เงินคงค้าง…เรื่องที่ถูกมองข้ามของสมาชิกกองทุนสำรองเลี้ยงชีพ

กองทุนสำรองเลี้ยงชีพ หรือ Provident Fund คือ กองทุนที่นายจ้างและบริษัทหลักทรัพย์จัดการกองทุน (บลจ.) จัดตั้งขึ้นให้กับลูกจ้าง เพื่อเป็นสวัสดิการให้ลูกจ้างมีเงินใช้หลังเกษียณ โดยลูกจ้างสามารถเลือกจ่ายเงินสะสมได้ตั้งแต่ 2-15% ของเงินเดือน และนายจ้างจะจ่ายเงินสมทบเพิ่มให้อีกตามนโยบายของบริษัท ซึ่งถือเป็นจุดเด่นที่น่าสนใจกว่าการลงทุนรูปแบบอื่นตรงที่เงินสมทบจากนายจ้างเปรียบเสมือนเราได้เงินจากบริษัทเพิ่มเติม นอกจากนี้ เงินที่เราสะสมเข้าไปในกองทุนนั้นก็สามารถนำไปลดหย่อนภาษีได้อีกทางหนึ่งด้วย จึงเหมือนเป็นตัวช่วยให้เรามีเงินออมมากขึ้นไปอีก


นอกจากนี้ เมื่อเราลาออกจากบริษัทแต่ไม่ต้องการคงเงินไว้ในกองทุนสำรองเลี้ยงชีพและไม่ต้องการเสียภาษี เราสามารถย้ายกองทุนสำรองเลี้ยงชีพไปยังกองทุนรวมเพื่อการเลี้ยงชีพที่รองรับ (RMF for PVD) โดยเงินก้อนนี้จะไม่ต้องเสียภาษีแต่อย่างใด และยังให้เงินทำงานต่อเนื่องอีกด้วย เพียงแต่ต้องคงไว้ (ห้ามจำหน่ายหรือโอน) จนอายุครบ 55 ปี ซึ่งเมื่อย้ายไป RMF for PVD แล้วจะไม่สามารถย้ายกลับมา PVD ได้อีก แต่สามารถปรับเปลี่ยนนโยบายและกองทุน หรือย้ายไปยัง บลจ. แห่งอื่นได้


สำหรับจุดเด่นของกองทุนสำรองเลี้ยงชีพ ประกอบด้วย

  1. ได้เงินสมทบจากนายจ้าง
  2. สร้างวินัยการออมให้ลูกจ้าง โดยออมก่อนใช้จ่าย
  3. ช่วยให้ลูกจ้างมีเงินเก็บไว้ใช้หลังเกษียณ
  4. ลูกจ้างสามารถนำเงินที่สะสมไปหักลดหย่อนภาษีได้
  5. บริหารโดยมืออาชีพ มีนโยบายการลงทุนหลากหลายทั้งในและต่างประเทศ


อย่างไรก็ตาม ท่านรู้หรือไม่ว่าในแต่ละปีมีสมาชิกที่สิ้นสมาชิกภาพกองทุนสำรองเลี้ยงชีพ ไม่ว่าจะด้วยการลาออกจากกองทุน ออกจากงาน หรือเกษียณอายุ และกลับไม่มารับเงินกองทุนสำรองเลี้ยงชีพที่ตัวเองเก็บออมไว้ จนกลายเป็น ‘เงินคงค้าง’ (Unclaimed Money) อยู่ที่บริษัทหลักทรัพย์จัดการกองทุน (บลจ.) มีแนวโน้มเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง โดยเฉพาะในภาวะวิกฤติโควิด ซึ่งมีสาเหตุหลายประการ เช่น สมาชิกไม่ทราบว่าตนมีเงินเก็บออมผ่านกองทุนสำรองเลี้ยงชีพ, ติดตามตัวสมาชิกไม่ได้, สมาชิกเสียชีวิตโดยผู้ที่ได้รับผลประโยชน์หรือทายาทไม่ทราบว่ามีเงินก้อนนี้อยู่ หรือมีหนี้สินกับนายจ้างจึงไม่กล้ากลับไปรับเช็คคืน ซึ่งหลายท่านอาจไม่ทราบว่าเงินกองทุนสำรองเลี้ยงชีพได้รับการคุ้มครองตามกฎหมาย เจ้าหนี้ไม่สามารถนำไปหักกลบลบหนี้ได้ จะด้วยเหตุผลใดก็ตาม จึงนับว่าเป็นเรื่องที่น่าเสียดายที่เจ้าของเงินหรือทายาทไม่ได้นำเงินส่วนนี้ไปใช้ประโยชน์ โดยเฉพาะในช่วงสถานการณ์เศรษฐกิจดังเช่นในปัจจุบัน หากสมาชิกดังกล่าวได้รับเงินที่คงค้างอยู่ในส่วนของตน ก็น่าจะช่วยบรรเทาความเดือดร้อนไม่มากก็น้อย

unclaimed-money-looked-over-topic-from-provident-fund-members-banner

ตรวจสอบเงินคงค้างได้อย่างไร


ท่านสามารถเช็กว่านายจ้างที่ตนเองหรือบิดามารดาเคยทำงานอยู่มีสวัสดิการกองทุนสำรองเลี้ยงชีพหรือไม่ ได้ที่เว็บไซต์ www.ThaiPVD.com (หรือ คลิก ) โดยระบุชื่อนายจ้าง หรือเลือกประเภทหน่วยงาน หรือจังหวัดที่นายจ้างดำเนินธุรกิจอยู่ หากนายจ้างที่ค้นหามีสวัสดิการกองทุนสำรองเลี้ยงชีพ ก็จะปรากฏรายชื่อขึ้นมา


กรณีที่ท่านพบว่านายจ้างรายนั้นมีกองทุนสำรองเลี้ยงชีพ แต่ไม่แน่ใจว่าตนเองหรือบิดามารดาเคยเป็นสมาชิกหรือไม่ ขอให้ติดต่อเจ้าหน้าที่ฝ่ายทรัพยากรบุคคลหรือคณะกรรมการกองทุนสำรองเลี้ยงชีพของนายจ้างรายนั้น เพื่อสอบถามว่ามีเงินกองทุนสำรองเลี้ยงชีพของท่านคงค้างอยู่หรือไม่ หรือหากท่านทราบชื่อ บลจ. ที่บริหารเงินกองทุนสำรองเลี้ยงชีพ ก็สามารถติดต่อ บลจ. ได้โดยตรง โดยสามารถดูรายชื่อได้ที่เว็บไซต์ www.ThaiPVD.com เช่นกัน (หรือ คลิก โดยสามารถคลิกที่โลโก้ของ บลจ. เพื่อไปที่หน้าเว็บไซต์ของ บลจ. นั้นๆ ได้)


ติดต่อขอรับเงินคงค้างอย่างไร


หากท่านเพิ่งสิ้นสมาชิกภาพไม่นาน โดยมีเช็คคงค้างอายุไม่เกิน 6 เดือน (หรือ บลจ. ต่ออายุเช็คให้เป็นประจำ) ท่านสามารถติดต่อฝ่ายทรัพยากรบุคคลหรือคณะกรรมการกองทุนสำรองเลี้ยงชีพของนายจ้างท่านเพื่อรับเช็ค และนำไปขึ้นเงินได้เลย


อย่างไรก็ดี หากเช็คคงค้างอายุเกิน 6 เดือนแล้ว ท่านจะไม่ได้รับเงินในทันที เนื่องจากเจ้าหน้าที่ฝ่ายทรัพยากรบุคคลหรือคณะกรรมการกองทุนสำรองเลี้ยงชีพของนายจ้างท่านจะต้องติดต่อ บลจ. ให้ออกเช็คใบใหม่ให้ และหากท่านไม่สะดวกที่จะไปรับเช็คด้วยตนเอง ท่านสามารถแจ้งเลขที่บัญชีเงินฝากธนาคาร เพื่อขอให้โอนเงินเข้าบัญชีแทนได้ โดยสามารถสอบถามรายละเอียดการรับเงินได้จากนายจ้าง หรือ บลจ. ที่บริหารเงินกองทุนสำรองเลี้ยงชีพให้


ทั้งนี้ สำนักงาน ก.ล.ต. ได้เล็งเห็นว่าเงินคงค้างที่เกิดขึ้นเป็นเรื่องที่สำคัญ จึงได้พยายามหาวิธีอื่นเพิ่มเติมเพื่อให้เพื่อนสมาชิกได้รับเงินดังกล่าว ซึ่งเป็นเงินที่ท่านมีสิทธิ์ที่จะได้รับเพื่อไว้ใช้จ่ายในยามจำเป็น หรือเก็บออมต่อเนื่องสำหรับใช้ในยามเกษียณอายุ


สำหรับสมาชิกกองทุนสำรองเลี้ยงชีพภายใต้การบริหารจัดการของ บลจ.ไทยพาณิชย์ ท่านสามารถติดต่อเจ้าหน้าที่ฝ่ายทรัพยากรบุคคลหรือคณะกรรมการกองทุนสำรองเลี้ยงชีพของนายจ้างที่ท่านมีเงินคงค้างอยู่ หรือติดต่อ บลจ.ไทยพาณิชย์ ได้ที่ 0 2777 7777 กด 0 กด 6 กด 2 หรือ e-mail: pvd_corporate.scbam@scb.co.th โดยแจ้งชื่อ-สกุล และชื่อบริษัทที่มีกองทุนสำรองเลี้ยงชีพคงค้าง พร้อมกับช่องทางการติดต่อกลับของท่านสมาชิก


อ้างอิง : www.thaipvd.com/article/home/บทความ/er4sw8


ข้อมูล ณ วันที่  12 มกราคม 2565


บทความโดย คุณณรงค์ศักดิ์ ปลอดมีชัย ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บริษัทหลักทรัพย์จัดการกองทุน ไทยพาณิชย์ จำกัด


ที่มา : The Standard Wealth