รูดปรื๊ดๆ!! เผยพฤติกรรมการรูดบัตรเครดิตของคนไทย

ทุกวันนี้คนไทยเริ่มพกเงินสดติดตัวน้อยลง สังเกตง่ายๆ กับคนรอบข้างเรา เกือบทุกคนมี “บัตรพลาสติก” ติดตัวกันแทบทั้งนั้น ไม่ว่าจะเป็นบัตรเครดิตหรือบัตรเดบิต บางคนมีไม่ต่ำกว่า 3 ใบ เพราะเราเริ่มคุ้นชินกับการใช้จ่ายผ่านบัตรมากขึ้นนั่นเอง


จากข้อมูลของธนาคารแห่งประเทศไทย พบว่าตั้งแต่ปี พ.ศ. 2553 มี ต่อเนื่องจนถึงปี พ.ศ. 2559 ที่ผ่านมา มีปริมาณบัตรเครดิตรวม 20.13 ล้านใบ หมายความว่า ภายในเวลาเพียง 7 ปี ประเทศไทยมีปริมาณบัตรเครดิตมากขึ้นกว่า 40% ซึ่งหากเปรียบเทียบกับสัดส่วนของบัตรพลาสติกทั้งหมดที่มีในประเทศไทยจะพบว่า บัตรเครดิตมีสัดส่วนถึงร้อยละ 25 จากปริมาณบัตรพลาสติกทั้งหมด 80 ล้านใบ เป็นรองแค่บัตรเดบิตเท่านั้น และยังคงมีทิศทางการเติบโตเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง


คราวนี้เรามาดูว่าคนไทยส่วนใหญ่ใช้บัตรเครดิตไปในเรื่องอะไรกันบ้าง?


เมื่อประมาณ 5 ปีก่อน ธนาคารแห่งประเทศไทย ได้สรุปพฤติกรรมการใช้จ่ายด้วยบัตรเครดิตของคนไทยไว้ โดยพบว่าคนส่วนใหญ่ใช้บัตรเครดิตซื้อสินค้าและบริการภายในประเทศเป็นหลัก แต่หากดูเฉพาะการใช้บัตรเครดิตผ่านระบบอินเทอร์เน็ต ส่วนใหญ่จะเป็นการใช้เพื่อซื้อสินค้าจากต่างประเทศ แต่การใช้บัตรรูดซื้อสินค้าในต่างประเทศก็ยังมีมูลค่าที่น้อยกว่าการรูดซื้อสินค้าภายในประเทศเช่นกัน จึงเป็นการสะท้อนให้เห็นว่า ในยุคนั้นคนไทยยังไม่มั่นใจกับการจับจ่ายใช้สอยด้วยบัตรเครดิตผ่านอินเทอร์เน็ตมากนัก

มาถึงปัจจุบัน ก็มีข้อมูลจากหลายๆ แบงก์พาณิชย์ได้มีการเก็บรวบรวมข้อมูลการใช้บัตรเครดิตไว้ โดยสรุปแยกตามกลุ่มรายได้ คือ กลุ่มผู้มีรายได้สูง (รายได้เฉลี่ย 100,000 บาทต่อเดือนขึ้นไป) กลุ่มผู้มีรายได้ปานกลางระดับบน (รายได้เฉลี่ย 35,000 - 100,000 บาทต่อเดือน) และกลุ่มผู้มีรายได้ปานกลางระดับล่าง (รายได้เฉลี่ย 15,000 - 35,000 บาทต่อเดือน) โดยพบว่า แต่ละกลุ่มมีพฤติกรรมการใช้จ่ายที่เปลี่ยนไปแตกต่างกันไป

 

ในส่วนของการใช้จ่ายในชีวิตประจำวัน พบว่า กลุ่มคนรุ่นใหม่ที่มีรายได้ปานกลางไปจนถึงรายได้สูง นิยมใช้จ่ายผ่านบัตรเครดิตเพื่อตอบสนองประสบการณ์พิเศษในด้านต่างๆ มากขึ้น เช่น การจองตั๋วเครื่องบิน ที่พัก โรงแรม ทั้งในและต่างประเทศ รวมถึงการใช้บัตรเพื่อรับประทานร้านอาหารนอกบ้าน การช้อปปิ้งสินค้าอุปโภคบริโภค สินค้าไอที และสินค้าในหมวดแบรนด์เนมมากขึ้น

 

ทั้งนี้ ถ้ามองในด้านการท่องเที่ยวของกลุ่มผู้มีรายได้ปานกลางพบว่า มีการใช้จ่ายกับผู้ให้บริการด้านการท่องเที่ยวผ่านทั้งช่องทางบริการผ่านระบบออนไลน์และศูนย์ให้บริการด้านการท่องเที่ยวทั่วไปสูงขึ้นถึงปีละ 10% และซื้อตั๋วเครื่องบินเฉลี่ยบ่อยขึ้นถึงปีละ 15% และพอดูลึกลงไป ยังพบว่า มูลค่าการใช้จ่ายต่อครั้งมีราคาถูกลงราว 10% นั่นเพราะคนไทยนิยมซื้อแพ็กเกจหรือค้นหาข้อเสนอราคาพิเศษมากขึ้น

 

ในทางกลับกันในกลุ่มผู้มีรายได้สูง ไม่พบว่ามีความถี่ในการท่องเที่ยวเพิ่มขึ้นมากนัก แต่กลับพบการเติบโตของมูลค่าการใช้จ่ายในแต่ละครั้ง เช่น พักโรงแรมแพงขึ้น 6% สะท้อนให้เห็นถึงการยกระดับประสบการณ์ท่องเที่ยวให้หรูหรา แปลกใหม่มากยิ่งขึ้น ซึ่งการใช้จ่ายในร้านอาหารก็เติบโตในรูปแบบเดียวกัน

 

นอกจากนี้ ยังพบว่า คนไทยเริ่มมีความมั่นใจในการซื้อสินค้าทางออนไลน์มากขึ้น โดยมูลค่าการใช้จ่ายออนไลน์เติบโตถึง 28% ในทุกกลุ่มรายได้ โดยผลสำรวจของสำนักงานพัฒนาธุรกรรมทางอิเล็กทรอนิกส์ (ETDA) พบว่า ตลาดออนไลน์สำหรับผู้บริโภค เติบโตเกือบ 4 เท่าใน 2 ปีที่ผ่านมา จนมีมูลค่ากว่า 4 แสนล้านบาทในปัจจุบัน (พ.ศ.2015 – พ.ศ.2016) และสินค้าที่นิยมซื้อทางออนไลน์มากที่สุดคือสินค้าในกลุ่มอิเล็กทรอนิกส์และไอที ส่วนมูลค่าการใช้จ่ายออนไลน์ต่อครั้งนั้น สูงขึ้นเฉลี่ยปีละ 24% และยังมีแนวโน้มจะเติบโตขึ้นเรื่อยๆ

 

อย่างไรก็ตาม เมื่อเรามีบัตรเครดิตอยู่ในมือแล้ว การจะรูดใช้จ่ายในแต่ละครั้งจะต้องมั่นใจว่ามีเงินเพียงพอที่จะชำระได้ทั้งหมด เพราะหนี้ที่เกิดจากการใช้บัตรเครดิตดอกเบี้ยค่อนข้างสูง จำไว้เสมอว่าดอกเบี้ยบัตรเครดิต เริ่มคิดตั้งแต่วันที่เรารูดซื้อสินค้า แต่ถ้าเรามีวินัย ไม่ใช้เงินเกินตัว จ่ายครบ ตรงตามกำหนด บัตรเครดิตก็จะไม่ตกเป็นผู้ร้าย ดอกเบี้ยแม้แต่บาทเดียวก็ไม่ต้องจ่าย แถมบางครั้งบัตรเครดิตยังช่วยให้เราซื้อของในราคาที่ถูกกว่าเงินสดด้วยซ้ำ

 

การใช้จ่ายเท่าที่จำเป็น ตามงบประมาณที่มี เชื่อว่าบัตรเครดิตจะไม่สร้างภาระ แต่จะทำให้การใช้ชีวิตเราทั้งในปัจจุบันและอนาคตสะดวกสบายขึ้นอย่างแน่นอน