ธุรกิจเครื่องสำอางไทยสดใสในเมียนมา

เราปฏิเสธไม่ได้ว่า เมียนมาเป็นหนึ่งในประเทศน้องใหม่มาแรงทางด้านการลงทุน ในช่วง 5 ปีที่ผ่านมานั้น เมียนมามี GDP ที่เติบโตอย่างต่อเนื่อง และปีล่าสุด (2562) GDP เติบโตถึง 6.8% นั่นหมายความว่า เมียนมามีรายได้เพิ่มสูงขึ้นอย่างต่อเนื่อง มีต่างชาติหันมาลงทุนมากขึ้น ประกอบกับค่าแรงถูก (ค่าแรงขั้นต่ำ 4,800 จั๊ด/วัน หรือเทียบเป็น109 บาท/วัน) จึงกลายเป็นที่ดึงดูดนักลงทุนอย่างยิ่ง


ด้วยอัตราการจ้างงานในเมียนมาเพิ่มขึ้นเป็นอย่างมาก ทำให้คนพม่ามีกำลังซื้อในสินค้าอุปโภคบริโภคมากขึ้น อีกทั้งยังให้ความสำคัญกับการดูแลสุขภาพและดูแลตัวเองเพื่อให้ดูดีเพิ่มมากขึ้น ส่งผลให้ธุรกิจด้านความสวยความงามและเครื่องสำอางต่างๆ ของเมียนมาเติบโตอย่างต่อเนื่องและมีอนาคตสดใส ที่ผ่านมาเครื่องสำอางไทยจัดว่าเป็นสินค้าที่มีคุณภาพและได้รับการยอมรับ แม้เทียบกับจีนราคาของสินค้าไทยจะสูงกว่าก็ตาม อีกทั้งคนพม่ายังคุ้นเคยกับสินค้าเมดอินไทยแลนด์มาอย่างยาวนาน ถือเป็นจุดแข็งสำคัญที่ทำให้ไทยมีโอกาสสูงในการเข้าไปเจาะตลาด เพื่อตอบสนองความต้องการของคนพม่าที่มีความต้องการสินค้าในกลุ่มนี้เพิ่มมากขึ้น

จากข้อมูลการส่งออก กรมศุลกากร พบว่าปี 2554 ซึ่งเป็นปีที่เมียนมาเริ่มเปิดประเทศ มียอดการส่งออกสินค้าประเภทเครื่องสำอางไทยไปยังเมียนมามูลค่า 1,747 ล้านบาท และในปี 2562 ยอดการส่งออกสินค้าประเภทเครื่องสำอางมีมูลค่าเพิ่มสูงขึ้นถึง 3,248 ล้านบาท คิดเป็นอัตราการเติบโตถึง 85.92% โดยมีแนวโน้มขยายตัวอย่างต่อเนื่อง อีกทั้งค่านิยมของคนพม่าที่เปลี่ยนไป การเข้าถึงสื่อออนไลน์ได้มากยิ่งขึ้น การรับเอาวัฒนธรรมจากนานาชาติเข้ามามากขึ้น และที่สำคัญมีกำลังซื้อมากยิ่งขึ้น ประกอบกับปัจจุบันตลาดการค้าสมัยใหม่ (Modern Trade) ได้เข้าไปเปิดในเมียนมาเพิ่มมากขึ้น จึงเป็นโอกาสที่แบรนด์เครื่องสำอางไทยจะเข้าไปตีตลาดในเมียนมาได้ไม่ยาก

นอกจากนี้ เมียนมายังมีแนวชายแดนที่ติดกับไทย 2,401 กิโลเมตร มีด่านชายแดนรวมทั้งหมด 21 แห่ง (ได้แก่ ด่านถาวร 5 แห่ง ด่านผ่อนปรน 13 แห่ง ด่านผ่อนปรนพิเศษ 1 แห่ง และด่านชั่วคราว 2 ด่าน) ประกอบกับสิทธิประโยชน์ภาษีศุลกากรพิเศษตามข้อตกลง AFTA (ASEAN Free Trade Area) ทำให้ส่งออกเครื่องสำอางไทยไปยังเมียนมาได้ง่ายและสะดวกขึ้น อีกทั้งเมียนมายังเป็นประตูในการขยายสินค้าไทยไปสู่จีน และอินเดียด้วย


แบรนด์เครื่องสำอางไทยที่ขายดีมีตั้งแต่ Miss Teen, Giffarine, Snail White, สบู่นกแก้ว สำหรับการเข้ามาทำตลาดในเมียนมานั้น เนื่องจากสินค้าประเภทเครื่องสำอางได้รับความนิยมสูง ดังนั้นจึงเริ่มมี Shop ที่ตั้งขึ้น เพื่อขายเครื่องสำอางโดยเฉพาะ เช่น Beauty Diary ซึ่งมีลักษณะเหมือน Sephora ในเมืองไทย และมีแบรด์เครื่องสำอางมากมายที่จัดจำหน่ายอยู่


ด้วยมูลค่าตลาด ทิศทางการเติบโตในอนาคต รวมไปถึงจุดแข็งของสินค้าเครื่องสำอางจากไทย จึงเป็นโอกาสดีสำหรับผู้ประกอบการธุรกิจเครื่องสำอางไทยที่สนใจจะไปลงทุนในตลาดเมียนมา จะได้เตรียมศึกษาข้อมูล เตรียมเดินเรื่องเอกสารและใบอนุญาต เมื่อวิกฤตการณ์ Covid-19 คลี่คลายลง จะได้เข้าสู่ตลาดทันท่วงที


สำหรับผู้ประกอบการไทยที่ต้องการลงทุนไปยังประเทศเมียนมา ธนาคารไทยพาณิชย์เป็นธนาคารไทยแห่งเดียวที่ได้รับอนุมัติการจัดตั้งธนาคารลูก (Subsidiary Bank) ตามประกาศของธนาคารกลางเมียนมา หรือ Central Bank of Myanmar อย่างเป็นทางการ ให้สามารถประกอบธุรกิจธนาคารพาณิชย์ได้เต็มรูปแบบเสมือนธนาคารท้องถิ่นในเมียนมา ทั้งยัง สามารถให้บริการทางการเงินแก่ลูกค้ารายใหญ่ เอสเอ็มอี และรายย่อย แบบครบวงจร


ขอบคุณข้อมูลดีๆ จาก : ธนาคารไทยพาณิชย์เมียนมา ณ กรุงย่างกุ้ง


อ้างอิงข้อมูล

1. กรมศุลกากร. “ รายงานสถิติ .”

2. TNP. “ สำรวจตลาดเครื่องสำอางพม่าในปี 2019 .”

3. DITP. “ โครงการสัมมนา ติวเข้ม...เจาะตลาดเมียนมา .”

4. กองการต่างประเทศ สำนักงานปลัดกระทรวงมหาดไทย. “จุดผ่านแดนบริเวณชายแดนไทย – เมียนมา”

5. Asian Development Bank. “Economic Indicators for Myanmar.”