รู้มั้ย ภาษีเงินปันผล ขอคืนได้ด้วยนะ

ในภาวะที่อัตราดอกเบี้ยอยู่ในระดับต่ำ การลงทุน ในหุ้นที่จดทะเบียนอยู่ในตลาดหลักทรัพย์ก็เป็นทางเลือกที่น่าสนใจสำหรับนักลงทุนไม่น้อย การลงทุนในหุ้น คือ การลงทุนในกิจการ โดยที่ผู้ถือหุ้นจะมีฐานะเป็น ‘เจ้าของกิจการ’ ทำให้มีส่วนได้เสีย หรือมีสิทธิ์ในทรัพย์สินและรายได้ของกิจการ และมีโอกาสที่จะได้รับผลตอบแทนในรูปของ ‘เงินปันผล (Dividend)’ อย่างไรก็ตาม ไม่ได้มีข้อผูกมัดหรือข้อผูกพันว่า กิจการที่เราลงทุนจะจ่ายเงินปันผลเสมอไป ทั้งนี้การตัดสินใจว่าจะจ่ายเงินปันผลหรือไม่ขึ้นอยู่กับผลกำไร และนโยบายการจ่ายเงินปันผลของกิจการนั้นๆ


ข้อควรรู้ในกรณีที่เราลงทุนในกิจการ (ลงทุนในหุ้น) และได้รับเงินปันผล คือ เราสามารถขอเครดิตภาษีเงินปันผลได้ หรืออีกนัยหนึ่งก็คือ เราสามารถขอภาษีเงินปันผลคืนได้นั่นเอง ซึ่งในบทความนี้จะมาเล่าให้ฟังว่า เครดิตภาษีเงินปันผลคืออะไร และเราจะขอคืนได้อย่างไร


เครดิตภาษีเงินปันผล เป็นสิทธิประโยชน์ของผู้ถือหุ้นที่สามารถขอคืนภาษีจากกรมสรรพากรตามมาตรา 47 ทวิ แห่งประมวลรัษฎากร ทั้งนี้เพื่อขจัดความซ้ำซ้อนในการจัดเก็บภาษีเงินได้ และให้เกิดความเป็นธรรมต่อผู้เสียภาษี กล่าวคือ เมื่อผู้ถือหุ้นลงทุนในบริษัทจำกัด (ทั้งในและนอกตลาดหลักทรัพย์) และได้รับเงินปันผล เงินปันผลที่ได้จะถูกหักภาษี ณ ที่จ่ายไว้ 10%

โดยมากบริษัทจะจ่ายเงินปันผลจากกำไรสุทธิ หรือกำไรสะสมของกิจการ นั่นหมายความว่า บริษัทต้องจ่ายภาษีเงินได้นิติบุคคลก่อน ส่วนที่เหลือจะเป็นกำไรสุทธิหลังหักภาษีแล้ว จึงมาจ่ายเป็นเงินปันผล ส่งผลให้กำไรสุทธิของบริษัทต้องจ่ายภาษีถึง 2 ครั้ง (Double Tax) โดยครั้งแรก คือ ภาษีเงินได้นิติบุคคล และครั้งที่ 2 คือ ภาษีหัก ณ ที่จ่ายของเงินปันผล หรือหากจะนำมารวมเป็นรายได้ของบุคคลธรรมดาตามมาตรา 40(4) ก็ต้องมาเสียภาษีเงินได้บุคคลธรรมดาอีก ถือเป็นการเสียภาษีซ้ำซ้อน และไม่เกิดความเป็นธรรมต่อผู้เสียภาษี ดังนั้นนักลงทุนจึงสามารถขอเครดิตภาษีเงินปันผลคืนได้


ตัวอย่าง
ในปีที่ผ่านมา บริษัทมุ่งก้าวหน้า จำกัด (มหาชน) มีกำไรก่อนภาษี 100 บาท โดยบริษัทมุ่งก้าวหน้า จำกัด (มหาชน) จ่ายภาษีเงินได้นิติบุคคล 20% ของกำไรก่อนภาษี หรือเท่ากับ 20 บาท ทำให้บริษัทมีกำไรสุทธิ (กำไรหลังหักภาษี) เท่ากับ 80 บาท สมมติว่า บริษัทมุ่งก้าวหน้า จำกัด (มหาชน) มีนโยบายจ่ายเงินปันผลทั้งหมดจากกำไรสุทธิให้แก่ผู้ถือหุ้น เงินปันผลดังกล่าวจะถูกหักภาษี ณ ที่จ่ายไว้อีก 10% หรือเท่ากับ 8 บาท (10% ของ 80 บาท เท่ากับ 8 บาท) ทำให้นักลงทุนจะได้รับเงินปันผลไป 72 บาท ซึ่งจะเห็นว่าจากกำไร 100 บาทของกิจการ ได้เสียภาษีไปแล้ว 28 บาท


สิ่งที่เป็นประเด็นคือ เงินก้อนเดิมเสียภาษีถึง 2 ครั้ง ทำให้เงินปันผลลดลงจาก 100 บาท เป็น 80 บาท และเหลือ 72 บาทในที่สุด เท่ากับค่าภาษีประมาณ 28% ซึ่งถ้าปกติผู้ถือหุ้นเสียภาษีเงินได้บุคคลธรรมดาในอัตรา 10% เขาก็ควรจะเสียภาษีเพียงแค่ 10 บาทเท่านั้น ดังนั้นจึงมีทางเลือกให้ผู้ถือหุ้นว่าจะใช้เลือกใช้เครดิตภาษีเงินปันผลหรือไม่ก็ได้


ทั้งนี้กฎหมายได้ให้ทางเลือกว่า จะเลือกหักภาษี ณ ที่จ่ายไว้ 10% แล้วไม่ต้องนําเงินปันผลมารวมคำนวณเป็นเงินได้ประจำปี หรือจะนําเงินปันผลมารวมคำนวณเป็นเงินได้และเสียภาษีตามอัตราก้าวหน้าก็ได้ อย่างไรก็ตาม หากเลือกที่จะนําเงินปันผลมารวมคำนวณแล้ว ต้องนําเงินปันผลทุกก้อนที่ได้รับจากทุกบริษัทมารวมคํานวณด้วย จะเลือกเฉพาะเงินปันผลของบริษัทใดบริษัทหนึ่งมาคำนวณไม่ได้

แต่เนื่องจากบริษัทแต่ละบริษัทเสียภาษีเงินได้นิติบุคคลในอัตราที่ไม่เท่ากัน ดังนั้นปัจจัยที่ผู้ลงทุนจะใช้พิจารณาว่า เงินปันผลที่ได้รับนั้นสามารถนํามาเครดิตภาษีได้หรือไม่ก็คือ ให้เปรียบเทียบอัตราภาษีเงินได้บุคคลธรรมดาของผู้ลงทุน เทียบกับอัตราภาษีเงินได้นิติบุคคลของบริษัทที่เราลงทุน โดยสามารถดูข้อมูลอัตราภาษีเงินได้นิติบุคคลได้จากหนังสือรับรองการหักภาษี ณ ที่จ่ายของเงินปันผลที่ทางศูนย์รับฝากหลักทรัพย์จัดส่งให้


จากตัวอย่างข้างต้น ภาษีของเงินปันผลที่ถูกหักไปคิดเป็นประมาณ 28% ของกำไรของกิจการ หากผู้ถือหุ้นเสียภาษีเงินได้บุคคลธรรมดาในอัตรา 10% ซึ่งน้อยกว่า 28% กรณีนี้เราก็ควรขอเครดิตภาษีเงินปันผลคืน แต่หากผู้ถือหุ้นเสียภาษีเงินได้บุคคลธรรมดาในอัตรา 30% ขึ้นไป ซึ่งมากกว่า 28% เราก็ไม่ควรขอเครดิตภาษีเงินปันผลคืน เพราะกฎหมายได้ให้ทางเลือกว่าเราจะนำเงินปันผลมารวมหรือไม่รวมคำนวณเป็นเงินได้ก็ได้


อย่างไรก็ตาม หากต้องการความถูกต้อง ให้ลองคำนวณดูทั้ง 2 แบบ คือ ทั้งรวมและไม่รวมเงินปันผล แล้วพิจารณาภาระภาษีที่เกิดขึ้น วิธีไหนที่ทำให้เราสามารถประหยัดภาษีได้มากกว่า เราก็เลือกแบบนั้น เพียงเท่านี้ ท่านก็จะได้รับผลประโยชน์ที่ถูกมองข้ามกลับคืนมาไม่มากก็น้อย


บทความโดย นิภาพันธ์ พูนเสถียรทรัพย์ CFP® นักวางแผนการเงินอิสระ นักเขียนและวิทยากร