การ์ตูนและอนิเมชั่นของญี่ปุ่น

ในช่วง 3-4 ปีมานี้เราจะได้ยินคำว่า “นวัตกรรม” กันบ่อย ซึ่งมักจะมีความหมายในเชิงของเทคโนโลยี แต่จากงานวิจัยของผู้เขียนเองชื่อ “Revisiting The Notion of Innovation and Its Impact on Thailand’s Economic Policy: A Case Study of Japanese Manga” นวัตกรรมสามารถมีความหมายได้กว้างกว่านวัตกรรมทางเทคโนโลยีเท่านั้น เพราะนวัตกรรมหมายถึงการคิดค้นสิ่งใหม่ที่สร้างคุณค่าในเชิงธุรกิจหรือในเชิงเศรษฐกิจได้


บทความทั้ง 5 บทความต่อไปนี้จึงจะพูดถึง “นวัตกรรมทางวัฒนธรรมแบบญี่ปุ่น” ที่คัดเลือกมาแล้วทั้งหมด 5 เรื่อง ซึ่งสร้างทั้งมูลค่าในเชิงธุรกิจ และมีคุณค่าในเชิงสังคมและวัฒนธรรม โดยในวันนี้จะพูดถึงเรื่อง ”การสร้างสรรค์การ์ตูนและอนิเมชั่นของญี่ปุ่น”

การ์ตูนและอนิเมชั่นของญี่ปุ่น

แต่เดิมสมัยที่โลกเรายังไม่มีภาพยนตร์อนิเมชั่น ญี่ปุ่นมีการวาดการ์ตูน หรือที่เรียกกันว่า “มังงะ (Manga)” มานานมากแล้ว ย้อนกลับไปได้ถึงช่วงศตวรรษที่ 12 เลยทีเดียว พบหลักฐานเก่าแก่เป็นภาพเขียนรูปสัตว์เช่น กบ กระต่าย เพื่อล้อเลียนชนชั้นสูงในยุคโบราณ ในตอนนั้นยังไม่มีคำศัพท์ว่า “มังงะ” เกิดขึ้นเลย จนกระทั่งศิลปินของญี่ปุ่นที่ชื่อ คัทซึชิกะ โฮะคุไซ (葛飾北斎) (มีชีวิตอยู่ตั้งแต่ ค. ศ. 1760-1849) ศิลปินผู้พัฒนาเทคนิคความรู้และผลิตงานภาพพิมพ์ที่พิมพ์ด้วยไม้แกะสลักอุคิโยะ (浮世絵) จนกลายเป็นมังงะในที่สุด และเป็นคนแรกที่ตั้งชื่อศิลปะประเภทนี้ว่า “มังงะ” อีกด้วย โดยคำว่า มังงะ (漫画) นั้นมีความหมายตามตัวอักษรว่า ภาพอันไร้แก่นสาร ภาพอันหาสาระมิได้ นั่นเอง


ในปี ค. ศ. 1868 สมัยปฏิรูปเมจิ (明治維新) ของญี่ปุ่น มีการเปิดรับอารยธรรมตะวันตกเข้ามาในญี่ปุ่นระลอกแรก ทำให้แนวคิดทางตะวันตกหลายเรื่องเริ่มเผยแพร่มาสู่คนญี่ปุ่น แต่ในยุคนี้ มังงะก็ยังไม่ได้มีลักษณะของมังงะแบบที่เรารู้จักกันในปัจจุบัน จนกระทั่งหลังจากสงครามโลกครั้งที่สองสงบลงในปี ค.ศ. 1945 ญี่ปุ่นจึงเปิดรับอารยธรรมตะวันตกอย่างเต็มรูปแบบเป็นระลอกที่สอง ผ่านสหรัฐอเมริกาเป็นหลัก ซึ่งการรับอารยธรรมตะวันตกในระลอกที่สองนี้เองที่มีผลต่อการพัฒนานวัตกรรมในรูปแบบของการ์ตูนแบบมังงะและอนิเมชั่นของญี่ปุ่นจนกระทั่งเป็นสื่อที่เรารู้จักกันในปัจจุบัน

กล่าวคือ หลังสงครามโลกครั้งที่สอง มีการนำสื่อจากอเมริกาจำนวนมากไปเผยแพร่ในญี่ปุ่น เช่น คาแรกเตอร์การ์ตูนของดิสนีย์อย่างมิคกี้เม้าส์ ฯลฯ และภาพยนตร์ฮอลลีวู้ดจำนวนมาก นอกจากนี้ยังรับอารยธรรมจากอเมริกาในด้านอื่น ๆ อีกเช่น คริสต์ศาสนา ลัทธิปัจเจกนิยม การพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมแบบทุนนิยม ฯลฯ


ญี่ปุ่นสามารถนำประสบการณ์เลวร้ายของการก่อสงครามและความแร้นแค้นต้องดิ้นรนเพื่อฟื้นฟูประเทศหลังสงคราม ผสานกับแนวคิดที่ญี่ปุ่นมีแต่เดิม และนำมาผนวกกับแนวคิดแบบใหม่จากตะวันตก มาพัฒนาเป็นไอเดียในการผลิตเนื้อเรื่องของมังงะ เนื่องจากหลังสงครามเป็นช่วงเวลาแห่งความเจ็บปวดแร้นแค้น มังงะจึงกลายเป็นสิ่งบันเทิงราคาถูกที่ช่วยเยียวยาจิตใจชาวญี่ปุ่นที่บอบช้ำได้ดี หัวเรี่ยวหัวแรงในการพัฒนานวัตกรรมประเภทมังงะของญี่ปุ่นคือ เทะสึกะ โอะซะมุ (手塚治虫) ซึ่งเป็นผู้บุกเบิกให้มังงะเริ่มมีพล็อตและมีเนื้อเรื่องแบบภาพยนตร์ จากเดิมที่มังงะมักเป็นแค่การ์ตูนช่อง ๆ ล้อเลียนการเมืองหรือเสียดสีสังคมเท่านั้น เขายังเป็นผู้ริริ่มการวาดดวงตาที่โตผิดธรรมชาติเพื่อใช้แสดงอารมณ์ของตัวละครให้มากขึ้น และภายหลังเขายังเป็นหัวเรี่ยวหัวแรงในการพัฒนาการทำภาพยนตร์อนิเมชั่นของญี่ปุ่นอีกด้วย 

มังงะและอนิเมชั่นของญี่ปุ่นมีการพัฒนาตามแนวทางของนวัตกรรม 4 ประการดังนี้

1) การสร้างสินค้าใหม่ คือ การพัฒนามังงะและอนิเมชั่นจากสื่อที่ไร้แก่นสารแต่เดิม จนกลายเป็นสินค้าสร้างรายได้รูปแบบหนึ่งให้ผู้เกี่ยวข้องในวงการ ทั้งสำนักพิมพ์ นักเขียน และพนักงานจำนวนมาก มังงะและอนิเมชั่นของญี่ปุ่นยังกลายเป็นสินค้าใหม่สำหรับตลาดต่างประเทศ และสร้างรายได้มหาศาลกลับเข้าประเทศญี่ปุ่นอีกด้วย
 

2) การสร้างกระบวนการใหม่ในวงการนั้น คือ การพัฒนาพล็อตและเนื้อเรื่อง รวมทั้งเทคนิคการวาด ทำให้เกิดเป็นมังงะและอนิเมชั่นที่ตอบโจทย์ธุรกิจ โดนใจผู้อ่านและผู้ชม จากเดิมที่เป็นเพียงการ์ตูนช่อง ๆ ล้อเลียนไม่ได้สร้างรายได้ที่มีนัยสำคัญอะไร
 

3) การค้นพบตลาดใหม่ที่สร้างรายได้ คือ มังงะและอนิเมชั่นญี่ปุ่นสามารถบุกไปตีตลาดต่างประเทศได้เกือบทั่วโลก จนกลายเป็นสินค้าส่งออกสำคัญของประเทศญี่ปุ่นในปัจจุบัน
 

4) การพัฒนาแหล่งวัตถุดิบใหม่ คือ การนำแนวคิดใหม่จากตะวันตกมาผสมเข้าไปในเนื้อเรื่อง จนกลายเป็นสื่อพิเศษที่มีความเป็นเอเชียและความเป็นตะวันตกผสมกันลงตัวอย่างประหลาด มีเสน่ห์ต่อผู้อ่านหรือผู้ชม
 

การ์ตูนแบบมังงะ และอนิเมชั่นของญี่ปุ่น จึงเป็นนวัตกรรมทางวัฒนธรรมที่สำคัญอย่างหนึ่งของประเทศญี่ปุ่นที่ทั่วโลกให้การยอมรับ และสร้างรายได้ให้ประเทศญี่ปุ่นอย่างมาก
 

บทความโดย : วีรยุทธ พจน์เสถียรกุล ผู้เชี่ยวชาญด้านพัฒนาทรัพยากรมนุษย์ในองค์กรธุรกิจระหว่างประเทศ อาจารย์สมาคมนักเรียนเก่าญี่ปุ่นในพระบรมราชูปถัมภ์ ล่าม และวิทยากรหลายสถาบัน

ผลิตภัณฑ์และบริการที่เกี่ยวข้อง