คุณพร้อมหรือยังกับ “สังคมไร้เงินสด” ในประเทศไทย

ในช่วง 1-2 ปีที่ผ่านมา เราได้เห็นความเปลี่ยนแปลงด้านระบบการชำระเงินค่อนข้างชัด การใช้เงินสดกำลังถูกแทนที่ด้วยระบบการชำระเงินดิจิทัล คนเริ่มถือเงินสดไว้กับตัวน้อยลง สิ่งเหล่านี้กำลังนำไปสู่สภาวะที่เรียกว่า สังคมไร้เงินสด (Cashless Society)


จริงๆ เรื่องนี้ ก็มีการพูดถึงมานาน และก็มีพัฒนาการมาอย่างต่อเนื่องในประเทศพัฒนาต่างๆ โดยแรกเริ่มก็จะเป็นการใช้บัตรเครดิต/บัตรเดบิต ชำระค่าสินค้าและบริการแทนเงินสด จนมาถึงปัจจุบันก็หันมาใช้แพลตฟอร์มในรูปแบบ อิเล็กทรอนิกส์ เช่น กระเป๋าเงินอิเล็กทรอนิกส์ หรือ e-Wallet ซึ่งเป็นการชำระเงินผ่านโทรศัพท์มือถือ แต่บางประเทศล้ำกว่านั้น เช่น สวีเดนที่เข้าสู่สังคมไร้เงินสดอย่างเต็มรูปแบบ ถึงขั้นโค้กกระป๋องเดียว ก็จ่ายด้วยบัตรเครดิตได้เลย และอนาคตก็จะเห็นรูปแบบของเทคโนโลยีเปลี่ยนโลกการเงินเช่น Blockchain เต็มรูปแบบกับประเทศเหล่านี้แน่ๆ


ย้อนกลับมาที่ประเทศไทย เราจะเห็นว่ารูปแบบการทำธุรกรรมทางการเงินแบบออนไลน์หรือสังคมไร้เงินสดของคนไทยเริ่มกระทำกันผ่านมือถือมากขึ้น ตั้งแต่การใช้โทรศัพท์มือถือสแกนซื้อสินค้าหรือบริการ โอนเงิน เช็กยอดเงินได้ทุกที่ทุกเวลา แต่ก็ยังไม่ถึงขั้นสังคมไร้เงินสดอย่างเต็มรูปแบบนัก เพราะบางร้านค้าหรือบางสินค้าก็ยังรับเงินสดอยู่ไม่น้อย


ทว่า ด้วยเทคโนโลยีที่ทำให้ระบบการชำระเงินเริ่มเอื้อต่อการไม่ต้องชำระด้วยเงินสด บวกกับพฤติกรรมของผู้บริโภคยุคนี้ที่เคยชินกับการใช้สมาร์ทโฟน และเริ่มตอบสนองต่อเทคโนโลยีใหม่ๆ มากขึ้น เมื่อมีใครมานำเสนอ รวมถึงแรงสนับสนุนจากภาครัฐ ผ่านยุทธศาสตร์การพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานระบบการชำระเงินแบบอิเล็กทรอนิกส์แห่งชาติ (National e-Payment Master Plan) ก็เชื่อว่าจะเป็นส่วนสำคัญที่จะผลักดันให้เกิดสังคมไร้เงินสดในประเทศไทยเร็วขึ้น เพราะนอกจากจะเพิ่มความสะดวกในการทำธุรกรรมทางการเงินให้กับประชาชนและภาคธุรกิจแล้ว ยังช่วยลดค่าจัดพิมพ์และจัดเก็บธนบัตรได้อีกด้วย

แน่นอนว่า ภาครัฐคงต้องเป็นตัวรุกหลัก และกระตุ้นให้ภาคเอกชนที่เกี่ยวข้องเอาจริงเอาจัง ไม่เช่นนั้นคงไม่เห็นโครงการเพื่อกระตุ้นสังคมไร้เงินสดให้เกิดขึ้นอย่างเด่นชัด เหมือนกับโครงการพร้อมเพย์ ที่ภาครัฐให้เราเอาบัญชีธนาคารผูกกับหมายเลขโทรศัพท์มือถือ หรือเลขบัตรประชาชน เพื่อใช้บริการโอน จ่าย และรับชำระเงิน ผ่านช่องทางอิเล็กทรอนิกส์ โดยมีค่าธรรมเนียการโอนตั้งแต่ 0-10 บาท ถือเป็นค่าบริการที่ต่ำมากเมื่อเทียบกับค่าธรรมเนียมการโอนปกติ ซึ่งแต่เดิมหากเป็นการโอนข้ามเขตข้ามธนาคารอาจจะเสียมากถึง 35 บาท


อย่างไรก็ตาม แม้ภาครัฐและเอกชนจะให้ความสำคัญกับการขับเคลื่อนให้เกิดสังคมไร้เงินสด แต่ปัญหาเรื่องการทำความเข้าใจ และสร้างความมั่นใจให้กับประชาชนก็ยังมีอยู่ เพราะคนส่วนใหญ่ยังกลัวว่าการทำธุรกรรมทางการเงินรูปแบบใหม่นี้อาจจะไม่ปลอดภัย เช่น ตัวระบบจะมีความเสถียรแค่ไหน จะถูกโจรกรรมข้อมูลทางการเงินหรือไม่ และจะบ่มเพาะพฤติกรรมการใช้จ่ายเกินตัวให้เกิดขึ้นโดยอัตโนมัติหรือเปล่า ซึ่งคงต้องใช้เวลาสักพักในการทำความเข้าใจกับคนไทย


แต่เมื่อโลกเปลี่ยน ประเทศไทยก็ต้องเปลี่ยน และวันที่สังคมไทยต้องก้าวเข้าสู่สังคมไร้เงินสดเช่นเดียวกับประเทศอื่นๆ จะต้องมาถึง และไม่จำเป็นต้องกลัวด้วย เพราะวันนี้สัญญาณบางอย่างได้ก่อตัวขึ้นแล้ว เราเริ่มเห็นผู้คนกล้าซื้อสินค้าออนไลน์  กล้าชำระค่าใช้จ่ายทั่วไป กล้าจองตั๋วเครื่องบิน ที่พัก และอื่นๆ ผ่าน บัตรเครดิต หรือระบบ e-wallet มากขึ้น นี่คือเฟสแรกของสังคมไร้เงินสด ที่กำลังปรับพฤติกรรมการเปย์ของคุณให้คุ้นชินแบบไม่รู้ตัว


ปัจจัยที่ทำให้ประเทศไทยก้าวสู่ “สังคมไร้เงินสด” ได้เร็วขึ้น

  1. จำนวนผู้ใช้สมาร์ทโฟนที่เพิ่มมากขึ้น
  2. โครงข่ายโทรคมนาคมครอบคลุมทุกพื้นที่
  3. การทำธุรกรรมทางด้านการเงินที่ดีและง่ายขึ้น
  4. รัฐบาลผลักดันการใช้ National e-payment