เจาะลึกรูปแบบธุรกิจญี่ปุ่น (2) - ธุรกิจกีฬา

ลองจินตนาการถึงนักเรียนตามโรงเรียนที่กำลังกรอกประวัติของตัวเอง แล้วในช่อง “อาชีพของผู้ปกครอง” นักเรียนบางคนก็กรอกว่าผู้ปกครองมีอาชีพ “นักเบสบอล”, “นักสู้”, “นักดาบ” หากคนไทยได้ไปอ่านประวัติของนักเรียนเหล่านี้ คงจะฉงนสนเท่ห์อยู่ไม่น้อยทีเดียว


ญี่ปุ่นเป็นประเทศที่ประสบความสำเร็จในการวางรากฐานของกีฬาในฐานะเป็น “อาชีพ” กล่าวคือ นักกีฬาหรือผู้ที่ประกอบอาชีพเกี่ยวกับกีฬา สามารถทำงานหาเลี้ยงชีพด้วยกีฬาได้เพียงพอ ไม่ต้องไปหาอาชีพเสริมอีกหลายอาชีพเพื่อให้มีเงินพอต่อการครองชีพ


สาเหตุที่ญี่ปุ่นสามารถประสบความสำเร็จในการวางรากฐานของธุรกิจกีฬานั้นมี 3 สาเหตุคือ ความเชื่อเรื่องสังกัดของคนญี่ปุ่น, ความหลากหลายของกีฬาประจำชาติของญี่ปุ่นเอง และ การสร้างระบบนิเวศน์ของธุรกิจกีฬาในญี่ปุ่น

japanese-business-sport-01

สาเหตุแรกคือชาวญี่ปุ่นเชื่อในเรื่องการมีสังกัดอย่างมาก โดยให้ความสำคัญกับการมีส่วนร่วมในสังกัดอะไรสักอย่าง สังกัดนั้นมีความสำคัญกว่าปัจเจกบุคคลเสียอีก เด็กชาวญี่ปุ่นจะถูกปลูกฝังให้รู้จักให้ความสำคัญกับความเป็นกลุ่ม ความสามัคคีของคนในสังกัด และรู้จักการเข้าชมรมกีฬาต่าง ๆ ตั้งแต่ชั้นประถม ชมรมกีฬาที่ได้รับความนิยมในโรงเรียนมีทั้งกีฬาแบบตะวันตกเช่น เบสบอล ฟุตบอล วอลเลย์บอล บาสเกตบอล หรือกีฬาประจำชาติญี่ปุ่นเองอย่างเช่น ยูโด, คาราเต้, เคนโด้, คิวโด (ธนูญี่ปุ่นโบราณ) การเล่นกีฬาในโรงเรียนของญี่ปุ่นจะต่างจากกีฬาสีแบบของไทยที่มีจัดเพียง 1-2 วัน แต่ของญี่ปุ่นฝึกซ้อมอย่างเข้มงวดตลอดปี มีการเช็คชื่อ มีระบบโค้ช ระบบฝึกซ้อมอย่างจริงจังราวกับนักกีฬาทีมชาติ มีฤดูกาลแข่งระหว่างโรงเรียนอย่างจริงจัง ทำให้เด็ก ๆ ชาวญี่ปุ่นได้รับการปลูกฝังเรื่องกีฬามาตั้งแต่เล็ก


กีฬาประจำชาติของญี่ปุ่นเองก็มีความหลากหลายมากกว่ากีฬาประจำชาติของชาติอื่น ตามโรงเรียนต่าง ๆ จะมีชมรมยูโด, คาราเต้, เคนโด้, คิวโด้ ราวกับเป็นวิชาบังคับเลยก็ว่าได้ เท่านั้นไม่พอ หลายโรงเรียนยังมีชมรมกีฬาประจำชาติชนิดอื่นๆ อีก เช่น ซูโม่, จูจุตสึ (ศิลปะการบิดจับหัก), อิไอโด (ศิลปะการชักดาบออกจากฝักอย่างรวดเร็ว) และยังมีชมรมกีฬาแบบจีนที่ญี่ปุ่นได้รับอิทธิพลมาโดยตรงอีกเช่น ชมรมมวยไท้เก๊ก, ชมรมมวยเส้าหลิน, ชมรมหมัดแปดปรมัตถ์, ชมรมมวยหย่งชุน ฯลฯ ทำให้ญี่ปุ่นมีความหลากหลายของกีฬาสูงมากเมื่อเทียบกับชาติอื่น ๆ

อย่างไรก็ตาม ลำพังเพียงความเชื่อของชาติญี่ปุ่นหรือความหลากหลายของกีฬาในประเทศญี่ปุ่นเองนั้นย่อมไม่เพียงพอต่อการสร้างธุรกิจกีฬา สิ่งสำคัญมากอีกประการจึงเป็นการสร้างระบบนิเวศน์ของธุรกิจกีฬาในญี่ปุ่น นั่นคือการสร้าง “อาชีพ” ต่าง ๆ เกียวกับกีฬาที่ไม่ได้มีเพียงแต่นักกีฬา แต่ญี่ปุ่นยังมีอาชีพอื่น ๆ เกี่ยวกับกีฬาคือ โค้ช เทรนเนอร์ นักวิจัยและพัฒนานักกีฬา นักวิจัยและพัฒนาอุปกรณ์กีฬา แพทย์ประจำตัวนักกีฬา กรรมการในกีฬาต่าง ๆ นักข่าวกีฬา ช่างภาพเกี่ยวกับกีฬา Promoter ที่คอยจัดอีเว้นท์เกี่ยวกับกีฬา อาชีพให้เช่าสถานที่เพื่อซ้อมกีฬา ฯลฯ


การสร้างอาชีพและสร้างบทบาทสำคัญของอาชีพต่างๆ ที่มีต่อวงการกีฬาผลักดันให้เกิดเป็นระบบสโมสรกีฬาต่างๆ ในญี่ปุ่น และสโมสรเหล่านี้จะคอยจัดการแข่งขันในระดับท้องถิ่น ประสานงานกับโรงเรียนเพื่อเฟ้นหาช้างเผือกที่จะปั้นให้เป็นนักกีฬาอาชีพในอนาคต และคอยประสานงานกับองค์กรท้องถิ่นเพื่อการจัดอีเว้นท์กีฬาและเพื่อการออกสื่อและสร้างรายได้ให้วงการกีฬานั้น ๆ โดยที่สื่อญี่ปุ่นเองก็ให้ความสำคัญกับกีฬาอย่างมาก นักเบสบอลหรือนักฟุตบอลทีมชาติของญี่ปุ่นมีสถานะไม่ต่างจากดาราดังเลยทีเดียว


เมื่อเกิดระบบนิเวศน์ของธุรกิจกีฬาขึ้นมา ผู้ชมกีฬาเองก็ได้รับการหล่อหลอมให้เห็นความสำคัญของกีฬามาแต่เด็ก ยินดีที่จะจ่ายค่าเข้าชมกีฬานั้นๆ สื่อเองก็ขายข่าวได้ถ้าเป็นข่าวเกี่ยวกับผลการแข่งขันหรือข่าวเกี่ยวกับนักกีฬาคนดัง และเมื่อการประกอบอาชีพกีฬาประสบความสำเร็จสามารถนำมาซึ่งชื่อเสียงและรายได้จึงมีนักกีฬาสมัครเล่นจำนวนมากตัดสินใจ “เข้าวงการ” กีฬาอาชีพ นำมาสู่การแข่งขันที่เข้มข้น ทำให้มีนักกีฬาเก่ง ๆ เกิดขึ้นมากมาย ตลอดจนผู้ประกอบอาชีพเกี่ยวกับกีฬามีรายได้มั่นคง มีระบบเงินเดือนรองรับ โดยได้เงินเดือน ภาระงานคือฝึกซ้อมกีฬาอย่างสม่ำเสมอตามตาราง และลงแข่งตามที่ต้นสังกัดสั่งให้ไป หากผลการแข่งขันประทับใจ จะได้เป็นโบนัสในรูปแบบต่างๆ

ดังนั้น ธุรกิจกีฬาแบบญี่ปุ่นจึงเป็นอีกรูปแบบธุรกิจหนึ่งที่น่าจับตามอง นักกีฬาที่สร้างผลงานในการแข่งขันแต่ละนัด จะไม่เลือนหายไปตามกาลเวลา แต่สามารถนำประสบการณ์เหล่านั้นถ่ายทอดไปสู่นักกีฬารุ่นหลังต่อไปโดยที่ยังคงมีรายได้เลี้ยงชีพเพียงพออย่างสม่ำเสมอในรูปแบบของเงินเดือน และคนนอกวงการกีฬาอย่าง สื่อมวลชน แพทย์ ผู้ผลิต โรงงาน นักธุรกิจ ฯลฯ ก็สามารถมีส่วนร่วมให้วงการกีฬาพัฒนาต่อยอดได้ โดยที่ยังคงสร้างรายได้กลับไปสู่เขาเหล่านั้น เป็นระบบ Win-Win ของกันและกันที่แท้จริง



เรื่องโดย : ดร. วีรยุทธ พจน์เสถียรกุล ผู้เชี่ยวชาญด้านพัฒนาทรัพยากรมนุษย์ในองค์กรระหว่างประเทศ อาจารย์และวิทยากรหลายสถาบัน