เรื่องควรรู้ ก่อนซื้อกองทุนหุ้น

การลงทุนในตลาดหุ้น หากนักลงทุนที่มีความเชี่ยวชาญ มีเวลา และยอมรับความเสี่ยงได้ในระดับสูงก็สามารถซื้อขายหุ้นได้ด้วยตัวเอง แต่สำหรับนักลงทุนที่ยังกล้าๆ กลัวๆ ประสบการณ์ยังไม่มาก มีเงินจำนวนจำกัด ไม่มีเวลาติดตามข้อมูลเพื่อใช้ในการตัดสินใจลงทุน ก็ต้องลงทุนผ่านกองทุนรวมหุ้น


กองทุนรวม (Mutual Fund) จัดตั้งขึ้นโดย บริษัทหลักทรัพย์จัดการกองทุนรวม หรือเรียกสั้นๆ ว่า บลจ. โดย บลจ. จะนำเงินของผู้ลงทุนหลายๆ รายมารวมกันเป็นเงินก้อนใหญ่ แล้วก็นำไปจดทะเบียนให้มีฐานะเป็นนิติบุคคล จากนั้นก็นำเงินที่ระดมทุนได้ไปลงทุนในหลักทรัพย์หรือสินทรัพย์ประเภทต่างๆ เช่น หุ้น ตราสารหนี้ ทองคำ น้ำมัน เป็นต้น โดยมีมืออาชีพหรือที่เรียกว่าผู้จัดการกองทุน เป็นผู้ดูแลบริหารจัดการกองทุนให้เป็นไปตามนโยบายการลงทุนที่ได้ระบุไว้ในหนังสือชี้ชวนเสนอขายหน่วยลงทุน


ถึงแม้ว่าแต่ละกองทุนจะมีผู้จัดการกองทุนดูแลอย่างใกล้ชิดเพื่อสร้างผลตอบแทนให้เติบโต แต่ผู้ลงทุนก็ไม่ควรตัดสินใจลงทุนเพียงแค่อ่านนโยบายการลงทุนของแต่ละกองทุน แต่ต้องเข้าไปศึกษาดูรายละเอียดพอร์ตลงทุนของกองทุนรวมนั้น เพราะถึงแม้กองทุนจะเป็นประเภทเดียวกันแต่จะมีนโยบายการลงทุนแตกต่างกัน

ประเภทของกองทุนรวมหุ้น

กองทุนรวมหุ้นแต่ละกองทุนมีความแตกต่างกัน ขึ้นอยู่กับนโยบายการลงทุน ซึ่งสามารถพิจารณาเลือกกองทุนรวมหุ้นที่เหมาะสมกับผู้ลงทุนได้ โดยเลือกลงทุนตามรูปแบบหรือนโยบาย ดังนี้

1. กองทุนรวมหุ้นแบ่งตามสไตล์การลงทุนของกองทุน
 

  • กองทุนรวมประเภทเชิงรับ (Passive) กองทุนประเภทนี้จะตั้งเป้าหมายสร้างผลตอบแทนที่ล้อไปกับผลตอบแทนของตลาดหรือดัชนีที่กองทุนนั้นๆ อ้างอิง เช่น กองทุน SET Index

  • กองทุนรวมประเภทเชิงรุก (Active) การลงทุนประเภทนี้มีเป้าหมายสร้างผลตอบแทนที่ดีกว่าผลตอบแทนของตลาดหรืออาจมีเป้าหมายการลงทุน เพื่อลดความเสี่ยงให้ต่ำกว่าตลาด โดยสามารถแบ่งการลงทุนแบบเชิงรุกออกเป็น 3 รูปแบบ
     
  1. กองทุนรวมหุ้นคุณค่า (Value Stock) เน้นการลงทุนในหุ้นที่มีปัจจัยพื้นฐานดีและมีราคาเหมาะสม

  2. กองทุนรวมหุ้นเติบโต (Growth Stock) เน้นการลงทุนในหุ้นของบริษัทที่มีแนวโน้มการเติบโตทางธุรกิจสูง

  3. กองทุนรวมผสม (Mixed Stock) เป็นการผสมระหว่างสไตล์การลงทุนแบบ Value Stock และ Growth Stock
     

2. กองทุนรวมหุ้นแบ่งตามกลุ่มอุตสาหกรรม


กองทุนประเภทนี้จะระบุนโยบายชัดเจนว่าเน้นลงทุนในหุ้นที่อยู่ในกลุ่มอุตสาหกรรมใด เช่น กลุ่มพลังงาน กลุ่มธุรกิจการเงิน กลุ่มโครงสร้างพื้นฐาน กลุ่มอุปโภคบริโภค เป็นต้น หากผู้ลงทุนมองว่าอุตสาหกรรมใดน่าสนใจ ก็สามารถเลือกลงทุนในกองทุนที่เน้นหุ้นในกลุ่มธุรกิจนั้นได้

3. กองทุนรวมหุ้นแบ่งตามขนาดของหุ้นที่ลงทุน


เนื่องจากหุ้นขนาดเล็ก ขนาดกลางและขนาดใหญ่มีลักษณะบางอย่างแตกต่างกัน เช่น อัตราการเติบโตของธุรกิจ อัตราการจ่ายเงินปันผล ระดับความเสี่ยง ทำให้มูลค่าของหุ้นในแต่ละขนาดมีพฤติกรรมที่แตกต่างกัน


ดังนั้น จึงมีกองทุนรวมหุ้นที่แบ่งตามขนาดของหุ้นที่ลงทุน เพื่อตอบสนองความต้องการของผู้ลงทุน ผู้ลงทุนบางกลุ่มอาจชอบลงทุนในหุ้นขนาดเล็ก เพราะหุ้นขนาดเล็กอาจมีโอกาสเติบโตที่มากกว่าหุ้นขนาดกลางและขนาดใหญ่ แต่ก็มีความเสี่ยงที่สูงกว่าเช่นกัน หรือผู้ลงทุนอาจจะเลือกลงทุนเฉพาะในหุ้นขนาดใหญ่ เพราะบริษัทมีฐานะการเงินมั่นคงกว่า


4. กองทุนรวมหุ้นที่แบ่งตามนโยบายปันผล


ผู้ลงทุนที่ต้องการกระแสเงินสดระหว่างการลงทุน สามารถเลือกลงทุนในกองทุนรวมหุ้นที่มีนโยบายการจ่ายปันผลหรือมีนโยบายการขายคืนแบบอัตโนมัติได้ ซึ่งจำนวนครั้งที่กองทุนกำหนดจ่ายเงินปันผลจะแตกต่างกันออกไป เช่น 1 ปี, 6 เดือน หรือจ่ายเงินปันผลไตรมาสละครั้ง โดยเงินปันผลที่ผู้ลงทุนได้รับจะต้องถูกหักภาษี ณ ที่จ่าย 10%


5.  กองทุนรวมหุ้นที่ได้รับสิทธิประโยชน์ทางภาษี


การลงทุนในกองทุนรวมหุ้นนอกจากกำไรจากราคาที่เพิ่มขึ้นและเงินปันผลจากกองทุนรวมแล้ว กองทุนรวมหุ้นบางประเภทสามารถนำมาใช้สิทธิในการลดหย่อนได้ด้วย

  • กองทุนรวมเพื่อการเลี้ยงชีพนโยบายตราสารทุน (RMF-EQ) เป็นกองทุนรวมที่นำเงินไปลงทุนในสินทรัพย์ ซึ่งจะเน้นลงทุนในตราสารทุนเป็นหลัก โดยผู้ลงทุนสามารถนำเงินที่ซื้อไปลดหย่อนภาษีได้สูงสุด 15% ของเงินได้ที่ต้องเสียภาษีแต่ต้องไม่เกิน 500,000 บาท เมื่อรวมกับการออมอื่นๆ (เงินสะสมกองทุนสำรองเพื่อการเลี้ยงชีพ กองทุนบำเหน็จบำนาญข้าราชการ ประกันชีวิตบำนาญ และกองทุนสงเคราะห์ครูโรงเรียนเอกชน) สำหรับขั้นต่ำในการซื้อกองทุน RMF นั้นจะต้องไม่น้อยกว่า 3% ของเงินได้ที่ต้องเสียภาษีหรือไม่น้อยกว่า 5,000 บาทต่อปี และต้องถือเป็นเวลาไม่น้อยกว่า 5 ปีตั้งแต่วันที่ซื้อครั้งแรกโดยนับเฉพาะปีที่มีการซื้อ RMF เท่านั้น และต้องขายคืนได้เมื่อผู้ลงทุนอายุเกิน 55 ปีบริบูรณ์เพื่อที่จะได้สิทธิลดหย่อนภาษี  (ที่มา : ตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย)

กองทุนหุ้น เหมาะกับใคร

ข้อดีของกองทุนรวมหุ้น นอกจากจะมีผู้จัดการกองทุนที่มีความเชี่ยวชาญด้านตลาดหุ้นที่คอยบริหารเงินผู้ลงทุนให้เติบโตอย่างต่อเนื่อง กองทุนรวมหุ้นถือเป็นช่องทางการเงินที่เหมาะกับผู้ที่มีเป้าหมายการวางแผนการเงินในระยะยาว เนื่องจากหากใช้เวลาลงทุนเป็นระยะเวลานานและลงทุนอย่างต่อเนื่อง เช่น 10 ปี หรือ 20 ปี จะสามารถลดโอกาสการขาดทุนลงได้ ขณะที่ผลตอบแทนจะเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง


อีกทั้ง กองทุนรวมหุ้น เหมาะกับผู้ที่มีเงินลงทุนจำนวนจำกัด เนื่องจากสามารถลงทุนได้ครั้งละไม่กี่บาท เช่น 1,000 บาท และสามารถซื้อขายได้สะดวกสบาย โดยปัจจุบันทำธุรกรรมในรูปแบบออนไลน์ได้ทุก บลจ. แล้ว


สำหรับจำนวนกองทุนรวมหุ้นที่เหมาะสมในแต่ละคน ไม่มีสูตรตายตัว อย่างไรก็ตาม อาจใช้กลยุทธ์แบ่งออกเป็น 2 กองทุน ได้แก่ กองทุนหุ้นหลักและกองทุนหุ้นรอง โดยกองทุนหลักให้เน้นกองทุนรวมหุ้นที่มีนโยบายการลงทุนในหุ้นคุณค่า หรือเน้นลงทุนหุ้นที่อยู่ในดัชนี SET50 และ RMF ที่มีนโยบายลงทุนในหุ้น


สำหรับกองทุนหุ้นรอง ก็เน้นกองทุนที่มีนโยบายลงทุนหุ้นขนาดกลางและขนาดเล็กที่จ่ายเงินปันผลสม่ำเสมอ หรือเน้นการลงทุนในหุ้นของบริษัทที่มีแนวโน้มการเติบโตทางธุรกิจสูง และถ้ามีเงินเหลือก็กองทุนรวมผสมอีกสักกอง


ส่วนการลงทุนกองทุนรวมที่ดี ก็คือ กลยุทธ์แบบถัวเฉลี่ยต้นทุน (Dollar Cost Averaging : DCA) ด้วยการทยอยลงทุนในจำนวนเงินที่เท่าๆ กันอย่างสม่ำเสมอในระยะยาว โดยกำหนดจำนวนเงินที่ต้องการลงทุนและช่วงเวลาได้ เช่น ทุกๆ สิ้นเดือน ลงทุนกองทุนรวมหุ้น 1 กอง จำนวนเงิน 1,000 บาท


อย่างไรก็ตาม ในช่วงตลาดหุ้นปรับลดลงอย่างต่อเนื่อง เช่น ปี 2561 ผู้ลงทุนที่ใช้การลงทุนแบบ DCA จะได้รับผลขาดทุนเช่นเดียวกัน ซึ่งก็เป็นไปตามสภาวะการลงทุนโดยรวม โลก แต่ข้อดีของการใช้กลยุทธ์ดังกล่าวในการลงทุนช่วงหุ้นตกคือ จะได้จำนวนหน่วยลงทุนมากขึ้นโดยอัตโนมัติ กระนั้นก็ดี เพื่อลดความเสี่ยงจากการลงทุน ควรเลือกกองทุนหุ้นที่มีประวัติผลการดำเนินที่ดี มีความผันผวนด้านผลการดำเนินงานต่ำ โดยสามารถเลือกกองทุนหุ้นที่ได้รับ Morningstar Rating 4 - 5 ดาว จาก Morningstar ซึ่งเป็นสถาบันการบริการข้อมูลและการวิเคราะห์เกี่ยวกับการลงทุนกองทุนรวมระดับโลก


ดังนั้น การลงทุนแบบ DCA นอกจากจะใช้เงินน้อยแล้ว ยังได้ซื้อในราคาถัวเฉลี่ยที่ไม่สูงจนเกินไป และถ้าตลาดหุ้นปรับขึ้นไปก็จะได้ผลตอบแทนที่น่าประทับใจ และลดโอกาสขาดทุนสูงๆ กรณีตลาดหุ้นปรับตัวลดลง