในเมียนมา


สำหรับผู้ประกอบการไทยที่ต้องการลงทุนในประเทศเมียนมา ธนาคารไทยพาณิชย์ เมียนมา ตั้งอยู่ที่ กรุงย่างกุ้ง พร้อมให้คำปรึกษาและสนับสนุนทุกธุรกรรมทางการเงินแก่ลูกค้า เพื่อความคล่องตัวในการดำเนินธุรกิจ


ขอบคุณข้อมูลดีๆ จาก
: ธนาคารไทยพาณิชย์เมียนมา ณ กรุงย่างกุ้ง

 

อ้างอิงข้อมูล:

1.หอการค้าตาก. “สินค้าไทยเกลี้ยงแม่สอด ออเดอร์ 15 สินค้าต้องห้ามพม่าทะลัก.http://www.takchamber.com/index.php?lay=show&ac=article&Id=538789820&Ntype=1 (Accessed 16/4/2020)

2.Front Line. “เมียนมาร์พร้อมแล้วกับการเป็นผู้ผลิตกาแฟพิเศษชั้นนำของภูมิภาค.https://www.frontlinenews.digital/recommended/myanmar-and-speciality-coffee/ (Accessed 16/4/2020)

3.ประชาชาติธุรกิจ. “กาแฟ พืชเศรษฐกิจใหม่เมียนมา ตั้งเป้ารุกตลาดส่งออกทั่วโลก.https://www.prachachat.net/aseanaec/news-97242 (Accessed 16/4/2020)

4.Myanmore. “Black Canyon Myanmar Soft Opening.https://www.myanmore.com/2017/07/black-canyon-myanmar-soft-opening/ (Accessed 16/4/2020)

5.กรมการค้าระหว่างประเทศ. “ข้อมูลเชิงลึกกลุ่มสินค้าเครื่องดื่ม.” https://www.ditp.go.th/contents_attach/155147/155147.pdf (Accessed 16/4/2020)

6. Myanmar Times. “Let’s raise a glass, Myanmar.” https://www.mmtimes.com/special-features/232-food-and-entertainment-2017/25100-let-s-raise-a-glass-myanmar.html (Accessed 17/4/2020)

7. May Bank Kim Eng. “Osotspa (OSP) Resilient growth from solid business structure.” https://kelive.maybank-ke.co.th/KimEng/servlet/PDFDownload?DBId=2&rid=42230&lang=1 (Accessed 17/4/2020)

8.เป๊ปซี่โค. “เป๊ปซี่โค ร่วมขับเคลื่อนเศรษฐกิจเมียนมาหลากหลายโครงการ.https://www.ryt9.com/s/anpi/2596517 (Accessed 21/4/2020)

9.Forbes. “Myanmar’s Gradual Embrace of The Coke Trade.https://www.forbes.com/sites/shuchingjeanchen/2014/06/25/myanmars-gradual-embrace-of-the-coke-trade/#42df94e635d5 (Accessed 21/4/2020)