สร้างสมดุลอย่างไร ‘โฮมสเตย์’ อยู่สบายแต่ไม่ขาดเอกลักษณ์

“โฮมสเตย์” อาจเป็นเป้าหมายแรกๆ ของคนที่คิดกลับไปทำธุรกิจที่บ้านเกิด แต่รู้หรือไม่ว่า นอกจากภาพลักษณ์ของความอบอุ่นที่เจ้าของบ้านและนักเดินทางแสวงหา ยังมีรายละเอียดปลีกย่อยให้ใส่ใจอีกมาก และควรคำนึงถิ่งสิ่งเหล่านี้ นอกเหนือจากการแต่งบ้านให้น่าอยู่หรือมีสิ่งอำนวยความสะดวกตามตำราที่มีบอก


1. โฮมสเตย์คือ “วิถีชีวิต”


โฮมสเตย์เป็นมากกว่าที่พัก เพราะสิ่งที่ผู้มาเยือนต้องการมากกว่าโรงแรมคือ การได้มาสัมผัสวิถีชีวิตที่เจ้าของบ้านเป็น ไม่ใช่ปรับแต่งหรือสร้างขึ้นเพื่อเอาใจนักเดินทาง เสน่ห์ของวิถีดังกล่าวคือ ผู้พักแรมจะรู้สึกว่าเหมือนมาพักบ้านอีกหนึ่งหลัง มีอาหารประจำถิ่นให้ได้ชิมในแบบที่ไม่ผ่านการปรับจนเสียรูปแบบดั้งเดิม มีขนบธรรมเนียมประเพณีวัฒนธรรมของชุมชนที่เป็นอัตลักษณ์ให้ได้เรียนรู้


2. พร้อมปรับเพื่อความสะดวกสบาย แต่ไม่ใช่บริการเต็มรูปแบบ


การท่องเที่ยวชุมชนกำลังได้รับความนิยมมากขึ้น แม้ระยะหลังไม่ได้เคร่งครัดว่า ผู้พักแรมต้องนอนหลังเดียวกับเจ้าบ้าน แต่เพื่ออำนวยความสะดวกสบายจึงมีการแบ่งพื้นที่พักผ่อนของแต่ละคนให้ชัดเจน มีห้องน้ำและเครื่องนอนที่สะอาดรองรับ แต่บริการนั้นไม่จำเป็นต้องครบวงจรเหมือนที่พักประเภทอื่น ดังนั้น สิ่งที่เจ้าบ้านต้องรับมือคือ การสื่อสารกับผู้เข้าพักอย่างเข้าอกเข้าใจ และชักชวนให้ลองมาพบประสบการณ์ชีวิตที่แตกต่างในระยะสั้นระหว่างการท่องเที่ยว ไม่เสริมแต่งความสะดวกจนไม่ทำให้วิถีชีวิตท้องถิ่นไม่เหลือเค้าเดิม

unique-homestay-01

3. เข้าใจวิถีชีวิต วัฒนธรรม ประเพณี


ยิ่งคนที่จากบ้านไปนาน สิ่งที่ต้องทำการบ้านอย่างหนักคือ เข้าใจสังคมขนาดเล็กในชุมชนนั่นว่าแต่ก่อนมีวิถีชีวิต วัฒนธรรม ประเพณีเป็นอย่างไร และปัจจุบันมีการเคลื่อนเปลี่ยนหมุนเวียนไปอย่างไรแล้วบ้าง อะไรคือแก่นแท้และเสน่ห์ที่คนในชุมชนยังรักและช่วยกันสืบสานให้ดำรงอยู่ต่อไป เพื่อที่คุณจะได้ถ่ายทอดเรื่องราว สาธิต หรือพร้อมให้คำแนะนำหากผู้เข้าพักต้องการรับรู้เรื่องราวหรือร่วมทำกิจกรรมเพิ่มเติม

4. โตไปด้วยกันทั้งชุมชน ไม่ยืนหนึ่งเพียงผู้เดียว


หากิจกรรมที่เป็นวิถีปกติและเอื้อให้คนในชุมชมเข้ามามีส่วนร่วมให้มากที่สุด ร่วมหารือและแลกเปลี่ยนระหว่างคนในชุมชนด้วยกันเอง การรับฟังไม่ใช่เพื่อติ แต่เพื่อก่อให้เกิดการปรับปรุงและพัฒนาชุมชนให้มีความเข้มแข็งและโตไปพร้อมกัน อาจมีการตั้งเป็นคณะกรรมการชุมชนหรือวิสาหกิจชุมชนขึ้นมา เพื่อรักษามาตรฐานโฮมสเตย์ให้คู่ขนานไปกับการรักษาวิถีของชุมชน


5. ประชาสัมพันธ์และสร้างความแตกต่างในแบบตัวเอง


หากชุมชนนั้นไม่มีการรวมกลุ่มทำโฮมสเตย์อย่างแข็งแกร่ง การสร้างการรับรู้ของตัวเองที่ดีที่สุด นั่นคือ “เป็นตัวของตัวเอง” เก็บรักษาเอกลักษณ์ของตัวเอง ทำให้ผู้เข้าพักรู้สึกเหมือนได้พักบ้านอีกหลังที่สะอาดและปลอดภัย พร้อมเข้าถึงวิถีชีวิตวัฒนธรรมและประเพณีแบบไม่มีอะไรปิดกั้น ที่ผ่านมามีโฮมสเตย์จำนวนไม่น้อยที่สร้างชื่อเสียงมาได้โดยไม่ต้องเสียเงินทำการตลาด เพียงแค่ผู้พักแรมประทับใจจนนำไปบอกเล่าเรื่องราวดีๆ แม้วิธีนี้อาจต้องใช้เวลานาน และอาศัยความคงเส้นคงวาเป็นเครื่องพิสูจน์ แต่นี่แหละคือ วิธีการทำโฮมสเตย์ได้อย่างยั่งยืนมากที่สุด

สิ่งสำคัญนอกจากกฎระเบียบของท้องถิ่นที่ต้องคำนึงถึง คือการทบทวนตัวเองว่า พร้อมหรือยังในการกลับมาศึกษาเรียนรู้วิถีและวัฒนธรรมประเพณีของชุมชน เพื่อให้ผู้มาเยือนได้สัมผัสอย่างแท้จริง เพราะอาจไม่ใช่เรื่องง่ายที่จะพลิกสูตรสำเร็จแล้วทำโฮมสเตย์ประสบความสำเร็จได้ทันที


ที่มา
http://klongkhoi.go.th/public/news_upload/backend/files_463_1.pdf
https://www.hiddenspacecm.com/post/homestay-licence
https://mgronline.com/stockmarket/detail/9630000000308
https://www.sentangsedtee.com/exclusive/article_16156
https://www.a-lisa.net/topic/6103