5 อาชีพชื่อไม่คุ้นหู แต่มีอยู่จริง แม้ AI ก็ทำแทนไม่ได้

AI (Artificial Intelligence) หรือปัญญาประดิษฐ์ ได้เข้ามามีบทบาทสำคัญในการทำงานหลายๆ อย่างแทนที่มนุษย์มากขึ้นทุกวัน แรงงานบางส่วนถูกเลิกจ้างเพราะมี AI เข้ามาทำหน้าที่แทน จนหลายคนเริ่มวิตกกังวลถึงความไม่มั่นคงในหน้าที่การงานที่ตนเองกำลังทำอยู่ แต่ตราบใดที่มนุษย์เราไม่หยุดเรียนรู้และพัฒนาตัวเอง ก็ยังมีงานดีๆ ให้ทำแน่นอน โดยเฉพาะงานที่ต้องอาศัยสมองและสองมือของมนุษย์ หลายอาชีพชื่อไม่คุ้นหู หรือไม่เคยได้ยินมาก่อน แต่อาจเข้ามากระตุกต่อมคิด ต่อยอดความคิด จนกลายเป็นงานที่ช่วยสร้างเงิน สร้างรายได้ให้เราอย่าง 5 อาชีพที่กำลังจะกล่าวถึงนี้ก็ได้

career-human-ai-1198680322

1. ผู้เชี่ยวชาญด้านการขอโทษ (Professional Apologizer)

เมื่อเกิดเหตุผิดพลาดในกระบวนการทำงาน ทำให้ลูกค้าเสียผลประโยชน์ เกิดความไม่พอใจ จนนำไปกระจายต่อ หรือเลิกใช้สินค้าและบริการ การจะปล่อยให้ AI รับเรื่องดูแลลูกค้าคงไม่ดีแน่ แต่ถ้ามีใครสักคนเข้ามาเป็นราชทูตลิ้นทอง เจรจาลดอารมณ์ร้อนของลูกค้าให้เย็นลง เรื่องแย่ๆ ก็สามารถจบแบบแฮปปี้เอนดิ้งได้ ผู้เชี่ยวชาญด้านการขอโทษจึงเป็นที่ต้องการของหลายธุรกิจ ไม่ว่าจะเป็นภาคการผลิต ภาคบริการ หรืองานที่เกี่ยวข้องกับลูกค้าสัมพันธ์ต่างๆ เพราะทุกอาชีพที่มีผู้บริโภคมาเกี่ยวข้อง มีโอกาสที่ลูกค้าหรือผู้บริโภคจะได้รับความไม่พึงพอใจในสินค้าหรือบริการที่ได้รับทั้งสิ้น โดยเฉพาะเรื่องราวที่ดูแล้วไม่จบลงง่ายๆ ก็จะต้องอาศัยผู้เชี่ยวชาญในการขอโทษเข้ามาต่อสายตรงพูดคุยกับลูกค้า อาชีพนี้ต้องมีวาทศิลป์ และการจัดการอารมณ์ที่ดี สามารถใช้การสนทนาเข้ามาลดอารมณ์ขุ่นเคืองของลูกค้า และเปลี่ยนเป็นความพึงพอใจจากการเจรจาได้ในที่สุด งานนี้หลายครั้งจะไม่ได้จบลงด้วยการพูดคุยทางโทรศัพท์ แต่ต้องเข้าพบลูกค้าเพื่อขอโทษอย่างเป็นทางการด้วยตนเองอีกครั้งก็มี

 

2. นักช้อปปริศนา (Mystery Shopper)

อาชีพนี้แม้ชื่อจะฟังดูลึกลับชวนสงสัย แต่การทำงานจริงกลับต้องทำตัวให้ไม่น่าสงสัย แน่นอนว่าเราไม่สามารถใช้ AI เข้ามาแฝงกายเพื่อสังเกตการณ์เชิงลึกได้ อาชีพนี้จะต้องทำตัวเป็นเหมือนลูกค้าธรรมดาคนหนึ่งที่เข้าไปช้อปตามห้างร้านที่ได้รับมอบหมาย ตามวันและเวลาที่ถูกกำหนดไว้จากบริษัทว่าจ้าง หรือตัวแทน ห้ามทำตัวให้พนักงานในร้านรู้ว่าเราเป็นนักช้อปปริศนา โดยจุดประสงค์ของงานนี้ก็เพื่อเก็บข้อมูลที่เป็นประโยชน์ต่อการนำไปปรับปรุง และพัฒนาพนักงาน ตลอดจนคุณภาพของสินค้าและบริการในห้างร้านนั้นๆ ให้ดียิ่งขึ้น ซึ่งการจะได้ข้อมูลที่นายจ้างต้องการ ต้องใช้ทั้งการสอบถามพูดคุยกับพนักงานโดยตรง ประกอบกับการสังเกตพฤติกรรมและสภาพแวดล้อมร่วมกัน ผู้ว่าจ้างส่วนใหญ่จะเป็นบริษัทที่ให้บริการด้านการวิจัยตลาด ที่ปรึกษาด้านสินค้าและบริการ ตลอดจนบริษัทที่มีหน้าที่ในการพัฒนาทรัพยากรบุคคลให้กับองค์กรต่างๆ โดยก่อนเริ่มงานมักจะมีแบบทดสอบให้ทำเพื่อคัดเลือกผู้ที่เหมาะกับงาน รายได้ขึ้นอยู่กับผลงาน และปริมาณงาน ถ้าทำรายงานได้ละเอียดและครอบคลุมในสิ่งที่นายจ้างอยากรู้ มีประเด็นที่เป็นประโยชน์และน่าสนใจ สามารถนำไปบริหารจัดการเพื่อพัฒนา หรือปรับปรุง คุณภาพของสินค้าและบริการได้มากเท่าไหร่ ก็ยิ่งทำให้มีความโดดเด่นและมีโอกาสได้งานดีๆ อย่างต่อเนื่องมากขึ้นเท่านั้น

 

3. รุกขกร (Arborist)

คำว่า “รุกขเทวดา” หรือเทพผู้สถิตอยู่ตามต้นไม้ น่าจะเป็นชื่อที่คุ้นหูคนส่วนใหญ่มากกว่าคำว่า “รุกขกร” เสียอีก อาชีพนี้ไม่ใช่อาชีพเกิดใหม่ แต่มีมานานแล้วในต่างประเทศ สำหรับประเทศไทยเราเพิ่งจะเป็นที่รู้จักกันมากขึ้นเมื่อไม่ถึง 10 ปีมานี้เอง รุกขกรคือผู้ดูแลรักษาต้นไม้ใหญ่โดยเฉพาะในเขตเมือง เป็นหนึ่งในอาชีพที่น่าสนใจมากสำหรับคนรักต้นไม้ ไม่กลัวความสูง และมีสุขภาพร่างกายแข็งแรง งานที่ต้องเข้าถึงและอินกับธรรมชาติของต้นไม้และพื้นที่สีเขียวแบบจริงจัง คงไม่ใช่ลักษณะงานที่เหมาะนักของ AI  โดยคนที่จะมาทำงานนี้ต้องมีสกิลในการปีนป่ายต้นไม้ใหญ่ และมีความรู้ด้านวนศาสตร์ด้วย เพราะนอกจากต้องคอยดูแลสุขภาพของต้นไม้ ปีนป่ายขึ้นไปตัดแต่งกิ่งก้าง ปฐมพยาลบาลต้นไม้ที่ป่วยหรืออายุมากแล้ว ยังต้องรู้วิธีในการดูแลต้นไม้ให้เติบโตอย่างแข็งแรง และปลอดภัย ในสภาพแวดล้อมที่อยู่ร่วมกับมนุษย์ได้อย่างยั่งยืนอีกด้วย นอกจากการดูแลต้นไม้ตั้งแต่รากจรดใบแล้ว งานขุดล้อมเพื่อย้ายต้นไม้ใหญ่ไปในพื้นที่ใหม่ก็ต้องอาศัยรุกขกรคอยควบคุมให้เป็นไปอย่างถูกวิธี เพราะการย้ายแบบไม่ถูกต้องจะทำให้ต้นไม้ช็อก หยุดการเจริญเติบโต ใบเหลือง หรือตายได้ในที่สุด

 

4. นักออกแบบเสียง (Sound Designer)

ลองนึกถึงหนังแฟนตาซี หนัง Sci-Fi หรือหนังผี ซึ่งไม่ได้อยู่ในโลกที่คนส่วนใหญ่สามารถสัมผัสได้ การจะออกมาโลดแล่นบนหน้าจอให้เราชมได้ ต้องอาศัยจินตนาการและความคิดสร้างสรรค์ทำภาพและเสียงออกมาให้เป็นจังหวะเดียวกัน เกิดอรรถรสในการรับชม ซึ่งหนึ่งในทีมงานสร้างหนังนี้จะต้องมีอาชีพที่เรียกว่า “นักออกแบบเสียง” รวมอยู่ด้วย อย่างเสียงการปรากฏตัวของนางฟ้า เสียงพูดของมนุษย์ต่างดาว ตัวประหลาด หรือเสียงที่มาก่อนภาพเพื่อสื่อสารอะไรบางอย่างกับคนดู องค์ประกอบเหล่านี้ล้วนต้องอาศัยการสื่อสารในมุมของเสียง คนที่จะทำอาชีพนี้ได้นอกจากต้องมีจินตนาการ ความคิดสร้างสรรค์ เป็นผู้ฟังที่ดี ตีโจทย์ให้แตกแล้ว ยังต้องมีทักษะในการฟัง การแยกแยะเสียง ที่ดีด้วย ถือเป็นงานศิลปะอย่างหนึ่งที่ไม่สามารถสัมผัสด้วยตาเพียงอย่างเดียว งานละเอียดและเล่นความคิดสร้างสรรค์เพื่อดึงอารมณ์และความรู้สึกร่วมออกมาให้ได้แบบนี้ก็ต้องพึ่งพาโสตประสาทของมนุษย์ด้วยกัน หาใช่ AI ไม่

 

5. นักเล่าเรื่อง (Storyteller)

มนุษย์เติบโตมากับการเล่าเรื่อง แม้แต่เรื่องราวในประวัติศาสตร์ที่เราจำได้ก็อาศัยวิธีการเล่าให้เห็นเป็นภาพ ถึงเราจะไม่ได้อยู่ร่วมในเหตุการณ์นั้น แต่เราก็จำเรื่องเล่าขานได้ เรื่องเล่าสามารถสร้างแรงบันดาลใจและปลุกไฟในตัวของผู้คนได้มากมาย คงไม่มีใครอยากมานั่งฟังหุ่นยนต์หรือ AI เล่าเรื่องโดยไม่แสดงสีหน้าหรืออารมณ์ประกอบเป็นแน่ ดังนั้นการเล่าเรื่องจึงเป็นทักษะเฉพาะของมนุษย์ที่สามารถฝึกฝนได้ นักเล่าเรื่องต้องมีทักษะในการพูดที่สามารถสะกดคนฟัง พูดเหมือนไม่ได้สอนหรือกำลังถูกสั่งการ แต่สามารถทำให้ผู้ฟังคล้อยตามได้ บางคนเป็นนักเล่าเรื่องอิสระ บางคนทำงานในองค์กรเป็นเรื่องเป็นราว และมักจะมีบทบาทสำคัญในการนำเสนอไอเดียใหม่ๆ สร้างความเชื่อมั่น กระตุ้นให้เกิดการลงมือทำ ตลอดจนการเล่าเรื่องเพื่อสร้างแรงบันดาลใจ หรือเพื่อให้ความบันเทิง เป็นต้น

แม้หลายอาชีพกำลังถูกสั่นคลอนด้วยกระแส Disruption หรือการเข้ามาของ AI ถูกแย่งงาน แย่งรายได้ แต่ในความเป็นจริงแล้ว เราสามารถใช้เทคโนโลยี และความฉลาดของ AI มาเสริมแกร่ง สร้างความมั่นคงทางการเงินได้เช่นกัน อย่างบริการ WEALTH4U ซึ่งเป็นนวัตกรรมทางการเงินสำหรับผู้สนใจการลงทุนในกองทุนรวม ที่รวมเอาประสบการณ์และความเชี่ยวชาญของมนุษย์ มาบวกเข้ากับสมองกลของ AI เพื่อช่วยแนะนำกองทนรวมที่เหมาะกับผู้ลงทุนแต่ละคนให้ ตอบสนองความต้องการของแต่ละคนที่แตกต่างกันไปได้ดียิ่งขึ้น ใครที่สนใจสามารถเข้าไปดูรายละเอียดได้ที่ https://www.scb.co.th/th/personal-banking/digital-banking/scb-easy/wealth-for-you-info.html