ลงทุนแบบ Thematic อย่างไร เมื่อธีมไหนก็ดูดีไปหมด

Thematic Investing ไม่ใช่แค่มาแรงในช่วงนี้ แต่อาจเปลี่ยนมุมมองการวิเคราะห์ โอกาส และความเสี่ยงของการลงทุน รวมไปถึงการจัดพอร์ตในอนาคตไปพร้อมกัน


ช่วงนี้การลงทุนแบบ Thematic มาแรงจนนักลงทุนแทบทุกคนสนใจอยากลงทุน


ปัญหาอยู่ที่ว่า ‘ทุกธีมดูดีไปหมด’ หลายท่านจึงเกิดคำถามว่า Thematic Investing นั้น ‘ดีเกินจริง’ ไปหรือไม่ ช่วงเวลานี้ยังเหมาะสมกับการลงทุนไหม เราสามารถเปรียบเทียบโอกาสกับความเสี่ยงของธีมเหล่านี้ได้อย่างไร ไปจนถึงว่าควรปรับพอร์ตแบบไหน เมื่อต้องตัดสินใจลงทุนภายใต้ธีมเหล่านี้


ทำไมต้อง Thematics


มองในด้านจังหวะการลงทุน Thematic Investing เป็นแนวคิดการลงทุน Top-Down ที่มักโดดเด่นในช่วงที่เศรษฐกิจกำลังเปลี่ยนแปลงครั้งใหญ่


เพราะในภาวะปกติ การลงทุนไม่ใช่เรื่องที่ซับซ้อน เช่น ในช่วง 50 ปีที่ผ่านมา การทยอยลงทุนแบบหุ้น 60% และบอนด์ 40% บนกองทุนที่อิงกับดัชนีหลักของโลกก็สามารถสร้างผลตอบแทนที่ดีและไม่ติดลบได้เมื่อลงทุนนานเพียงพอ โดยนักลงทุนสามารถวิเคราะห์ Top-Down เป็นรายประเทศ หรือวิเคราะห์ Bottom-up รายบริษัทเพื่อหวังผลตอบแทนที่สูงกว่าตลาดได้


แต่ในภาวะที่เศรษฐกิจมีการเปลี่ยนแปลงอย่างรวดเร็ว บริษัทต่างๆ จะได้รับผลกระทบที่หลากหลาย ทำให้ Bottom-up Analysis ทำได้ยากและมีโอกาสผิดสูง เช่นเดียวกับการวิเคราะห์ Top-Down เป็นรายประเทศหรือทวีปก็มักถูกบดบังด้วยนโยบายกระตุ้นเศรษฐกิจระยะสั้นเป็นที่มาของความต้องการในการลงทุนแบบ Thematics ที่ตอบโจทย์ด้วยการเน้นลงทุนกับธีมระยะยาว ไม่อ้างอิงกับบริษัทใด หรือเศรษฐกิจของประเทศใดประเทศหนึ่ง


สังเกตได้จากผลตอบแทนของกองทุน Thematics แทบทั้งตลาด ก่อนหน้าวิกฤตมีความเคลื่อนไหวไม่ได้โดดเด่นเลยเมื่อเทียบกับตลาด แต่หลังวิกฤตกลับสามารถทำผลตอบแทนได้อย่างมหัศจรรย์

thematic-investment-01

เรื่อง ‘โอกาส’ ของการลงทุน Thematics ในอนาคต ควรพิจารณา 3 เรื่องหลักคือ Conviction Idea, Investability และ Time Frame


แม้ธีมจะดี แต่ก็อาจไม่ใช่การลงทุนที่ดี ถ้านักลงทุนต้องจ่ายแพงเกินพื้นฐานมากไป


การลงทุนในลักษณะนี้ถ้าไม่ใช่วัตถุประสงค์เพื่อ Income หรือสไตล์ Value หรือธีม Sustainability มักเป็นการลงทุนในกลุ่มบริษัทที่มีความสามารถในการทำกำไรปัจจุบันไม่สูง (เพื่อหวังการเติบโต) และไม่มีตัวชี้วัดที่ชัดเจน อย่างไรก็ดี นักลงทุนสามารถประเมินโอกาสของการลงทุนด้วยการเปรียบเทียบ 3 เรื่อง

  1. ความเชื่อมั่น หรือ Conviction ของธีม ถ้ายังเป็นธีมที่ถูกถกเถียงว่าจะเป็นอนาคตหรือไม่ ถือว่ายังมีโอกาสในการลงทุนอยู่ เนื่องจากธีมส่วนใหญ่จะถือว่าใกล้ Fully Priced-in เมื่อนักลงทุนทั้งตลาดเชื่อว่าเป็นอนาคต
  2. ต้องมีบริษัทหรือกลุ่มธุรกิจที่สนใจในธีมนี้มากพอที่จะทำให้เกิดทั้งการแข่งขันและ Economy of Scale ยิ่งมีบริษัทผู้นำในธีมมากก็จะยิ่งมี Investability สูง ดึงดูดเงินลงทุนให้เข้ามาได้มากขึ้น
  3. ระยะเวลาที่ความเชื่อมั่นในธีมนี้จะยังคงอยู่ เช่น การเปลี่ยนพฤติกรรมการผลิต บริโภค รวมไปถึงกฎเกณฑ์ต่างๆ โดยประเมิน Time Frame ระหว่างปัจจุบันกับจุดที่เกินกว่า 70% ของอุตสาหกรรมจะปรับตัวไปตามธีม ยิ่งระยะเวลานานก็ถือว่ามีโอกาสมาก


นักลงทุนสามารถสร้างตารางเปรียบเทียบ 3 ประเด็นนี้ระหว่างธีมต่างๆ เพื่อให้เห็นความแตกต่างได้


ในมุม ‘ความเสี่ยง’ การลงทุนสไตล์นี้ประเด็นที่ต้องคำนึงถึงอยู่ 6 เรื่องหลัก เป็นเหมือนเงาสะท้อนของโอกาสจากการลงทุน

  1. การเปลี่ยนแปลงที่รวดเร็ว เนื่องจากธีมส่วนใหญ่มักลงทุนในประเด็นใหม่ หรือ Innovation ทำให้อนาคตการสร้างรายได้ของบริษัทไม่แน่นอนและผันผวน
  2. ความสัมพันธ์กับหลายประเทศ หลายอุตสาหกรรม เนื่องจากการจะเป็นธีมที่สร้าง Impact ได้ ต้องไม่มีขอบเขตการลงทุน
  3. กฎเกณฑ์ในการทำธุรกิจ มักเป็นประเด็นที่ต้องระวังเมื่อธีมการลงทุนกระทบกับสังคมหรืออุตสาหกรรมปัจจุบัน
  4. การเมืองและมุมมองของสังคมกับการเปลี่ยนแปลง เป็นปัญหาเฉพาะในแต่ละธีม เช่น Robotics ที่มักถูกหยิบยกขึ้นมาว่าเป็นการแย่งงานมนุษย์
  5. การแข่งกันที่สูงกว่าธุรกิจปกติจากการเป็นธุรกิจที่เติบโตสูง
  6. ความไม่แน่นอนหรือสิ่งที่คิดไม่ถึงที่มากกว่าธุรกิจปกติ


ส่วนใหญ่ยิ่งธีมที่มีโอกาสในการลงทุนสูงมีผลกระทบต่อสังคมมาก มักมีความเสี่ยงที่หลากหลายตามมา


ส่วนเมื่ออยู่รวมกันในพอร์ต นักลงทุนสามารถเลือกลงทุนได้ 3 แบบหลักตามระดับความเชื่อมั่นและความเสี่ยงที่รับได้

  1. A Core Satellite Approach เป็นวิธีที่ปกติที่สุด เสี่ยงน้อยที่สุด โดยนักลงทุนสามารถลงทุนในสัดส่วน 5-15% ก่อน ด้วยปริมาณการลงทุนที่ไม่สูง จะไม่ทำให้เป้าหมายหลักของพอร์ตถูกกระทบ แต่มีโอกาสรับผลตอบแทนส่วนเพิ่มถ้าธีมนั้นได้รับความสนใจจากตลาด
  2. New Thematic Alternative คือการปรับพอร์ตด้วยการลงทุนในสินทรัพย์หรือกองทุนที่ประกอบไปด้วยหลากหลายธีม บนสัดส่วนราว 15-30% ของพอร์ต เนื่องจากการรวมกับของธีม จะทำให้ความสัมพันธ์กับตลาดหลักลดลง
  3. Thematics as a Core สำหรับนักลงทุนที่มีความเชื่อมั่นใน Thematics Investing และรับความเสี่ยงได้สูง สามารถนำ 4-5 ธีมหลักมาแบ่งสัดส่วนลงในการลงทุนที่เน้นเติบโตของพอร์ต หลังจากนั้นจึงเพิ่มการลงทุนรายประเทศหรือกลุ่มอุตสาหกรรมเข้าไปในลักษณะ Satellite


โดยสรุป Thematic Investing ไม่ใช่แค่มาแรงในช่วงนี้ แต่อาจเปลี่ยนมุมมองการวิเคราะห์โอกาสและความเสี่ยงของการลงทุน รวมไปถึงการจัดพอร์ตในอนาคตไปพร้อมกัน

อย่างไรก็ดี ระยะสั้นที่การลงทุนแนว Thematics กำลังทยอยทำจุดสูงสุดใหม่นี้ นักลงทุนก็ควรลงทุนอย่างระมัดระวัง และจำไว้เสมอว่าคู่แข่งสำคัญของการลงทุนแบบนี้ก็คือการลงทุนแบบปกติ และแม้จะเป็นธีมระยะยาวก็ใช่ว่าจะไม่ต้องปรับฐาน


เช่น ถ้าความผันผวนของตลาดเริ่มปรับลดลง หรือเศรษฐกิจทั่วโลกฟื้นเต็มตัวเมื่อไร นักลงทุนก็อาจขายทำกำไรการลงทุนเหล่านี้ และกลับเข้าสู่การลงทุนปกติที่ปลอดภัยและเข้าใจง่ายกว่า หรือถ้าบอนด์ยีลด์และเงินเฟ้อปรับตัวสูงขึ้น การลงทุนในสินทรัพย์ทางเลือกอื่นๆ ก็อาจน่าสนใจมากกว่า เนื่องจากไม่ต้องรับความเสี่ยงที่ตลาดหุ้นจะปรับฐานที่สูงเท่าการลงทุน Thematics ที่สุดท้ายก็ยังมีพื้นฐานเป็นหุ้น


สุดท้ายต้องคิดเสมอว่าทุกการลงทุนมีจุดแข็งก็ต้องมีจุดอ่อน เมื่อลงทุนในแนวโน้มใหญ่ก็ต้องระวังจังหวะตลาดเปลี่ยนไปสนใจเทรนด์ใหญ่อื่นๆ ดังที่ Steve Forbes นักเขียนชาวอเมริกัน เจ้าของนิตยสารธุรกิจ Forbes เคยกล่าวว่า  “Everyone is disciplined, long-term investor until the market goes down”


บทความโดย  ดร.จิติพล พฤกษาเมธานันท์  ผู้อำนวยการอาวุโสฝ่าย Investment Strategy, Research and Asset Allocation Department Chief Investment Office บริษัทหลักทรัพย์ ไทยพาณิชย์ จำกัด


ขอบคุณข้อมูล : The Standard Wealth