คำนวณงบค่าใช้จ่ายลูก แก้โรค ‘ตึงมือ’ ช่วงเปิดเทอม!

ปฏิเสธไม่ได้ว่าค่าใช้จ่ายของคุณลูกมักเป็นค่าใช้จ่ายที่มีสัดส่วนมากพอสมควรในแต่ละครอบครัว หากไม่วางแผนดีๆ ค่าใช้จ่ายกลุ่มนี้จะกลายเป็นค่าใช้จ่ายที่ทำให้การเงินของคนเป็นพ่อแม่เกิดอาการ “ตึงมือ” ได้ หนึ่งในวิธีแก้ปัญหาคือการตั้งงบประมาณล่วงหน้าไว้เสียตั้งแต่ตอนนี้ ว่าลูกน่าจะมีค่าใช้จ่ายอะไรต่อเดือนและต่อเทอมกันบ้าง

1. ค่าใช้จ่ายที่มีเป็นประจำทุกเทอม

กลุ่มแรกนี้เป็นค่าใช้จ่ายที่คาดเดาและบริหารจัดการได้ไม่ยากนัก เพราะเป็นค่าใช้จ่ายที่มีทุกเทอมหรือทุกเดือนในอัตราเท่าๆ กันหรือใกล้เคียง ได้แก่
 

  • ค่าเทอม

  • ค่าสมุดและหนังสือเรียนสำหรับเทอมใหม่

  • ค่าเดินทางลูกแต่ละวัน (อาจเป็นค่ารถรับ-ส่งประจำเทอม กรณีเดินทางด้วยรถรับ-ส่งของโรงเรียน)

  • ค่าขนม

  • ค่าหอพัก (กรณีไม่ได้อยู่บ้าน)

  • ค่าเรียนพิเศษ


เนื่องจากกลุ่มนี้เป็นค่าใช้จ่ายที่คาดเดาได้ วิธีบริหารจึงสามารถใช้เทคนิคการตั้งงบแบบคงที่ (Fixed Cost) ด้วยการนำค่าใช้จ่ายกลุ่มนี้ทั้งหมดมารวมกัน แล้วหารด้วยจำนวนเดือนในเทอมนั้นๆ เพื่อให้ออกมาเป็นงบรายจ่ายรายเดือน เช่น มีค่าใช้จ่ายก้อนนี้ทั้งหมดรวมกัน 22,500 บาทต่อเทอม โดย 1 เทอมมีระยะเวลาประมาณ 4 เดือนครึ่ง เท่ากับต้องเก็บเงินสำหรับเป็นรายจ่ายก้อนนี้ให้ลูกเดือนละประมาณ 5,000 บาท

2. ค่าใช้จ่ายที่ไม่ได้มีประจำทุกเทอม

กลุ่มนี้มักเป็นค่าใช้จ่ายที่อาจไม่ต้องจ่ายทุกเทอม และพอจะคาดเดาได้บ้างว่าค่าใช้จ่ายจะอยู่ที่ประมาณเท่าไร โดยค่าใช้จ่ายกลุ่มนี้จะขึ้นกับหลักสูตรการศึกษาและการเติบโตของลูกในแต่ละช่วงวัย เช่น

  • ค่าชุดนักเรียนทั่วไป (ต้องเปลี่ยนเมื่อลูกมีสภาพร่างกายเปลี่ยนไป เช่น อ้วนขึ้น ผอมลง สูงขึ้น หรือ กำลังก้าวข้ามจากระดับชั้นหนึ่งสู่อีกระดับชั้นหนึ่ง เช่น ชุดนักเรียนหญิง ม.ต้น เป็นชุดนักเรียนหญิง ม.ปลาย)

  • ค่าชุดแต่งกายพิเศษตามหลักสูตร เช่น ชุดลูกเสือ เนตรนารี ยุวกาชาด ชุดกีฬาบางอย่างที่ต้องเรียนในบางเทอม เช่น ชุดยูโด

  • ค่าเดินทางไปฝึกงาน (สำหรับระดับมหาวิทยาลัย)

การจะบริหารค่าใช้จ่ายกลุ่มนี้ จำเป็นต้องพูดคุยกับลูกของตัวเองอย่างใกล้ชิด เพื่อให้ทราบว่าใน 1-2 เทอมข้างหน้า หลักสูตรของลูกจะมีวิชาเรียนอะไรที่ต้องมีค่าใช้จ่ายเพิ่มเติมบ้าง และเพื่อให้ทราบว่าชุดแต่งกายของลูกยังคงใส่ได้ตามปกติ หรือคับไป จำเป็นต้องซื้อใหม่หรือไม่ หากมีการพูดคุยกันอย่างสม่ำเสมอ ก็จะทำให้สามารถวางแผนเตรียมเงินสำหรับใช้จ่ายก้อนนี้ไว้ได้

3. ค่าใช้จ่ายพิเศษที่คาดเดาได้ยาก

กลุ่มนี้เป็นกลุ่มที่บริหารจัดการได้ยากกว่า 2 กลุ่มแรก เนื่องจากเป็นค่าใช้จ่ายที่มักจะมาแบบกะทันหัน ลูกของตัวเองก็อาจไม่รู้ล่วงหน้าว่าจะต้องมีค่าใช้จ่ายก้อนนี้ รวมถึงไม่รู้ว่าต้องจ่ายเป็นเงินเท่าไร เช่น

  • ค่าบำรุงโรงเรียน

  • ค่าบำรุงสมาคมผู้ปกครอง

  • ค่าบำรุงสมาคมศิษย์เก่า

  • ค่าทัศนศึกษา

  • ค่ากิจกรรมค่ายลูกเสือ

  • ค่ากีฬาสี

  • ค่าใช้จ่ายในวันพิเศษต่างๆ เช่น ค่าทำพานในวันไหว้ครู, ค่าเครื่องแต่งกายสำหรับการขึ้นแสดงบนเวทีในวาระพิเศษ อาทิ วันแม่ วันพ่อ วันคริสต์มาส เป็นต้น


แม้ค่าใช้จ่ายเหล่านี้บางอันอาจถูกเรียกเก็บเพียงหลักร้อยบาท หรือบางอันอาจหลีกเลี่ยงไม่จ่ายได้ แต่เมื่อค่าใช้จ่ายเหล่านี้รวมกันมากๆ เข้าโดยไม่วางแผนไว้ให้ดี อาจทำให้คนเป็นพ่อเป็นแม่หัวหมุนได้เช่นกัน วิธีจัดการกับค่าใช้จ่ายกลุ่มนี้คือการตั้งงบสำรองประจำเทอมเอาไว้ล่วงหน้า เช่น มีงบสำรองสำหรับทั้งเทอมไว้ที่ 10,000 บาท เพื่อจะได้เตรียมตัวเก็บเงินล่วงหน้าไว้ได้ทัน


การบริหารค่าใช้จ่ายของลูกในช่วงเปิดเทอม อาจเป็นเรื่องวุ่นวาย แต่ก็ไม่ใช่เรื่องยากเกินกว่าจะบริหารจัดการได้ หากมีเรื่องฉุกเฉินต้องใช้เงินพิเศษเร่งด่วนจริงๆ ก็สามารถขอสินเชื่อส่วนบุคคล Speedy Loan มาช่วยแก้โรคตึงมือช่วงเปิดเทอมก่อนได้ สมัครง่ายไม่ต้องมีหลักทรัพย์หรือบุคคลค้ำประกัน ผ่อนยาวๆ 12-72 เดือน สนใจติดต่อผ่านสาขา แอปพลิเคชั่น SCB EASY หรือดูรายละเอียดและสมัครออนไลน์ คลิก