มาสร้างครอบครัวที่ลดน้ำตาลกันเถอะ

ยุคนี้เป็นยุคที่วัฒนธรรมการบริโภคเปลี่ยนจากรุ่นพ่อแม่ผู้เขียนไปเยอะจริงๆ เราพบเจอคาเฟ่และซุ้มเครื่องดื่มในทุกหนแห่ง คนวัยทำงานหลายคนไม่ปฏิเสธว่า เขาจะต้องซื้อเครื่องดื่มอย่างน้อย 1 แก้วใน 1 วัน เครื่องดื่มที่ว่าก็อาจจะเป็น กาแฟสดเย็นๆ สมูตตี้ปั่น หรือชานมไข่มุก หากเรามองลึกลงไปถึงคุณค่าทางโภชนาการ ส่วนผสมอันน่ากลัวที่มากับความอร่อยก็คือ “น้ำตาล”


การบริโภคน้ำตาลจำนวนมากไม่ว่าจะทางตรง (รับประทานอาหารที่มีน้ำตาลเป็นส่วนผสม) หรือทางอ้อม (รับประทานอาหารใดๆ ที่ส่วนผสมสามารถเปลี่ยนเป็นน้ำตาล) ย่อมส่งผลเสียต่อร่างกาย เมื่อสิบถึงยี่สิบปีก่อนเราอาจจะพบว่า “โรคเบาหวาน” เป็นโรคของคนวัย 45 ปีขึ้นไป แต่ทุกวันนี้เราพบผู้ป่วยโรคเบาหวนที่มีอายุน้อยลงทุกที และส่วนหนึ่งมีสาเหตุมาจากพฤติกรรมการกิน


มีเด็กจำนวนไม่น้อยที่เป็นโรคอ้วน ถึงแม้รูปร่างจะยังไม่อ้วน แต่ก็ดูเหมือนจะติดหวาน แน่นอนว่าเด็กๆ ชอบรับประทานขนมหวาน แต่ด้วยสภาพแวดล้อมและวัฒนธรรมการบริโภคในปัจจุบันส่งผลถึงครอบครัวและเด็กในครอบครัว ทำให้เด็กมีโอกาสติดรสหวานมากกว่าในอดีตหลายเท่านัก

ทราบหรือไม่ว่า เด็กอาจติดรสหวานตั้งแต่ขวบปีแรกเลยทีเดียว โดยเริ่มจากนมและอาหารเสริมที่ป้อนให้ เมื่อเด็กได้รับอาหารรสหวานบ่อยๆ สมองจะหลั่งสาร “โอปิออยด์” (Opioid) ออกมา ทำให้เกิดความพอใจและอยากกินอาหารหวานๆ เรื่อยไป


เมื่อเด็กเริ่มโต ผู้ใหญ่มักจะให้ชิมอาหารใหม่ๆ รสชาติใหม่ๆ แต่สิ่งที่เด็กตอบรับได้ง่ายก็คืออาหารจำพวกของหวานและน้ำหวาน รวมไปถึงอาหารที่เด็กกินง่ายอย่างฟาสต์ฟูดและเบเกอร์รี่ ยิ่งถ้าผู้ใหญ่ในบ้านรับประทานสิ่งเหล่านี้เป็นประจำ ก็ไม่แปลกที่เด็กบ้านนั้นจะต้องรับประทานด้วย ดังนั้น เด็กจะติดรสอะไรหรือจะเลือกกินอาหารแบบไหน ขึ้นอยู่กับผู้ใหญ่ที่เลี้ยงดูมาเป็นหลักนั่นเอง


เรามาดูแนวทางการลดพฤติกรรมติดน้ำตาลของคนในครอบครัวกันดีกว่า


1. ให้กำลังใจตัวเองว่าเราทำได้
ถ้าไม่อยากให้ลูกติดหวาน พ่อแม่ก็ต้องไม่ทานหวานด้วย งานนี้ปฎิเสธไม่ได้ที่ผู้ปกครองจะต้องเป็นหัวเรือใหญ่ในการปรับทัศนคติและพฤติกรรมต่อการกินโดยเริ่มที่ตัวเองก่อน ศึกษาประโยชน์และโทษของอาหารรูปแบบต่างๆ เริ่มปรับแบบค่อยเป็นค่อยไป บอกตัวเองว่าเราจะต้องทำได้ เพื่อตัวเราและคนที่เรารัก


2. ลดน้ำตาล โดยปรุงอาหารหรือเลือกอาหารเอง
การรับประทานอาหารตามร้านอาจยากต่อการควบคุมส่วนผสม ดังนั้น การปรุงอาหารทานเองเป็นวิธีที่เราสามารถเลือกของดีมีประโยชน์และควบคุมการปรุงได้ด้วยตัวเราเอง เช่น เราสามารถเลือกเนื้อสัตว์ที่ไม่ติดมัน เลือกข้าวกล้องผสมกับข้าวขาวในช่วงแรก เลือกที่จะใช้น้ำมันน้อยๆ หรือผัดโดยใช้น้ำแทนน้ำมัน ลดปริมาณเครื่องปรุงทั้งน้ำตาล น้ำปลา หรือซอสต่างๆ เราสามารถเลือกทานผลไม้แทนขนมหวาน และเลือกดื่มน้ำเปล่าแทนน้ำหวานและน้ำอัดลม ถ้าต้องทานอาหารนอกบ้าน ก็ฝึกลูกให้ทานรสชาติกลางๆ สั่งหวานน้อย หรือสั่งไม่ใส่น้ำตาล ถ้ารับประทานก๋วยเตี๋ยวก็พยายามไม่ปรุง หากจะปรุงก็ปรุงเพิ่มทีละนิด อย่าตักเครื่องปรุงใส่ทีเดียวครั้งละมากๆ

3. ไม่อยากให้กินอะไร ก็อย่ามีสิ่งนั้นอยู่ในบ้าน เช่น ถ้าไม่อยากให้ลูกรับประทานไอศกรีม ขนมซอง หรือน้ำอัดลม ก็ไม่ควรมีสิ่งเหล่านี้อยู่ในบ้าน เพื่อไม่ให้เด็กนึกถึง แต่ในขณะเดียวกัน ผู้ปกครองก็ควรเตรียมผลไม้ต่างๆ ไว้แทน เลือกเป็นผลไม้ที่น้ำตาลน้อยได้ด้วยยิ่งดี


4. รู้ค่าน้ำตาล-ฝึกอ่านฉลาก
ผู้เขียนเชื่อว่า ผู้ใหญ่สามารถเล่าถึงโทษที่เกิดจากการกินอาหารที่มีน้ำตาลเยอะๆ ให้เด็กเข้าใจได้ ถ้าเป็นเด็กที่โตหน่อย เราสามารถสอนให้พวกเขารู้ค่าน้ำตาลที่ไม่ควรบริโภคเกินในแต่ละวัน กล่าวคือ ผู้หญิงไม่ควรบริโภคน้ำตาลเกิน 24 กรัม (6 ช้อนชา) ผู้ชายไม่ควรเกิน 36 กรัม (9 ช้อนชา) และเด็กก่อนวัยเรียนไม่ควรบริโภคเกิน 16 กรัม (4 ช้อนชา) แล้วสอนพวกเขาให้อ่านฉลากอาหาร ขนม หรือนมที่ซื้อ ตัวอย่างเช่น “ลองดูสิ นมกล่องนี้มีน้ำตาลกี่กรัม” ลองตั้งคำถาม เช่น น้ำตาลสูงเกินไปไหม ถ้าเราดื่มเข้าไปแล้วยังทานขนมหวานอื่นๆ อีก ร่างกายเราจะเป็นอย่างไร... ถ้าเด็กๆ มีความรู้ เขาก็จะรู้จักเลือกและป้องกันตัวเองได้

5. จัดสภาพแวดล้อมและกิจกรรมรอบตัวเด็กให้มีแต่สิ่งดีมีประโยชน์ การจัดสภาพแวดล้อมรอบและหากิจกรรมให้เด็กเป็นเรื่องสำคัญ วิธีนี้ไม่ใช่การบังคับให้พวกเขาทานผักหรืองดของหวาน แต่เป็นการปรับสิ่งแวดล้อมโดยรวม เช่น แทนที่จะพาลูกเดินห้างหรือที่ที่มีขนมหวานยั่วยวนใจ ก็เลือกพาลูกไปเดินสวนสาธารณะหรือปั่นจักรยานแทน นี่คือการปรับสภาพแวดล้อมและปรับพฤติกรรมทั้งครอบครัวไปด้วยกัน


เมื่อได้วิธีการแล้ว ลองนำไปปรับใช้กันดู ไม่ได้คาดหวังว่าทุกคนจะต้องเลิกกินรสหวานโดยสิ้นเชิง แต่อยากให้เลือกรับประทานอย่างมีสติ สำหรับบ้านที่มีเด็ก อย่าลืมว่าเด็กๆ ยังซื้อหาเองไม่ได้ ดังนั้นเป็นหน้าที่ผู้ใหญ่อย่างเราจะต้องดูแลและให้ความรู้แก่พวกเขา ขอเป็นกำลังใจให้ทุกบ้านลดน้ำตาลสำเร็จ สุขภาพดีขึ้นทุกครอบครัวนะคะ

 

บทความโดย ธ. อัครรัตน์