เมื่อกองทุนรวมตราสารหนี้โดนเก็บภาษี 15% ควรลงทุนอะไรต่อดี?

จากการที่รัฐบาลได้ประกาศนโยบายการจัดเก็บภาษีเงินได้จากการลงทุนในตราสารหนี้ผ่านกองทุนรวมเมื่อพฤษภาคม 2562 ที่ผ่านมา ทำให้ภาระภาษีจากการลงทุนในตราสารหนี้ผ่านกองทุนรวม มีความเท่าเทียมกับการลงทุนในตราสารหนี้โดยตรง ทำให้ผลตอบแทนจากการลงทุนในกองทุนรวมตราสารหนี้ลดลง ซึ่งจะมีผลบังคับใช้นับตั้งแต่วันที่ 20 ส.ค. 2562 เป็นต้นไป นักลงทุนที่มีการลงทุนในกองทุนรวมตราสารหนี้อยู่ก่อน หรือผู้ที่กำลังสนใจจะลงทุนในกองทุนรวมตราสารหนี้อาจเกิดคำถามว่า แล้วเราจะทำอย่างไรต่อ จะมีทางเลือกการลงทุนอะไรบ้าง บทความนี้มีคำตอบ


ก่อนอื่นเรามาดูกันว่ากองทุนใดบ้างที่จะได้รับผลกระทบจากการเก็บภาษีในครั้งนี้ ซึ่งกองทุนที่ได้รับผลกระทบ ได้แก่ กองทุนที่มีการลงทุนในตราสารหนี้โดยตรง ไม่ว่าจะเป็นกองทุนตลาดเงิน กองทุนตราสารหนี้ และกองทุนตราสารหนี้แบบกำหนดอายุโครงการ (Term Fund) นอกจากนี้หากกองทุนประเภทอื่นอย่างกองทุนผสม หรือกองทุนหุ้น ที่มีการลงทุนในตราสารหนี้ ดอกเบี้ยที่กองทุนได้รับก็จะถูกหักภาษี ณ ที่จ่ายเช่นกัน


กองทุนรวมตราสารหนี้แบบกำหนดอายุโครงการ (Term Fund) ที่ลงทุนในตราสารหนี้ต่างประเทศ จะถูกเรียกเก็บภาษี 15% ด้วยเช่นเดียวกัน โดยหากประเทศต้นทางเรียกเก็บภาษีไว้แล้วมากกว่าหรือเท่ากับ 15% ของดอกเบี้ยรับ กองทุนรวมจะไม่ต้องเสียภาษีต่อกรมสรรพากรเพิ่มเติมอีก แต่หากเรียกเก็บน้อยกว่า 15% ของดอกเบี้ยรับ หรือไม่เรียกเก็บเลย กองทุนรวมจะต้องเสียภาษีส่วนต่างต่อกรมสรรพากร จึงไม่เป็นการเรียกเก็บภาษีซ้ำซ้อน

ส่วนกองทุนที่ไม่ได้รับผลกระทบจากการเก็บภาษีของดอกเบี้ยตราสารหนี้มี 2 กลุ่ม ดังนี้

  1. กองทุนที่เกี่ยวข้องกับการเก็บออมเพื่อการเกษียณอายุ ได้แก่ กองทุนสำรองเลี้ยงชีพ (Provident Fund, PVD) กองทุนรวมเพื่อการเลี้ยงชีพ (Retirement Mutual Fund, RMF) และกองทุนรวมที่จัดตั้งเพื่อรองรับกองทุนสำรองเลี้ยงชีพ (RMF for PVD)

  2. กองทุนต่างประเทศที่ลงทุนผ่านกองทุนหลัก (Master Fund) เป็นกองทุนรวมที่ลงทุนในต่างประเทศ (Foreign Investment Fund, FIF) โดยนําเงินไปลงทุนในกองทุนรวมในต่างประเทศเพียงกองเดียว เรียกว่า Master Fund เช่น กองทุนรวม FIF X ไปลงทุนในกองทุนรวม Y ที่จัดตั้งในต่างประเทศเพียงกองเดียว ซึ่งกองทุนรวม Y จะมีผู้จัดการกองทุนที่อยู่ต่างประเทศเป็นผู้ดูแลและบริหารเงิน โดยอาจจะเข้าไปลงทุนในกองทุนรวมอื่นๆ หรือสินค้าทางการเงินต่างๆ ตาม นโยบายการลงทุนที่กําหนดไว้ 


นอกจากนี้ กองทุนรวมตราสารหนี้แบบกำหนดอายุโครงการที่ได้เสนอขายก่อนวันที่ 20 ส.ค. 62 จะไม่ได้รับผลกระทบจากการจัดเก็บภาษีตราสารหนี้ ผู้ลงทุนยังคงได้รับผลตอบแทนที่คาดหวังตามที่ระบุไว้ในหนังสือชี้ชวน ส่วนผู้ที่ลงทุนในกองทุนตลาดเงิน กองทุนตราสารหนี้ กองทุนผสม และกองทุนอื่นๆ ซึ่งมีการลงทุนในตราสารหนี้ ดอกเบี้ยของกองทุนเหล่านี้จะค่อยๆ ถูกหักภาษี ณ ที่จ่าย ตามการเริ่มต้นลงทุนในตราสารหนี้ของกองทุนนั้นๆ ดังนั้น ในช่วงที่กฎหมายมีผลบังคับใช้จริง ผลตอบแทนของกองทุนจะไม่ปรับลดลงในทันที แต่จะค่อยๆ ปรับลดลงตามการลงทุนตราสารหนี้รอบใหม่หลังวันที่ 20 ส.ค. 62


แนวทางการลงทุนอื่นๆ สามารถพิจารณาจากความสามารถในการรับความเสี่ยง ดังนี้

  1. สำหรับผู้ที่รับความเสี่ยงได้ไม่สูง และมีการลงทุนอยู่ในกองทุนรวมตราสารหนี้ อาจพิจารณาลงทุนในตราสารหนี้ผ่านกองทุนสำรองเลี้ยงชีพ หรือกองทุนรวมเพื่อการเลี้ยงชีพแทน

  2. สำหรับผู้ที่รับความเสี่ยงได้สูงขึ้น อาจมีการกระจายการลงทุนไปยังสินทรัพย์อื่น เช่น หุ้นปันผลสูง กองทุนรวมหุ้น กองทุนรวมโครงสร้างพื้นฐาน กองทุนอสังหาริมทรัพย์ และ ทรัสต์เพื่อการลงทุนในอสังหาริมทรัพย์ (Real Estate Investment Trust, REITs) 

ดังนั้น คำแนะนำการลงทุน คือ ให้นักลงทุนเปรียบเทียบอัตราผลตอบแทนจากการลงทุนในสินทรัพย์ที่มีความเสี่ยงในระดับเดียวกัน เช่น เงินฝากธนาคาร หรือเงินฝากประจำและพันธบัตรรัฐบาล จะพบว่าการลงทุนในกองทุนรวมตราสารหนี้ยังคงให้ผลตอบแทนที่สูงกว่า แม้จะถูกหักภาษี ณ ที่จ่ายไปแล้ว


นอกจากนี้ หากนักลงทุนมีการสร้างพอร์ตการลงทุนระยะยาวเพื่อการเกษียณอายุ แนะนำลงทุนในตราสารหนี้ผ่านกองทุนสำรองเลี้ยงชีพ หรือ RMF ที่ลงทุนในตราสารหนี้แทน แต่หากต้องการพักเงิน หรือเป็นการลงทุนระยะสั้นก็ยังสามารถลงทุนในกองทุนรวมตราสารหนี้ได้ แม้ว่าผลตอบแทนจากการลงทุนในกองทุนรวมตราสารหนี้จะลดลงก็ตาม และหากนักลงทุนสามารถรับความเสี่ยงได้สูงขึ้น อาจพิจารณากระจายการลงทุนไปยังสินทรัพย์อื่นๆ เพิ่มเติม อย่างไรก็ตามอย่าลืมพิจารณาถึงเป้าหมายการลงทุน ระยะเวลาการลงทุน และระดับความเสี่ยงที่รับได้ของตนเอง ประกอบการตัดสินใจลงทุนเสมอ

 

บทความโดย :  นิภาพันธ์ พูนเสถียรทรัพย์ CFP®  นักวางแผนการเงินอิสระ นักเขียนและวิทยากร