วิธีเก็บเงินให้อยู่หมัด ฉบับคนเริ่มทำงาน

“คนเริ่มต้นทำงาน” เงินเดือนยังไม่มาก สามารถวางแผนการเงินได้ไหม แล้วจะเริ่มเก็บเงินอย่างไรดี? เราอาจจะรู้สึกว่าเพิ่งเริ่มต้นทำงาน เงินเดือนยังน้อยอยู่ แล้วจะไปเริ่มต้นวางแผนการเงินได้อย่างไร ในเบื้องต้น อยากบอกว่าการวางแผนการเงินเป็นเรื่องของคนทุกเพศทุกวัย การเก็บเงิน ออมเงินก็เป็นเรื่องจำเป็น ไม่ว่าจะอายุมาก อายุน้อย หรือยากดีมีจนอย่างไร ทุกคนต้องวางแผนการเงิน ส่วนวิธีการและแนวคิดอาจจะแตกต่างกันไปตามช่วงอายุ และเป้าหมายทางการเงินของแต่ละคนนั่นเอง


ช่วงเริ่มต้นทำงาน คือช่วงอายุประมาณ 22 – 30 ปี ซึ่งเป็นช่วงที่ยังค้นหาตัวเอง และค้นหาอาชีพที่ใช่ เป็นช่วงที่รายได้ยังไม่สูงมาก แต่มีรายจ่ายพอสมควรทีเดียว เนื่องจากเพิ่งจะมีรายได้เป็นของตัวเอง ก็อาจจะมีความอยากได้ในสิ่งต่างๆ เช่น บ้าน รถ หรืออุปกรณ์เทคโนโลยีที่ช่วยอำนวยความสะดวกให้ชีวิต นอกจากนี้เป้าหมายทางการเงินของคนในวัยนี้มักจะเป็นเป้าหมายระยะสั้น เช่น ออมเพื่อแต่งงาน ออมเพื่อเรียนต่อ หรือออมเพื่อดาวน์รถ และมักจะยังไม่คิดถึงเป้าหมายระยะยาว เช่นการวางแผนเกษียณอายุ เพราะคิดว่ายังเป็นเรื่องที่ไกลตัว แต่ถ้าหากอ่านบทความนี้ แล้วเริ่มเก็บเงินบริหารเงินและเก็บเงินตั้งแต่อายุน้อยๆ เชื่อว่าคุณจะประสบความสำเร็จได้อย่างรวดเร็วเลยทีเดียว เพราะว่า “ออมก่อน ลงทุนก่อน รวยกว่า” จริงๆ


เอาล่ะ เรามาเรียนรู้การ วางแผนการเงิน และวิธีเก็บเงินสำหรับคนเริ่มทำงานกันเลยดีกว่า

1. การทำบัญชีรายรับ รายจ่าย

จุดเริ่มต้นของการวางแผนการเงิน คือการรู้จักตนเอง นั่นก็คือ เราต้องรู้สถานภาพทางการเงินของตัวเองก่อน  ด้วยการทำบัญชีรายรับ รายจ่าย และการทำงบการเงินส่วนบุคคลนั่นเอง เพื่อให้รู้ว่าใช้จ่ายไปกับอะไรบ้าง เป็นค่าใช่จ่ายฟุ่มเฟือยมากน้อยเพียงใด เราสามารถเก็บเงินออมได้เดือนละเท่าไร

คำแนะนำ: อย่าเริ่มผ่อนบ้าน ผ่อนรถเร็วเกินไป เพราะภาระดอกเบี้ยจะสูงมาก แค่ลำพังเงินต้นสำหรับการผ่อนก็เยอะมากอยู่แล้ว ยังต้องมาเสียดอกเบี้ยอีก นั่นจะทำให้คุณไม่เหลือเงินสำหรับการออมและการลงทุนเลย ให้ชะลอการเป็นหนี้ออกไปให้ได้นานที่สุด อย่าฟุ่มเฟือยและอย่าใช้จ่ายเกินตัว

2. ตั้งเป้าเงินออม

‘เงินออม คือจุดตั้งต้นของความสำเร็จทางการเงิน’ กำหนดไปเลยว่าจะเก็บเงินออมเป็นกี่เปอร์เซ็นต์ของรายได้ ขั้นต่ำคือ 10% ของรายได้ ต้องเก็บก่อนใช้ เพราะถ้าใช้ก่อนเก็บรับรองได้เลยไม่มีเงินเหลือเก็บอย่างแน่นอน วิธีที่จะทำให้ออมได้อย่างแน่นอนคือการตัดบัญชีเงินเดือน ไปเข้าบัญชีเงินออมโดยอัตโนมัติตามเปอร์เซ็นต์ของรายได้ที่เราต้องการจะออม

จะเริ่มออมอย่างไร ให้เกิดประสิทธิภาพสูงสุด

1. เก็บเป็นเงินสำรองเผื่อฉุกเฉินอย่างน้อย 3 – 6 เท่าของค่าใช้จ่ายต่อเดือน ซึ่งเงินก้อนนี้จะเป็นเงินที่มีไว้เผื่อเหตุการณ์ไม่คาดฝันที่อาจจะเกิดขึ้น เช่น อุบัติเหตุหรือตกงาน แนะนำว่าให้ออมเงินในส่วนนี้ไว้ในสินทรัพย์ที่มีสภาพคล่องสูง เช่น บัญชีออมทรัพย์ บัญชีฝากประจำเผื่อฉุกเฉิน หรือนำไปลงทุนใน กองทุนรวม ตลาดเงิน หรือกองทุนรวมตราสารหนี้ระยะสั้นที่สามารถไถ่ถอนได้ทุกวันทำการ เป็นต้น

2. สำรวจความต้องการเรื่องประกันของตัวเอง เช่น ลองสำรวจตัวเองว่าเรามีภาระที่ต้องดูแลรับผิดชอบใครบ้างหรือไม่ โดยมากคนเริ่มต้นทำงานมักจะเป็นคนโสด ไม่มีภาระ ซึ่งถ้าไม่มีภาระ ในช่วงต้นก็อาจจะยังไม่ต้องทำประกันชีวิต แต่ถ้าคุณเป็นลูกคนโต ต้องดูแลพ่อแม่ ต้องเลี้ยงน้อง ต้องรับผิดชอบค่าใช้จ่ายต่างๆ นั่นก็แปลว่า หากเกิดเหตุการณ์ไม่คาดฝันจากไปก่อนวัยอันควร ก็จะมีคนลำบาก อย่างนี้ต้องมาพิจารณาทำประกันชีวิตที่ได้ทุนประกันหรือความคุ้มครองประมาณ 5 เท่าของรายจ่ายที่คุณต้องรับผิดชอบต่อปี เป็นต้น ส่วนประกันสุขภาพและประกันอุบัติเหตุ ต้องทบทวนสวัสดิการที่มีอยู่ว่าเพียงพอตอบโจทย์ความต้องการหรือไม่

อย่างไรก็ดี หากการเงินของเราดีพอที่จะทำประกันชีวิตที่พ่วงประกันสุขภาพไว้ในกรมธรรม์เดียวกันได้ตั้งแต่อายุยังน้อยและยังแข็งแรง เราจะได้ความคุ้มครองที่คุ้มค่ามากเมื่อเทียบกับค่าเบี้ยประกันที่ต้องจ่ายไป

3. จัดพอร์ตการลงทุนที่เหมาะสม เนื่องจากวัยเริ่มต้นทำงาน ยังมีเวลาเก็บเงินอีกนาน สามารถกระจายพอร์ตการลงทุนไปยังสินทรัพย์ที่มีความเสี่ยงสูงได้ อาจตั้งเป้าหมายผลตอบแทนที่ค่อนข้างสูงได้ แต่อย่าลืมว่า การลงทุนมีความผันผวน สิ่งที่ให้ผลตอบแทนสูงก็จะมีความเสี่ยงสูงขึ้นไปด้วยเช่นกัน ลองดูตัวอย่างพอร์ตข้างล่าง ซึ่งการจัดสรรเงินลงทุน โดยคำนึงจากช่วงอายุและความสามารถในการยอมรับความเสี่ยงระดับปานกลางขึ้นไป ก่อนลงทุน ผู้ลงทุนควรทำแบบสอบถามเพื่อประเมินระดับความเสี่ยงในการลงทุนที่เหมาะสม เพื่อทราบถึงระดับความสามารถในการยอมรับความเสี่ยงของตนเองอีกครั้ง ก่อนตัดสินใจลงทุน

ตัวอย่างการจัดพอร์ตลงทุน
  • เงินฝาก เงินเก็บ / กองทุนรวมตลาดเงิน 10%
  • พันธบัตร / หุ้นกู้ / กองทุนรวมตราสารหนี้ 15%
  • หุ้นไทย / กองทุนรวมหุ้น / กองทุน LTF / กองทุน RMF ในหุ้นไทย 55%
  • หุ้นต่างประเทศ / กองทุนรวมหุ้นต่างประเทศ / กองทุน RMF ในหุ้นต่างประเทศ 10%
  • ทองคำ / กองทุนรวมทองคำ / กองทุน RMF ในทองคำ 10%

การวางแผนการเงินและเก็บเงินสำหรับ “คนเริ่มต้นทำงาน” ถือว่าเป็นเรื่องสำคัญมาก เริ่มเก็บเงินออมไว และเริ่มลงทุนไว ก็มีชัยไปกว่าครึ่ง อีกทั้งยังเป็นช่วงที่สามารถรับความเสี่ยงได้หลากหลายระดับ จึงมีทางเลือกการลงทุนที่หลากหลายอีกด้วย ดังนั้นการวางแผนการเงินตั้งแต่เริ่มต้นทำงานจึงเหมาะสมที่สุด


บทความโดย : นิภาพันธ์ พูนเสถียรทรัพย์ CFP® ที่ปรึกษาการเงิน