วัยทองสองวัย

เมื่อพูดถึงคำว่า “วัยทอง” หลายคนอาจนึกถึงช่วงย่างเข้าสู่วัยผู้สูงอายุซึ่งเป็นความหมายที่รู้จักกันทั่วไป แต่ทุกวันนี้ เมื่อพูดถึง “วัยทอง” ก็มีอีกหลายคนที่นึกถึงพฤติกรรมและอารมณ์ของเด็กเล็กที่เกิดขึ้นระหว่างช่วงวัยของพวกเขา บ้านไหนที่มีผู้ใหญ่วัยทองและเด็กวัยทองอยู่ร่วมกัน คงจะพอนึกออกถึงความต่างที่ลงตัวและไม่ลงตัว แล้วจะจัดการอย่างไรให้ทั้งสองวัยอยู่ร่วมกันอย่างราบรื่น เรามาเริ่มจากการทำความเข้าใจสภาวะของทั้งสองวัยนี้กันก่อน


วัยทองของผู้ใหญ่เพศหญิง มักอยู่ในช่วงอายุเฉลี่ย 45-55 ปี ซึ่งเข้าสู่วัยหมดประจำเดือน รังไข่จะหยุดสร้างฮอร์โมนที่ชื่อว่าเอสโตรเจนและโปรเจสเตอโรน ถ้าประจำเดือนขาดไปครบ 1 ปี แสดงว่ารังไข่หยุดทำงานและเข้าสู่วัยทองอย่างสมบูรณ์ สภาวะอารมณ์ซึ่งเกิดจากการเปลี่ยนแปลงของฮอร์โมนส่งผลต่อการใช้ชีวิตของหลายๆ คน เป็นที่ทราบกันว่าสตรีวัยทองจะมีอาการร้อนวูบวาบ เหงื่อออกมาก มีอัตราการเต้นของหัวใจเพิ่มขึ้น บางรายใจสั่น เกิดขึ้นได้ทั้งกลางวันและกลางคืน อาจทำให้นอนไม่หลับ ตื่นกลางดึก ส่งผลให้อ่อนเพลีย หงุดหงิด และฉุนเฉียวง่าย บางรายซึมเศร้า หรือมีความเสี่ยงเป็นอัลไซเมอร์ด้วย


ผู้ใหญ่เพศชายก็มีช่วงวัยทองเหมือนกัน ฮอร์โมนเพศชายที่ชื่อเทสโทสเตอโรนจะเริ่มลดลงตั้งแต่อายุประมาณ 40 ปีขึ้นไป ส่งผลต่อระบบเผาผลาญไขมัน การสร้างกล้ามเนื้อ ความแข็งแรงของกระดูก รวมทั้งระบบสืบพันธุ์ด้วย อาการวัยทองในผู้ชายถึงจะไม่ชัดเจนเท่าผู้หญิง แต่ก็มีสภาวะทางอารมณ์ที่แสดงถึงความ เศร้า ความไม่สดใสได้เช่นกัน


ในหนึ่งครอบครัวก็อาจจะมีผู้ใหญ่วัยทองอยู่ด้วยไม่ว่าจะเป็น ปู่ ย่า ตา ยาย ป้า น้า อา หรือไม่ก็ตัวพ่อแม่เอง เมื่อเราทราบถึงสภาวะทางอารมณ์ของคนวัยนี้ เราจะเข้าใจพฤติกรรมการแสดงออกที่แต่ก่อนเราอาจหัวเสียและหงุดหงิดตาม ซึ่งบ่อยครั้งเกิดจากความไม่ตั้งใจ ถ้าเราตอบโต้ด้วยความหงุดหงิด มีแต่จะบั่นทอนจิตใจทั้งสองฝ่าย เมื่อผู้ใหญ่วัยทองสนธนาโดยใช้อารมณ์ และเราเริ่มอยากจะโต้กลับ ขอให้ใจเย็น ถอยตัวเองออกมา แล้วคิดดูว่าเขาต้องการอะไร อะไรที่เราจะทำให้เขาได้

มาถึงวัยทองรุ่นจิ๋วกันบ้าง เรามักจะได้ยินคำว่า “วัยทองสองขวบ” (Terrible Two) อยู่บ่อยๆ ที่จริงแล้วสภาวะนี้ อาจเริ่มก่อตัวตั้งแต่อายุน้อยกว่านั้น แต่ช่วงสองขวบเป็นช่วงที่มักเห็นพฤติกรรมวัยทองเด่นชัดมากๆ เช่น ต่อต้าน ขัดขืน หวงของ ขว้างของ กรีดร้อง โวยวาย เป็นต้น อาการเหล่านี้ไม่ใช่ความผิดปกติ และจะหายไปตามช่วงวัย สาเหตุของภาวะวัยทองในเด็กเกิดจากการที่ช่วงวัยกำลังมีการเปลี่ยนแปลงหลายอย่าง ทั้งร่างกาย ความคิด การใช้ภาษา และการปรับตัวเข้ากับสังคม ถ้าว่าด้วยพัฒนาการทางสมอง สมองส่วนที่ควบคุมอารมณ์ความรู้สึกของเด็กวัย 2-4 ขวบ จะเติบโตเร็วกว่าสมองส่วนที่ควบคุมเหตุผล เมื่อเด็กเริ่มเติบโต มีความเป็นตัวของตัวเองมากขึ้น มีความรู้สึก มีความต้องการ แต่ยังไม่สามารถสื่อสารได้ ก็จะแสดงออกด้วยพฤติกรรมต่างๆ ที่ผู้ใหญ่มองว่าไม่น่ารัก เช่น ปาข้าวของ ร้องเสียงดัง เพื่อให้ได้รับความสนใจ แต่ถ้าไม่ได้ดั่งใจ การแสดงออกก็อาจจะทวีคูณขึ้น ซึ่งถ้าผู้ใหญ่ไม่รู้เท่าทันและควบคุมอารมณ์ไม่ได้ ก็จะจบที่การดุด่าและลงโทษด้วยความรุนแรง

การรับมือเด็กวัยทองเป็นเรื่องสำคัญ เพราะถ้าเราใช้กำลังและใช้ถ้อยคำรุนแรงกับเด็ก เขาก็จะซึมซับพฤติกรรมเหล่านั้นไปใช้กับคนรอบตัวของเขาต่อไปในอนาคต วิธีรับมือนั้น เราต้องเข้าใจก่อนว่าที่เด็กแสดงออกแบบนี้เป็นเพราะช่วงวัยของเขา ซึ่งผู้ใหญ่จำเป็นต้องใช้เหตุผลกับเขา แม้ว่าเขาจะแสดงออกว่าไม่ฟังหรือดื้อใส่ ต้องใช้ความใจเย็นและอดทน ไม่ใช้กำลังโดยเด็ดขาด หมั่นสังเกตว่าสิ่งใดที่เด็กทำแล้วทำให้ตัวเขาเกิดความหงุดหงิด เราก็ต้องพยายามเบี่ยงเบนให้เขาออกจากสิ่งนั้น ลองเสนอสิ่งอื่นให้ทำ แสดงความช่วยเหลือ หรือเสนอตัวเลือกเพื่อให้เด็กรู้สึกว่าเขายังมีอำนาจอยู่บ้าง เช่น เด็กคว้าส้มมาโยนเล่น เราอาจจะพูดเพื่อเบี่ยงเบนว่า แม่มีลูกบอลอยู่ทางนี้เยอะเลย หนูอยากช่วยแม่เก็บใส่ตระกร้ามั้ย หนูอยากเก็บสีอะไรก่อนคะ และอยากให้แม่ช่วยเก็บสีอะไรคะ เป็นต้น

การที่ในบ้านมีวัยทองทั้งสองวัยก็เป็นเรื่องที่ดี ผู้ใหญ่เองก็รู้สึกมีคุณค่าเมื่อได้ดูแลเด็ก เด็กเองก็ได้รับความรักและเรียนรู้การอยู่ร่วมกับคนอื่นๆ อย่างไรก็ตาม ความไม่ลงตัวก็เกิดขึ้นได้เช่นกัน ก่อนอื่นฝั่งผู้ใหญ่ต้องยอมรับว่าพฤติกรรมวัยทองของเด็กเป็นส่วนหนึ่งในพัฒนาการของเขา เราไม่ได้บอกให้ผู้ใหญ่ตามใจ แต่ถ้าผู้ใหญ่เข้าใจและจัดการกับอารมณ์ของตัวเองและของเด็กได้อย่างเหมาะสม สถานการณ์ต่างๆ ก็จะผ่านไปได้ด้วยดี บ่อยครั้งที่วัยทองฝั่งผู้ใหญ่จะหงุดหงิดกับความเจ้าอารมณ์ของเด็ก หรือหงุดหงิดเมื่อถูกตำหนิว่าทำแบบนั้นกับเด็กไม่ได้ พูดแบบนี้กับเด็กไม่ได้ จนเกิดความน้อยใจ และสะสมเป็นความเครียด ผู้ใหญ่หลายท่านไม่เคยฝึกรับมือกับพฤติกรรมไม่น่ารักของเด็กมาก่อน ถ้าคุณเป็นคนที่เข้าใจสภาวะของเด็กมากที่สุดในบ้าน คุณควรทำเป็นตัวอย่าง ว่าต้องพูดแบบไหน ใช้น้ำเสียงอย่างไร ผู้ใหญ่วัยทองก็จะค่อยๆ เรียนรู้จากแต่ละสถานการณ์ไปกับคุณ

ที่สำคัญ คนกลางต้องใช้เหตุผลบอกกล่าวผู้ใหญ่วัยทองด้วยความเป็นกลาง ไม่ใช้อารมณ์ และบอกด้วยความเข้าใจว่า เรารู้ว่าเขาเหนื่อย เรารู้ว่าเจ้าเด็กน้อยทำให้เขาหงุดหงิด เรารู้สึกขอบคุณที่ช่วยกันดูแลเจ้าตัวเล็ก เรากำลังอดทนกับความไม่น่ารักด้วยความใจเย็นและใช้เหตุผลไปด้วยกัน “พอเขาโตผ่านช่วงนี้ไป เขาก็จะกลับมาเป็นเด็กน่ารักของเราแล้วหละ” (อย่าลืมว่า...เขาจะกลับมาเป็นเด็กน่ารักอย่างที่วาดหวังได้ ก็ต่อเมื่อผู้ใหญ่ใช้เหตุผล ไม่ใช้ถ้อยคำรุนแรงหรือลงลงไม้ลงมือกับเขา)

ดูเหมือนว่า คำแนะนำส่วนใหญ่กำลังบอกให้ผู้ใหญ่ทั้งคนกลางและผู้ใหญ่วัยทองพยายามปรับตัวรับมือกับเด็กวัยทองเสียมากกว่า นั่นเพราะพวกเรายับยั้งชั่งใจก่อนลงมือทำอะไรต่ออะไรได้มากกว่าเด็ก และถ้าคุณเป็นคนกลางในบ้าน อย่าเพิ่งรู้สึกหมดแรงที่ต้องคอยประณีประนอมทั้งสองวัย แม้ในทางปฏิบัติ แรกๆ อาจจะรู้สึกยากหรือขัดเขิน แต่วันนี้คุณเข้าใจวิธีพูดคุยและรับมือกับพวกเขาแล้ว เราหวังว่าทุกครอบครัวจะผ่านวิกฤตวัยทองไปได้อย่างราบรื่น

รับมือผู้ใหญ่วัยทอง

- เข้าใจที่มาของความเปลี่ยนแปลงสภาวะร่างกายและอารมณ์

- พูดคุยแนะนำด้วยความใจเย็นและอดทน ไม่ปะทะ

- แสดงความขอบคุณ เห็นอกเห็นใจ และเข้าใจสิ่งที่เกิดขึ้นกับเขา

- เป็นตัวอย่างให้เห็นการพูดการปฏิบัติที่เหมาะสมกับเด็กวัยทอง

รับมือเด็กวัยทอง

- เข้าใจที่มาของความเปลี่ยนแปลงสภาวะร่างกายและอารมณ์

- ใช้เหตุผลพูดคุย ไม่ใช้ถ้อยคำรุ่นแรงหรือใช้กำลัง

- สังเกตสิ่งที่ทำให้เด็กหงุดหงิด เบี่ยงเบนเด็กออกจากสิ่งนั้น

- ชวนทำกิจกรรมอื่น ให้ตัวเลือกเพื่อให้เด็กรู้สึกว่ายังมีอำนาจอยู่