หลากหลายรูปแบบประกันชีวิต เลือกอย่างไรให้ตอบโจทย์

ประกันชีวิต คือ เครื่องมือทางการเงินที่ช่วยบริหารความเสี่ยงให้กับเราและคนที่เรารักได้ โดยผู้เอาประกันจะจ่ายเบี้ยประกันที่คงที่แน่นอน เพื่อแลกกับวงเงินความคุ้มครองกรณีเสียชีวิตจากบริษัทประกันชีวิต ซึ่งวงเงินคุ้มครองที่ผู้เอาประกันจะได้นั้น เรียกว่าทุนประกันชีวิต และบริษัทประกันชีวิตจะจ่ายผลประโยชน์ให้แก่ผู้เอาประกันใน 2 กรณี คือ

  1. จ่ายเงินทุนประกันชีวิตให้กับผู้รับผลประโยชน์ กรณีเสียชีวิตในระยะเวลาที่คุ้มครอง

  2. จ่ายเงินทุนประกันชีวิตหรือผลประโยชน์ต่างๆ ที่ระบุไว้ในกรมธรรม์ เช่น เงินคืนรายงวด เงินครบสัญญาให้กับผู้เอาประกัน กรณีที่ผู้เอาประกันมีชีวิตอยู่จนครบสัญญา

ในปัจจุบันสัญญาประกันชีวิตมีมากมายหลากหลายแบบ แต่ละแบบจะมีลักษณะความคุ้มครองและผลประโยชน์แตกต่างกันออกไป หากสรุปแบบประกันชีวิตโดยรวมจะแบ่งได้ดังนี้

1.แบบชั่วระยะเวลา (Term Insurance)

เป็นการประกันชีวิตที่ให้ความคุ้มครองในชั่วระยะเวลาอันจำกัด โดยที่บริษัทประกันชีวิตจะจ่ายเงินให้กับผู้รับประโยชน์ เมื่อผู้เอาประกันภัยเสียชีวิตในระยะเวลาที่กำหนด เช่น 1 ปี 5 ปี 10 ปี หรือ 20 ปี แต่ถ้าพ้นกำหนดระยะเวลาในการคุ้มครองไปแล้วผู้เอาประกันภัยยังมีชีวิตอยู่ สัญญาถือเป็นอันสิ้นสุดลงผู้เอาประกันภัยจะไม่ได้รับเงินชดเชย


โดยสัญญาประกันชีวิตแบบนี้ให้ความคุ้มครองภัยจากการเสียชีวิตเพียงอย่างเดียว ไม่มีผลประโยชน์ในด้านสะสมทรัพย์รวมอยู่ด้วย เบี้ยประกันภัยจึงต่ำกว่าแบบอื่นๆ ซึ่งเหมาะกับหัวหน้าครอบครัวหรือผู้ที่มีหนี้สินที่ต้องการทุนประกันที่สูง และต้องการจ่ายเบี้ยที่ต่ำ


อย่างไรก็ตามประกันแบบชั่วระยะเวลานี้ ไม่ค่อยได้รับความนิยมมากนักในประเทศไทย เนื่องจากเป็นเบี้ยจ่ายทิ้ง เมื่อครบกำหนดอายุกรมธรรม์แล้ว ก็ไม่มีเงินเหลือคืนแก่ผู้ถือกรมธรรม์ แต่ข้อดี คือ ให้ความคุ้มครองที่สูงกว่าเมื่อเทียบกับประกันชีวิตรูปแบบอื่น


2.แบบตลอดชีพ (Whole Life Insurance)

เป็นการประกันชีวิตที่จ่ายเบี้ยในชั่วระยะเวลาหนึ่ง เช่น 5, 10, 15 หรือ 20 ปี แต่ให้ความคุ้มครองตลอดชีพ (ถึงอายุ 90 - 99 ปีแล้วแต่แบบประกัน) โดยหากผู้เอาประกันมีชีวิตอยู่จนครบสัญญา จะได้เงินทุนประกันไป แต่หากเสียชีวิตในระยะเวลาที่คุ้มครอง ผู้รับผลประโยชน์จะได้เงินทุนประกันแทน


ประกันชีวิตแบบนี้จะมีเบี้ยประกันที่สูงกว่าแบบชั่วระยะเวลา เนื่องจากมีเงินส่วนหนึ่งเป็นเงินออม จึงมีมูลค่าเงินสดอยู่ในกรมธรรม์ ซึ่งเราสามารถกู้เงินในกรมธรรม์ หรือเวนคืนกรมธรรม์ได้ หากมีความจำเป็นต้องใช้เงินก่อนกรมธรรม์ครบสัญญา แต่ถ้าส่งเบี้ยประกันยังไม่นาน อาจยังไม่มีมูลค่าเงินสด หรือมีไม่มากพอ (ให้ดูที่ตารางกรมธรรม์ของคุณประกอบด้วย) โดยแบบนี้จะเหมาะกับหัวหน้าครอบครัว หรือผู้ที่มีภาระหนี้สิน ที่ต้องการความคุ้มครองระยะยาว และด้วยความคุ้มครองที่ยาว จึงเหมาะจะใช้เป็นประกันชีวิตหลัก สำหรับซื้อสัญญาเพิ่มเติมต่างๆ แนบได้

3. แบบสะสมทรัพย์ (Endowment Insurance)

เป็นการประกันชีวิตที่บริษัทประกันจะจ่ายเงินให้แก่ผู้เอาประกันภัยเมื่อมีชีวิตอยู่ครบกำหนดสัญญา (ซึ่งรวมไปถึงเงินคืนรายงวดและเงินปันผลตามที่ระบุไว้ในกรมธรรม์) หรือจ่ายเงินทุนประกันให้แก่ผู้รับประโยชน์เมื่อผู้เอาประกันภัยเสียชีวิตลงภายในระยะเวลาเอาประกันภัย


การประกันชีวิตแบบสะสมทรัพย์เป็นส่วนผสมของการคุ้มครองชีวิตและการออมทรัพย์ ซึ่งส่วนของการออมทรัพย์คือส่วนที่ผู้เอาประกันภัยได้รับเงินคืนเมื่อสัญญาครบกำหนด ถือเป็นเครื่องมือออมเงินที่มีประสิทธิภาพอย่างมากในเรื่องของการสร้างวินัยการออมระยะยาว และให้อัตราผลตอบแทนที่สูงกว่าเมื่อเทียบกับการออมเงินในธนาคารแบบปกติ


โดยประกันแบบนี้เหมาะกับผู้ที่ต้องการเก็บเงินระยะยาว ควบคู่ไปกับการมีความคุ้มครอง ต้องการได้รับผลตอบแทนที่แน่นอนและสามารถใช้เพื่อเป็นเงินเกษียณอายุได้


อย่างไรก็ตามด้วยเบี้ยประกันที่เท่ากัน แบบนี้เราจะได้ทุนประกันที่ต่ำกว่าแบบชั่วระยะ และแบบตลอดชีพ จึงไม่เหมาะกับผู้ที่ต้องการทุนประกันสูงๆ


4. ประกันชีวิตแบบบำนาญ (Annuities Insurance)

เป็นการประกันชีวิตที่บริษัทประกันจะจ่ายเงินจำนวนหนึ่งที่เท่ากันและอย่างสม่ำเสมอให้แก่ผู้เอาประกันภัยทุกเดือนหรือทุกปี นับตั้งแต่ผู้เอาประกันภัยเกษียณอายุ หรือมีอายุครบ 55 ปี หรือ 60 ปี เป็นต้นไป สำหรับกำหนดเวลาการเริ่มจ่ายเงินบำนาญและระยะเวลาการจ่ายเงินบำนาญขึ้นอยู่กับเงื่อนไขในกรมธรรม์ที่กำหนดไว้ ซึ่งเราควรพิจารณาเลือกแบบบำนาญให้ตรงกับแผนการใช้เงินในอนาคตของเรา


โดยประกันแบบนี้เหมาะกับคนที่อยากได้รายได้สม่ำเสมอ เป็นเงินบำนาญสำหรับการเกษียณอายุของตัวเอง แต่เนื่องจากเป็นประกันที่เน้นเรื่องการออมเงินเป็นหลัก จึงให้ความคุ้มครองน้อยเมื่อเทียบกับแบบประกันชีวิตอื่น


5.ประกันชีวิตแบบควบการลงทุน (Unit Linked Insurance)

ประกันชีวิตควบการลงทุน หรือเรียกย่อๆ ว่า “Unit Linked” ถือเป็นรูปแบบกรมธรรม์แบบใหม่ซึ่งเป็นอีกทางเลือกหนึ่งที่น่าสนใจ เนื่องจากเปิดโอกาสให้ผู้เอาประกันสามารถใช้บริหารความเสี่ยงพร้อมๆ ไปกับการสร้างโอกาสในการลงทุน เพื่อแสวงหาผลตอบแทนที่เพิ่มสูงขึ้นจากการลงทุนในกองทุนรวมที่บริหารโดยมืออาชีพ


กลไกของ Unit Linked สามารถตอบโจทย์ความต้องการสะสมความมั่งคั่งผ่านทางการเลือกลงทุนในกองทุนรวมเพื่อหาผลตอบแทนเพิ่มเติมตามระดับความเสี่ยงที่รับได้ และยังสามารถตอบโจทย์ในด้านการคุ้มครองชีวิตของบุคคลที่อยู่ในความดูแลของเรา ผ่านทางสินไหมที่จะได้รับในกรณีเสียชีวิตได้ด้วย อีกทั้งยังมีความยืดหยุ่น สามารถปรับเปลี่ยนกรมธรรม์ เช่น เพิ่มหรือลดทุนประกัน ให้สอดคล้องกับความจำเป็นในชีวิตได้


อย่างไรก็ตาม กรมธรรม์แบบนี้ไม่มีการรับประกันมูลค่ากรมธรรม์ (ไม่การันตีผลตอบแทน) เนื่องจากมูลค่ากรมธรรม์ขึ้นอยู่กับมูลค่าหน่วยลงทุน โดยอาจสูงขึ้นหรือต่ำลงตามผลประกอบการของกองทุนรวม


โดยประกันแบบนี้เหมาะกับคนที่มีความเข้าใจในการลงทุน ที่ต้องการจะสะสมความมั่งคั่ง และในขณะเดียวกันก็ต้องการที่จะจัดเตรียมทุนทรัพย์ให้ผู้ที่อยู่ในความดูแลหากเสียชีวิตไปพร้อมกัน


กล่าวโดยสรุป ประกันชีวิตแต่ละแบบ ก็มีข้อดี และข้อเสียที่แตกต่างกันไป และคนแต่ละคนก็มีสถานะและความต้องการทางการเงินที่ต่างกัน จึงทำให้มีความต้องการแบบประกันที่แตกต่างกันไปด้วย ดังนั้นเราจึงควรพิจารณาเลือกซื้อประกันชีวิตให้เหมาะสมกับตัวเองทั้งในแง่ความจำเป็น ความเสี่ยงภัย และความสามารถในการชำระเบี้ยประกัน


ไทยพาณิชย์ และFWD  เปิดประกันใหม่ที่ตอบโจทย์ความต้องการที่หลากหลายได้อย่างลงตัว ด้วยแผนประกัน “OPD (คุ้ม) เงินอยู่ครบ จบหายห่วง” ที่ให้การดูแลค่ารักษาพยาบาลทั้งผู้ป่วยนอก (OPD) - ผู้ป่วยใน (IPD) เพิ่มความคุ้มกับแบบประกันใหม่ ด้วยการคืนเบี้ยครบ 100% แม้จะเคลมค่ารักษาพยาบาล เป็นกรมธรรม์ที่สามารถแชร์วงเงินค่ารักษาพยาบาลให้คนในครอบครัวได้สูงสุดรวม 5 คน (กรณีเบี้ยประกัน 3 แสนบาทขึ้นไป) และสะสมผลประโยชน์ไปใช้ในปีถัดไปได้ สามารติดต่อสอบถามได้ที่ SCB ทุกสาขา พร้อมมีบริการใหม่ ‘Live Chat’ โอพีดีคืนเบี้ยครบ คลิก >> https://link.scb/349qLNn

สามารถศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่นี่

https://www.scb.co.th/th/personal-banking/insurance/health-insurance/opd-kuen-bia-krob.html

บทความโดย :  นิภาพันธ์ พูนเสถียรทรัพย์ CFP®, ACC นักวางแผนการเงินอิสระ นักเขียนและวิทยากร