6 มนุษย์งาน บริการความสุขผ่านโลกออนไลน์ ตอนที่ 1

ชีวิตใน 280 ตัวอักษรของ ‘แอดมินทวิตเตอร์


“ความสุขอยู่ที่การได้คุยกับมนุษย์โลก”


ทักษะที่ควรมี  1.ขยัน   2. มีไหวพริบ   3.จมูกไว หูไว ตาไว   4.ไม่เก่งคนเดียว


ทวิตเตอร์ ถือเป็นอีกช่องทางสื่อสารออนไลน์ยอดนิยมที่ห้างร้าน ธุรกิจ สำนักข่าว ฯลฯ หยิบมาใช้ หลังจากที่เอาแน่เอานอนกับเฟซบุ๊กไม่ค่อยได้


สินค้าที่อยู่ในมือทวิตเตอร์คือ ข้อมูลข่าวสารและเหตุการณ์ต่างๆ แต่ความท้าทายกลับอยู่ตรงการสื่อสารที่ต้องเอาให้อยู่หมัดภายใต้ 280 จำนวนอักษร กับรูปอีก 4  หมายความว่านอกจากสั้น กระชับ และชัดเจนแล้ว แอดมินต้องปล่อยหมัดฮุคให้ได้ในข้อจำกัดทั้งหมดที่ว่ามา


ยิ่งแอคเคาท์ทวิตเตอร์ที่มีผู้ติดตามจำนวนมากเท่าไหร่ แอดมินยิ่งต้องทำงานหนักและเร็ว ทั้งการกรอง การเลือกและตรวจสอบข่าวและข้อมูลมหาศาล โดยเฉพาะแอดมินจาก MThai ที่มีคน Follow  1.1 ล้านคน


โดยเฉพาะบางข่าว บางเหตุการณ์ที่ข้อมูลไหลเข้ามาไม่ยั้ง  แอดมินต้องคิดก่อนรายงานเสมอ  ในเวลาอันน้อยนิดต้องตรวจสอบความจริง-เท็จ บางข้อมูลที่ได้กลิ่นแปลกๆ ก็ต้องเช็คเพิ่ม รวมถึงตรวจสอบย้อนไปถึงที่มา


“บางครั้งเจอข่าวหรือเหตุการณ์ที่รู้สึกว่าเรื่องมันตึงเครียด อาจใช้วิธีหามุกตลกมาใส่ในข้อความ เหมือนเล่าข่าวให้เพื่อนฟังจะทำให้ผู้อ่านรู้สึกอยากอ่านอยากติดตามข่าวนี้จากเรามากขึ้น แต่ก็ขึ้นอยู่กับคาแรกเตอร์ของแต่ละองค์กรด้วยว่าแอดมินสามารถเล่นสนุกได้มากน้อยแค่ไหน”

การใช้ต้นทุนที่ไม่สูงของทวิตเตอร์เมื่อเปรียบเทียบกับสื่ออื่นๆ  จะเรียกว่าเป็นเสน่ห์หรือข้อดีก็คงไม่เต็มปาก แต่ด้วยข้อจำกัดทางตัวอักษร ทำให้กลายเป็นรูปแบบการรายงานที่สั้น เข้าใจง่าย  จนไปถูกจริตคนอ่านและสอดคล้องกับพฤติกรรมการเสพข่าวของคนรุ่นใหม่

“แต่จุดสำคัญที่แอดมินมักจะผิดพลาดและต้องปรับปรุงคือ การพิมพ์ผิด บางครั้งเราอาศัยโทรศัพท์เป็นเทคโนโลยีในการสื่อสาร ความที่ต้องนำเสนออย่างรวดเร็วผ่านการจิ้มแป้นเล็กๆ ในมือถือ อาจเกิดความผิดพลาดได้”

หลักยึดสำคัญคือ ผิดได้ พลาดเป็น และไม่เก่งคนเดียว เพราะยิ่งคนติดตามมากเท่าไหร่ ความถูกต้องและทีมเวิร์คยิ่งสำคัญมากขึ้นเท่านั้น ความขยันไม่ต้องพูดถึง ถือเป็นคุณสมบัติแรกๆ ที่แอดมินพึงมี

เพราะการคุยประเด็นโน้น เล่าเรื่องนี้ให้ฟัง หูตาต้องไว ประสาทสัมผัสอื่นต้องครบ รวมถึงความขยันที่จะแสวงหาความรู้ใหม่ๆ ตลอดเวลา พื้นที่ 280 ตัวอักษรจะเป็นตัวสะท้อนความแน่นปึ้กของข้อมูลทั้งหมด

แต่ถามว่ามีความสุขหรือเปล่า? คำตอบคือ มี...มีแน่นอน

“ความสุขของการเป็นแอดมิน เหมือนได้คุยกับมนุษย์โลก การที่ได้คุยกับคนมากขึ้น ทำให้เราได้เห็น ได้คิด ได้รู้เรื่องราวต่างๆ มากขึ้น อีกอย่างหนึ่งคือการที่ได้บอกคนอื่นว่า อะไรถูก อะไรผิด ในหลายๆ ประเด็นที่มีสาระหรือข้อมูลที่คนอ่านควรรู้เพิ่มเติม  พอบอกไปแล้วทำให้เขาได้รู้ ได้เข้าใจในข่าวที่รายงานไปมากขึ้น ทำให้เขามีมุมมองในพลังบวกหรือเข้าใจโลกมากขึ้น ก็ยิ่งมีความสุข”

แอดมินเพจเครื่องสำอาง-ความสวยที่สั่งได้


“ไม่มีคำตอบตายตัวสำหรับเครื่องสำอาง”


ทักษะที่ควรมี   1.เชี่ยวชาญเรื่องเครื่องสำอาง   2. รู้ลึกการตลาด   3.ใจรักบริการ


หลายคนที่กำลังมองหาเครื่องสำอางดีๆ สักชิ้น จะเลือกมองหาจากอะไร ของดีที่เพื่อนบอกต่อ ? ทดลองซื้อมาใช้เอง ? หรืออ่านรีวิวตามอินเทอร์เน็ต ?

ช่องทางเฟซบุ๊กกลายเป็นตัวเลือกที่แบรนด์เครื่องสำอางหลายเจ้าใช้ ‘ขายของ’  คุณสามารถจิ้มสีลิปสติกที่ถูกใจได้ทันที โดยไม่จำเป็นต้องไปดูที่เคาน์เตอร์เครื่องสำอางในห้างสรรพสินค้าอีกต่อไป

ถ้านึกถึงอาชีพแอดมินเพจเฟซบุ๊ก คงนึกถึงภาพของคนที่นั่งอยู่หน้าคอมฯ คอยกดคีย์บอร์ด ตอบอินบ็อกซ์ไปวันๆ แต่ใช้ไม่ได้กับเพจเครื่องสำอาง เพราะแอดมินจะต้องควบหน้าที่เป็น Beauty Advisor ไปด้วยในตัว

คุณเกวลิน นาพรมขันธ์ หรือ พิมพ์ แอดมินเพจสายความงามคนหนึ่ง บอกว่า เครื่องสำอางเป็นเรื่องละเอียดอ่อน ต้องใช้เวลาละเมียดละไม เช่น เรื่องโทนสีผิว เนื้อสัมผัสที่ต้องการ รวมถึงสภาพผิวเดิมของลูกค้า ‘รองพื้นตัวนี้ให้ผิวที่ฉ่ำวาวเหมาะกับคนหน้าแห้ง’ ‘แป้งตลับนี้ค่อนข้างควบคุมความมันเหมาะกับคนหน้ามัน’ ต้องจำให้ขึ้นใจ เหมือนเป็นคลังความรู้เก็บไว้ ไม่ใช่แค่กดคีย์บอร์ดแล้วตอบอะไรก็ได้

ที่สำคัญเมื่อลูกค้ามีข้อสงสัยเกี่ยวกับความสวยความงาม ไม่ว่าจะเรื่องอะไรก็ตาม ต้องให้คำแนะนำและคลี่คลายความสงสัยนั้นให้ได้ โดยสวมคาแรกเตอร์ของแบรนด์อย่างกลมกลืน ตอบกลับด้วยความสุภาพ แสดงให้เห็นความเต็มใจให้บริการ - ผ่านตัวอักษร

ยังต้องสร้างสรรค์วิธีการขายให้จับใจลูกค้าให้อยู่หมัด โดยจับเอาเหตุการณ์ต่างๆ มาทำให้เกิดประโยชน์ เช่น เข้าฤดูร้อน สาวๆ หลายคนอาจเจอปัญหาเครื่องสำอางฉ่ำทำให้หน้าไหลเยิ้ม ถ้าสามารถแนะนำเครื่องสำอางที่ไปช่วยแก้ปัญหาให้ได้ ก็จะทำให้แบรนด์เข้าไปนั่งในใจลูกค้าได้สบายๆ

แอบอ่านเค้าแชทกันใน ‘จอยลดา’

“การเขียนจอยเหมือนการสร้างสรรค์ผลงานศิลปะอย่างหนึ่ง นักเขียนจะต้องถ่ายทอดนิสัยตัวละคร บริบทในเรื่อง และประเด็นที่อยากสื่อสารออกมาผ่านบทสนทนาสั้นๆ ให้ได้”

ทักษะที่ควรมี :  1. เขียนให้เห็นภาพ   2.สื่อสารอย่างสร้างสรรค์   3.เขียนงานที่ไหนก็ได้

ลองนึกภาพตัวเองกำลังนั่งอ่านนิยายสักเรื่องในวันหยุด ภาพนิยายเล่มหนาถูกเปิดอ่านทีละหน้าคงลอยขึ้นมาในหัว แต่ในสังคมก้มหน้าอย่างนี้ หนังสือค่อยๆ ถูกแทนที่ด้วยสมาร์ทโฟนและแทบเล็ต นักเขียนก็ต้องขยับตัวตาม และที่นำหน้ามาก่อนใครคือ แอปพลิเคชั่นจอยลดา (Joylada) ที่ชวนคนอ่านมาแอบดูเค้าแชทกันในนิยาย


จอยลดาคืออะไร ?

จอยลดาคือ แพลตฟอร์มสัญชาติไทยรูปแบบใหม่ เป็นแอปพลิเคชั่นที่เปิดพื้นที่ให้คนมาเขียนนิยายและอ่านนิยาย แม้จะไม่ใช่แพลตฟอร์มแรก แต่สิ่งที่ทำให้จอยลดาโดดเด่นกว่าที่อื่น คือรูปแบบและเงื่อนไขในการเขียนที่แตกต่าง เอื้อให้นักเขียนสามารถแต่งได้ทุกที่ ไม่ว่าจะบนรถไฟฟ้า ระหว่างกินข้าวกลางวัน กระทั่งตอนเข้าห้องน้ำ ขอแค่มีมือถือเครื่องเดียว เพราะการเขียนนิยายในจอยลดาจะอยู่ในรูปแบบการแชทของตัวละคร ผู้อ่านแค่กดอ่านหน้าจอแชทที่ตัวละครคุยกันเรื่อยๆ เนื้อเรื่องการแชทระหว่างตัวละครก็จะเด้งขึ้นมา ส่วนความสนุกและความน่าติดตามของเนื้อหานั้นขึ้นอยู่นักเขียนจะออกแบบเรื่องราวออกมาอย่างไร


นักเขียนนิยายจอยลดาเจ้าของยูสเซอร์ Winterinparis หรือ คุณฐาปนี ทรัพยสาร ที่มียอดนิยายจอยลดารวมสูงถึง 100 ล้านจอย บอกกว่า “การเขียนจอยลดาก็เหมือนการสร้างสรรค์ผลงานศิลปะอย่างหนึ่ง นักเขียนจะต้องถ่ายทอดนิสัยตัวละคร ถ่ายทอดบริบทในเรื่อง และประเด็นที่อยากสื่อสารออกมาผ่านแค่บทสนทนาสั้นๆ ให้ได้”


ถึงนิยายจอย (คำเรียกสั้นๆ ของจอยลดา) จะใช้เวลาเขียนสั้นกว่านิยายทั่วไป ไม่ต้องใช้คลังภาษาหรือการเชื่อมประโยคมากเท่าไหร่ แต่ความหินของงานนี้อยู่ที่ เขียนอย่างไรให้คนอ่านรู้สึกมากกว่านั่งดูตัวละครคุยกัน แต่ต้องหลุดเข้าไปในแชทนั้นให้ได้


ฮาวทูแต่งจอยอย่างไรให้สนุกนั้นไม่มีหลักการตายตัว ขึ้นอยู่กับสไตล์ของแต่ละคน แต่การจะสร้างงานเขียนให้สนุก ดูมีมิติ มีชั้นเชิง นักเขียนจะต้องทำการบ้านมาอย่างหนัก วางพล็อตมาและผูกเรื่องให้ดี


ในแง่ของสื่ออารมณ์ การเขียนจอยไม่ต่างกับเขียนนิยายแบบบรรยายนัก  ปลายทางคือเล่าเรื่องเหมือนกัน ต่างกันตรงระหว่างทาง รุ่นพี่เล่มหนาใช้บทบรรยายสลับการสนทนา  แต่น้องจอยใช้การแชทล้วนๆ


“นิยายทั่วไป สร้างอารมณ์ผู้อ่านให้รู้สึกตามด้วยประโยคที่ยาวยืดได้ ใช้ประโยคอธิบายให้เห็นภาพหรือบริบทรอบๆ ตัวละคร แต่กลับกันการเขียนจอยลดา ต้องอาศัยจังหวะการปล่อยแต่ละประโยคที่แม่นยำ และค่อยๆ สร้างอารมณ์ให้ผู้อ่านรู้สึกคล้อยตาม”

แล้วการเขียนจอยลดาทำเป็นอาชีพได้ไหม ?

ตอนนี้นักเขียนจอยลดาจะได้รับเงินจากยอดจอยหรือจำนวนครั้งที่ข้อความในนิยายโดนกดอ่าน แต่ยอดจอยจำนวนมากเป็นหลักร้อยล้านก็ไม่ได้แปลว่านักเขียนจะได้เงินเยอะ

“สมมติใน 1 เดือน มีคนเข้ามาอ่านนิยายของเราจนยอดจอย 2 แสนจอย เราจะได้รับเงิน 1 บาท  ถ้าเดือนนั้นนิยายเราได้ 20 ล้านจอย เราจะได้เงิน 100 บาท” ซึ่งการทำให้คนมาอ่านจำนวนเยอะขนาดนั้น ก็ไม่ใช่เรื่องง่ายและไม่ใช่เรื่องยากเกินไป นักเขียนบางคนที่เขียนงานดี มีชื่อเสียง มีฐานผู้อ่านที่ติดตามอยู่แล้ว ไม่ว่าจะเปิดจอยกี่เรื่องก็จะมีคนเข้าไปอ่าน จนยอดจอยรวมกันได้เยอะ

แต่นักเขียนจอยลดาส่วนใหญ่ไม่ได้แคร์เรื่องรายได้ขนาดนั้น”

พวกเขาใช้การเขียนจอยลดาเป็นงานอดิเรกมากกว่า เพราะการเขียนจอยเป็นเรื่องสนุก เป็นกิจกรรมคลายเครียดสำหรับนักเขียนบางคน รวมถึงการใช้เวลาว่างให้เป็นประโยชน์ เขียนเพราะอยากเขียนมากกว่าจะมองเป็นการสร้างอาชีพที่มั่นคง  เพราะถ้าทำเป็นอาชีพจริงๆ ค่าตอบแทนเพียงไม่กี่ร้อยหรือไม่กี่พันบาทคงไม่สามารถใช้ชีวิตไปถึงสิ้นเดือนได้ แต่สิ่งที่ชักจูงให้นักเขียนส่วนใหญ่ยังทำต่อ คือ


“การเขียนจอยทำให้เกิดสังคม”

ถ้านักเขียนคนใด พอจะมีผู้ตามอ่านงานของตัวเอง เมื่อลงนิยายก็จะมีคนมาคอมเมนต์ ไลค์ พูดคุยกันจนเกิดเป็นสังคมเล็กๆ บนโลกอินเตอร์เน็ต

เมื่อรายได้จากจอยลดาช่วยให้นักเขียนมีเงินซื้อเพียงขนมเล็กเล็กๆ น้อยๆ เท่านั้น ถ้าต้องการหาเงินจากการเขียนนิยายจอยลดาจริงๆ อาจจะต้องใช้วิธีการ ‘รวมเล่มขาย’

ล่าสุด ด้วยความที่การอ่านผ่านแชทในนิยายได้รับความนิยมมากขึ้นเรื่อยๆ หลายแอพพลิเคชั่น เริ่มหาวิธีหานักเขียนเข้าสังกัด ผลักให้เป็นอาชีพ จึงเริ่มสร้างแรงจูงใจ ด้วยการทดลองใช้ระบบเก็บเงินจากผู้อ่าน ค่าโฆษณา หรือการชวนซื้อเหรียญเพื่อให้กำลังใจนักเขียน

“เมื่อมีเงินสะสม 100 บาทขึ้นไป ก็จะถูกโอนเข้าบัญชีธนาคารอัตโนมัติ นักเขียนจะใช้ตรงนี้เก็บเงินไปเรื่อยๆ ทีละนิดก็ได้”