Unit Linked คืออะไร และเหมาะกับใคร

เชื่อว่าหลายคนอาจจะเคยได้ยินคำว่าประกันชีวิตแบบยูนิตลิงค์ (Unit Linked) หรือประกันชีวิตควบการลงทุนมาแล้วบ้าง ซึ่งเป็นกรมธรรม์ประกันชีวิตในรูปแบบใหม่ ที่ผู้เอาประกันจะได้รับทั้งความคุ้มครองชีวิต และโอกาสในการลงทุนในกรมธรรม์ฉบับเดียวกัน อย่างไรก็ตาม หลายท่านก็ยังมีข้อสงสัยในประกันชีวิตแบบนี้ว่าคืออะไร และเหมาะกับใคร รวมไปถึงมีหลักเกณฑ์ในการพิจารณาเลือกซื้อประกันชีวิตแบบยูนิตลิงค์อย่างไร ซึ่งบทความนี้จะมาไขทุกข้อข้องใจเกี่ยวกับประกันชีวิตแบบยูนิตลิงค์


ก่อนอื่นเรามาทำความรู้จักกับโครงสร้างของเบี้ยประกันชีวิตกันก่อน ซึ่งโดยปกติเบี้ยประกันชีวิตของกรมธรรม์แบบดั้งเดิม (Traditional Life Insurance) ได้แก่ ประกันชีวิตแบบชั่วระยะเวลา ประกันชีวิตแบบตลอดชีพ ประกันชีวิตแบบสะสมทรัพย์ และประกันชีวิตแบบบำนาญ จะประกอบไปด้วยค่าใช้จ่ายทั้งหมด 3 ส่วน คือ ค่าใช้จ่ายในการดำเนินการของบริษัทประกัน ค่าการประกันภัยหรือค่าความคุ้มครอง และเงินส่วนที่บริษัทประกันนำไปลงทุนในสินทรัพย์ทางการเงินต่างๆ เพื่อให้สามารถนำมาจ่ายเงินคืน หรือเงินปันผลให้กับผู้เอาประกันภัยตามที่ได้ระบุไว้ในกรมธรรม์ โดยส่วนใหญ่บริษัทจะมีนโยบายการลงทุนในสินทรัพย์ที่ไม่เสี่ยงมากนัก เช่น พันธบัตรรัฐบาล เนื่องจากกรมธรรม์ประกันชีวิตแบบดั้งเดิม มักจะเป็นแบบที่มีการ   การันตีผลตอบแทนให้กับผู้เอาประกัน บริษัทประกันจึงไม่สามารถไปลงทุนในสินทรัพย์ที่เสี่ยงมากเกินไปได้ ส่งผลให้อัตราผลตอบแทนที่ได้จากกรมธรรม์ประกันชีวิตแบบดั้งเดิมอยู่ในอัตราที่ไม่สูงนัก


ในทางตรงกันข้าม สำหรับประกันชีวิตแบบยูนิตลิงค์ แทนที่บริษัทจะนำเงินส่วนที่ 3 ไปลงทุนให้เรา (โดยมีข้อกำหนดว่าต้องลงทุนในสินทรัพย์ที่มีความเสี่ยงต่ำ) บริษัทก็จะให้เราสามารถ “เลือก” ลงทุน ด้วยตัวเอง ผ่าน “กองทุนรวม” ที่บริษัทคัดสรรมาแล้ว เพื่อให้เราสามารถบริหารจัดการการลงทุนให้ได้ผลตอบแทนที่ต้องการ ในระดับความเสี่ยงที่ยอมรับได้ เฉกเช่นเดียวกับการลงทุนในกองทุนรวมทั่วไป เพื่อให้เรามีโอกาสได้รับผลตอบแทนในระยะยาวที่สูงขึ้นได้

อย่างไรก็ตามเราไม่สามารถเปรียบเทียบอัตราผลตอบแทนการลงทุนในกองทุนรวมของประกันชีวิตแบบยูนิตลิงค์ กับการลงทุนในกองทุนรวมโดยตรงได้ เพราะในกรมธรรม์ประกันชีวิตแบบยูนิตลิงค์ จะมีการหักค่าใช้จ่ายที่สูงกว่าการลงทุนผ่านกองทุนรวมโดยตรง และประกันชีวิตแบบยูนิตลิงค์ ก็ยังเป็นประกัน ที่มีเรื่องของทุนประกันชีวิตและความคุ้มครองเข้ามาเกี่ยวข้อง หากต้องการเปรียบเทียบ ควรเปรียบเทียบระหว่างประกันชีวิตแบบดั้งเดิมกับประกันชีวิตแบบยูนิตลิงค์มากกว่า ซึ่งสามารถเปรียบเทียบได้ดังนี้

หัวข้อการเปรียบเทียบ

ประกันชีวิตแบบดั้งเดิม

ประกันชีวิตแบบยูนิตลิงค์

1.       ทุนประกันชีวิต

ทุนประกันชีวิตคงที่ ไม่สามารถขอปรับเพิ่มทุนหรือลดทุนได้

ทุนประกันชีวิตมีความยืดหยุ่น สามารถเพิ่มทุนหรือลดทุนได้ตามเงื่อนไขของแบบประกัน

2.       เบี้ยประกันชีวิต

จ่ายเบี้ยในอัตราที่แน่นอนตามระยะเวลาที่แบบประกันกำหนด

มีความยืดหยุ่นกว่า โดยสามารถกำหนดระยะเวลาการจ่ายเบี้ย ลดเบี้ย หยุดพักชำระเบี้ย หรือจ่ายเบี้ยเพิ่มเติมพิเศษได้ (ตามเงื่อนไขของแบบประกันและอาจมีค่าธรรมเนียมหากผิดเงื่อนไข)

3.       ระยะเวลาความคุ้มครอง

ขึ้นอยู่กับแต่ละแบบประกัน

ถึงอายุ 99 ปี

4.       การเปิดเผยค่าใช้จ่าย

ไม่มีการแสดงค่าใช้จ่ายอย่างชัดเจน

เปิดเผยค่าใช้จ่ายอย่างชัดเจน

5.       นโยบายการลงทุน

บริษัทประกันเป็นผู้กำหนดนโยบายการลงทุนตามกฎเกณฑ์ของ คปภ.

ผู้เอาประกันสามารถเลือกนโยบายการลงทุนได้เองผ่านกองทุนรวมที่บริษัทประกันคัดสรรมาให้

6.       อัตราผลตอบแทนคาดหวัง

มีการการันตีผลตอบแทน เฉลี่ยประมาณ 1 – 2% ต่อปี มีการกำหนดเงินคืนรายงวด และเงินเมื่อครบสัญญาไว้อย่างชัดเจน

ไม่มีการการันตีผลตอบแทน อัตราผลตอบแทนคาดหวังขึ้นอยู่กับการจัดพอร์ตการลงทุนผ่านกองทุนรวมที่บริษัทคัดมาให้ และตามระดับความเสี่ยงที่ยอมรับได้ของผู้เอาประกัน

7.       การถอนเงินจากกรมธรรม์

ไม่สามารถถอนเงินจากกรมธรรม์ได้โดยตรง แต่สามารถกู้เงินจากกรมธรรม์ได้ โดยต้องจ่ายดอกเบี้ยตามอัตราที่กำหนด

สามารถถอนเงินจากกรมธรรม์ได้ โดยอาจมีค่าธรรมเนียมในการถอนตามเงื่อนไขของแบบประกัน

8.       ผลประโยชน์กรณีเสียชีวิต

เท่ากับทุนประกันชีวิตหรือมากกว่าตามที่ระบุในสัญญากรมธรรม์

ได้รับทุนประกันชีวิตรวมกับมูลค่าของเงินส่วนที่ไปลงทุน

9.       สิทธิ์ลดหย่อนภาษี

เบี้ยประกันนำไปลดหย่อนได้เต็มจำนวนแต่ไม่เกินสิทธิ์ที่สรรพากรกำหนด

ได้เฉพาะส่วนที่เป็นค่าใช้จ่ายทั้งหมดในการประกันภัย แต่ไม่เกินสิทธิ์ที่สรรพากรกำหนด ส่วนของเงินลงทุนไม่สามารถนำไปลดหย่อนภาษีได้

เราก็ได้รู้จักประกันชีวิตแบบยูนิตลิงค์กันมาพอสังเขปแล้ว ซึ่งถัดมาเราจะมาวิเคราะห์ถึงจุดเด่น จุดด้อย และประกันแบบนี้เหมาะกับใครกัน


จุดเด่นของประกันชีวิตแบบยูนิตลิงค์ ได้แก่ มีความยืดหยุ่นสูง สามารถกำหนดระยะเวลาชำระเบี้ย ระยะเวลาความคุ้มครอง  และปรับเพิ่มหรือลดทุนประกันชีวิตได้ตามความจำเป็นและความเหมาะสมในแต่ละช่วงชีวิต สามารถเลือกถอนเงินจากมูลค่าเงินลงทุนในกรมธรรม์เองได้ โดยไม่จำเป็นต้องกู้เงินในกรมธรรม์หรือปิดกรมธรรม์ และมีโอกาสได้รับอัตราผลตอบแทนคาดหวังที่สูงกว่าประกันชีวิตแบบดั้งเดิม เพราะสามารถเลือกลงทุนในกองทุนรวมตามระดับความเสี่ยงที่รับได้ โดยที่หากมีระยะเวลาการลงทุนที่นาน ก็จะทำให้สามารถรับความเสี่ยงที่สูงขึ้นได้

อย่างไรก็ตามจุดด้อยของประกันชีวิตแบบยูนิตลิงค์ คือ ไม่การันตีผลตอบแทน และมีโอกาสที่จะไม่ได้รับผลตอบแทนตามที่คาดหวังไว้ เพราะมีการลงทุนในกองทุนรวมที่มีระดับความเสี่ยงที่สูงกว่า และต้องมีความรู้ความเข้าใจที่มากกว่าการทำประกันชีวิตแบบดั้งเดิม


ดังนั้นประกันชีวิตแบบยูนิตลิงค์ จึงเหมาะกับผู้เอาประกันที่ต้องการแบบประกันที่มีความยืดหยุ่นทั้งในเรื่องทุนประกันชีวิตและเบี้ยประกัน มีความโปร่งใสในเรื่องค่าใช้จ่าย มีความเข้าใจในการลงทุนในกองทุนรวมพอสมควร และต้องการได้รับผลตอบแทนคาดหวังที่สูงกว่าประกันชีวิตแบบดั้งเดิม


บทความโดย: นิภาพันธ์ พูนเสถียรทรัพย์ CFP®   นักวางแผนการเงินอิสระ นักเขียนและวิทยากร