คนวัย 31 - 40 ปี วางแผนเกษียณอย่างไรให้สำเร็จ

การเริ่มต้นวางแผนการเงินเพื่อเกษียณในวัย 30 ต้นๆ ถือว่าเป็นจังหวะที่เหมาะสม เพราะมีข้อได้เปรียบจากการมีเวลาในการลงทุนระยะยาว มีเวลาสั่งสมประสบการณ์ และมีโอกาสเริ่มต้นใหม่หากการลงทุนพลาดพลั้งไป อย่างไรก็ตาม หากเป็นไปได้ควรเริ่มต้นลงทุนตั้งแต่วัย 20 ปี เนื่องจากเป็นวัยที่ได้เปรียบในการลงทุน เป็นช่วงที่เพิ่งเริ่มต้นทำงาน ยังไม่มีภาระที่ต้องรับผิดชอบมากนัก มีเวลาและกำลังในการหารายได้อีกนาน จึงสามารถจัดสรรเงินไปลงทุนในตราสารที่มีความเสี่ยงสูงเพื่อสร้างผลตอบแทนในระดับสูงตามไปด้วย


ช่วงเวลานี้นับว่าเป็นช่วงที่ดีในการลงทุนเพื่อเตรียมเงินไว้ใช้หลังเกษียณเพราะมีความสามารถทำงานหาเงินได้อย่างเต็มที่ ดังนั้น ถ้าหากเริ่มวางแผนการเงินเพื่อเกษียณได้เร็วเท่าไหร่ ก็ยิ่งทำให้บรรลุเป้าหมายทางด้านการเงินได้เร็วเท่านั้น


อย่างไรก็ตาม คนวัย 31 – 40 ปี เป็นช่วงที่มีเป้าหมายในชีวิตที่ชัดเจนและเริ่มสร้างความมั่นคงเพิ่มพูนความมั่งคั่งเพื่ออนาคต เป็นวัยเริ่มต้นสร้างครอบครัวแถมในช่วงวัยนี้ก็มีภาระค่าใช้จ่ายเพิ่มขึ้น เช่น ค่าผ่อนบ้าน ค่าผ่อนรถ หรือหากใครแต่งงานก็ต้องมีค่าใช้จ่ายภายในครอบครัว ค่าเลี้ยงดูลูก เป็นต้น


เมื่อเป็นเช่นนี้จะพบว่าคนวัย 31 – 40 ปี มีโอกาสที่จะลดความสำคัญของการวางแผนการเงินเพื่อเกษียณ หรือเหลือเงินที่จะแบ่งมาลงทุนในระดับต่ำ จึงเป็นช่วงหัวเลี้ยวหัวต่อ ดังนั้น ควรแบ่งเงินประมาณ 15 – 20% ของรายได้ สำหรับการวางแผนการเงินเพื่อเกษียณ


ตัวอย่างเช่น ถ้าตั้งใจที่จะออมเงินให้ครบ 1 ล้านบาท สำหรับไว้ใช้หลังเกษียณ  โดยสมมติว่าลงทุนแล้วได้อัตราผลตอบแทนจากการลงทุนเฉลี่ยเท่ากับ 5% ต่อปี


ถ้าเริ่มลงทุนอย่างต่อเนื่องตั้งแต่อายุ 31 ปี จะลงทุนเพียงเดือนละ 1,250 บาท (ปีละ 15,000 บาท) เมื่ออายุ 60 ปี จะมีเงินทั้งสิ้น 1,046,412 บาท โดยเป็นเงินลงทุน (เงินต้น) 450,000 บาท ส่วนอีก 596,412 บาท เป็นผลตอบแทนจากการลงทุน


แต่ถ้าเริ่มออมตอนอายุ 51 ปี จะต้องลงทุนเดือนละ 6,300 บาท (ปีละ 75,000 บาท) ถึงอายุ 60 ปี จะมีเงินออม 1,003,716 บาท เป็นเงินลงทุน (เงินต้น) สูงถึง 760,000 บาท ส่วนผลตอบแทนจากดอกเบี้ยแค่ 243,716 บาท เท่านั้น

จัดพอร์ตลงทุน

การจัดพอร์ตลงทุนสำหรับการวางแผนการเงินเพื่อวัยเกษียณของคนช่วงอายุ 31 – 40 ปี ควรเป็นพอร์ตแบบผสม (Balance Portfolio) และให้พิจารณาว่าตัวเองรับความเสี่ยงได้มากน้อยแค่ไหน หรือในช่วงแรกๆ เช่น อายุ 30 ปีต้นๆ ให้น้ำหนักการลงทุนในสินทรัพย์เสี่ยงมาก เพื่อทำให้พอร์ตมีการเติบโตได้เร็ว เพราะยังมีเวลาลงทุนอีกนาน และเมื่ออายุมากขึ้นก็ปรับพอร์ตให้มีความเสี่ยงลดต่ำลง รวมถึงใช้สถานะของตัวเองในการจัดพอร์ตลงทุน เช่น โสด แต่งงานและมีลูก แต่งงานแต่ยังไม่มีลูก เป็นต้น

ตัวอย่าง การจัดพอร์ตลงทุน

พอร์ตลงทุนที่มีความเสี่ยงสูง

เหมาะสำหรับอายุ 30 ปีต้นๆ และเป็นโสด

สินทรัพย์

สัดส่วน

หุ้น/กองทุนรวมหุ้นไทย

25%

กองทุนรวมหุ้นต่างประเทศ

15%

กองทุนรวมอสังหาริมทรัพย์/REITS/กองทุนรวมโครงสร้างพื้นฐาน

20%

กองทุนรวมผสม

10%

กองทุรวมตราสารหนี้

15%

ทองคำ

5%

เงินฝาก

10%


พอร์ตลงทุนที่มีความเสี่ยงปานกลาง

เหมาะสำหรับอายุประมาณ 35 ปี เป็นโสดที่รับความเสี่ยงได้ปานกลาง หรือผู้ที่แต่งงานแต่ยังไม่มีลูก

สินทรัพย์

สัดส่วน

หุ้น/กองทุนรวมหุ้นไทย

20%

กองทุนรวมหุ้นต่างประเทศ

10%

กองทุนรวมอสังหาริมทรัพย์/REITS/กองทุนรวมโครงสร้างพื้นฐาน

15%

กองทุนรวมผสม

15%

กองทุรวมตราสารหนี้

20%

ทองคำ

5%

เงินฝาก

15%


พอร์ตลงทุนที่มีความเสี่ยงต่ำ

เหมาะสำหรับผู้ที่มีอายุใกล้ 40 ปี หรือผู้ที่แต่งงานและมีลูก

สินทรัพย์

สัดส่วน

หุ้น/กองทุนรวมหุ้นไทย

15%

กองทุนรวมหุ้นต่างประเทศ

5%

กองทุนรวมอสังหาริมทรัพย์/REITS/กองทุนรวมโครงสร้างพื้นฐาน

15%

กองทุนรวมผสม

15%

กองทุรวมตราสารหนี้

25%

ทองคำ

5%

เงินฝาก

20%

หลักการวางแผนการเงินเพื่อวัยเกษียณ ที่สำคัญอย่าไปกังวลกับอนาคตมากจนเกินไป เพราะไม่มีใครบอกได้ว่าอนาคตจะเป็นอย่างไร ดังนั้น ต้องแบ่งเงินเพื่อลงทุนสำหรับวัยเกษียณให้สอดคล้องกับการดำรงชีวิตในปัจจุบัน ที่สำคัญควรเริ่มต้นวางแผนการเงินเพื่อวัยเกษียณตั้งแต่อายุน้อยๆ โอกาสมีชีวิตวัยเกษียณที่มีความสุขมีเงินใช้ไปจนหมดอายุขัยไม่ไกลเกินเอื้อมอย่างแน่นอน