มีอะไรอยู่ในกรมธรรม์ประกันชีวิต

เมื่อเราซื้อประกันชีวิตและประกันสุขภาพ สิ่งที่เราจะได้รับคือ ‘ กรมธรรม์ ’ ไว้เป็นหลักฐาน และเพื่อให้เราได้ศึกษารายละเอียดความคุ้มครองต่างๆ กรมธรรม์จึงเป็นเอกสารที่ทางบริษัทประกันมอบให้แก่ผู้เอาประกัน เพื่อเป็นเครื่องยืนยันว่าผู้เอาประกันจะได้รับความคุ้มครองจากบริษัทประกัน หากเกิดเหตุการณ์ไม่คาดฝัน บริษัทประกันจะต้องจ่ายค่าสินไหมทดแทนให้กับผู้เอาประกัน ตามความคุ้มครองและจำนวนเงินที่ระบุเอาไว้ในกรมธรรม์นั่นเอง ดังนั้นกรมธรรม์จึงเป็นเอกสารสำคัญที่เราต้องทำความเข้าใจถึงความคุ้มครองต่างๆ ให้ดี


มีข้อมูลอะไรอยู่ในกรมธรรม์ประกันชีวิต?

ข้อมูลสำคัญในกรมธรรม์ประกันชีวิต แบ่งออกเป็น 5 ส่วนดังนี้

1. ส่วนสรุปกรมธรรม์ประกันชีวิต

จะอยู่ในช่วงหน้าแรกๆ ของกรมธรรม์ โดยสรุปข้อมูลสำคัญ ดังนี้

  • ชื่อแบบประกันชีวิต ประเภทของประกันและบริษัทผู้รับทำประกัน
  • วันที่เริ่มทำสัญญา วันสิ้นสุดสัญญาและอายุของผู้เอาประกันตอนเริ่มทำสัญญา
  • ระยะเวลาความคุ้มครองตามสัญญา ค่าเบี้ย งวดการจ่าย (เช่น รายเดือน ราย 3 เดือน ราย 6 เดือนหรือรายปี) และระยะเวลาจ่ายเบี้ย
  • จำนวนเงินเอาประกัน
  • สัญญาเพิ่มเติม (ถ้ามี) เช่น ความคุ้มครองเพิ่มเติมในเรื่องสุขภาพ เบี้ยประกันสุขภาพ และระยะเวลาการจ่ายเบี้ยประกันสุขภาพ ซึ่งความคุ้มครองด้านสุขภาพควรทำเพิ่มเติมกับกรมธรรม์ที่ให้ความคุ้มครองต่อเนื่องยาวถึงหลังเกษียณยิ่งมากยิ่งดี

2. รายละเอียดผลประโยชน์ของแบบประกัน

ในส่วนนี้จะบอกถึงผลประโยชน์อย่างละเอียด ที่เราจะได้รับจากแบบประกันที่เราซื้อ ทั้งในกรณีที่ “ยังมีชีวิตอยู่” หรือแม้กระทั่ง “เสียชีวิต” เช่น เงินคืนรายงวด เงินคืนเมื่อสิ้นปีกรมธรรม์ และเงินปันผล หากอยู่ครบสัญญาได้เพิ่มอีกเท่าไหร่ กรณีเสียชีวิตได้เท่าไหร่ ซึ่งผลประโยชน์ดังกล่าว จะกำหนดเป็นร้อยละของทุนประกัน


หากเรามีกรมธรรม์หลายเล่ม ควรทำสรุปกรมธรรม์เก็บไว้ เพื่อที่เราจะได้ทราบว่า กรมธรรม์แต่ละฉบับ จะได้ผลตอบแทนเท่าไหร่ ในปีไหน เมื่ออายุเท่าไหร่บ้าง และหากมีประกันสุขภาพที่พ่วงอยู่กับประกันชีวิต การสรุปกรมธรรม์จะทำให้เราทราบว่ามีความคุ้มครองในแต่ละรายการอยู่ที่เท่าไหร่

3.ตารางมูลค่ากรมธรรม์

เป็นตารางที่แสดงมูลค่าการใช้สิทธิในกรมธรรม์ คือ สิทธิเวนคืนมูลค่าเงินสด สิทธิแปลงกรมธรรม์เป็นกรมธรรม์ใช้เงินสำเร็จ และสิทธิขยายเวลาความคุ้มครอง หากเราต้องการหยุดจ่ายเบี้ย โดยในตารางจะเป็นตัวเลขสำหรับทุนประกันทุกๆ 1,000 บาท ดังตัวอย่าง

จากตารางข้างต้น ผู้เอาประกันเพศหญิง อายุ 45 ปี ได้ซื้อประกันภัยแบบสะสมทรัพย์ 25 ปี ชำระเบี้ย 15 ปี ทุนประกัน 200,000 บาท หากผู้เอาประกันชำระเบี้ยประกันมาถึงสิ้นปีกรมธรรม์ที่ 12 (โดยสิ้นปีกรมธรรม์จะนับจากวันที่ครบรอบการทำประกันภัย ไม่ได้หมายถึงสิ้นปีตามปฏิทิน) และต้องการหยุดจ่ายเบี้ยประกัน ผู้เอาประกันมีทางเลือกดังต่อไปนี้

  • หากต้องการเวนคืนกรมธรรม์ เราก็จะดูจากตารางที่คอลัมน์เงินค่าเวนคืนกรมธรรม์ประกันภัย และที่แถวสิ้นปีกรมธรรม์ที่ 12 จะได้ตัวเลข 652 ซึ่งเราจะสามารถคำนวณเงินคืนได้เท่ากับ 652/1,000 x 200,000 = 130,400 บาท
  • หากยังต้องการความคุ้มครอง เราอาจเลือกเป็นกรมธรรม์ใช้เงินสำเร็จ คือ การขอลดความคุ้มครองหรือลดจำนวนเงินเอาประกันลงบางส่วน โดยที่ระยะเวลาคุ้มครองยังเท่าเดิม จากตารางเราจะดูที่คอลัมน์กรมธรรม์ใช้เงินสำเร็จ ซึ่งจะแบ่งเป็น 2 ส่วน คือ เงินจ่ายคืนทันที และมูลค่าใช้เงินสำเร็จ หากเราจ่ายเบี้ยประกันมานานพอ จะมีส่วนของเงินจ่ายคืนทันทีคืนมาให้ด้วย เช่นที่สิ้นปีกรมธรรม์ที่ 12 ผู้เอาประกันจะได้เงินจ่ายคืนทันทีออกมา 49/1,000 x 200,000 = 9,800 บาท และมีวงเงินคุ้มครองกรณีเสียชีวิตอยู่ที่ 1,000/1,000 x 200,000 = 200,000 บาท กรณีอยู่ครบสัญญา (คือ 25 ปี) ก็จะได้เงินคืน 200,000 บาทด้วย แต่จะไม่ได้ผลประโยชน์อื่นใด เช่น เงินคืนรายงวดหรือเงินปันผลอีกต่อไป
  • แต่ถ้าเราเปลี่ยนเป็นกรมธรรม์ใช้เงินสำเร็จที่สิ้นปีกรมธรรม์ที่ 11 จากตารางจะเห็นว่าไม่มีเงินจ่ายคืนทันทีออกมา แปลว่าเราจะไม่ได้เงินก้อนตอนแปลงกรมธรรม์ จะได้เฉพาะเงินเมื่ออยู่ครบสัญญา 25 ปีหรือวงเงินคุ้มครองกรณีเสียชีวิตที่ 995/1,000 x 200,000 = 199,000 บาทเท่านั้น
  • กรณีเปลี่ยนเป็นการประกันภัยแบบขยายเวลา คือการหยุดจ่ายเบี้ยประกัน แต่ยังได้รับความคุ้มครองเท่าเดิม โดยที่ระยะเวลาคุ้มครองลดลง จากตารางจะเห็นว่าได้ผลประโยชน์แบบเดียวกับกรมธรรม์ใช้เงินสำเร็จ เนื่องจากจ่ายเบี้ยมาเป็นระยะเวลานานพอสมควร
  • อย่างไรก็ตามหากต้องการหยุดจ่ายเบี้ย ณ สิ้นปีกรมธรรม์ที่ 5 จะเห็นว่าตัวเลขในคอลัมน์ประกันภัยแบบขยายระยะเวลา จะได้ตัวเลขระยะเวลาที่ขยาย คือ 19 ปี 120 วันหมายความว่า ผู้เอาประกันภัยจะได้ความคุ้มครองเท่าเดิมคือ 200,000 บาท แต่ระยะเวลาคุ้มครองเหลือเพียง 19 ปี 120 วันและไม่ได้รับเงินคืนเมื่อครบกำหนด ในขณะที่กรมธรรม์ใช้เงินสำเร็จ ณ สิ้นปีกรมธรรม์ที่ 5 ตัวเลขที่ได้ คือ 392 หมายความว่าเราจะได้ระยะเวลาคุ้มครองจนครบสัญญา แต่ทุนประกันหรือวงเงินคุ้มครองกรณีเสียชีวิตจะเหลือเพียง 392/1,000 x 200,000 = 78,400 บาท กรณีอยู่ครบสัญญา (คือ 25 ปี) ก็จะได้เงินคืน 78,400 บาทเช่นกัน
  • หากเรามีซื้อประกันสุขภาพพ่วงอยู่กับประกันชีวิต เมื่อเรามีการแปลงกรมธรรม์อย่างใดอย่างหนึ่งแล้ว เราจะไม่สามารถซื้อประกันสุขภาพพ่วงต่อไปอีกได้
  • ตารางที่แสดงในบทความนี้เป็นเพียงตัวอย่างประกอบความเข้าใจในการอ่านค่าเท่านั้น เพราะแต่ละแบบประกัน แต่ละอายุ และแต่ละเพศ จะมีตารางมูลค่ากรมธรรม์ที่จำเพาะเจาะจง ผู้เอาประกันควรศึกษาเพิ่มเติมโดยกลับไปอ่านกรมธรรม์ของตนเองอีกครั้ง หากมีข้อสงสัย สามารถขอคำแนะนำจากตัวแทนหรือบริษัทที่เราทำประกันอยู่ได้

4. สัญญาเพิ่มเติม

ในส่วนนี้จะมีรายละเอียดต่างๆ ดังนี้

  • คำนิยาม เป็นส่วนที่อธิบายคำนิยามต่างๆ ในสัญญาเพิ่มเติม
  • ผลประโยชน์ จะบอกถึงความคุ้มครองและผลประโยชน์ต่างๆ ของสัญญาเพิ่มเติม
  • การเรียกร้องผลประโยชน์ จะบอกวิธีการเรียกร้องผลประโยชน์ว่าจะต้องดำเนินการอย่างไร ใช้หลักฐานที่เกี่ยวข้องอะไรบ้าง เช่น ใบเคลม ใบรับรองแพทย์ และใบเสร็จรับเงิน และต้องดำเนินการภายในกี่วัน
  • การจ่ายค่าชดเชย จะระบุว่าจะจ่ายค่าชดเชยให้ใครบ้าง เช่น กรณีเสียชีวิตจะจ่ายให้ผู้รับผลประโยชน์
  • การสิ้นผลบังคับของสัญญาเพิ่มเติม เป็นการแจ้งให้ผู้เอาประกันทราบว่าความคุ้มครองของสัญญาเพิ่มเติมจะสิ้นผลบังคับในกรณีใดบ้าง
  • การกลับคืนสู่สถานะเดิมของสัญญาเพิ่มเติม จะบอกเงื่อนไขว่าหากสัญญาเพิ่มเติมนี้สิ้นสุดลง แต่ผู้เอาประกันต้องการความคุ้มครองนี้กลับมา ต้องทำอย่างไรบ้าง
  • ข้อยกเว้น จะเป็นการระบุว่าสัญญาเพิ่มเติมนี้ไม่คุ้มครองกรณีใดบ้าง

จะเห็นว่าในส่วนของสัญญาเพิ่มเติม มีรายละเอียดค่อนข้างมาก ผู้เอาประกันจึงควรอ่านและทำความเข้าใจให้ดี เพื่อจะได้ไม่มีปัญหาในการเคลมเวลาเกิดเหตุการณ์ไม่คาดฝันขึ้นมา


5.ใบคำขอเอาประกันชีวิต

ในส่วนท้ายสุดของกรมธรรม์จะเป็นใบคำขอเอาประกันชีวิต หรือใบสมัครประกันชีวิตที่เราทำกับตัวแทนนั่นเอง ซึ่งจะแสดงข้อมูลส่วนบุคคลของผู้เอาประกันภัย รายละเอียดของแบบประกันและความคุ้มครอง ผู้รับผลประโยชน์ และการแถลงสุขภาพของผู้เอาประกันภัย


ข้อมูลในส่วนนี้เป็นข้อมูลที่สำคัญมาก และถือว่าเป็นส่วนหนึ่งของสัญญาประกันชีวิต เมื่อผู้เอาประกันได้รับกรมธรรม์ สิ่งแรกที่ควรทำ คือ พลิกดูที่ท้ายเล่ม เพื่อตรวจสอบข้อมูลในใบคำขอเอาประกันชีวิตอีกครั้งว่าข้อมูลที่กรอกไปนั้นถูกต้องหรือไม่ เช่น ชื่อ สกุล ของทั้งผู้เอาประกันและผู้รับผลประโยชน์สะกดถูกต้องหรือไม่ ข้อมูลการติดต่อต่างๆ เป็นข้อมูลที่ถูกต้องหรือไม่ เป็นต้น หากพบว่าข้อมูลไม่ถูกต้องให้รีบแจ้งตัวแทนเพื่อดำเนินการเปลี่ยนแปลงข้อมูลทันที


กล่าวโดยสรุป กรมธรรม์ประกันชีวิต เป็นเอกสารสำคัญที่เราควรอ่านและศึกษาให้เข้าใจ โดยอาจจะศึกษาด้วยตัวเองหรือขอคำแนะนำเพิ่มเติมจากตัวแทนประกัน เพื่อให้เราได้ประโยชน์จากการทำประกันชีวิตและประกันสุขภาพนี้อย่างเต็มที่ คุ้มค่ากับเบี้ยประกันที่จ่ายไป


บทความโดย :

นิภาพันธ์ พูนเสถียรทรัพย์ CFP®, ACC

นักวางแผนการเงินอิสระ นักเขียนและวิทยากร