การสร้างภาษาญี่ปุ่น

ในช่วง 3-4 ปีมานี้เราจะได้ยินคำว่า “นวัตกรรม” กันบ่อย ซึ่งมักจะมีความหมายในเชิงของเทคโนโลยี แต่จากงานวิจัยของผู้เขียนเองชื่อ “Revisiting The Notion of Innovation and Its Impact on Thailand’s Economic Policy: A Case Study of Japanese Manga” ใน https://jati.um.edu.my/article/view/18669 พบว่า นวัตกรรมสามารถมีความหมายได้กว้างกว่านวัตกรรมทางเทคโนโลยีเท่านั้น แต่หมายถึงการคิดค้นสิ่งใหม่ที่สร้างคุณค่าในเชิงธุรกิจหรือในเชิงเศรษฐกิจได้


บทความทั้ง 5 บทความต่อไปนี้จึงจะพูดถึง “นวัตกรรมทางวัฒนธรรมแบบญี่ปุ่น” ที่คัดเลือกมาแล้วทั้งหมด 5 เรื่อง ซึ่งสร้างทั้งมูลค่าในเชิงธุรกิจ และมีคุณค่าในเชิงสังคมและวัฒนธรรม โดยเรื่องแรกในวันนี้คือ “การสร้างภาษาญี่ปุ่น”

การสร้างภาษาญี่ปุ่น

ในสมัยโบราณนั้น ประเทศญี่ปุ่นยังไม่มีภาษาเขียนเป็นของตัวเอง มีเพียงภาษาพูดเท่านั้น แต่ในช่วงศตวรรษที่ 7 ถึงศตวรรษที่ 8 ในช่วงต้นสมัยนะระ (奈良時代) ญี่ปุ่นมีการเปิดรับอารยธรรมจีนเข้ามา รวมทั้งเริ่มรับตัวอักษรจีนเข้ามาใช้ในภาษาตัวเอง แม้ว่าตอนนั้นจะยังไม่มีตัวอักษรญี่ปุ่น แต่ก็ทำให้การบันทึกความรู้และเรื่องราวต่าง ๆ มีประสิทธิภาพมากขึ้นกว่าสมัยที่ใช้ปากเปล่าบอกต่อ ๆ กันมาแบบมุขปาฐะมากนัก ในที่สุดจึงเกิดเอกสารสำคัญขึ้นมา 3 ชิ้นคือ งานรวมบทกวีมันโยชู (万葉集) ซึ่งรวบรวมบทกลอนต่าง ๆ ที่ท่องจำกันมาปากต่อปากแบบมุขปาฐะให้กลายเป็นงานเขียนให้ยุวชนรุ่นหลังได้ศึกษา และ เกิดบันทึกทางประวัติศาสตร์ 2 เล่มคือ โคะจิขิ (古事記) และ นิฮงโชะขิ (日本書紀) ซึ่งเป็นครั้งแรกที่มีการบันทึกประวัติศาสตร์ญี่ปุ่นไว้เป็นลายลักษณ์อักษร มีการกล่าวย้อนไปถึงการกำเนิดประเทศญี่ปุ่นเลยทีเดียว

เป็นเรื่องที่น่าสนใจที่ญี่ปุ่นสามารถรับอักษรจีนเข้ามาใช้ในภาษาญี่ปุ่นได้ ทั้ง ๆ ที่ภาษาญี่ปุ่นและภาษาจีนนั้นช่างห่างไกลกัน ไม่มีความเกี่ยวข้องกันในเชิงภาษาศาสตร์เลยแม้แต่น้อย กล่าวคือ ภาษาจีนเป็นภาษาคำโดด (Isolating Language) คล้ายกับภาษาไทย ไม่มีการผัน Tense ของคำกริยา และมีวรรณยุกต์ ในขณะที่ภาษาญี่ปุ่นเป็นภาษาคำติดต่อ (Agglutinative Language) ที่มีจำนวนพยางค์มากและต่อติดกันไปหมด มีการผัน Tense และไม่มีวรรณยุกต์ รวมทั้งไม่มีการแยกเสียงพยัญชนะออกจากเสียงสระเพราะเชื่อมกันเป็น 1 หน่วยพยางค์กันไปหมด


อย่างไรก็ตาม ด้วยความคิดสร้างสรรค์ของชาวญี่ปุ่นโบราณ ก็ประสบความสำเร็จในการนำอักษรจีนมาประยุกต์ใช้ในภาษาญี่ปุ่นด้วย “ระบบแทนเสียง” คือ เช่น ภาษาญี่ปุ่นเสียง “อะ” ชาวญี่ปุ่นก็จะหาอักษรจีนหลายตัวที่เสียงคล้าย ๆ กัน เช่น ตัว 安 หรือตัว 阿 ที่เสียงจีนโบราณออกเสียงคล้าย ๆ เสียง “อะ” ของญี่ปุ่น (เสียงจีนโบราณจะต่างจากเสียงจีนแมนดารินในปัจจุบันอย่างมาก) มาใช้แทนเสียงญี่ปุ่นเสียง “อะ” ไปเลย หรืออย่างเช่นเสียง “ทะ” ก็จะใช้อักษรจีนที่เสียงคล้ายกันเช่น ตัว 太 หรือตัว 多 มาแทนเสียง “ทะ” ในภาษาญี่ปุ่นไปเลย

ต่อมาเกิดความสับสนเพราะมีการใช้อักษรจีนหลายตัวมากเกินไป เพราะคนญี่ปุ่นแต่ละคนใช้อักษรคนละตัวเพื่อแทนเสียงเดียวกัน จึงเกิดความร่วมมือให้ “วางมาตรฐานอักษร” ขึ้น และเกิดระบบตัวอักษรญี่ปุ่นขึ้นมาเป็นครั้งแรกในสมัยเฮอัน (平安時代) ซึ่งเป็นยุคต่อจากสมัยนะระ (奈良時代) ทำให้เป็นครั้งแรกในประวัติศาสตร์ญี่ปุ่นที่เกิดอักษรในภาษาญี่ปุ่นครบ 3 ประเภทคือ

1.1 อักษรคันจิ (漢字) คืออักษรจีนจริง ๆ ที่ยังใช้อยู่ในภาษาญี่ปุ่น

1.2 อักษรฮิระงะนะ (平仮名) คืออักษรญี่ปุ่นที่ใช้แทนเสียงภาษาญี่ปุ่น ต้นกำเนิดของอักษรฮิระงะนะมาจากการเขียนอักษรคันจิแบบพู่กันหวัดจนกลายเป็นอักษรตัวใหม่ เช่น ตัว “อะ (安)” เมื่อเขียนหวัดนานวันเข้าก็จะกลายเป็นอักษรฮิระงะนะตัว “อะ (あ)” หรือตัว “ทะ (太)” เมื่อเขียนหวัดนานวันเข้าก็จะกลายเป็นอักษรฮิระงะนะตัว “ทะ (た)” ไปในที่สุด

1.3 อักษรคะตะกะนะ (片仮名) คืออักษรญี่ปุ่นที่ใช้แทนเสียงที่มาจากภาษาต่างประเทศ ต้นกำเนิดของอักษรคะตะกะนะมาจากการเขียนอักษรคันจิเพียง “เสี้ยวเดียว” ดึงเฉพาะเสี้ยวนั้นมาเขียนเป็นอักษรตัวใหม่ เช่น ตัว “อะ (阿)” ดึงแค่เสี้ยวเดียวเป็น “อะ (ア)” หรือตัว “ทะ (多)” ดึงมาแค่เสี้ยวเดียวก็จะกลายเป็นตัว “ทะ (タ)” เป็นต้น


ญี่ปุ่นประสบความสำเร็จในการสร้างภาษาตัวเองบนพื้นฐานของระบบตัวเขียนทั้ง 3 แบบ ซึ่งจัดว่าหายากมากในโลกที่จะมีระบบตัวเขียนถึง 3 ระบบอยู่ในภาษาเดียวกัน และแบ่งหน้าที่กันอย่างชัดเจนคือ คันจิใช้บอกความหมายหลัก, ฮิระงะนะใช้บอกความหมายทางไวยากรณ์และใช้แทนเสียงภาษาญี่ปุ่นที่ไม่มีคันจิ, คะตะกะนะใช้แทนเสียงที่มาจากภาษาต่างประเทศ ในประโยคภาษาญี่ปุ่นจึงมักมีตัวอักษรทั้ง 3 ชุดผสมกันอยู่

นอกจากการสร้างระบบตัวเขียนทั้ง 3 นี้แล้ว ญี่ปุ่นยังมีการรับภาษาต่างประเทศหลายภาษา ทั้งจากจีน, เกาหลี, อังกฤษ, เยอรมัน, ฝรั่งเศส โดยเฉพาะในยุคปฏิรูปเมจิ (明治維新) ในปี ค. ศ. 1868 และในยุคหลังสงครามโลกครั้งที่สอง คือหลังจาก ค. ศ. 1945 ญี่ปุ่นเปิดรับอารยธรรมตะวันตกอย่างมาก ทำให้เกิดคำศัพท์ใหม่ ๆ ที่ไม่มีทั้งในภาษาอังกฤษและไม่มีทั้งในภาษาญี่ปุ่น ขึ้นมาอีกมากมาย และเกิดเป็นภาษาญี่ปุ่นในปัจจุบันนี้นี่เอง “การศึกษาภาษาญี่ปุ่นในฐานะเป็นภาษาต่างประเทศ (Japanese as a Foreign Language)” ยังกลายเป็นธุรกิจการศึกษาที่สร้างรายได้เข้าประเทศญี่ปุ่นอย่างมากอีกด้วย


จึงกล่าวได้ว่า การเกิดนวัตกรรมทางวัฒนธรรมแบบญี่ปุ่น นั้นเริ่มจากการรับสิ่งที่ดีกว่ามาใช้ จากนั้นนำสิ่งที่รับมานั้นไปพัฒนาต่อยอดทางความคิด เพื่อสร้างมูลค่าและสร้างคุณค่าใหม่ ๆ ที่ไม่มีในต้นฉบับ จากนั้นจึงกลายเป็นเอกลักษณ์ของญี่ปุ่นเอง อันนำไปสู่การพัฒนาสังคม เศรษฐกิจ และวัฒนธรรมของญี่ปุ่นได้


บทความโดย : วีรยุทธ พจน์เสถียรกุล ผู้เชี่ยวชาญด้านพัฒนาทรัพยากรมนุษย์ในองค์กรธุรกิจระหว่างประเทศ อาจารย์สมาคมนักเรียนเก่าญี่ปุ่นในพระบรมราชูปถัมภ์ ล่าม และวิทยากรหลายสถาบัน

ผลิตภัณฑ์และบริการที่เกี่ยวข้อง