ผู้นำต้องเป็นแบบไหนในยุค New Normal

ความไม่แน่นอน ความเปลี่ยนแปลง และความปกติใหม่หรือ New Normal คือสิ่งที่ทุกองค์กรหลีกเลี่ยงไม่ได้ ในช่วงหลายเดือนที่ผ่านมา หากองค์กรใดมีผู้นำที่มีความสามารถ ย่อมสามารถพาองค์กรก้าวผ่านความไม่แน่นอนไปได้ โดยยังคงไว้ซึ่งทีมที่เหนียวแน่นและแข็งแรง แล้วผู้นำควรมีคุณสมบัติอย่างไร


1.Embracing the New Normal

ในช่วงวิกฤต COVID-19 และ New Normal ผู้นำควรสร้างความเชื่อมั่นให้กับพนักงานว่า แม้ว่าภาวะปกติใหม่จะเป็นสิ่งที่แตกต่างไปจากเดิม แต่ความแตกต่างนี้ไม่ใช่สิ่งที่น่ากลัว การเปิดรับจะทำให้ผู้นำสามารถกำหนดจุดยืนขององค์กรใหม่ได้อีกครั้ง ไม่ว่าจะเป็นการปรับกลยุทธ์ให้พนักงาน ลูกค้า นักลงทุนกลับมาเชื่อมั่นในองค์กร การเริ่มต้นแผนธุรกิจ หรือการกำหนดเป้าหมายขององค์กรใหม่ให้สอดคล้องกับการเปลี่ยนแปลงที่เกิดขึ้น


2.Learning by sharing

ก่อนวิกฤติ สิ่งที่ผู้นำทุกคนต้องทำได้ คือ การเอาชนะคู่แข่ง ทุกความคิดใหม่ๆ ทุกการทดลอง ทุกกลยุทธ์จะถูกเก็บเป็นความลับ แต่เมื่อสถานการณ์เปลี่ยนไป ธุรกิจประเภทเดียวกันต่างประสบปัญหาไม่ต่างกัน สิ่งที่ผู้นำสามารถทำได้ในเวลานี้ คือ เปลี่ยนกลยุทธ์จากความต้องการที่จะเอาชนะคู่แข่งมาเป็นการสร้างพันธมิตรเพื่อช่วยกันกอบกู้ธุรกิจในภาพรวม การเรียนรู้ร่วมกันโดยการพึ่งพากันในด้านข้อมูล สถิติ การค้นคว้า การทดลองต่างๆ และกลยุทธ์จะช่วยพลิกฟื้นสถานการณ์ให้กลับมาดีขึ้นได้ วิธีการนี้จะเป็นการระดมความคิดดีๆ จากหลายๆ องค์กรในกลุ่มธุรกิจเดียวกันเพื่อจัดการกับปัญหาโดยใช้เวลาให้น้อยที่สุดเท่าที่จะเป็นไปได้ และเมื่อใดก็ตามที่สามารถแก้ไขปัญหาได้ ทุกองค์กรต่างก็ได้รับผลประโยชน์ร่วมกัน

leader2

3.Over-communicating

ในช่วงวิกฤต การสื่อสารมีบทบาทมากขึ้นหลายเท่า และผู้นำจะต้องสื่อสารกับพนักงานให้มากขึ้นกว่าเดิม ไม่ว่าจะเป็นการแจ้งให้ทราบถึงแนวทางปฏิบัติใหม่ๆ การติดตามความก้าวหน้าของงาน การระดมความคิดหายุทธวิธี การแจ้งสถานการณ์และมาตรการเกี่ยวกับสุขอนามัยและความปลอดภัยของพนักงาน รวมถึงการแจ้งให้ทราบถึงสถานการณ์ความเป็นไปขององค์กร ในทุกวิกฤตความกังวลและคำถามย่อมเกิดขึ้น ผู้นำจะต้องสามารถประเมินความกังวลและตอบข้อคำถาม เพื่อสร้างความเชื่อมั่นให้กับพนักงานในองค์กร นอกจากนี้ การสื่อสารคือวิธีการหนึ่งที่ช่วยเชื่อมโยงยึดเหนี่ยวผู้นำองค์กรและพนักงานไว้ด้วยกัน โดยเฉพาะในกรณีที่ต่างฝ่ายต่างทำงานคนละสถานที่


4.Being positive, but not sugarcoating

ไม่ว่าในสถานการณ์ใด ผู้นำควรมีทัศนคติในแง่บวกเสมอ เพราะคุณสมบัตินี้จะช่วยสร้างความเชื่อมั่นให้องค์กรว่าจะสามารถผ่านพ้นอุปสรรคไปได้ และนำพาองค์กรไปสู่ความสำเร็จ อย่างไรก็ตาม การมีทัศนคติในแง่บวกไม่ใช่การหลอกตัวเองหรือการบิดเบือนความเป็นจริงกับพนักงาน ผู้นำจะต้องยอมรับความเป็นจริงของทุกเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นทั้งในอดีตและปัจจุบัน ตระหนักรู้ในข้อดีข้อเสียที่เกิดขึ้น เรียนรู้จากความผิดพลาด และเชื่อมั่นว่ายังมีโอกาสที่องค์กรจะก้าวต่อไปสู่เป้าหมายได้

5.Empowering people

ในทุกวิกฤต การร่วมมือร่วมแรงใจของทุกคนในองค์กรคือสิ่งที่ประเมินค่าไม่ได้ เพราะฉะนั้นผู้นำควรส่งเสริมและสนับสนุนพนักงานในการแสดงความคิดเห็น และมีส่วนร่วมในการแก้ปัญหา การรับฟังข้อเสนอแนะของพนักงานด้วยความตั้งใจ เป็นการแสดงให้เห็นว่าผู้นำตระหนักรู้ในคุณค่าของพนักงานและเคารพในทุกความคิดเห็น และยังเป็นการเปิดโอกาสให้พนักงานคนอื่นๆ ที่อาจมีแนวคิดดีๆ กล้าที่จะมีส่วนร่วมมากขึ้น นอกจากนี้ การให้พนักงานมีส่วนร่วมในการตัดสินใจในงานที่ได้รับมอบหมายก็เป็นการแสดงถึงความเชื่อมั่นที่ผู้นำมีต่อพนักงาน ซึ่งเป็นสิ่งที่สำคัญมาก โดยเฉพาะในการทำงานแบบปกติใหม่ ที่ต้องอาศัยความเชื่อมั่นและความไว้วางใจเป็นรากฐาน

 

6.Shifting in perspective

ผู้นำจะต้องกล้าเปลี่ยนแปลงมุมมองของตนเอง โดยเริ่มจากการมองตนเองและประเมินการกระทำของตนเองอย่างตรงไปตรงมา และมุมมองทางความคิดจะเปิดกว้างเมื่อผู้นำมีความกล้าที่จะเผชิญกับสถานการณ์ที่ยากลำบาก และพยายามรับมือกับสถานการณ์นั้น พร้อมๆ กับการจัดการกับอารมณ์และความท้าทายที่เกิดขึ้นระหว่างทาง นอกจากนี้ สิ่งที่สำคัญอีกประการ คือ การประเมินสถานการณ์หรือการวางแผนล่วงหน้าทั้งในระยะสั้นและระยะยาว รวมทั้งการเตรียมแผนสำรองไว้ล่วงหน้า ในกรณีที่เกิดเหตุการณ์ที่ไม่คาดฝัน


เพราะอนาคตไม่สามารถคาดการณ์ได้ โดยเฉพาะวิกฤต COVID-19 ที่บังคับให้ทุกสิ่งเปลี่ยนแปลงไปในชั่วเวลาข้ามคืน การที่วิกฤตการณ์ยังคงดำเนินต่อไปอย่างไม่เห็นจุดจบ การเตรียมความพร้อม คือ สิ่งเดียวที่ทุกคนทำได้ และหากผู้นำพร้อมไปด้วยคุณสมบัติดังกล่าว ก็มั่นใจได้ว่าได้เตรียมความพร้อมแล้วในการรับมือกับทุกสถานการณ์ที่จะเกิดขึ้นในอนาคต