ทำงานมา 20 ปี ยังทันมั้ย! ถ้าจะเริ่มเก็บเงิน

อย่ารอจนเกษียณอายุ เพราะอาจจะสายเกินไปที่จะเริ่มเก็บเงินให้ทัน ยิ่งหากคุณเป็นมนุษย์เงินเดือนด้วยแล้ว แค่จะใช้เงินให้ถึงสิ้นเดือนยังเป็นเรื่องยาก แล้วเราจะเริ่มต้นเก็บเงินเพื่อเตรียมตัวเกษียณอายุยังไงดี อยากจะบอกว่า ถ้าหากคุณทำงานมาแล้ว 20 ปี ก็ยังไม่สายจนเกินไปที่จะวางแผนการมีชีวิตในวัยเกษียณอย่างมีความสุข และมีเงินใช้ได้อย่างเพียงพอ

แล้วจะต้องมีเงินเท่าไร ถึงจะพอสำหรับใช้จ่ายได้สบายๆ ในช่วงเกษียณอายุ

ตัวอย่าง หากคุณจะเกษียณตอนอายุ 60 ปี และคาดว่าจะมีชีวิตอยู่หลังเกษียณไปอีก20 ปี (อายุ 80) โดยที่มีค่าใช้จ่ายปัจจุบันอยู่ที่ 30,000 บาทต่อเดือนคุณจะต้องมีค่าใช้จ่ายหลังเกษียณอยู่ที่ 21,000 บาทต่อเดือน (70% x 30,000) (คิด70%ของค่าใช้จ่ายปัจจุบันเพราะต้องอย่าลืมเรื่องอัตราเงินเฟ้อในอีก 20 ปีข้างหน้าด้วย) หรือ คิดเป็น 252,000 บาทต่อปีจากนั้นก็คูณด้วยจำนวนปีที่คาดว่าจะใช้ชีวิตหลังเกษียณ นั่นก็คือ 20 ปีซึ่งจะได้ผลลัพท์ออกมาว่า คุณจะต้องมีเงินออมสะสมตอนอายุ 60 ปี ที่จำนวนเงิน 5,040,000 บาท เลยทีเดียว ซึ่งถอดออกมาเป็นสูตรคำนวณได้ตามด้านล่างนี้

จำนวนเงินที่ควรจะมี ณ วันเกษียณอายุ =  (70% ของค่าใช้จ่ายปัจจุบัน) x 12 x จำนวนปีที่คาดว่าจะใช้ชีวิตหลังเกษียณ

5,040,000 บาท = (70%X30,000 บาท) X12 เดือน X 20 ปี

แล้วจะต้องออมเงินอย่างไรจึงจะถึงเป้าหมาย
  • กองทุนสำรองเลี้ยงชีพ
    หากที่ทำงานของคุณมีกองทุนสำรองเลี้ยงชีพให้กับพนักงาน ถือว่าเป็นการสะสมเงินทางอ้อมโดยที่ลูกจ้างและนายจ้างสมัครใจร่วมกันสมทบเงินเข้ากองทุน คุณควรที่จะเลือกให้บริษัทหักเงินสะสมในเปอร์เซ็นต์ที่สูงสุดคือ 15% เสมือนได้รับค่าจ้างเพิ่มขึ้นจากเงินสมทบที่นายจ้างจ่ายให้เป็นสวัสดิการ เพราะยิ่งหักเงินเข้ากองทุนสำรองเลี้ยงชีพเยอะ คุณก็ยิ่งได้รับเงินสมทบจากนายจ้างเยอะเช่นกัน แถมเงินสะสมเข้ากองทุนสำรองเลี้ยงชีพสามารถนำมาลดหย่อนภาษีได้อีกด้วย ซึ่งเงินก้อนนี้คุณสามารถเก็บสะสมไว้ใช้ยามเกษียณได้เลย

  • ลงทุนในกองทุนรวมเพื่อการเลี้ยงชีพ (RMF) หรือ กองทุนรวมหุ้นระยะยาว (LTF)
    เริ่มลงทุนด้วย RMF ซึ่งเหมาะมากกับการสะสมเงินไว้ใช้ยามเกษียณ เพราะเราต้องถือครอง RMF ยาวจนถึงอายุ 55 ปี แต่หากใครที่รับความเสี่ยงได้มากขึ้นมาหน่อย อาจมองหาช่องทางการลงทุนใน LTF ไว้ด้วย เพราะการถือครองไม่ยาวเหมือน RMF ทำให้เราสามารถหาจังหวะขายทำกำไรระยะสั้นได้ หรือจะเก็บยาวต่อไปก็ได้ (ควรศึกษาเงื่อนไขการลงทุนก่อนตัดสินใจ) ที่สำคัญเงินที่เราลงทุนใน RMF และ LTF ยังสามารถนำมาลดหย่อนภาษีประจำปีได้อีกด้วย ส่วนจะประหยัดภาษีได้เท่าไร ก็ขึ้นกับฐานภาษีของแต่ละคน ยิ่งฐานภาษีสูงก็ยิ่งประหยัดได้มาก

  • ลงทุนในหุ้นกู้
    การลงทุนในหุ้นกู้ค่อนข้างได้รับความนิยมสูง โดยเฉพาะของภาคเอกชน ความมั่นคงขึ้นอยู่กับบริษัทที่จัดตั้ง ไม่มีการประกันจากธนาคาร และรัฐบาล จึงมีข้อได้เปรียบสำหรับนักลงทุนคือมีอัตราดอกเบี้ยสูงกว่าพันธบัตรของรัฐบาล แต่ก็มีความเสี่ยงมากกว่าตามไปด้วย การออกหุ้นกู้มีหลายแบบ เช่น แบบดอกเบี้ยคงที่ แบบอัตราลอยตัว แบบทยอยคืนเงินต้น และแบบแปลงสภาพได้ หากจะลงทุนกับหุ้นกู้ ควรจะถามตัวเองก่อนว่า พร้อมจะรับความเสี่ยงจากการลงทุนได้มากน้อยแค่ไหน หากพร้อมที่จะเสี่ยงเพื่อผลตอบแทนที่สูงกว่า การลงทุนในหุ้นกู้ของบริษัทที่ได้รับความน่าเชื่อถือ ก็เหมาะที่จะเป็นอีกหนึ่งทางเลือกที่น่าสนใจ

  • ทำประกันแบบสะสมทรัพย์ หรือ ประกันบำนาญ
    ขึ้นชื่อว่าการทำประกัน หลายคนคงกลัวเรื่องระยะเวลาและผลตอบแทน บางทีไม่คุ้มค่ากับการเก็บออมระยะยาว รวมถึงเห็นผลได้ไม่ทันท่วงที แต่การเลือกออมเงินด้วยวิธีนี้ คือ ทางเลือกที่จะทำให้ชีวิตในวัยเกษียณของคุณมั่นคงยาวนานยิ่งขึ้น สามารถเลือกรูปแบบประกันชีวิตที่ให้ผลประโยชน์ในแบบที่ต้องการได้หลากหลายรูปแบบ เพียงประเมินรายจ่ายหลังเกษียณไว้ และเลือกแบบประกันที่คุ้มครองหรือให้ผลตอบแทนที่ครอบคลุมรายจ่ายในอนาคตของเราได้ สามารถเลือกได้ทั้งแบบระยะสั้น และระยะยาว เพื่อให้เหมาะสมกับสภาพคล่องทางการเงินของคุณ แต่หากยังไม่แน่ใจว่าจะซื้อประกันแบบใดดี แนะนำให้เลือกประกันชีวิตแบบระยะยาว เพราะแบบประกันส่วนมากยิ่งระยะเวลานานยิ่งได้เงินสะสมมาก แถมยังสามารถนำมาลดหย่อนภาษีได้หลายปีด้วย

  • ลงทุนซื้ออสังหาริมทรัพย์แล้วปล่อยเช่า
    ในช่วงดอกเบี้ยขาลง การลงทุนเพื่อซื้ออสังหาริมทรัพย์แล้วปล่อยเช่า เช่น คอนโด , ทาวน์โฮม ถือว่าเป็นการลงทุนที่น่าสนใจไม่น้อย แถมยังสามารถเก็บเป็นทรัพย์สินในอนาคตได้ แต่ปัจจุบันมีโครงการอสังหาริมทรัพย์เกิดขึ้นเป็นจำนวนมาก ทำให้การลงทุนซื้อเพื่อปล่อยเช่าไม่ได้มีกำไรมากเหมือนแต่ก่อน แถมยังหาคนเช่าได้ไม่ง่ายนัก ดังนั้น ก่อนลงทุนควรพิจารณาทำเลที่ตั้งที่ติดแนวรถไฟฟ้า ใกล้แหล่งชุมชน มหาวิทยาลัย ห้างสรรพสินค้าต่างๆ ก็จะทำให้มีโอกาสหาผู้เช่าได้ง่ายขึ้น รวมถึงราคาของทรัพย์สินก็จะเพิ่มสูงขึ้นในอนาคตหากอยู่ในทำเลที่ดี นอกจากนี้การกู้เงินเพื่ออสังหาริมทรัพย์ยังสามารถนำมาลดหย่อนภาษีให้เราได้อีกทางหนึ่งด้วย

นี่ก็เป็นอีกทางเลือกหนึ่งสำหรับมนุษย์เงินเดือนที่ทำงานมาแล้ว   20 ปี ซึ่งยังไม่สายจนเกินไปหากคุณจะรีบเก็บเงินเพื่อเตรียมตัวก่อนเกษียณอายุ   ที่สำคัญอย่าลืมดูแลสุขภาพของคุณเองด้วย  เพราะไม่เช่นนั้นเงินที่คุณเก็บมาทั้งหมดก็จะละลายหายไปกับค่าใช้จ่ายในการรักษาพยาบาลในยามที่คุณเจ็บป่วย  ซึ่งค่ารักษาพยาบาลในอนาคตก็มีแนวโน้มที่จะสูงขึ้นเรื่อยๆ อีกด้วย