จ่ายเบี้ยประกันต่อไม่ไหว ทำไงดี?

ในการบริหารจัดการกรมธรรม์ประกันชีวิต เพื่อให้เกิดประโยชน์สูงสุดกับผู้ทำประกัน สิ่งแรกที่ควรทำ คือ การสรุปและทบทวนกรมธรรม์ ซึ่งจะทำให้รู้ว่า เราทำอะไรไว้ มีความคุ้มครองอะไรอยู่บ้าง และความคุ้มครองหรือผลประโยชน์ต่างๆ ที่ได้รับจากกรมธรรม์ที่ทำไว้นั้น สอดคล้องกับเป้าหมายการเงินที่ต้องการในปัจจุบันหรือไม่ เพื่อที่จะได้ปรับเปลี่ยนกรมธรรม์ให้เหมาะสม และสอดคล้องกับความต้องการในปัจจุบันให้ได้มากที่สุด เพราะหากพบว่าทำประกันไว้มากเกินไป อาจจะพิจารณาหยุดจ่ายเบี้ยบางกรมธรรม์เพื่อลดภาระ หรือหากทำน้อยเกินไป ก็จะได้พิจารณาทำเพิ่มในส่วนที่ขาดได้


นอกจากนี้หากเกิดปัญหาทางการเงิน หรือขาดสภาพคล่อง อาจทำให้จ่ายเบี้ยประกันต่อไม่ไหว การทบทวนกรมธรรม์จะทำให้รู้ว่าเราควรจะเก็บกรมธรรม์ฉบับไหนไว้ และจะยกเลิกฉบับไหน อีกทั้งเราจะมีทางเลือกไหนอีกบ้าง ที่จะให้ผลประโยชน์ได้ดีกว่าการยกเลิกกรมธรรม์ ซึ่งทางเลือกในการปรับเปลี่ยนกรมธรรม์ มีข้อควรพิจารณาดังนี้

ข้อควรพิจารณาในการปรับเปลี่ยนกรมธรรม์

1. ประกันชีวิต

เราสามารถบริหารกรมธรรม์ประกันชีวิตผ่าน มูลค่าเงินสดในกรมธรรม์ (Cash Value) ซึ่งมูลค่าเงินสดในกรมธรรม์เป็นมูลค่าที่เกิดขึ้นจากเงินส่วนที่เหลือในเบี้ยประกัน หลังจากหักค่าธรรมเนียมในการบริหารกรมธรรม์ และค่าใช้จ่ายต่างๆ ในการประกันชีวิตเรียบร้อยแล้ว บริษัทประกันจะนำเงินส่วนที่เหลือไปลงทุนให้ได้ผลตอบแทนกลับมา นั่นก็แปลว่าในการจ่ายเบี้ยประกันเข้าไป เงินจะแบ่งเป็น 2 ส่วน ส่วนหนึ่ง คือ ค่าใช้จ่ายทั้งหมดในการประกันชีวิต และอีกส่วนหนึ่งจะเป็นเงินลงทุน โดยหากเป็นกรมธรรม์ประกันชีวิตแบบดั้งเดิม บริษัทประกันชีวิตจะเป็นผู้นำเงินส่วนนี้ไปลงทุน ซึ่งโดยมากจะลงทุนในสินทรัพย์ที่มีความเสี่ยงต่ำ แต่หากเป็นประกันชีวิตแบบยูนิต ลิงค์ ส่วนของเงินลงทุนจะถูกนำไปลงทุนในกองทุนรวมที่บริษัทประกันคัดเลือกมา ตามระดับความเสี่ยงที่ยอมรับได้ของผู้เอาประกัน


หากเป็นประกันชีวิตแบบดั้งเดิม เราสามารถเลือกบริหารจัดการกรมธรรม์ได้หลายวิธี โดยดูจากตารางมูลค่ากรมธรรม์ประกันภัยฉบับที่เราต้องการปรับเปลี่ยน ซึ่งสามารถปรับเปลี่ยนได้ 3 วิธี ดังนี้
 

  • เวนคืนกรมธรรม์ คือ การหยุดจ่ายเบี้ยประกัน แล้วขอเวนคืนเงินมูลค่าเงินสดทั้งหมดในกรมธรรม์คืนมา ทำให้เราได้รับเงินก้อน ที่มีมูลค่าเท่ากับมูลค่าเงินสดทั้งหมดที่มีอยู่ในกรมธรรม์ ซึ่งกำหนดอยู่ในตารางมูลค่ากรมธรรม์ เหตุผลในการเวนคืนกรมธรรม์ อาจเกิดจากผู้เอาประกันไม่มีความจำเป็นหรือไม่ต้องการการคุ้มครองจากกรมธรรม์ประกันชีวิตฉบับนั้นแล้ว ซึ่งเมื่อเวนคืนจะถือว่าเป็นการปิดกรมธรรม์ สัญญาประกันชีวิตเป็นอันสิ้นสุดลงทันที สิ่งที่ต้องพึงระวัง คือ หากจ่ายเบี้ยประกันมาไม่นาน ทำให้ยังมีมูลค่าเงินสดอยู่น้อย หรือไม่มีเลย เมื่อทำการเวนคืน จะขาดทุนเมื่อเทียบกับเบี้ยที่จ่ายมา

  • แปลงกรมธรรม์เป็นมูลค่าใช้เงินสำเร็จ คือ การหยุดจ่ายเบี้ยประกัน แล้วขอใช้สิทธิที่ทำให้กรมธรรม์ยังมีความคุ้มครองชีวิตต่อไปจนครบสัญญาเหมือนเดิม แต่มูลค่าความคุ้มครองชีวิตและเงินครบสัญญาที่จะได้รับอาจจะลดลงจากเดิม ขึ้นอยู่กับมูลค่าใช้เงินสำเร็จที่กำหนดไว้ในตารางมูลค่ากรมธรรม์

  • แปลงกรมธรรม์เป็นมูลค่าขยายเวลา คือ การหยุดจ่ายเบี้ยประกัน แล้วขอใช้สิทธิที่ทำให้กรมธรรม์ยังมีความคุ้มครองชีวิตต่อไป โดยที่มูลค่าความคุ้มครองชีวิตเท่าเดิม แต่ระยะเวลาความคุ้มครองชีวิตของสัญญาจะเปลี่ยนไปตามที่ได้กำหนดไว้ในตารางมูลค่ากรมธรรม์


หากเป็นประกันชีวิตแบบยูนิต ลิงค์ จะมีการแยกค่าใช้จ่าย และส่วนของเงินลงทุนอย่างชัดเจน โดยมูลค่าเวนคืนกรมธรรม์จะมีค่าเท่ากับมูลค่ารับซื้อหน่วยลงทุน หรือมูลค่าเงินลงทุนของเรานั่นเอง สำหรับกรมธรรม์ยูนิต ลิงค์นั้นจะไม่มีมูลค่าใช้เงินสำเร็จ และมูลค่าขยายเวลา ทำให้เราจะบริหารกรมธรรม์ยูนิต ลิงค์จากมูลค่าเงินสด โดยสามารถถอนเงินออกจากกรมธรรม์ หากมีความจำเป็นที่ต้องใช้เงิน ซึ่งจะมีค่าธรรมเนียมในการถอนตามที่ระบุไว้ในกรมธรรม์


หากมีความต้องการจะหยุดจ่ายเบี้ย แต่ต้องการที่จะมีความคุ้มครองต่อไป สามารถใช้สิทธิ Premium Holiday ซึ่งคือ การให้สิทธิบริษัทประกันชีวิตในการเรียกเก็บค่าใช้จ่ายต่างๆ ภายใต้กรมธรรม์ เช่น ค่าการประกันภัย ค่าธรรมเนียมการบริหารกรมธรรม์ ค่าธรรมเนียมการรักษากรมธรรม์ โดยการไถ่ถอนหน่วยลงทุนของกองทุนรวม ซึ่งเป็นการส่งคำสั่งขายหน่วยลงทุนโดยอัตโนมัติ โดยผู้เอาประกันภัยไม่จำเป็นต้องส่งคำสั่งเอง และถือว่าเป็นเงื่อนไขแห่งสัญญาประกันภัย เพื่อให้กรมธรรม์ยังมีผลบังคับอยู่ในขณะที่ลูกค้าไม่ชำระเบี้ยประกันภัยตามระยะเวลาที่กำหนด อย่างไรก็ตาม หากมูลค่ากรมธรรม์ที่เหลืออยู่มีไม่เพียงพอที่จะชำระค่าใช้จ่ายต่างๆ ภายใต้กรมธรรม์ กรมธรรม์จะสิ้นผลบังคับลง

2.ประกันสุขภาพและประกันโรคร้ายแรง

ก่อนพิจารณายกเลิกประกันสุขภาพและประกันโรคร้ายแรง ควรตรวจสอบสิทธิในการรักษาของตัวเองดูก่อนว่า มีสิทธิค่ารักษาพยาบาลอะไรอยู่บ้าง มีความคุ้มครองเท่าไหร่ และเพียงพอหรือไม่ เพราะหากยกเลิกไปแล้ว เกิดเจ็บไข้ได้ป่วยขึ้นมา แล้วไม่มีความคุ้มครองสุขภาพใดๆ เหลืออยู่เลย ก็อาจจะทำให้เกิดปัญหาการเงินสะดุดขึ้นมาได้


หากต้องการปรับเปลี่ยนความคุ้มครองให้เหมาะสมกับความสามารถในการจ่ายเบี้ย อย่าลืมว่าประกันสุขภาพและประกันโรคร้ายแรง มีเงินเพียงอย่างเดียวอาจซื้อไม่ได้ ต้องมีสุขภาพที่ดีด้วย ซึ่งหากต้องการยกเลิกประกันสุขภาพหรือประกันโรคร้ายที่มีอยู่ เพื่อไปทำฉบับใหม่ที่มีความคุ้มครองที่มากขึ้น หรือทันสมัยขึ้น จะไม่สามารถยกเลิกฉบับเก่าและไปซื้อฉบับใหม่ได้ทันที เพราะทั้งประกันสุขภาพและประกันโรคร้ายแรงมีระยะเวลารอคอยตั้งแต่ 30 วันถึง 180 วัน (แล้วแต่โรค)


ดังนั้นเราควรจะซื้อประกันฉบับใหม่ก่อน ให้มั่นใจว่าได้รับความคุ้มครองอย่างครบถ้วน และเลยกำหนดระยะเวลารอคอยที่นานที่สุด ก่อนที่จะยกเลิกฉบับเก่า ที่สำคัญหากมีโรคประจำตัวไปแล้ว ไม่แนะนำให้ยกเลิกกรมธรรม์ฉบับเก่าโดยเด็ดขาด เพราะหากต้องการทำกรมธรรม์ฉบับใหม่อาจจะซื้อไม่ผ่าน หรืออาจจะไม่ได้รับความคุ้มครองโรคที่เป็นมาก่อนการทำประกัน


กล่าวโดยสรุป การทำประกันภัยต่างๆ ไว้นั้นเป็นสิ่งที่ดี เพราะจะทำให้เรามีตัวช่วยบริหารความเสี่ยงในยามเกิดเหตุการณ์ไม่คาดฝันต่างๆ ซึ่งเราควรศึกษารายละเอียดความคุ้มครอง และทางเลือกต่างๆ ของกรมธรรม์ให้รอบคอบเพราะจะช่วยให้เรามีแนวทางในการบริหารกรมธรรม์อย่างเหมาะสมในกรณีฉุกเฉิน ยามจำเป็น หรือเมื่อไม่ต้องการความคุ้มครองแล้ว ทำให้เราสามารถลดภาระในการจ่ายเบี้ยลงได้ หรือใช้ผลประโยชน์ต่างๆ ในกรมธรรม์ได้อย่างมีประสิทธิภาพเพิ่มขึ้น


สนใจทำ ประกันสุขภาพ หรือ ประกันโรคร้ายแรง สามารถศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่นี่ หรือที่ SCB ทุกสาขา

 

บทความโดย : นิภาพันธ์ พูนเสถียรทรัพย์ CFP®, ACC

นักวางแผนการเงินอิสระ นักเขียนและวิทยากร