กลุ่มสินค้าเกษตร ความหวังผลักดันเศรษฐกิจ สปป.ลาว

สปป.ลาว เป็นหนึ่งในกลุ่มประเทศ CLMV ที่น่าจับตามองว่ากำลังเป็นประเทศที่มีความเติบโตทางเศรษฐกิจค่อนข้างสูง โดยเฉลี่ยมากกว่า 5% (นับย้อนหลังไป 5 ปี ก่อนเกิดการแพร่ระบาดของโควิด-19) เมื่อปลายปี 2564 ที่ผ่านมา สปป.ลาวมีโครงการเส้นทางรถไฟที่ได้รับการสนับสนุนจากจีน ในโครงการ Belt and Road Initiative (BRI) เพิ่งเปิดใช้บริการในเดือนธันวาคม ซึ่งคาดว่าจะสามารถกระตุ้นเศรษฐกิจของ สปป.ลาวได้อีกมาก จะมีบทบาทสำคัญในฐานะเป็นแลนด์ลิงค์ที่เชื่อมต่อเศรษฐกิจเอเชียตะวันออกเฉียงใต้กับจีน และประเทศทางแถบยุโรปเข้าด้วยกัน


สถานการณ์โควิด-19 ได้ส่งผลกระทบเป็นวงกว้าง แต่ขณะเดียวกันนับเป็นจุดเริ่มต้นของมนุษย์ในการปรับตัวเพื่อให้เข้ากับวิถี New Normal โดยมุ่งเน้นการพึ่งพาตนเอง ลดการนําเข้าจากต่างประเทศและหันมาบริโภคสินค้าและบริการภายในประเทศมากขึ้น โดยแนวโน้มดังกล่าวจะช่วยผลักดันการผลิตในภาคการเกษตรโดยเฉพาะการเพาะปลูก รวมทั้งความต้องการแรงงานในหลายภาคส่วนที่จะเพิ่มขึ้น ซึ่งจะสร้างงานและรายได้ให้ประชาชนเพิ่มขึ้น และจากการเติบโตของตลาดมีการคาดการณ์ว่าตลาดต่างประเทศจะมีความต้องการสินค้าเกษตรของ สปป. ลาวเพิ่มขึ้น และสินค้าทางเกษตรสามารถเพิ่มรายได้ให้กับ สปป.ลาวเป็นอย่างมาก โดยในอนาคต สปป.ลาวได้ตั้งเป้าหมายในการเป็นประเทศผู้ผลิตเกษตรออร์แกนิคและส่งออก โดยสินค้าเกษตรหลักๆ ที่สร้างรายได้ให้กับ สปป.ลาวมีดังนี้

laos

ข้าว” เป็นสินค้าเกษตรที่ลาวส่งออกเป็นหลัก เมื่อปี 2563 ผ่านมา สปป.ลาวประสบปัญหาเศรษฐกิจถดถอย อันเนื่องมาจากไวรัสโควิด-19 แพร่ระบาด และภัยธรรมชาติ เป็นปัจจัยทำให้ผลผลิตทางการเกษตรน้อยลง โดยเฉพาะข้าวที่ไม่เพียงพอต่อการบริโภคภายในประเทศ ส่งผลให้ผลผลิตที่เกิดขึ้นในประเทศเองกลับมีราคาสูงกว่านำเข้า แต่อย่างไรก็ตาม หากประเมินผลประกอบการการปลูกข้าวในปี 2563 แล้ว รัฐบาลมีเป้าหมายในการปลูกข้าว 4.35 ล้านตัน แต่เมื่อถึงช่วงเวลาเก็บเกี่ยว กลับเก็บได้เพียง 3.7 ล้านตัน ไม่เป็นไปตามเป้าหมาย เนื่องจากสภาพอากาศ โรคพืช และแมลงที่ทำลายผลผลิต หากผลการเก็บเกี่ยวเป็นไปตามแผนที่วางไว้ สปป.ลาวจะลดการนำเข้าข้าวจากต่างประเทศได้ถึง 1 แสนตัน


เมื่อกลางปี 2563 ที่ผ่านมา ลาวได้รับโควตาการส่งออกข้าวไปยังจีนจำนวนปีละ 50,000 ตัน โคและกระบืออีกปีละ 500,000 ตัว และในปีปัจจุบันรัฐบาลลาวผลักดันให้ประชาชนหันมาปลูกข้าวมากขึ้น เพื่อเป็นการพึ่งพาตนเอง และเพิ่มมูลค่าการส่งออกให้มากขึ้น เนื่องจากข้าวกลายเป็นสินค้าหลักของประเทศ

“ทุเรียน” กำลังจะเป็นสินค้าเกษตรที่สร้างรายได้ให้กับประเทศ สปป.ลาว มีแผนส่งออกทุเรียน ซึ่งมีตลาดจีนรองรับแล้ว สำหรับพันธุ์ทุเรียนที่ใช้ปลูกจะนำเข้าจากต่างประเทศ โดยได้ปลูกไปแล้วบางส่วน คาดว่าจะสามารถส่งออกทุเรียนได้ในปี 2567 ในปัจจุบัน สปป. ลาว มีพื้นที่ปลูกทุเรียนที่แขวงจำปาสัก เป็นทุเรียนพันธุ์พื้นเมืองและหมอนทอง โดยเริ่มมีนักลงทุนชาวจีนขอสัมปทานที่ดินจากรัฐบาลเพื่อปลูกทุเรียน ประมาณ 20,000 – 30,000 ไร่ สาเหตุที่ทำให้การส่งออกทุเรียนของ สปป.ลาว เติบโต เนื่องจาก สปป.ลาว มีข้อตกลงการค้าเสรี (FTA) กับหลายประเทศ โดยได้รับการยกเว้นภาษีนำเข้าจาก 16 ประเทศ เช่น จีน อิตาลี นิวซีแลนด์ ญี่ปุ่น อินเดีย เป็นต้น

“กล้วย” กลายเป็นสินค้าเกษตรอันดับหนึ่งที่ลาวส่งออก ข้อมูลจากกระทรวงอุตสาหกรรมและการค้าของ สปป.ลาว รายงานว่าในปี 2563 ที่ผ่านมา มูลค่ากล้วยที่ลาวส่งออกไปยังต่างประเทศมีมูลค่าถึง 227.4 ล้านดอลลาร์สหรัฐฯ เพิ่มขึ้นจากปี 2562 ที่มีมูลค่า 197.8 ล้านดอลลาร์สหรัฐ คิดเป็น 14.96% โดยมีจีนและไทยเป็นลูกค้าหลัก ส่วนใหญ่เป็นลักษณะเกษตรพันธสัญญา (Contract Farming) แต่ในปีที่ผ่านมาทางรัฐบาลลาวก็ได้หยุดให้สัมปทานพื้นที่เพาะปลูก และยุติข้อตกลงกับหลายบริษัทที่ละเมิดกฎระเบียบ ส่งผลให้เกษตรกรผู้ปลูกกล้วยลดลง ซึ่งรัฐบาลลาวมีมุมมองว่าการเพาะปลูกกล้วยควรดำเนินการอย่างสอดคล้องกับการปฏิบัติทางการเกษตรที่ดี (GAP) และนโยบายพัฒนาการเกษตรที่สะอาดเป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อมและยั่งยืน

“ยางพารา” หนึ่งในพืชเศรษฐกิจของ สปป.ลาว สร้างรายได้ค่อนข้างมาก บนพื้นที่เพาะปลูกในแขวงหลวงน้ำทา เนื้อที่ประมาณ 3.7 หมื่นเฮกต้า ราคาขาย 8,000 กีบ/ก.ก. (ประมาณ 30 บาท) ส่วนน้ำยางก้นถ้วยราคาขายต่ำสุด 3,500 กีบ/ก.ก. (ประมาณ 13 บาท) แม้ว่าราคาขายจะไม่สูงมาก แต่ก็สามารถสร้างรายได้ให้กับประเทศเป็นอย่างมาก คนลาวสามารถมีชีวิตความเป็นอยู่ที่ดีขึ้นได้ รัฐบาลจึงมีแนวโน้มให้ความสำคัญกับยางพารา จัดให้มีสมาคมยางพารา เพื่อเป็นศูนย์กลางการเรียนรู้ในการเพาะปลูกยางพารา และสร้างอำนาจต่อรองทางด้านราคา และในปี 2563 จีนได้ปรับเพิ่มโควต้าการนำเข้ายางพาราจากลาวเป็น 20,000 ตัน เพิ่มขึ้นตามจำนวนต้นยางใหม่ที่โตเต็มที่ต่อการให้ผลผลิตน้ำยาง

รูปแบบการทำการเกษตรใน สปป.ลาว

ใน สปป.ลาว นั้น มีรูปแบบการทำการเกษตรอยู่ 4 รูปแบบด้วยกัน ได้แก่

แบบที่ 1 เกษตรกรรายย่อยดำเนินการเองทั้งหมด ได้แก่ ทุน แรงงาน ที่ดิน ซึ่งองค์ความรู้จะได้จากหุ้นส่วนที่ไม่เป็นทางการจากประเทศจีน

แบบที่ 2 การรวมกลุ่มเกษตรกร ซึ่งเป็นรูปแบบที่พบน้อยมาก เนื่องจากขาดการรวมกลุ่ม และการบริหารจัดการ

แบบที่ 3 รูปแบบพันธสัญญาระหว่างเกษตรกร และนักลงทุนต่างชาติ

แบบที่ 4 รูปแบบการให้สัมปทานที่ดินในการทำการเกษตร


รูปแบบการดำเนินการการเกษตรใน สปป.ลาว พบว่า 75% เป็นแบบที่ 3 และ 4 นับเป็นโอกาสของนักลงทุนไทยที่เข้าไปร่วมลงทุน และพัฒนาสินค้าทางการเกษตรใน สปป.ลาว อีกทั้งผลิตผลทางการเกษตรใน สปป.ลาวนั้นยังไม่เพียงพอต่อการบริโภคภายในประเทศ สาเหตุหลักมาจากยังขาดเงินทุนในการผลิต เช่น การปรับปรุงสถานที่ ปุ๋ยสำหรับการเพาะปลูก และอาหารเลี้ยงสัตว์ รวมถึงเทคโนโลยีในการเพาะปลูกและการแปรรูปผลิตภัณฑ์ทางการเกษตร จึงเป็นโอกาศดีที่ผู้ประกอบการไทยจะนำผลผลิตทางการเกษตรส่งออกมายัง สปป.ลาว รวมถึงการลงทุนในอุตสาหกรรมการเกษตรที่ต้องใช้ความรู้ความสามารถ และแบ่งปันเทคโนโลยีที่ทันสมัยมาช่วยเพิ่มผลผลิตทางการเกษตรใน สปป.ลาว ให้เพียงพอต่อการบริโภคภายในประเทศ และเพิ่มมูลค่าการส่งออก และนับเป็นโอกาสในการขยายตลาดของกลุ่มสินค้าเครื่องมือเกษตรไปยัง สปป.ลาวอีกด้วย


สำหรับผู้ประกอบการไทยที่มีความสนใจต้องการทำการค้าและการลงทุนใน สปป.ลาว ธนาคารไทยพาณิชย์ สาขาเวียงจันทน์ พร้อมให้คำปรึกษาและสนับสนุนทุกธุรกรรมทางการเงินแก่ลูกค้า เพื่อความคล่องตัวในการดำเนินธุรกิจให้แก่คุณ


ขอบคุณข้อมูลดีๆ จาก
: ธนาคารไทยพาณิชย์ สาขาเวียงจันทน์


ข้อมูลอ้างอิง :

1.DITP. “นักลงทุนสนใจเข้ามาลงทุนด้านเกษตรกรรมในแขวงบอลิคำไซมากขึ้น”. https://www.ditp.go.th/ditp_web61/article_sub_view.php?filename=contents_attach/722070/722070.pdf&title=722070&cate=574&d=0 (ค้นหาเมื่อ 23/3/64)

2. DITP. “ข่าวเด่นประจำสัปดาห์ระหว่างวันที่ 8-12 มีนาคม 2564”. https://www.ditp.go.th/ditp_web61/article_sub_view.php?filename=contents_attach/730365/730365.pdf&title=730365&cate=574&d=0 (ค้นหาเมื่อ 23/3/64)

3.DITP. “ข่าวเด่นประจำสัปดาห์ระหว่างวันที่ 8-12 กุมภาพันธ์ 2564”. https://www.ditp.go.th/ditp_web61/article_sub_view.php?filename=contents_attach/721709/721709.pdf&title=721709&cate=574&d=0 (ค้นหาเมื่อ 26/3/64)

4. Globthailand. “สปป.ลาวส่งออกสินค้าเกษตรไปจีนร้อยละ 80”. https://globthailand.com/laos-31072020/ (ค้นหาเมื่อ 26/3/64)

5.สำนักข่าวกรองแห่งชาติ. “สาธารณรัฐประชาชาติไตยประชาชนลาว”. https://www.nia.go.th/newsnow/almanac-files/static/pdf/2564/%E0%B8%A5%E0%B8%B2%E0%B8%A7_2564.pdf (ค้นหาเมื่อ 2/4/64)

6.Globthailand. “สถาบันค้นคว้าเศรษฐกิจแห่งชาติเผยแพร่รายงานประเมินสภาพเศรษฐกิจมหภาคของ สปป.ลาว ปี 2563” . https://globthailand.com/laos-020321/ (ค้นหาเมื่อ 2/4/64)

7. The Standard. “ลาวมีรายได้จากส่งออกสินค้าสินค้าเกษตรเกือบ 3 หมื่นล้านบาทในปี 2020 เผยไทยกับจีนเป็นลูกค้าหลักซื้อกล้วย 7 พันล้านบาท” . https://thestandard.co/laos-agricultural-exports-in-2020/ (ค้นหาเมื่อ 16/4/64)

8. DITP. “รอบรู้เศรษฐกิจ ตามติดตลาดโลก”. https://www.ditp.go.th/contents_attach/99270/99270.pdf (ค้นหาเมื่อ 16/4/64)

9. Xinhua. “ลาวปลื้มมูลค่าส่งออก “ยางพารา” เพิ่ม สะท้อนความสำเร็จเชิงพาณิชย์”. https://www.xinhuathai.com/eco/83715_20200303 (ค้นหาเมื่อ19/4/64)

10. DITP. ”ข่าวเด่นประจำสัปดาห์ สคต.เวียงจันทน์ ฉบับที่ 2 ประจำเดือนตุลาคม 2564”. file:///D:/Users/s62013/Downloads/754291.20(1).pdf (ค้นหาเมื่อ 17/11/64)