เก็บเงินล้านแรก ด้วยเงินหลักพัน

“ไม่รู้ว่าในชีวิตนี้จะมีเงินเก็บ 1 ล้านบาทได้หรือเปล่า แค่ 4 แสน 5 แสนบาทก็หืดขึ้นคอแล้ว” หากใครคิดแบบนี้ ขอให้คิดใหม่ เพราะถ้าเริ่มลงทุนและมีวินัย การได้หยิบเงินล้านจะกลายจริง ส่วนจะได้หยิบเร็วหรือช้าก็ขึ้นอยู่กับว่าเริ่มลงทุนตอนไหน


หากตอนนี้อายุ 40 ปี เรียกว่าเข้าสู่วัยกลางคนแล้ว เป็นช่วงเวลาที่ควรวางแผนทางการเงินเพื่อการเกษียณ เพราะเหลือเวลาอีกแค่ 20 ปี ดังนั้น การลงทุนจึงควรเป็นไปอย่างจริงจังและรอบคอบในช่วงเวลาที่เหลืออยู่ก่อนถึงวันเกษียณ


วัย 40 ปี เป็นช่วงเวลาที่เติบโตเต็มที่ ทั้งด้านวุฒิภาวะและเป็นช่วงที่รายได้มีความมั่นคงและน่าจะอยู่ในระดับสูงพอสมควร ถึงแม้ว่าในช่วงวัยเริ่มต้นทำงาน คนส่วนใหญ่อาจไม่ได้ใส่ใจเรื่องการวางแผนการเงินเพื่อวัยเกษียณ เพราะมองว่าเป็นเรื่องไกลตัว หรือบางคนที่ลงทุนไปได้สักระยะหนึ่งกลับเกิดความผิดพลาดในแผนการเงินก็อาจล้มเลิกความตั้งใจ ซึ่งในความเป็นจริงการลงทุนตั้งแต่เริ่มต้นเข้าสู่วัยทำงาน เป็นเรื่องที่ดี เพราะนอกจากจะมีเวลาให้เงินทำงานแล้วยังได้ประสบการณ์ในการจับจังหวะลงทุนเพื่อวางแผนให้มีเงินพอใช้หลังวัยเกษียณแล้ว


หลายคนเมื่อเห็นจำนวนเงินที่ต้องเตรียมเพื่อวัยเกษียณอาจรู้สึกท้อ เพราะไม่ใช่จำนวนน้อยๆ แต่เป็นหลักทะลุล้านบาทขึ้นไป ดังนั้น เพื่อให้เกิดกำลังใจในการเริ่มต้น ลองสัญญากับตัวเองว่าขอ 1 ล้านบาแรกภายในกี่ปี (เช่น 5 ปี, 8 ปี, 10 ปี เป็นต้น) และตามธรรมชาติเมื่อล้านบาทแรกมา ล้านที่สอง ที่สามจะตามมาในเวลาอันรวดเร็ว ซึ่งหากลงทุนตอนอายุยังน้อยก็จะมีเวลาในการทำให้เงินงอกเงยได้นานกว่า


วิธีการ คือ ให้เริ่มต้นด้วยการวางแผนลงทุนในแต่ละเดือนว่าจะลงทุนเท่าไหร่ ต้องได้ผลตอบแทนเฉลี่ยต่อปีกี่เปอร์เซ็นต์ แล้วมาดูกันว่าจะเห็นเงิน 1 ล้านบาทตอนอายุเท่าไหร่ 

million

 

  ตัวอย่าง

ปัจจุบันอายุ

25 ปี

รายได้ต่อเดือน

30,000 บาท

หักเงินไปลงทุนต่อเดือน

4,500 บาท

ประมาณการผลตอบแทนเฉลี่ยต่อปี (%)

6%

 

 

อายุที่ลงทุน

เงินลงทุนต่อปี

พร้อมผลตอบแทน (บาท)

 25

55,739

30

388,800

37

1,052,479

40

1,430,971

45

2,229,170

50

3,297,340

55

4,726,793

60

6,639,723

 

จากตัวอย่าง หากเริ่มต้นลงทุนตอนอายุ 25 ปี เดือนละ 4,500 บาท (ปีละ 54,000 บาท) ได้ผลตอบแทนเฉลี่ยปีละ 6% จะได้หยิบเงิน 1 ล้านบาท ตอนอายุ 37 ปี และสมมติว่านำเงิน 1,052,479 บาท ลงทุนต่อ ใส่เงินลงทุนเดือนละ 4,500 บาท ได้ผลตอบแทนเหมือนเดิม (เฉลี่ยปีละ 6%) จะได้หยิบเงิน 2 ล้านบาท ตอนอายุ 44 ปี และ 3 ล้านบาท ตอนอายุ 39 ปี พอถึงวันเกษียณ คือ อายุ 60 ปี จะมีเงินทั้งสิ้น 6,639,723 บาท 


สมมติว่า หากเริ่มต้นลงทุนตอนอายุ 25 ปี เดือนละ 2,500 บาท (ปีละ 30,000 บาท) ได้ผลตอบแทนเฉลี่ยปีละ 6% จะได้หยิบเงิน 1 ล้านบาท ตอนอายุ 43 ปี และสมมติว่าลงทุนต่อและใส่เงินลงทุนเดือนละ 2,500 บาท ได้ผลตอบแทนเหมือนเดิม (เฉลี่ยปีละ 6%) จะได้หยิบเงิน 2 ล้านบาท ตอนอายุ 52 ปี และพอถึงวันเกษียณ คือ อายุ 60 ปี จะมีเงินทั้งสิ้น 3,688,735 บาท


จากตัวอย่าง ถ้าต้องการมีเงิน 1 ล้านบาทให้ได้เร็วๆ นอกจากต้องเริ่มลงทุนกันแต่เนิ่นๆ แล้วก็ต้องลงทุนในระดับที่เหมาะสม ซึ่งตามทฤษฎีการวางแผนการเงินควรหักเงินไปลงทุนอย่างน้อย 15% ต่อเดือน ขณะเดียวกันยิ่งได้ผลตอบแทนเฉลี่ยต่อปีสูงๆ ยิ่งเห็นเงินล้านได้เร็วขึ้น

 

อย่างไรก็ตาม คนที่เพิ่งเริ่มต้นลงทุนตอนอายุเยอะๆ เช่น 40 ปี, 50 ปี ถ้าอยากเห็นเงินล้านในเวลาอันรวดเร็วก็ต้องใส่เงินลงทุนในแต่ละเดือนเป็นจำนวนมาก และต้องได้รับผลตอบแทนเฉลี่ยต่อปีสูงอีกด้วยเพื่อให้ได้เป้าหมาย 1 ล้านบาท ภายในเวลาที่กำหนด ขอนำเสนอ 3 กลยุทธ์

  1. วินัยการออม การฝึกใจและปฏิบัติการวางแผนการออม เป็นเรื่องที่ท้าทายมาก แม้หลายๆ คน จะมีความตั้งใจว่าจะทำให้ได้อย่างที่วางแผนไว้ แต่ระหว่างทางอาจมีเหตุจำเป็นที่จะต้องใช้เงินตามเหตุผลต่างๆ อย่างไรก็ตาม เมื่อมีเป้าหมายแล้ว ควรมุ่งมั่นให้ได้ตามที่วางแผน ที่สำคัญควรเริ่มต้นลงมือกันตั้งแต่อายุน้อยๆ

  2. การหาข้อมูลเรื่องการลงทุนและหาที่ปรึกษาทางการเงินเป็นเรื่องสำคัญ เมื่อเริ่มลงทุนและได้ 1 ล้านบาทแรก เป้าหมายเพื่อให้มีเงินพอใช้หลังวัยเกษียณก็ไม่ใช่เพียงความฝัน แต่สิ่งสำคัญคือ การหาข้อมูลและปรึกษาที่ปรึกษาทางการเงิน หรือนักวางแผนการเงิน ซึ่งการได้รับคำปรึกษา นอกจากจะรู้วิธีการสร้างผลตอบแทนให้เงินงอกเงยแล้ว ยังได้รู้จักตัวเองว่าเป็นผู้ลงทุนประเภทไหน รับความเสี่ยงได้เพียงใด เพื่อสามารถเลือกสินทรัพย์ที่เหมาะกับความเสี่ยง และผลตอบแทนในระดับที่เหมาะสมได้

  3. กำหนดเป้าหมายในแต่ละช่วงเวลา (Milestones) และเช็กสถานะในแต่ละช่วงว่าเป็นไปตามที่กำหนดไว้หรือไม่ เช่น การปรับจำนวนเงินลงทุนที่มากขึ้นตามรายได้ที่เพิ่มสูงขึ้น การเช็กสถานะของพอร์ตการลงทุน และการปรับแนวทางการลงทุนในทรัพย์สินให้เหมาะสมกับสภาวะเศรษฐกิจและความเสี่ยงในช่วงนั้นๆ จะช่วยทำให้เป้าหมายการลงทุนเป็นไปตามที่คาดหวังอย่างไม่ประมาท การปฏิบัติเช่นนี้ ถือเป็นเรื่องที่ควรต้องพิจารณาอย่างสม่ำเสมอ เพราะปัจจัยแวดล้อมต่างๆ มีความเปลี่ยนแปลง ไม่แน่นอน
     

หากคิดว่าการเก็บเงินเพียงเดือนละพันบาท คงไม่ได้เห็นเงินล้านแน่นอน แต่ความจริงแล้วหากนำเงินไปลงทุนแล้วได้ผลตอบแทนที่ดีและต่อเนื่อง และยิ่งเริ่มต้นลงทุนเร็วเท่าไหร่บวกกับมีวินัย ศึกษาข้อมูลและมีการติดตามการลงทุนอย่างสม่ำเสมอก็มีสิทธิหยิบเงินล้านได้ทุกคน