ติดโซลาร์เซลล์ อยากขายไฟคืนต้องทำอย่างไร

กระแสรักษ์โลกและการพัฒนาผลิตภัณฑ์โซลาร์เซลล์มีให้เราเห็นเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง รวมทั้งการสนบสนุนจากภาครัฐทำให้การติดตั้งโซลาเซลล์ราคาไม่สูงมากเหมือนเมื่อก่อน หลายบ้านหันมาติดตั้งเพื่อเป็นพลังงานทางเลือก ช่วยลดค่าไฟฟ้า เพราะประเทศเมืองร้อนที่มีแดดจัดแบบไทยเรานั้นเหมาะกับการใช้พลังงานจากแสงอาทิตย์เป็นอย่างยิ่ง และรู้หรือไม่ว่านอกจากเราจะใช้โซลาร์เซลล์เพื่อผลิตไฟฟ้าใช้เองในบ้านแล้ว เจ้าของมิเตอร์ยังสามารถขายคืนไฟฟ้าส่วนเกินให้กับรัฐได้ด้วย ในโครงการโซลาร์ภาคประชาชน


การติดตั้งโซลาร์เซลล์ที่นิยมใช้กันทั่วไปในบ้านเรือนจะเป็น ระบบ On Grid เป็นระบบที่ต้องเชื่อมโครงข่ายหรือต่อคู่ขนานกับการไฟฟ้า โดยหากผลิตพลังงานไฟฟ้าที่ได้จากแผงโซลาร์เซลล์เกินความต้องการใช้งานไฟฟ้าเวลากลางวัน ก็สามารถนำมาขายคืนให้การไฟฟ้าได้นั่นเอง แต่ทั้งนี้ต้องมีการขออนุญาตรวมถึงทำสัญญาขายไฟให้การไฟฟ้าด้วย ซึ่งขั้นตอนการขอก็ไม่ได้ยุ่งยากสามารถทำออนไลน์ได้ ที่ https://myenergy.mea.or.th/ หรือ https://ppim.pea.co.th/

วันนี้จะพามาทำความเข้าใจกับวิธีการขอขายไฟคืนให้การไฟฟ้าสำหรับผู้ที่สนใจติดตั้งโซลาร์เซลล์กัน 

solarroof

คุณสมบัติของผู้ยื่นขายไฟฟ้า

  • ผู้ยื่นจะต้องเป็นผู้ใช้ไฟฟ้ากับการไฟฟ้า ประเภทบ้านอยู่อาศัย (ประเภทที่ 1) ขนาดกำลังการผลิตติดตั้งไม่เกิน 10 กิโลวัตต์ (kWp) ที่จะติดตั้งหรือติดตั้ง Solar PV Rooftop แล้ว โดยเน้นให้ผลิตไฟฟ้าใช้เอง เพื่อลดค่ากระแสไฟฟ้า และส่วนที่เหลือสามารถขายคืนได้ ในอัตรารับซื้อไฟฟ้า 2.2 บาท/หน่วย เป็นระยะเวลา 10 ปี

  • ต้องเป็นเจ้าของเครื่องวัดหน่วยไฟฟ้า (ชื่อเดียวกับชื่อในบิลค่าไฟฟ้า) และเครื่องวัดหน่วยไฟฟ้าต้องเป็นทรัพย์สินของการไฟฟ้า

  • ในกรณีชื่อผู้ที่ยื่นขอผลิตไฟฟ้าไม่ตรงกับชื่อเจ้าของเครื่องวัดหน่วยไฟฟ้า อาทิ มีการซื้อขายบ้าน เจ้าของเครื่องวัดหน่วยไฟฟ้าเดิมถึงแก่ความตาย หรือ มีการเปลี่ยนชื่อ-สกุล ให้ติดต่อการไฟฟ้าในพื้นที่ที่ใช้ไฟฟ้า เพื่อแก้ไขหรือโอนเปลี่ยนเจ้าของเครื่องวัดหน่วยไฟฟ้าให้ถูกต้องก่อนยื่นขอผลิตไฟฟ้า


ขั้นตอนการยื่นขออนุญาตขายไฟฟ้า

  • ขั้นตอนเริ่มจากการยื่นแบบคำขอขายไฟฟ้า Online ลงทะเบียนยื่นความจำนงได้ที่ https://myenergy.mea.or.th/ หรือ https://ppim.pea.co.th/

  • ผู้ยื่น หรือ ผู้ขายระบบโซลาร์เซลล์ที่ได้รับมอบอำนาจ อัปโหลดเอกสาร หลังจากนั้นจะต้องรอการไฟฟ้า พิจารณาแบบคำขอขายไฟฟ้า ประมาณ 7-10 วัน พร้อมทั้งตรวจสอบ Capacity หรือขนาดพิกัดสูงสุดของหม้อแปลงว่าสามารถรับกำลังผลิตระบบโซลาร์เซลล์ได้หรือไม่

  • หลังจากนั้นจะแจ้งผล ซึ่งตั้งแต่เริ่มการยื่นแบบคำขอขายไฟฟ้า จนถึงประกาศรายชื่อผู้ผ่านการคัดเลือก จะใช้เวลาประมาณ 1 เดือน เมื่อเสร็จแล้วจะต้องดำเนินการชำระค่าเชื่อมต่อระบบโครงข่ายไฟฟ้าซึ่งค่าใช้จ่ายขึ้นอยู่เขตพื้นที่การไฟฟ้าที่ให้การดูแล โดยเริ่มต้นที่ประมาณ 8,000 บาท มี (ราคานี้ไม่รวมภาษีมูลค่าเพิ่ม 7%)  และ ลงนามซื้อขาย

  • โดยหลังติดตั้งเสร็จเรียบร้อย ทางการไฟฟ้าจะทำการนัดหมายเพื่อตรวจสอบระบบผลิตไฟฟ้า และทดสอบการเชื่อมต่อโครงข่ายไฟฟ้าและกำหนดวันจ่ายไฟฟ้าเข้าระบบเชิงพาณิชย์ (COD)

รายละเอียดที่ต้องกรอกในแบบคำขอขายไฟฟ้า มีดังนี้

  • ข้อมูลเครื่องวัดฯ
  • ข้อมูลผู้ขอใช้บริการ
  • ข้อมูลแผงโฟโตโวลเทอิก (แผงโซลาร์เซลล์)
  • ข้อมูลอินเวอร์เตอร์
  • อัปโหลดเอกสารเอกสารประกอบการพิจารณา


ข้อจำกัดในการยื่นขอขายไฟฟ้า

  • กรณีใช้ไฟฟ้า ระบบ 1 เฟส (220 V) ยื่นติดตั้งแผง Solar รวมได้ไม่เกิน 5 kWp / ราย
  • กรณีใช้ไฟฟ้า ระบบ 3 เฟส (220/380V) ยื่นติดตั้งแผง Solar รวมได้ไม่เกิน 10 kWp / ราย
  • เปิดรับซื้อในโควต้าที่จำกัดในแต่ละพื้นที่


การติดตั้งระบบโซลาเซลล์ เพื่อใช้ไฟในเวลากลางวันอย่างเต็มที่และเผื่อขายให้การไฟฟ้าด้วย อาจมีระยะคืนทุนภายใน 7-8 ปี เรียกว่าคุ้มค่าพอสมควร แต่หากจะติดตั้งเพื่อขายไฟอย่างเดียว จะคืนทุนนานราว 16 ปี

โดยผู้ที่สนใจสามารถศึกษาข้อมูลและรายการเอกสารเพิ่มเติมได้ที่ :

การไฟฟ้านครหลวง (MEA): https://myenergy.mea.or.th/

การไฟฟ้าส่วนภูมิภาค (PEA) : https://ppim.pea.co.th/

 

อ้างอิง

https://baanenergy.com/blog/process-sales-on-grid-solar-cell/#:~:text=%E0%B8%82%E0%B8%B1%E0%B9%89%E0%B8%99%E0%B8%95%E0%B8%AD%E0%B8%99%E0%B9%80%E0%B8%A3%E0%B8%B4%E0%B9%88%E0%B8%A1%E0%B8%88%E0%B8%B2%E0%B8%81%E0%B8%81%E0%B8%B2%E0%B8%A3,%E0%B8%81%E0%B8%B2%E0%B8%A3%E0%B8%A2%E0%B8%B7%E0%B9%88%E0%B8%99%E0%B9%81%E0%B8%9A%E0%B8%9A%20%E0%B8%84%E0%B8%B3%E0%B8%82%E0%B8%AD%E0%B8%82%E0%B8%B2%E0%B8%A2