กินอย่าง ‘คนไต้หวัน’ แบบไหน เข้าถึง-เข้าใจสไตล์ท้องถิ่น

เมื่อพูดถึงการเดินทางท่องเที่ยวที่มีรสชาติหอมๆ กรุ่นไอร้อนของอาหารจานเด็ดเข้ามาเกี่ยวข้อง ชื่อของ “ไต้หวัน” มักจะมีเอี่ยวเข้ามานั่งในใจ แต่ครั้นจะตามรอยลายแทงร้านดังอย่างเดียวอาจไม่พอ ลองมารู้จักวัฒนธรรมการกินแบบท้องถิ่น เผื่อเวลาไปเยือนถึงที่หมายจะได้ทำตัวเนียนกริบเสมือนคนไต้หวันมาเองดูบ้าง


วัฒนธรรมแบบแรกที่ควรรู้ไว้ จะได้ไม่เด๋อในภายหลัง คือร้านท้องถิ่นส่วนใหญ่ยังนิยมระบบ “จ่ายก่อนกินทีหลัง” เมื่อเราเลือกเมนูเสร็จแล้ว พนักงานจะถามก่อนอันดับแรกว่า “กินที่ร้าน” หรือ “กลับบ้าน” ถ้าพนักงานยังไม่จากเราไปไหน ให้รู้ไว้ว่าต้องควักเงินจ่ายทันที หรือบางครั้งต้องถือใบสั่งไปชำระความที่เคาน์เตอร์เอาเอง เป็นระบบที่สะดวกไปอีกแบบ เพราะอิ่มเมื่อไรก็ลุกไปได้เลย


และระหว่างที่รอเมนูมาเสิร์ฟ เหลียวซ้ายแลขวาดู เกือบทุกร้านจะเน้นระบบกึ่งบริการตัวเอง หยิบกระดาษทิชชู่ (ที่มักติดกับกล่องบนผนัง) ช้อน และตะเกียบมารอด้วยตัวเอง บางร้านใจดีมีน้ำเปล่าน้ำชาให้บริการเติมไม่อั้นด้วย

taiwan-food1

ทีนี้ลองมาสำรวจวัฒนธรรมการกินแบบท้องถิ่นกันบ้าง เริ่มตั้งแต่เช้าตรู่ นักท่องเที่ยวส่วนใหญ่ย่อมฝากท้องมื้อเช้าไว้ที่โรงแรม แต่มาถึงสวรรค์ดินแดนอาหารทั้งที ลองเดินออกจากล็อบบี้แล้วตระเวนตามถนนดูตั้งแต่พระอาทิตย์เพิ่งขึ้นไปจนถึง 11 โมงหรือเที่ยง จะมี “ร้านอาหารเช้า” น่าลิ้มลอง โดยเฉพาะในย่านตลาด โรงเรียน มหาวิทยาลัย จะมีให้เลือกคับคั่งชนิดต้องต่อแถว สะท้อนความนิยมในยุคที่คนต้องใช้เวลาทุกนาทีให้มีค่า


เมนูยอดนิยมมีทั้งสไตล์ไต้หวันและลูกผสมตะวันตก เริ่มจากเครื่องดื่มที่มักมีให้เลือกระหว่างน้ำเต้าหู้หรือชานมให้ซดร้อนๆ ทานคู่กับเมนูหลากหลาย อาทิ ปาท่องโก๋ตัวยาวกรุบกรอบ แป้งทอดสอดใส่ผักและเนื้อสัตว์ แต่บางร้านที่เป็นท้องถิ่นขนานแท้อาจจะมีเมนูแป้งทอดแล้วสอดใส่ปาท่องโก๋ด้วย หรือจะเลือกชิมโรลไข่ม้วน แซนด์วิชไข่ แฮมเบอเกอร์ และขนมหัวผักกาดจิ้มซอสหวานอร่อยๆ รับรองไม่ผิดหวัง

เข้าสู่มื้อเที่ยง ร้านอาหารที่หลายคนอาจเคยเห็นผ่านตาคือ “ร้านสไตล์บุฟเฟต์” ที่มีกับข้าวเรียงรายในถาด ความน่าสนใจคือร้านแบบนี้จะใช้วิธีการชั่งน้ำหนักอาหารเพื่อคำนวณราคา เว้นแต่อาหารประเภทเนื้อบางประเภทอาจมีการกำหนดราคาพิเศษไว้แล้ว เมื่อเดินเข้าไปในร้านจะมีจุดวางชุดจานแบบถาดหลุม ชวนให้นึกถึงโรงอาหารในวัยเรียน หรือใครอยากห่อใส่กล่องก็เลือกหยิบกล่องได้เช่นกัน จากนั้นก็เรียงแถวตักอาหารตามชอบใจ


เมื่อถึงช่วงคิดเงิน บางร้านอาจมีตัวเลือกระหว่างข้าวธรรมดาหรือข้าวกล้องด้วย เสน่ห์ชวนระทึกของร้านประเภทนี้คือแต่ละแห่งมีสูตรในการคำนวณราคาไม่ตายตัว แม้แต่คนไต้หวันเองยังไม่อาจรู้ได้ แต่ส่วนใหญ่ราคาออกมาสมเหตุสมผลกับสิ่งที่เลือก (หลายครั้งเราพบว่าอาจคุ้มค่ากว่าราคาด้วยซ้ำ) จึงไร้ปัญหาคาใจ สนนราคาส่วนใหญ่ของการกินอิ่มหรูเฉลี่ยอยู่ที่ 80 ดอลลาร์ไต้หวัน


มาถึงอีกประเภทที่ขาดไม่ได้ มีหลักการสไตล์บุฟเฟต์แต่เน้นปรุงสดคือ “Luwei” ที่มักเรียงรายให้เห็นตามย่านร้านอาหารและตลาดกลางคืน ส่วนขั้นตอนนั้นแสนง่าย แค่หยิบตะกร้าแล้วคีบสิ่งที่ต้องการไว้รอ แต่ควรสังเกตราคาดีๆ เพราะบางอย่างจะมีป้ายระบุไว้ เช่น ลูกชิ้น 3 ลูกในราคา 20 ดอลลาร์ไต้หวันก็ควรเลือกมาให้ครบ


เมื่อได้ครบครันทั้งเนื้อ ผัก และเส้นที่ต้องการแล้ว จะมีการคิดคำนวณราคา แม่ครัวประจำร้านจะถามเราถึงระดับความเผ็ดที่ต้องการก่อนนำไปปรุง จะแบบแห้งหรือซุปก็แล้วแต่สูตรของร้านนั้น ข้อสังเกตคือหากเป็นย่านท่องเที่ยวจะมีบริการโต๊ะนั่งในร้านให้ แต่อาจจะต้องอุดหนุนเครื่องดื่มของร้านเพิ่มสักหน่อย ถือเป็นการแลกเปลี่ยนกับการให้บริการนั่งกินสบายๆ ถ้ามีอาหมวยเดินมายื่นเมนูเครื่องดื่มให้ อย่าตกใจไปแล้วกัน

และที่ไม่พูดถึงไม่ได้คือ “ร้านชานมไข่มุก” และชาประเภทต่างๆ ที่อาจมีจำนวนมากพอกับเสาไฟในกรุงเทพฯ ว่าง่ายๆ คือเดินไปตรงไหนได้จ๊ะเอ๋ตรงนั้น สิ่งควรจำคือเมื่อเลือกร้านที่ชอบ เมนูที่ใช่เสร็จแล้ว พิธีกรรมยังไม่หยุดแค่นั้น เราจะต้องเลือกระดับน้ำแข็งและน้ำตาลก่อน ไล่เรียงตั้งแต่ความหวานระดับปกติ, ลดลงมา 75% (Less), ระดับกลาง 50% (Half), ระดับน้อย 25% (Light) และ 0% สำหรับคนไม่ชอบหวาน ส่วนระดับน้ำแข็งมีให้เลือก 3 ระดับคือ ปกติ, น้อย, และไม่มีน้ำแข็ง หากไปเยือนไต้หวันฤดูหนาว ลองสั่งแบบไม่เอาน้ำแข็งดู จะพบความคุ้มค่าในปริมาณเต็มปริ่มแน่นอน


การมีตัวเลือกแบบนี้ไว้ก็เพื่อให้ผู้บริโภคมีทางเลือกแบบไม่ต้องขัดใจตัวเองหรือกลัวในการดื่มเครื่องดื่มแก้วโปรด โดยเฉพาะไต้หวันซึ่งเป็น “ต้นตำรับชานมไข่มุก” อันโด่งดังมาตั้งแต่ยุค 1990 จนแพร่หลายไปทั่วโลก แต่มีงานวิจัยออกมาสกัดเป็นระยะถึงระดับน้ำตาลและไขมัน ประกอบกับปัญหาโรคอ้วนที่เริ่มถามหาเหล่าเยาวชน เมื่อมีทางเลือกเพื่อสุขภาพแบบไม่ต้องตัดใจให้ยุ่งยากแล้ว ลองเลือกกินดื่มให้ถูกวิธีกันดูคงดีไม่น้อย

สุดท้ายที่ไม่ควรพลาดเพราะอาจเท่ากับมาไม่ถึงไต้หวันคือ “ฮอตพอต” ที่มีทั้งหลักร้อยดอลลาร์ไต้หวันสำหรับเมนูเดียว ไปจนถึงร้านประเภทบุฟเฟต์สนนราคาตั้งแต่ 700 ดอลลาร์ไต้หวันขึ้นไป แม้ฟังดูจะชวนให้เหงื่อตกก่อนนั่งหน้าเตา แต่เดี๋ยวก่อน ลองไปสัมผัสดูสักครั้งจะรู้ซึ้งถึงความคุ้มค่าทั้งคุณภาพเนื้อ น้ำซุป และน้ำจิ้มที่มีให้เลือกเป็นเอกลักษณ์เฉพาะตัวแบบไม่อั้น หากกลัวงบเงินสดจะบานปลาย ไม่ต้องมัวลังเล เลือกร้านที่มีสัญลักษณ์รับบัตรเครดิต ใช้บัตรเครดิต SCB JCB Platinum อิ่มแล้วรูดจ่ายได้ คุ้มสุดที่ไต้หวันไม่ว่าจะใช้รูดบัตรเพื่อช้อปปิงหรือกินของอร่อย เก็บพ้อยต์ 1 คะแนนต่อ 25 บาท/เซลล์สลิป รับเครดิตเงินคืน 3% ตั้งแต่บาทแรก ฯลฯ ใครยังไม่มีบัตร กดสมัครทาง SCB EASY APP ได้เลย ฟรีค่าธรรมเนียมตลอดชีพ ดูเพิ่มเติม >> https://www.scb.co.th/th/personal-banking/cards/credit-cards/all-cards/scb-jcb-platinum.html


รู้เคล็ดลับเพียงเท่านี้ เดินทางไปไต้หวันครั้งหน้า ก็สามารถสวมบทนักชิมมือโปร เดินท่องเมืองสั่งอาหารกินราวกับคนท้องถิ่นได้อย่างสบายใจแน่นอน