เก็บเงินทัวร์ยกแก๊ง

เรื่อง: บองเต่า ไชยณัฐ สัจจะปรเมษฐ


Hi-Lights :

  • ผมตั้ง “กองทุนออมทรัพย์เพื่อทริปญี่ปุ่น” อย่างเป็นทางการ ฟังดูยิ่งใหญ่แต่จริงๆไม่ยากเลย เพราะว่าทุกคนทำงานทีมเดียวกัน บริษัทเดียวกัน จึงได้เงินเดือนพร้อมกันอยู่แล้ว เมื่อเงินเข้าบัญชีปั๊บ ทุกคนจะต้องโอนเงินเข้ามาให้ผมคนละ 1,500 บาท แล้วเอาเงินก้อนนั้นไปซื้อกองทุนตราสารหนี้ความเสี่ยงต่ำ ซึ่งคัดเลือกมาให้เรียบร้อยแล้วว่ามีประวัติผลประกอบการที่ดีกว่าการฝากเงินแบบออมทรัพย์ ไม่มีค่าธรรมเนียม และความผันผวนไม่สูงมาก ซึ่งเพียงแค่ไม่กี่เดือน เราก็มีเงินมากพอที่จะซื้อตั๋วเครื่องบินไปโตเกียวกันแล้วครับ
  • ค่าใช้จ่ายก้อนที่ใหญ่ที่สุดของทริปก็หนีไม่พ้นค่าเครื่องบิน แต่เดี๋ยวนี้ตั๋วโปรก็กระหน่ำออกมายั่วกิเลสตลอด เพียงแต่ว่าเราต้องไว ผมจึงให้สมาชิกทุกคนจัดการสแกนหน้าพาสปอร์ตใส่เป็นรูปภาพในอัลบั้มไว้ ถ้าวันไหนที่มีตั๋วโปรออกมา เราจะได้มีข้อมูลผู้เดินทางพร้อมจองพร้อมกันได้ทันที


เมื่อตอนที่แล้ว เราพูดถึงการบริหารเงินส่วนตัวเพื่อการท่องเที่ยว ซึ่งนั่นคือการบริหารเงินของตัวเอง กระเป๋าตังค์เดียว บัญชีเดียวไม่เกี่ยวข้องกับใคร ซึ่งถ้าจัดทริปไปเที่ยวคนเดียวก็คงไม่มีปัญหาอะไร แต่ในความจริงแล้ว เราก็อยากไปเที่ยวกับคนอื่นบ้าง อย่างมีสังคมบ้างอะไรบ้าง ไม่ว่าจะเป็นเพื่อนในออฟฟิศ เพื่อนเก่าที่มหาวิทยาลัย ซึ่งแต่ละคนก็มีเงื่อนไขทางการเงิน รวมถึงเงื่อนไขอื่นๆ ในชีวิตที่แตกต่างกันไป คนนั้นผ่อนบ้าน คนนี้เพิ่งมีลูก คนนู้นลาพักร้อนยาก ยิ่งชวนกันเยอะก็ยิ่งเห็นแววล่มของทริปลอยลิบๆ มาแต่ไกล


แต่วันนี้ผมมีวิธีการจัดทริปแบบทัวร์ยกแก๊งมาเสนอครับ


เรื่องของเรื่องคือ เมื่อสองปีที่แล้ว ผมนั่งกินข้าวเที่ยงกับน้องๆ ในทีมที่ออฟฟิศกัน เราคุยกันเรื่องความเจ๋งต่างๆ นานาของประเทศญี่ปุ่นว่ามันน่าไปเที่ยวอย่างโน้นอย่างนี้ คนนั้นอยากไปช้อปเครื่องสำอาง คนนี้อยากไปตะลุยกินราเม็ง คนนู้นอยากไปดิสนี่ย์แลนด์ ซึ่งจะว่าไป เราก็คุยกันแบบนี้มาหลายรอบแล้วละ แต่ว่าไม่เคยมีครั้งไหนที่เราจะลุกขึ้นมาทำอะไรกับความคิดเหล่านี้จริงๆ แค่คิดถึงงานที่คั่งค้าง ประชุมและรายงานที่รออยู่ สุดท้ายก็ได้แต่ถอนหายใจ รวบช้อนส้อม หยิบถาดอาหารไปวางแล้วเดินกลับขึ้นออฟฟิศไปทำงานตามปกติ


แต่คราวนี้ผมจะไม่ยอมให้มันกลายเป็นฝันฟุ้งเหมือนเดิม ในฐานะที่ผมเป็นหัวหน้าทีม ซึ่งก็มีหน้าที่ดูแลน้องๆ ไม่ว่าจะเรื่องงานหรือเรื่องไร้สาระอย่างอื่น ซึ่งการไปเที่ยวญี่ปุ่นด้วยกันก็นับว่าอยู่ในการดูแลลูกน้องด้วย ผมเลยบอกว่า มา! เรามาเก็บตังค์ไปเที่ยวญี่ปุ่นด้วยกันดีกว่า


ทริปนี้เรามีโจทย์สำคัญคือ หนึ่ง- น้องๆ หลายคนในทีมยังเก็บเงินได้ไม่มาก บางคนมีภาระทางการเงิน จึงอยากได้ทริปที่ไม่ต้องหวือหวามาก หรือที่ผมเรียกง่ายๆ ว่าทริป ญี่ปุ่น 101 ไม่เน้นความเอ็กซ์คลูซีฟ หรูหราอลังการใดๆ ทั้งสิ้น แค่เน้นว่าอยากให้ได้ไปเที่ยวต่างประเทศด้วยกัน สนุกด้วยกันก็พอแล้ว และสอง – เราทำงานทีมเดียวกัน การจะลาพักร้อนพร้อมกันหายไปทั้งออฟฟิศ อาจโดนเจ้านายด่าได้ ดังนั้น เราจะไปเที่ยวกันแค่ช่วงสั้นๆ ลาพักร้อนแค่สองวันเท่านั้น และทุกคนต้องรับผิดชอบหน้าที่การงานของตัวเอง ห้ามทิ้งงาน เทลูกค้าโดยเด็ดขาด


เมื่อทุกคนตกลงกับโจทย์นี้ ผมเลยสรุปออกมาว่า เราจะจัดสรรงบไปเน้นที่ความยิ่งใหญ่ของอาหารกัน ส่วนที่พักนั้นเอาแค่สะอาดและปลอดภัยก็พอ ซึ่งในฐานะของหัวหน้าทีม และเคยไปญี่ปุ่นมาหลายรอบ ผมรับบรีฟมาและตีงบของทริปสี่วันสามคืนนี้ไว้ที่ประมาณสองหมื่นบาทต่อคน โดยงบนี้รวมทุกอย่างตั้งแต่สนามบินสุวรรณภูมิ จนกลับมาที่สุวรรณภูมิอีกครั้ง

อย่างแรก เราก็วางแผนวิธีเก็บเงินกันเลยครับ โดยวิธีเก็บเงินเป็นทีม ก็ไม่ต่างจากการเก็บเงินส่วนตัวครับ แต่คราวนี้ผมตั้ง “กองทุนออมทรัพย์เพื่อทริปญี่ปุ่น” อย่างเป็นทางการ ฟังดูยิ่งใหญ่แต่จริงๆ ไม่ยากเลย เพราะว่าทุกคนทำงานทีมเดียวกัน บริษัทเดียวกัน จึงได้เงินเดือนพร้อมกันอยู่แล้ว เมื่อเงินเข้าบัญชีปั๊บ ทุกคนจะต้องโอนเงินเข้ามาให้ผมคนละ 1,500 บาท เหมือนเล่นแชร์เลยครับ แต่ว่าผมไม่ได้เอาเงินก้อนนั้นไปหมุน แต่เอาเงินก้อนนั้นไปซื้อกองทุนตราสารหนี้ความเสี่ยงต่ำ ซึ่งคัดเลือกมาให้เรียบร้อยแล้วว่ามีประวัติผลประกอบการที่ดีกว่าการฝากเงินแบบออมทรัพย์ ไม่มีค่าธรรมเนียม และความผันผวนไม่สูงมาก เราไม่ได้คาดหวังว่าผลตอบแทนมันจะทำให้เงินของเรางอกเงยเป็นกอบเป็นกำหรอกครับ แต่ว่ามันเป็นช่องทางการฝากเงินที่ชัดเจนและโปร่งใส บริหารง่ายไม่ปะปนกับเงินส่วนตัว เมื่อได้เงินครบแล้ว ซื้อกองทุนแต่ละงวดเสร็จเรียบร้อย ผมก็จะแคปหน้าจอมายืนยันว่าตอนนี้กองทุนของเรามีเงินกันเท่าไรแล้ว ซึ่งเพียงแค่ไม่กี่เดือน เราก็มีเงินมากพอที่จะซื้อตั๋วเครื่องบินไปโตเกียวกันแล้วครับ


ค่าใช้จ่ายก้อนที่ใหญ่ที่สุดของทริป ก็หนีไม่พ้นค่าเครื่องบินนี่แหละครับ แต่เดี๋ยวนี้ตั๋วโปรก็กระหน่ำออกมายั่วกิเลสตลอด เพียงแต่ว่าเราต้องไว ผมจึงให้สมาชิกทุกคนจัดการสแกนหน้าพาสปอร์ตใส่เป็นรูปภาพในอัลบั้มไว้ ถ้าวันไหนที่มีตั๋วโปรออกมา เราจะได้มีข้อมูลผู้เดินทางพร้อมจองพร้อมกันได้ทันที เพราะของแบบนี้ ถ้ามัวแต่ลังเลยึกยัก ช้าหมดอดกิน โดนปาดหน้าเค้กไปแน่นอนครับ


ขั้นตอนต่อไปคือการจองโรงแรม ที่ผมพบว่าโตเกียวเป็นเมืองที่มีโฮสเทลดีๆ ให้เลือกเยอะมาก กล่าวคือ ทำเลใช้ได้ สะอาด อยู่ในย่านที่ปลอดภัย ใกล้สถานีรถไฟ ทั้งหมดนี้หาได้ในราคาไม่เกินคืนละพันบาทต่อคน เพียงแค่จองล่วงหน้านานหน่อยก็พอ ซึ่งเราก็สามารถใช้เงินของกองทุนส่วนที่เหลือจากค่าตั๋วเครื่องบินมาจองโรงแรมต่อ ถ้าเราเก็บเงินในกองทุนได้มากพอสำหรับค่าใช้จ่ายสองก้อนนี้ก็ถือว่าจัดการทริปเสร็จไปเกินครึ่งแล้ว

สรุปแล้ว เราใช้เวลาเก็บเงินกันประมาณ 8 เดือน ซึ่งเป็นเงินที่มากพอสำหรับซื้อตั๋วเครื่องบินและจองโรงแรมไว้ล่วงหน้า ส่วนค่าใช้จ่ายส่วนที่เหลือก็ค่อยๆ ทยอยสะสมในกองทุนกันต่อไป จนในที่สุด ทริปญี่ปุ่นที่เรานั่งคุยกันในโรงอาหารมานาน ทั้งเนื้อย่าง ซูชิ สวนสนุก ช้อปปิ้ง ก็กลายเป็นจริงได้ไม่ยาก เพียงแค่ลุกขึ้นมาวางแผนและมีวินัยในการเก็บเงินเท่านั้น ซึ่งสำหรับผมในฐานะคนที่จัดการวางแผนทริปนี้ทั้งหมด การที่ได้พาน้องๆ ในทีมไปเที่ยวญี่ปุ่นครั้งแรก ด้วยเงินที่เก็บเอง ก็นับว่าเป็นความสำเร็จในฐานะรุ่นพี่ของทีมแล้ว


กลายเป็นว่าเรื่องที่ยากกว่าการเก็บเงิน คือการลาพักร้อนครับ เพราะเล่นหนีไปเที่ยวกันครึ่งออฟฟิศพร้อมกัน กว่าจะเคลียร์กับเจ้านายได้ว่างานจะไม่เสีย เหนื่อยกว่าเก็บเงินเยอะ แต่เราก็ไม่ได้ท้อถอยนะครับ เพราะตอนนี้เราเริ่มเก็บเงินสำหรับทริปถัดไปกันแล้ว