แนวโน้มของสตาร์ทอัพและฟินเทคไทย

ในช่วงไม่กี่ปีมานี้นวัตกรรมและบริการทางการเงินรูปแบบใหม่ช่วยอำนวยความสะดวกให้เราใช้ชีวิตได้ง่ายขึ้น  ทั้งในด้านการใช้งานและประสบการณ์ของผู้บริโภคและเจ้าของธุรกิจ แต่ถ้ามองในภาพกว้างกว่านั้น จะพบว่าฟินเทคได้เข้ามาช่วยแก้ไขปัญหาเชิงโครงสร้างที่ถูกมองข้ามมานาน นั่นคือ ‘ความเหลื่อมล้ำทางสังคม’ 

 

จากรายงานผลสำรวจการเข้าถึงบริการทางการเงินภาคครัวเรือนในสหรัฐอเมริกา ปี 2015 โดย FDIC พบว่ามีประชากรมากถึง 9 ล้านรายที่ไม่มีบัญชีธนาคาร ขณะที่ 24.5 ล้านคนที่ไม่สามารถเข้าถึงบริการทางการเงินภาคครัวเรือน จึงไม่แปลกที่ฟินเทคจะได้รับการสนับสนุนอย่างแพร่หลาย

 

หนึ่งในตลาดฟินเทคที่ถูกจับตามองเป็นพิเศษในขณะนี้ต้องยกให้กับ กลุ่มประเทศอาเซียน ปีที่แล้วสัดส่วนการลงทุนในฟินเทคเพิ่มขึ้นถึง 29% จาก 55 ดีลในปี 2015 มาเป็น 71 ดีล มูลค่ารวมกว่า 158 ล้านดอลลาร์ โดย MoMo บริการชำระเงินทางมือถือและ e-Wallet ของบริษัท M_Services จากเวียดนาม กวาดเงินระดมทุนได้สูงสุดในอาเซียน ราวๆ 28 ล้านดอลลาร์

 

แต่ใช่ว่าทุกรายจะสามารถพิชิตใจนักลงทุนได้ทั้งในระยะสั้นและระยะยาว อะไรคือโอกาสฟินเทคไทยที่ไม่ควรพลาด THE STANDARD ชวน คุณพอล-พลภัทร อัครปรีดี กรรมการผู้จัดการหน่วยลงทุนองค์กร บริษัท ดิจิทัล เวนเจอร์ส ได้มาร่วมแสดงความคิดเห็นเกี่ยวกับทิศทางการลงทุนและเทรนด์ของฟินเทคที่น่าจับตามองในปี 2018 ในฐานะหัวหอกด้าน Corporate Venture Capital ของบริษัทผู้พัฒนาฟินเทคในเครือธนาคารไทยพาณิชย์

คุณมองภาพรวมของระบบนิเวศสตาร์ทอัพและฟินเทคในไทยอย่างไรบ้าง

ผมคิดว่าระบบนิเวศของสตาร์ทอัพไทยยังอยู่ในระยะเริ่มต้น ถึงจะโตเร็วมาก แต่ก็โตจากฐานเล็กของคนกลุ่มหนึ่ง เรามีทั้งโครงการส่งเสริมนวัตกรรมของภาคธุรกิจ โครงการบ่มเพาะสตาร์ทอัพ Accelerator รวมทั้งกองทุนของเหล่า Corporate Venture Capital หรือ CVC ซึ่งเอื้อหนุนให้ระบบนิเวศเติบโตก้าวหน้าในวันนี้

 

นอกจากธุรกิจไทยจะเป็นแหล่งเงินด้านการลงทุนแล้ว ยังเป็นแหล่งรวมตัวของกลุ่มคนเก่งๆ ที่มีความสามารถการจัดการและเครือข่ายในแวดวงอุตสาหกรรม ซึ่งถือว่ามีค่ามากๆ สำหรับสตาร์ทอัพรุ่นใหม่ ที่มีความโดดเด่นทางนวัตกรรม

 

ถามว่าบริษัทใหญ่ได้ประโยชน์อย่างไร บริษัทได้สร้างแบรนด์และความเชื่อมั่นให้กับกลุ่มลูกค้า กลุ่มสตาร์ทอัพเองก็มีโอกาสได้ทดลองพัฒนาผลิตภัณฑ์และบริการใหม่ ทำงานกับสตาร์ทอัพรายอื่น และภาคธุรกิจ ซึ่งสอดคล้องกับนโยบายไทยแลนด์ 4.0 ของรัฐบาล

 

จริงอยู่ที่ 2-3 ปีที่ผ่านมาจะเกิดดีลใหญ่ในกลุ่มธุรกิจการค้าและฟินเทคในบ้านเรา แต่ผมคิดว่าการปฏิรูปประเทศไทยสู่สังคมดิจิทัล และยกระดับคุณภาพชีวิตของประชาชนนั้น จะต้องอาศัยการขับเคลื่อนนวัตกรรมในทุกอุตสาหกรรม ทั้งการศึกษา การแพทย์ เกษตรกรรม อุตสาหกรรมการผลิต การท่องเที่ยว และอื่นๆ ร่วมกัน

เทรนด์การลงทุนฟินเทคจะเป็นอย่างไร ควรจับตามองด้านไหนเป็นพิเศษไหม

เทรนด์ของฟินเทคในไทยมีแนวโน้มจะแผ่วลงเล็กน้อย และยังคงตามหลังประเทศในภูมิภาคเดียวกัน รวมทั้งเทรนด์ของโลกอยู่ ผมมองว่ากระแสที่น่าจับตามอง คือ สตาร์ทอัพที่นำ AI และ Machine Learning เข้ามาใช้ บล็อกเชนก็เป็นอีกเทคโนโลยีหนึ่งที่น่าสนใจ ยกตัวอย่างเช่น ICOs (Initial Coin Offering - การระดมทุนที่ใช้เหรียญเงินดิจิทัล) และการระดมทุนรูปแบบต่างๆ ที่เริ่มมีตั้งแต่ปี 2013 แต่เพิ่งมาแรงในช่วง 9 เดือนที่ผ่านมา มีการระดมทุนผ่าน ICOs กว่า 1,500 ล้านดอลลาร์ในปี 2017 นับตั้งแต่ต้นปี

 

เราหวังว่าจะได้เห็นธุรกิจฟินเทค B2B เพิ่มขึ้นด้วย โดยเฉพาะกลุ่มที่ให้บริการด้านโครงสร้างพื้นฐาน ระบบหลังบ้านหรือแบ็กออฟฟิศให้กับธนาคาร เพราะธุรกิจ B2C มักจะต้องคำนึงถึงพฤติกรรมและมุมมองของผู้บริโภคต่อการเงินในตลาดในประเทศอยู่บ่อยครั้ง เท่ากับว่าขนาดของตลาดโดยรวมถูกจำกัดโดยประชากรในตลาดนั้นๆ ยกเว้นเสียแต่สตาร์ทอัพจะหาทางสนองความต้องการผู้บริโภคในตลาดอื่นๆ ได้เอง

 

ถึงอย่างไรผมก็คิดว่ากลุ่มฟินเทค B2B น่าจะมีโอกาสขยายไปสู่ตลาดระดับภูมิภาค หรือระดับโลก และเติบโตเป็นยูนิคอร์นได้ โดยธนาคารเองก็ต้องปรับการทำงานให้สอดคล้องกันด้วย

เทคโนโลยีใดจะกลายเป็น Game Changer ของอุตสาหกรรมการเงิน-การธนาคาร

AI คือเทคโนโลยีสำคัญที่จะมา disrupt ทุกมิติของบริการทางการเงิน รวมไปถึงอุตสาหกรรมอื่น เช่น อีคอมเมิร์ซ อุตสาหกรรมสุขภาพ การศึกษา คนบางกลุ่มในวงการเทคโนโลยียกให้ AI เป็นฉนวนของการปฏิวัติอุตสาหกรรมครั้งใหม่ ต่อจากการปฏิวัติอุตสาหกรรมครั้งที่ 2 และการปฏิวัติทางอินเทอร์เน็ต หลายคนถึงกับกล่าวว่า AI คือขุมพลังใหม่ของพลังงานไฟฟ้าที่จะขับเคลื่อนทุกอุตสาหกรรมก้าวไปข้างหน้า


ในอนาคต ธนาคารจำเป็นต้องปรับตัวจาก ‘คนดูแลความมั่งคั่งและทรัพย์สินของลูกค้า’ มาเป็น ‘ฝ่ายดูแลข้อมูลของลูกค้า’ ซึ่งจุดนี้เองฟินเทคจะเข้ามาตอบโจทย์ โดยใช้ AI เป็นเทคโนโลยีพื้นฐาน รองรับการทำงานของธนาคาร ทั้งการบริหารจัดการข้อมูล รักษาความปลอดภัย และสร้างรายได้จากข้อมูลดังกล่าว


ฟินเทคจะสร้างช่องทางให้ธนาคารเข้าถึงและมีส่วนร่วมกับลูกค้าได้อย่างมีนัยสำคัญ ไม่ว่าจะใช้แชตบ็อต การแนะนำสินค้าผ่านระบบวิเคราะห์ข้อมูลประวัติของลูกค้าด้วย AI หรือแม้แต่การนำ AI มาใช้ในการรักษาความปลอดภัยและโปรโตคอลพิสูจน์ตัวตน ให้การทำธุรกรรมการเงินมีประสิทธิภาพ

ในยุคที่ใครๆ ก็หันมาทำสตาร์ทอัพ คุณจะตัดสินใจเลือกลงทุนกับสตาร์ทอัพจากปัจจัยอะไร

“เราจะโฟกัสกับผลลัพธ์ที่ได้จากการแบ่งปันองค์ความรู้ทางเทคโนโลยีระหว่างเราและกองทุนหรือสตาร์ทอัพต่างๆ ที่เราไปลงทุนด้วย”


หน้าที่ของเราคือมองหาเทคโนโลยีและโมเดลธุรกิจจากทั่วโลกที่สอดคล้องและสำคัญกับบริการทางการเงินในอนาคต เราจะเลือกลงทุนกับสตาร์ทอัพทั้งสายฟินเทคและธุรกิจอื่นๆ ที่มีโอกาสต่อยอดทางธุรกิจกับธนาคารไทยพาณิชย์และลูกค้าองค์กรของธนาคารฯ เพื่อผลักดันธนาคารไทยพาณิชย์ ก้าวสู่การเปลี่ยนผ่านทางเทคโนโลยีได้สำเร็จ


Digital Ventures พยายามศึกษาและคาดการณ์ว่าผู้คนจะใช้ชีวิตแตกต่างกันไปอย่างไรในวันหน้า ทั้งด้านการดำรงชีวิต การทำงาน การเล่น และการเรียนรู้กันอย่างไรในวันหน้า เช่นนั้นแล้ว การทำธุรกรรมการเงิน และแผนการออมเงินสะสมทรัพย์จะสอดรับกับอนาคตที่เปลี่ยนไปอย่างไร


เราศึกษาคาดการณ์เทคโนโลยีใหม่ๆ ที่จะเกิดขึ้นในอนาคต และค้นหาสตาร์ทอัพที่กำลังพัฒนาเทคโนโลยีเหล่านั้น เพื่อก้าวไปสู่อนาคต ตัวอย่างเช่น ที่เราลงทุนในบริษัท Ripple สตาร์ทอัพผู้นำด้านเทคโนโลยี Blockchain จากสหรัฐฯ รวมถึง PulseiD สตาร์ทอัพผู้พัฒนาเทคโนโลยีระบุพิกัดจากฮ่องกง ซึ่งน่าจะมีศักยภาพที่จะสร้างผลกระทบต่ออุตสาหกรรมการเงินได้ นอกจากนี้ เรายังสนใจเทคโนโลยี อย่างเช่น Virtual Reality และ ควอนตัมคอมพิวติง ฟังดูเหมือนกับเทคโนโลยีจากนวนิยายวิทยาศาสตร์ แต่ตอนนี้เริ่มนำมาใช้กับบริการทางการเงินแล้ว


นอกจากนี้เรายังให้ความสำคัญกับการสนับสนุน สตาร์ทอัพไทย ทั้งกลุ่มฟินเทคและที่ไม่ใช่ฟินเทค ผ่านการให้ความรู้ การลงทุน จากโครงการ Accelerator ของเรา (DVA) เพื่อสนับสนุนให้ธุรกิจสตาร์ทอัพไทยเติบโตได้อย่างยั่งยืน