ศิลปะแห่งการฝากซื้อ

เรื่อง: บองเต่า ไชยณัฐ สัจจะปรเมษฐ


Hi-Light:

  • หลายคนมองว่าการมีเพื่อนฝากซื้อของเวลาเราไปต่างประเทศนั้นเป็นปัญหาระดับชาติที่เรื้อรังมานาน ซึ่งจริงๆ แล้วปัญหาเหล่านี้จะหมดไป เมื่อเรามีกฎกติกามารยาทที่เหมาะสมสำหรับทั้งคนเที่ยวและคนฝากซื้อ
  • เงื่อนไขข้อหนึ่งที่สำคัญคือ ไม่มีการรับประกันว่าจะหาของได้ ทั้งหมดนี้ขึ้นอยู่กับความสะดวกของเรา และตามแผนเที่ยวของเรา ถ้าของหมด หรือไม่มีสี หรือรุ่นที่ต้องการ ก็ไม่ควรโกรธกัน
  • โบนัสเด้งสุดท้ายของการซื้อของมาให้คนอื่น ก็คือการกลับมาถึงเมืองไทยแล้วส่งมอบของให้เพื่อน ตอนเราซื้อเราอาจจะไม่ได้รู้สึกอะไรมากกับของชิ้นนั้น มองแค่ว่าสะดวกก็ซื้อให้ แต่มีหลายครั้งที่เราได้เห็นความดีใจของเพื่อน ได้เห็นความฟินในแววตาที่เป็นประกายของการได้เห็นกระเป๋ารุ่นหายาก มันเป็นความสุขเล็กๆ น้อยๆ ที่ช่วยเติมเต็มการเดินทางของเราอย่างคาดไม่ถึง


ผมเพิ่งกลับมาจากโตเกียว มหานครที่ฮอตที่สุดสำหรับชาวไทย ณ วินาทีนี้ ฮอตในระดับที่เราสามารถเห็นเพื่อนบางคนไปโตเกียวบ่อยยิ่งกว่าพัทยาแล้ว ราวกับว่าชิบูย่าคือสถานีหนึ่งของรถไฟฟ้าบีทีเอส สิ่งที่ทุกคนเห็นพ้องต้องกันคือโตเกียวเป็นเมืองที่ช้อปปิ้งสนุกมาก ไหนจะมหกรรมร้านขายยาที่เป็นเหมือนดิสนี่ย์แลนด์แห่งเครื่องสำอางและสกินแคร์ ไหนจะบรรดาขนมและของหวานในแพคเกจหรูหราคาวาอี้ ที่เราพร้อมจะถวายเงินโดยไม่สนใจว่ารสชาติมันจะเป็นยังไงก็ตาม ไหนจะสารพัดของเล่น ของกระจุ๊กกระจิ๊กที่ต้องยอมว่าญี่ปุ่นคือที่สุดของโลกแล้ว


บรรยายมาแค่ย่อหน้าเดียว ก็พอจะเห็นภาพการช้อปกระหน่ำจนกลายเป็นบุคคลล้มละลายในแผ่นดินคิตตี้ไปแล้วใช่ไหมครับ แต่ผมเพิ่งพบความฟินขึ้นไปอีกระดับของการช้อป นั่นคือการช้อปโดยใช้เงินคนอื่นครับ


อย่าเพิ่งเข้าใจผิดว่าผมไปปล้นจี้ใครมา หรือว่ามีเสี่ยสายเปย์คนไหนแจกเงินให้ช้อปฟรีๆครับ ผมกำลังหมายถึง การช้อปปิ้งตามลิสต์ที่เพื่อนฝากซื้อครับ


ผมเชื่อว่าหลายคนมองว่าการมีเพื่อนฝากซื้อของเวลาเราไปต่างประเทศนั้นเป็นปัญหาระดับชาติที่เรื้อรังมานาน โดยเฉพาะเพื่อนบางคนที่ต่อมมารยาทอักเสบ ขาดความพอดีในการฝากซื้อ ฝากจนเราแทบจะต้องส่งของกลับทางเรือ หรือบังคับให้เราดั้นด้นไปหาของลิมิเต็ดอิดิชั่น ซื้อผิดก็ผิดใจกันอีก ซึ่งจริงๆ แล้วปัญหาเหล่านี้จะหมดไป เมื่อเรามีกฎกติกามารยาทที่เหมาะสมสำหรับทั้งคนเที่ยวและคนฝากซื้อครับ


ผมเป็นคนที่ยินดีรับฝากซื้อของเวลาเดินทางต่างประเทศเกือบทุกทริป แต่ทุกครั้งก่อนออกเดินทาง ผมจะบอกคนฝากซื้อเสมอว่า ถ้าจะฝาก ผมจะมีเงื่อนไขของผม ถ้ารับเงื่อนไขนี้ได้ ก็รอลุ้นรับของได้เลย แต่ถ้ารับไม่ได้ ก็แนะนำให้ไปฝากคนอื่น หรือไปซื้อเองน่าจะดีกว่า ซึ่งเงื่อนไขของผมคือ

  1. ของที่ฝากซื้อต้องระบุสเปค ขนาด สี รุ่นอย่างละเอียด จะดีมากถ้ามีรูปพร้อมรายละเอียดที่แคปจากในเนทมาให้เลย จะได้ยื่นรูปนี้ส่งให้พนักงานได้ไม่ต้องเสียเวลา ไม่ต้องกลัวพลาด
  2. ถ้าเป็นสินค้าประเภทพิเศษ หายาก ลึกลับ แรร์ไอเท็ม ลิมิเต็ดอิดิชั่น ที่ไม่มีขายเกลื่อนกลาดทุกมุมถนน ทุกสาขา ขอให้ทำการบ้านมาก่อนเลยว่าสามารถหาซื้อได้ที่ไหน ห้างไหน ชั้นไหน วันไหน
  3. จำนวนหน่วยที่ฝากซื้อ ขอให้อยู่ในขอบเขตของวิญญูชนผู้มีสติสัมปชัญญะ โดยคำนึงถึงน้ำหนักที่ไม่หนักเกินไป ขนาดที่ไม่ใหญ่เกินไป ไม่ใช่ฝากซื้อจักรยาน หรือหุ่นกันดั้มขนาดเท่ามนุษย์ หรือแชมพูขวดลิตรสิบขวด
  4. ของที่อยากได้ ขอให้เป็นของที่เมืองไทยไม่มี หรือถ้ามี ก็ถูกกว่าเมืองไทยอย่างมีนัยสำคัญ ไม่ใช่ฝากซื้อคิตแคตชาเขียวที่วันนี้หาซื้อได้ในเซเว่นบ้านเราในราคาพอๆกัน
  5. ผมจะจ่ายเงินด้วยบัตรเครดิตเท่านั้น และจะเรียกเก็บตามเรทเงินตามจริงที่ธนาคารเรียกเก็บ
  6. ไม่มีการรับประกันว่าจะหาของได้ ทั้งหมดนี้ขึ้นอยู่กับความสะดวกของเรา และตามแผนเที่ยวของเรา ถ้าของหมด หรือไม่มีสี หรือรุ่นที่ต้องการ โปรดทำใจว่าแต้มบุญของท่านไม่ถึง โปรดลองใหม่โอกาสหน้า


ผมพบว่าเพื่อนผมส่วนมาก สามารถรับเงื่อนไขทั้งหมดได้โดยไม่ผิดใจกัน และเมื่อเราตกลงกันทั้งสองฝ่ายตั้งแต่แรก มันจึงกลายเป็นความสบายใจแบบวิน-วิน ผมสามารถเที่ยวได้ตามแผนตัวเอง ถ้าเจอของที่เพื่อนอยากได้ก็แวะซื้อ ดีไม่ดีถ้าเห็นแล้วมันน่าซื้อ เราอาจตกเป็นเหยื่อการตลาดซื้อของตัวเองพ่วงไปด้วย


ถ้าถามว่าผมได้กำไรจากการฝากซื้ออะไรไหม บอกตรงๆครับว่าผมไม่ได้กำไรอะไรเป็นกอบเป็นกำเลย ไม่ได้บวกเพิ่ม ไม่ได้เอามาขายต่อแบบขูดรีด สิ่งที่ได้นอกจากแต้มบัตรเครดิตจำนวนพอกรุบกริบ คือความสนุกของการช้อปปิ้งครับ บางทีที่ผมมีเพื่อนฝากซื้อของที่เป็นของที่เราชอบและอินอยู่แล้ว มันจะสนุกมากเป็นพิเศษครับ เช่น เคยมีน้องที่ออฟฟิศฝากซื้อใบชาเบลนด์พิเศษจากฝรั่งเศส ซึ่งผมก็เป็นแฟนตัวยงของชาแบรนด์นี้ แค่การได้ไปยืนอยู่หน้ากำแพงที่เรียงด้วยถังใบชาเป็นร้อยเบลนด์ก็เป็นความสนุกของทริปนั้นแล้ว และเบลนด์ที่น้องคนนั้นฝากซื้อ ก็เป็นเบลนด์พิเศษที่ไม่ได้ทำออกมาขายทุกปี แถมราคาสูงลิ่วถึงกิโลละหลักหมื่น เป็นของหายาก ของหมดเกือบทุกสาขา กว่าจะหาซื้อได้ ต้องไปถึงสาขาที่ห้า แต่พอหาได้สำเร็จก็มีความรู้สึกเหมือนได้ทำภารกิจลุล่วง โดยไม่รู้สึกว่าเป็นภาระเพิ่มเติมแต่อย่างใด

และลองจินตนาการว่าเราช้อปปิ้งโดยไม่ต้องเสียเงินเองสักบาทสิครับ มันสนุกมากเลยนะ มันมีงานวิจัยทางวิทยาศาสตร์นะครับว่า ความสุขของการช้อปปิ้งเนี่ยมันไม่ได้อยู่ที่การได้ครอบครองสิ่งของ แต่ว่ามันเป็นความสุขของการได้เสียตังค์จับจ่ายครับ เคยมีนักวิทยาศาสตร์ทำการทดลองแล้วพบว่า จังหวะที่เรากำลังรูดบัตรเครดิตปรื้ดๆ ที่ร้าน สมองจะหลั่งฮอร์โมนโดปามีนออกมา ทำให้เรามีความสุขมาก ซึ่งพอเราออกจากร้าน กลับบ้าน สมองก็จะกลับเข้าสู่สภาวะปกติ เป็นสาเหตุว่าทำไมบางครั้งเราซื้อของกลับไปถึงบ้านแล้วเราถึงรู้สึกผิด หรือรู้สึกว่าซื้อมาทำไมเนี่ย ซึ่งการจะหลั่งโดปามีนด้วยเงินตัวเองทั้งหมดนั้น อาจทำให้เราเปลืองตังค์โดยใช่เหตุนะครับ


แต่ก็ไม่ใช่ว่า ผมจะเสพติดโดปามีน เปิดรับฝากซื้อของทุกครั้งที่ไปต่างประเทศนะครับ อย่างที่บอกคือเรื่องนี้ตั้งอยู่บนพื้นฐานของความพอดี ซึ่งครึ่งนึงของความพอดีนั้นก็เป็นสิ่งที่เราต้องพิจารณาเองครับ เช่น บางทริปเราไปทำงาน จุดประสงค์หลักคือไปทำงานให้สำเร็จลุล่วง หากมีเวลาเหลือ ได้ไปเดินเล่นช้อปปิ้งก็นับว่าเป็นโบนัสของแถมกรุบกริบ หรือบางทริปเราบินโลว์คอสต์ไม่ได้มีพื้นที่ในกระเป๋ามากมาย เมื่อไม่สะดวกก็ไม่ควรฝืน เพราะสุดท้ายแล้วการรับฝากซื้อของนั้นไม่ได้เป็นหน้าที่ของเราตั้งแต่แรกอยู่แล้วนะครับ


สำหรับผม โบนัสเด้งสุดท้ายของการซื้อของมาให้คนอื่น ก็คือการกลับมาถึงเมืองไทยแล้วส่งมอบของให้เพื่อนนี่แหละครับ ตอนเราซื้อ เราอาจจะไม่ได้รู้สึกอะไรมากกับของชิ้นนั้น มองแค่ว่าสะดวกก็ซื้อให้ แต่มีหลายครั้งที่เราได้เห็นความดีใจของเพื่อน ได้เห็นแววตาและความฟินในแววตาที่เป็นประกายของการได้เห็นกระเป๋ารุ่นหายาก  มันเป็นความสุขเล็กๆ น้อยๆ ที่ช่วยเติมเต็มการเดินทางของเราอย่างคาดไม่ถึงเลยล่ะครับ