รู้มั้ย? เครื่องใช้ในบ้านอะไรกินไฟเปลืองสุด?

เคยสังเกตมั้ย ว่าในบ้านของเรามีเครื่องใช้ไฟฟ้ามากมายหลายประเภท เครื่องใช้ไฟฟ้าอะไรกินไฟมากกินไฟน้อย และเครื่องใช้ไฟฟ้าอะไรทำให้เราต้องจ่ายค่าไฟมากที่สุด การคำนวณมีปัจจัยอะไรบ้าง แล้วเราจะมีวิธีรู้คร่าวๆ ได้อย่างไร มีคำแนะนำสำหรับทำความเข้าใจเบื้องต้นที่สามารถนำไปปรับเปลี่ยนการใช้งานเครื่องใช้ไฟฟ้าที่จะช่วยให้เราประหยัดค่าไฟได้มากขึ้น

electric2

รู้ได้อย่างไรว่าเครื่องใช้ไฟฟ้ากินไฟเท่าไร

การที่จะดูว่าเครื่องใช้ไฟฟ้าชิ้นนี้ใช้ไฟเท่าไร เราดูจากจำนวนวัตต์ (Watt) ซึ่งก็คือหน่วยวัดพลังงานไฟฟ้า ที่จะระบุอยู่ในคู่มือหรือป้ายติดอยู่ตัวเครื่องใช้ไฟฟ้าชิ้นนั้นๆ ตัวอย่างเช่น ถ้าเครื่องใช้ไฟฟ้าตัวนี้ระบุว่า 1,000W ก็หมายความว่า ถ้าใช้งานต่อเนื่องเป็นเวลา 1 ชั่วโมงก็จะใช้ไฟ 1,000 วัตต์


ทั้งนี้ พลังงานไฟฟ้า 1,000 วัตต์จะเท่ากับ 1 หน่วยยูนิตที่ใช้คำนวณค่าไฟฟ้า ซึ่งวิธีการคำนวณค่าไฟฟ้าอย่างคร่าวๆ ก็คือ ค่าไฟฟ้า (บาทต่อชั่วโมง) = (จำนวนวัตต์ของเครื่องใช้ไฟฟ้า x ค่าไฟต่อยูนิต)/1000 ใช้การคำนวณค่าไฟบ้านเฉลี่ยอยู่ที่ยูนิตละ 3.9 บาท*  เครื่องใช้ไฟฟ้า 1,000 W จะมีค่าไฟตกอยู่ที่ชั่วโมงละ 3.9 บาท เป็นต้น อย่างไรก็ดี เครื่องใช้ไฟฟ้าในชีวิตประจำวันที่มีอยู่หลายประเภทก็มีจำนวนวัตต์มากน้อยแตกต่างกันไป

เครื่องใช้ไฟฟ้าอะไรกินไฟมากที่สุด

จากข้อมูลด้านบนเห็นได้ว่าปัจจัยที่เครื่องใช้ไฟฟ้าจะทำให้ตัวเลขบิลค่าไฟเพิ่มขึ้นมากน้อย ได้แก่ 1) กำลังวัตต์ และ  2) เวลาใช้งานต่อเนื่อง ซึ่งคำตอบที่หลายคนคิดถึงเป็นอันดับแรกก็คือ แอร์ เป็นคำตอบที่ถูกต้อง จากข้อมูลของการไฟฟ้านครหลวง แอร์มีกำลังไฟฟ้า 1,200 วัตต์  - 3,300 วัตต์ (ค่าไฟก็จะตกชั่วโมงละ 5-13 บาท) และปกติคนเรามักเปิดแอร์นอนในตอนกลางคืนติดต่อกัน 8-10 ชั่วโมง จึงทำให้เราจ่ายค่าไฟไปกับแอร์มากที่สุด อย่างไรก็ดี เครื่องใช้ไฟฟ้าที่ทำความร้อนก็กินไฟไม่แพ้กัน โดยเฉพาะอย่างยิ่ง เครื่องทำน้ำอุ่น ที่ใช้กำลังไฟสูงถึง 2,500-12,000 วัตต์ ที่มีค่าไฟชั่วโมงละ 10-47 บาท ซึ่งแม้เราจะไม่ได้อาบน้ำอุ่นกันเป็นชั่วโมง แต่ก็อาจลืมปิดสวิตซ์เมื่ออาบน้ำเสร็จ จึงมีไฟเข้าในเครื่องตลอดเวลาทำให้เสียค่าไฟโดยใช่เหตุ ดังนั้นต้องอย่าลืมสับสวิตซ์ปิดทุกครั้งเมื่อใช้งานเสร็จ


นอกจากแอร์ กับ เครื่องทำน้ำอุ่นแล้ว เครื่องใช้ไฟฟ้ากินไฟเยอะที่หลายคนอาจมองข้ามไป ก็คือ เครื่องซักผ้า เนื่องจากมีกำลังไฟสูง (ประมาณ 3,000 วัตต์ ค่าไฟชั่วโมงละ 12 บาท) และเวลาซักผ้าต่อรอบคือ 2.30 ชั่วโมง ถ้าบ้านไหนมีผ้าเยอะต้องซักทุกวัน ก็ต้องจ่ายค่าไฟกับการซักผ้าไม่น้อยเลยทีเดียว


ในส่วนเครื่องใช้ไฟฟ้าหมวดให้ความร้อนอื่นๆ เช่น เตารีดไฟฟ้า เตาไฟฟ้า ไมโครเวฟ หม้อหุงข้าว กระติกน้ำร้อนไฟฟ้า  ฯลฯ ก็ล้วนใช้กำลังวัตต์ไม่น้อย แต่มีระยะเวลาการใช้งานไม่นานมาก ซึ่งเมื่อใช้เสร็จแล้วก็ควรถอดปลั๊ก หรือสับปิดสวิตซ์ไฟทันที

ฉลากประหยัดไฟเบอร์ 5

ฉลากประหยัดไฟเบอร์ 5 คือ ฉลากจะบอกข้อมูลเบื้องต้นเกี่ยวกับระดับการใช้ไฟฟ้า ประสิทธิภาพการประหยัดพลังงาน ค่าใช้จ่ายต่อปีของเครื่องใช้ไฟฟ้าแต่ละชนิดของแต่ละยี่ห้อ ซึ่งเครื่องใช้ไฟฟ้าที่ได้รับฉลากประหยัดไฟฟ้าเบอร์ 5 คือเครื่องใช้ไฟฟ้าที่ผ่านการทดสอบประสิทธิภาพการประหยัดพลังที่ได้มาตราฐานตามที่ กฟผ. และกระทรวงพลังงานกำหนด โดยฉลากประหยัดไฟจะมีระดับความประหยัดตั้งแต่เบอร์ 1 ถึงเบอร์ 5 ซึ่งคือระดับที่ประหยัดไฟมากที่สุด ดังนั้น ในการเลือกซื้อเครื่องใช้ไฟฟ้า นอกจากจะพิจารณาคุณสมบัติการใช้งาน ฟังก์ชั่น สเปคสินค้าแล้ว สิ่งที่สำคัญคือ ตัวเลขการใช้พลังงานไฟฟ้าต่อปีและค่าไฟฟ้าต่อปีที่ระบุในฉลากประหยัดไฟเบอร์ 5 ซึ่งส่วนนี้จะเป็นข้อมูลประกอบการตัดสินใจเลือกซื้อเครื่องใช้ไฟฟ้าที่มีประสิทธิภาพดีและประหยัดค่าใช้จ่ายในระยะยาว

เมื่อรู้ข้อมูลตามนี้แล้ว เราก็สามารถปรับเปลี่ยนพฤติกรรมการใช้เครื่องใช้ไฟฟ้าภายในบ้านให้ประหยัดพลังงานและลดค่าไฟให้น้อยลงได้ และที่สำคัญก็ไม่ต้องออกไปข้างนอกเพื่อจ่ายบิลค่าไฟแล้ว เพราะแค่มี แอป SCB EASY ก็กดจ่ายเคลียร์ทุกบิลแค่เพียงปลายนิ้ว ทั้งบิลค่าไฟ ค่าน้ำประปาในกรุงเทพและต่างจังหวัดได้หมด สะดวกทุกที่ทุกเวลา ดูรายละเอียด คลิก ที่นี่

*หมายเหตุ : อ้างอิงจากการไฟฟ้านครหลวง