เจาะ 3 ตัวช่วยเรื่องกฎหมายสำหรับผู้ประกอบการธุรกิจโรงแรม SME

การทำธุรกิจโรงแรมยุคปัจจุบันได้พัฒนามาจากอดีตอย่างมากมาย นอกจากโรงแรมขนาดใหญ่ที่ดำเนินธุรกิจโดยบริษัทเชนทั้งในและต่างประเทศ ยังมีที่พักสำหรับนักท่องเที่ยวที่รู้จักกันในชื่อต่างๆ อย่าง บูทีคโฮเต็ล เกสต์เฮ้าส์ โฮสเทล รีสอร์ท โฮมสเตย์ เซอร์วิสอพาร์ตเมนท์ ฯลฯ ที่ดำเนินธุรกิจโดยผู้ประกอบการขนาดกลางและขนาดเล็ก แล้วกฎหมายมีผลบังคับใช้กับที่พักกลุ่มนี้อย่างไร?

คุณอนวัช บูรพาชน วิศวกรโยธาเชี่ยวชาญสำนักควบคุม/ตรวจสอบอาคาร กรมโยธาธิการ/ผังเมือง หนึ่งในวิทยากรของการอบรม The DOTS Hotel Game Changer โดย SCB SME มาให้ความรู้เรื่องข้อกฎหมายสำคัญในธุรกิจโรงแรม รวมถึงข้อผ่อนปรนสำหรับผู้ประกอบการขนาดกลางและขนาดเล็ก นับว่ามีประโยชน์อย่างยิ่ง

มาทำความรู้จักกฎหมายเกี่ยวกับโรงแรม

พระราชบัญญัติโรงแรม พ.ศ. 2547  กำหนดความหมายของโรงแรมคือ สถานที่พักที่จัดตั้งขึ้นโดยมีวัตถุประสงค์ในทางธุรกิจเพื่อให้บริการที่พักชั่วคราวสำหรับคนเดินทางหรือบุคคลอื่นโดยมีค่าตอบแทน ซึ่งสาระสำคัญที่สุดคือการคิดค่าบริการต่ำกว่ารายเดือน ดังนั้น การให้บริการที่พักไม่ว่าจะเป็นรูปแบบใด หากมีการคิดค่าบริการต่ำกว่ารายเดือน ล้วนแต่อยู่ภายใต้พรบ. โรงแรมฉบับนี้ทั้งสิ้น และต้องได้รับการอนุญาตประกอบธุรกิจอย่างถูกต้องตามกฎหมาย คือได้รับใบอนุญาตประกอบธุรกิจโรงแรมจากนายทะเบียนโรงแรม ได้แก่อธิบดีกรมการปกครองหากโรงแรมตั้งอยู่ในพื้นที่กรุงเทพฯ หรือผู้ว่าราชการจังหวัด ในกรณีตั้งอยู่ในพื้นที่จังหวังต่างๆ  ซึ่งหากฝ่าฝืนประกอบธุรกิจโดยไม่มีใบอนุญาตจะมีโทษจำคุกไม่เกิน 1 ปี ปรับไม่เกิน 20,000 บาท หรือทั้งจำทั้งปรับ และปรับอีกวันละไม่เกิน 10,000 บาท (ม.59)


อย่างไรก็ดี สำหรับผู้ประกอบการขนาดเล็ก ยังมีที่พักประเภทหนึ่งที่สามารถขอยกเว้นใบขออนุญาตประกอบธุรกิจโรงแรมได้ ซึ่งก็คือสถานที่พักที่ไม่เป็นโรงแรมและประเภทของโรงแรม

ตัวช่วยที่ 1 : “สถานที่พักที่ไม่เป็นโรงแรมและประเภทของโรงแรม”

กฎกระทรวงกำหนดประเภทและหลักเกณฑ์การประกอบธุรกิจโรงแรม พ.ศ. 2551 หมวด 1 เป็นตัวช่วยสำหรับสถานที่พักที่มีจำนวนห้องพักในอาคารเดียวกันหรือหลายอาคารรวมกันไม่เกิน 4 ห้องและมีจำนวนผู้พักรวมกันไม่เกิน 20 คน โดยเปิดให้พักเพื่อเป็นรายได้เสริม ซึ่งผู้ประกอบการลักษณะนี้ที่มีรายได้หลักสามารถไปติดต่อนายทะเบียนแจ้งขอเป็น “สถานที่พักที่ไม่เป็นโรงแรมและประเภทของโรงแรม” ก็สามารถประกอบกิจการได้โดยไม่ต้องใช้ใบอนุญาตประกอบธุรกิจโรงแรม ซึ่งสิทธิในการประกอบธุรกิจนี้จะติดตัวคนแจ้งไปตลอดไม่มีวันหมดอายุ ตัวอย่างการขออนุญาตลักษณะนี้ เช่น โฮสเทลขนาดเล็กในกรุงเทพฯ ที่ใช้พื้นที่ส่วนล่างขายของ โดยแจ้งการขายของเป็นรายได้หลัก บริการที่พักเป็นรายได้เสริม เป็นต้น

ธุรกิจโรงแรมและพรบ.ควบคุมอาคาร และพรบ.ผังเมือง


นอกจากพ.ร.บ. โรงแรมโดยตรงแล้ว ธุรกิจโรงแรมยังเกี่ยวข้องกับพรบ.ควบคุมอาคารและพรบ.ผังเมืองอีกด้วย โดยเกี่ยวข้องกับพ.ร.บ.ควบคุมอาคาร พ.ศ. 2522  3 มาตรา ได้แก่

  • มาตรา 21 : ห้ามมิให้ผู้ใดก่อสร้าง ดัดแปลง หรือเคลื่อนย้ายอาคารโดยไม่ได้รับอนุญาตหรือแจ้งต่อเจ้าพนักงานท้องถิ่น และดำเนินการตามมาตรา 39 ทวิ

  • มาตรา 32 ห้ามมิให้บุคคลใดใช้อาคารประเภทควบคุมการใช้โดยยังไม่ได้รับใบรับรองก่อสร้างอาคาร หรือ ใบอ.6 ซึ่งโรงแรมก็เป็นหนึ่งในอาคารประเภทควบคุมการใช้ เมื่อก่อสร้าง/ดัดแปลงเสร็จต้องแจ้งให้เจ้าพนักงานท้องถิ่นตรวจรับรองการก่อสร้าง/ดัดแปลง ออกใบอ.6 ก่อนเปิดการใช้อาคาร

  • มาตรา 33  ห้ามมิให้เจ้าของหรือผู้ครอบครองอาคารซึ่งไม่เป็นอาคารประเภทควบคุมการใช้ ใช้หรือยินยอมให้บุคคลใดใช้อาคารดังกล่าวเพื่อกิจการตามมาตรา 32  (เช่นโรงแรม) เว้นแต่จะได้รับใบอนุญาตจากเจ้าพนักงานท้องถิ่น เรียกว่า ใบอ.5 และบังคับแก่การเปลี่ยนการใช้อาคารประเภทควบคุมการใช้ด้วย


สรุปใจความสำคัญในทางปฏิบัติคือ  ถ้าสร้างอาคาร/ดัดแปลงอาคารใหม่ ต้องแจ้งเจ้าหน้าที่ตรวจสอบเพื่อออกใบอ.6 ก่อนจะเริ่มต้นธุรกิจ แต่ถ้ามีอาคารเดิมอยู่แล้ว แต่ไม่เคยใช้เป็นโรงแรม ต้องแจ้งขอใบอ. 5 เพื่อเปลี่ยนการใช้งานมาประกอบธุรกิจโรงแรมด้วย ซึ่ง ใบอ.5/อ.6 นี้ เป็นหนึ่งในเอกสารสำคัญในการขอใบอนุญาตประกอบธุรกิจโรงแรม และถ้าฝ่าฝืนพ.ร.บ.ควบคุมอาคารทั้ง 3 มาตรานี้ ก็มีโทษอาญาปรับ/จำคุก หรือทั้งจำทั้งปรับ


ในส่วนที่เกี่ยวข้องกับพ.ร.บ.ผังเมือง พ.ศ.2518 ก็การกำหนดพื้นที่บังคับใช้ผังเมืองโดยรวมไว้แล้ว ห้ามไม่ให้ใช้ประโยชน์ที่ดินผิดไปจากที่ได้กำหนดไว้ในผังเมืองรวมอีกด้วย

7 ขั้นตอนสู่การได้ใบอนุญาตประกอบธุรกิจโรงแรม

เมื่อเข้าใจกฎระเบียบข้อบังคับต่าง ๆ ของธุรกิจโรงแรมแล้ว คุณอนวัชก็ได้สรุปลำดับวิธีการขอใบอนุญาตโรงแรมเป็น 7 ขั้นตอน ดังนี้


1) กรรมสิทธิ์ในที่ดิน : ต้องมีกรรมสิทธิ์หรือสิทธิครอบครองใช้พื้นที่ โดยมีเอกสารเช่น โฉนดที่ดิน, หนังสือรับรองการทำประโยชน์ (น.ส.๑), แบบแจ้งการครอบครองที่ดิน (ส.ค.๑) และหนังสือยินยอมให้ก่อสร้าง/ใช้ประโยชน์ที่ดินเป็นต้น


2)ตรวจสอบผังเมืองและกฎหมายที่เกี่ยวข้องกับการห้ามก่อสร้างโรงแรมในพื้นที่ที่จะประกอบกิจการ : ขณะนี้มี คำสั่ง คสช. ที่ 6/2562 เป็นตัวช่วยสำหรับอาคารเก่าที่มีอยู่ก่อน 19 สิงหาคม 2559 ไม่ถูกบังคับใช้กฎหมายผังเมืองใดๆ ซึ่งตัวช่วยนี้จะสิ้นสุด 18 สิงหาคม 2564


3) ตรวจสอบกฎหมายสิ่งแวดล้อมว่าเข้าข่ายต้อทำ EIA หรือ IEE ก่อนการขอนุญาตอื่น ๆ หรือไม่


4) พิจารณาสถานที่ตั้งตาม พ.ร.บ.โรงแรม


5) ดำเนินการติดต่อเจ้าพนักงานท้องถิ่นออกใบอ.1 อนุญาตให้ดัดแปลงอาคาร


6) ถ้าระบุในใบอ.1 ระบุว่าเป็นอาคารประเภทโรงแรม เมื่อดัดแปลงเสร็จแล้วติดต่อให้เจ้าพนักงานท้องถิ่นมาตรวจสอบอาคาร ออกใบอ.6 / ถ้าใบอ.1 ระบุเป็นอาคารประเภทอื่นที่ไม่ใช่โรงแรม ติดต่อพนักงานท้องถิ่น ออกใบอ.5 อนุญาตให้เปลี่ยนการใช้เป็นอาคารโรงแรม


7) นำใบอ.5 หรือใบอ. 6 ยื่นขอใบอนุญาตประกอบธุรกิจโรงแรม

สองกฎหมายตัวช่วยโรงแรมขนาดกลางและขนาดเล็ก

แม้จะฟังดูมีข้อกำหนดมากมายหลายอย่าง แต่คุณอนวัชก็อธิบายถึงกฎหมายที่เปิดโอกาสให้ผู้ประกอบการโรงแรมขนาดกลางและขนาดเล็กดำเนินธุรกิจอย่างถูกต้องได้ ได้แก่ คำสั่ง คสช. ที่ 6/2562 เรื่องมาตรการส่งเสริมและพัฒนามาตรฐานการประกอบธุรกิจโรงแรมบางประเภท : มีใจความสำคัญว่า ตั้งแต่ 12 มิถุนายน 2562 – 18 สิงหาคม 2564 อนุญาตให้นำอาคารเก่าที่มีอยู่ก่อน 19 สิงหาคม 2559 (ใช้เอกสารที่ออกโดยราชการเช่นทะเบียนบ้าน ใบเสร็จค่าน้ำค่าไฟ ฯลฯ เป็นหลักฐาน) เปลี่ยนมาประกอบธุรกิจโรงแรมประเภทที่ 1 (บริการเฉพาะห้องพัก) หรือประเภทที่ 2 (บริการห้องพักและห้องอาหาร) อย่างถูกกฎหมาย สามารถใช้ละเว้นจากการบังคับของพ.ร.บ.ผังเมืองทุกฉบับ


ทั้งนี้ คุณอนวัชแนะนำว่าผู้ประกอบการตรวจดูอาคารและปรับปรุงความปลอดภัยด้านอัคคีภัยให้เป็นไปตามกฎกระทรวง ฉบับที่ 57 (พ.ศ. 2540)ฯ และติดตั้งเครื่องดับเพลิงแบบมือถือ 1 เครื่องต่อพื้นที่อาคารไม่เกิน 200 เมตร ทุกระยะไม่เกิน 30 เมตร แต่ไม่น้อยกว่า 2 เครื่อง และไปยื่นเอกสารให้เจ้าพนักงานท้องถิ่นมาตรวจสอบและออกใบเว้นโทษจนถึงวันที่ 18 สิงหาคม 2564

อย่างไรก็ดี แม้จะได้รับการเว้นโทษแต่ก็มีผลถึง 18 สิงหาคม 2564 เท่านั้น แต่สุดท้ายแล้วธุรกิจที่พักก็ต้องมีใบอนุญาตประกอบธุรกิจโรงแรมอยู่ดี และหากยึดตามข้อกำหนดกฎกระทรวง ฉบับที่ 55 (พ.ศ. 2553) ที่บังคับใช้ในปัจจุบัน ไม่ค่อยสอดคล้องกับลักษณะธุรกิจโรงแรมขนาดกลางและขนาดเล็ก คุณอนวัชแนะนำทางออกของปัญหานี้ด้วยอีกหนึ่งตัวช่วยคือ กฎกระทรวงกำหนดลักษณะอาคารประเภทอื่นที่ใช้ประกอบธุรกิจโรงแรมพ.ศ. 2559 และที่แก้ไขเพิ่มเติมโดยกฎกระทรวงกำหนดลักษณะอาคารประเภทอื่นที่ใช้ประกอบธุรกิจโรงแรม (ฉบับที่ 2) พ.ศ. 2561 (ประกาศใช้ 19 ส.ค. 59 – 18 ส.ค. 64) ที่มีใจความสำคัญในการช่วยผ่อนปรนสเปคของอาคารที่มีอยู่ก่อน 19 สิงหาคม 2559 ที่ใช้ประกอบธุรกิจโรงแรมประเภทที่ 1 หรือประเภทที่ 2 ให้สามารถได้รับใบอนุญาตธุรกิจโรงแรมได้ง่ายขึ้น ซึ่งกฎกระทรวงฯ ช่วยเรื่องการผ่อนปรนสเปคอาคารเก่านี้ จะ บังคับใช้ได้ถึง 18 สิงหาคม 2564 เท่านั้น จึงสำคัญมากที่ผู้ประกอบการโรงแรมขนาดกลางและขนาดเล็กควรจะใช้โอกาสนี้ ปรับปรุงอาคารและเดินเรื่องขอใบอนุญาตประกอบธุรกิจโรงแรมให้ถูกต้องเพื่อการประกอบธุรกิจที่ยั่งยืนต่อไป