เรื่องควรรู้ ก่อนกู้ร่วม

นาย ก. อายุ 28 ปี มีเงินเดือน 25,000 บาท ต้องการซื้อบ้านราคา 3,000,000 บาท เมื่อคำนวณก็พบว่าเขาต้องผ่อนเดือนละประมาณ 17,900 บาท (กรณีกู้เป็นระยะเวลา 30 ปี ดอกเบี้ยเฉลี่ย 6% ต่อปี) แต่จากระดับเงินเดือนที่เขาได้รับ ธนาคารพาณิชย์คงไม่อนุมัติสินเชื่อบ้าน เพราะโดยหลักในการประเมินความสามารถในการแบกรับภาระหนี้โดยรวมไม่ควรเกิน 40% ของรายได้ต่อเดือน หมายความว่า นาย ก. รับภาระหนี้ได้สูงสุด 10,000 ต่อเดือน (25,000 x 40%) และถ้ามีภาระหนี้สินอื่นๆ อีกก็ยิ่งทำให้ความสามารถในการผ่อนบ้านลดลง


เพิ่มความสามารถในการกู้

หาก นาย ก. ยังมีความต้องการซื้อบ้านก็ควรหา “ผู้กู้ร่วม” เพื่อทำให้การยื่นขอสินเชื่อผ่านการพิจารณาอนุมัติจากธนาคารพาณิชย์ได้ง่ายขึ้น และได้รับวงเงินก้อนใหญ่มากขึ้น ซึ่งการหาคนมากู้ร่วมเป็นทางออกสำหรับผู้กู้หลักที่มีเงื่อนไขไม่ครบพอที่จะทำให้ธนาคารอนุมัติสินเชื่อได้


ดังนั้น เมื่อมีผู้กู้ร่วมก็เป็นการเพิ่มความสามารถในการขอสินเชื่อ คือ เพิ่มฐานรายได้ของผู้กู้ให้เพียงพอต่อการผ่อนชำระหนี้ในวงเงินที่ต้องการ ซึ่งการกู้ร่วมจะมีผู้กู้หลัก 1 คน ส่วนผู้กู้ร่วมจะมีกี่คนก็ขึ้นอยู่กับเงื่อนไขของธนาคารแต่ละแห่ง แต่สูงสุดได้ไม่เกิน 3 คน

คุณสมบัติผู้กู้ร่วม

สำหรับผู้ที่สามารถเป็นผู้กู้ร่วมได้ จะต้องเป็นสายโลหิตเดียวกัน  เช่น  พ่อแม่ พี่ น้อง เครือญาติ หรือคู่สมรส และถ้ากรณีที่เป็นพี่น้องที่ใช้คนละนามสกุลก็สามารถกู้ร่วมกันได้ แต่ต้องนำหลักฐานมาแสดง เช่น ทะเบียนบ้านหรือสูติบัตรที่แสดงให้เห็นว่ามีพ่อแม่เดียวกัน หรือถ้ามีคู่สมรสแต่ไม่ได้จดทะเบียนก็นำหลักฐาน เช่น ภาพถ่ายวันแต่งงาน หรือใบลงบันทึกประจำวันจากสถานีตำรวจซึ่งระบุว่าอยู่ร่วมกันฉันสามีภรรยา เป็นหลักฐานในการกู้ได้ แต่หากมีบุตรร่วมกันก็ให้ใช้สำเนาทะเบียนบ้านซึ่งระบุชื่อของคู่สมรสที่มากู้ร่วม แต่ก็ขึ้นอยู่กับนโยบายพิจารณาการให้สินเชื่อของแต่ลธนาคารด้วย


โดยคุณสมบัติของผู้กู้ร่วมก็ต้องมีความสามารถในการชำระหนี้เช่นกัน  คือ มีรายได้ต่อเดือนไม่ต่ำกว่าระดับที่กำหนด ส่วนใหญ่ต้องไม่ต่ำกว่า 15,000 บาทต่อเดือน ที่สำคัญไม่ควรภาระหนี้มากเกินไป และไม่มีประวัติผิดนัดชำระหนี้ เพราะหากมีความสามารถในการชำระหนี้ต่ำหรือมีประวัติหนี้เสีย การมากู้ร่วมจะไม่เกิดประโยชน์อะไร


เมื่อมีผู้ร่วมกู้แล้วก็ทำให้เกิดการเพิ่มฐานรายได้ของผู้กู้ให้เพียงพอต่อการผ่อนชำระหนี้ในวงเงินที่ต้องการ แต่ผู้ร่วมกู้จะกลายเป็นลูกหนี้ร่วมไปด้วย ก็จำเป็นต้องจ่ายค่าผ่อนคนละครึ่งหรือแล้วแต่จะตกลง ซึ่งบางกรณีผู้กู้ร่วมอาจเป็นแค่ในนาม แต่ผู้กู้หลักก็จำเป็นต้องผ่อนชำระหนี้ก้อนนี้ให้หมดภายในระยะเวลาที่กำหนด


เช่น นาย ข. (น้องชาย นาย ก.) มีเงินเดือน 45,000 บาท ตัดสินใจกู้ร่วมเพื่อขอสินเชื่อบ้านร่วมกับพี่ชายตัวเอง  ธนาคารจะมองว่าเป็นการขอสินเชื่อก้อนเดียวก็จะคำนวณรายได้ทั้งสองคนรวมกัน นั่นคือ 70,000 บาท (25,000 + 45,000) และเมื่อประเมินความสามารถในการแบกรับภาระหนี้โดยรวมที่ไม่ควรเกิน 40% ของรายได้ต่อเดือน เท่ากับ 28,000 บาท ดังนั้น จึงมีความเป็นไปได้สูงที่ธนาคารจะอนุมัติสินเชื่อบ้าน (จากตัวอย่างจะผ่อนเดือนละประมาณ 17,900 บาท)

รับผิดชอบหนี้ร่วมกัน

เมื่อทำการกู้ร่วมแล้ว ไม่จำกัดว่าจะรับผิดชอบฝ่ายละครึ่ง แต่ทั้งสองคนจะต้องรับผิดชอบหนี้สินร่วมกัน ดังนั้น หากเกิดผิดนัดชำระหนี้ ธนาคารจะเรียกชำระหนี้คืนจากผู้กู้คนใดคนหนึ่งหรือทั้งหมดก็ได้ เช่นเดียวกัน   หากเกิดกรณีถึงขั้นมีการยึดทรัพย์เพื่อไปขายทอดตลาด ความรับผิดต่อหนี้ก็ยังไม่จบเพราะถ้าจำนวนเงินที่ได้น้อยกว่ายอดหนี้คงค้าง ทั้งสองคนก็ต้องรับผิดในการชำระคืนเงินให้ครบต่อไป หรือกรณีที่คนใดคนหนึ่งไม่มีความสามารถในการผ่อน (ไม่มีเงิน) อีกคนก็ต้องรับผิดชอบภาระหนี้ที่เหลืออยู่ทั้งหมด เป็นต้น


เมื่อมีการกู้ร่วมแล้ว คำถามตามมา คือ ใครคือกรรมสิทธิ์ในทรัพย์ที่เป็นหลักประกัน คำตอบ คือ ผู้กู้ร่วมต้องคุยกันว่าจะให้ใครถือกรรมสิทธิ์ หรือจะถือกรรมสิทธิ์ร่วมกันก็ได้ แต่ในกรณีที่พ่อแม่กู้ร่วมกับลูก และต้องการยกให้เป็นกรรมสิทธิ์ของลูกแต่เพียงผู้เดียว หรือพี่ต้องการยกให้น้อง สามีต้องการยกให้ภรรยา ก็สามารถทำได้ เพียงแต่ต้องระบุลงในแบบฟอร์มการขอสินเชื่อตั้งแต่ทำสัญญาว่าเมื่อชำระหนี้ครบแล้วจะให้ใครเป็นผู้ถือกรรมสิทธิ์


ถึงแม้ว่าการกู้ร่วมจะเพิ่มโอกาสในการขอสินเชื่อผ่านและได้รับวงเงินสูงมากขึ้น แต่ก่อนตัดสินใจจะกู้ร่วมต้องวางแผนให้ดีๆ เพราะในอนาคตหากฝ่ายใดฝ่ายหนึ่งต้องการกู้ซื้อบ้านแต่เพียงผู้เดียว (กู้เดี่ยว) ก็จะได้วงเงินสินเชื่อน้อยลง ที่สำคัญก่อนกู้ร่วมต้องศึกษาข้อมูลรายละเอียด ข้อกำหนดต่างๆ ก่อนเซ็นสัญญากู้ร่วม เพื่อไม่ให้เสียประโยชน์กับตัวเองในอนาคต