งัดกลยุทธ์รับมือ PM 2.5

เมื่อพูดถึงการใช้ชีวิต เชื่อว่าทุกคนอยากมีชีวิตที่ดีตลอดทุกช่วงชีวิต ทั้งเรื่องงาน เรื่องเงิน และสุขภาพ ชีวิตราบรื่นไม่มีอุปสรรคใดๆ เข้ามา แต่ในความเป็นจริงแล้ว ทุกคนมีความเสี่ยงที่ติดตัวมาตั้งแต่เกิด นั่นคือ เจ็บป่วย และเสียชีวิตก่อนวัยอันควร นอกจากนี้ ยังมีความเสี่ยงกับทรัพย์สินที่เราสร้างกันมา เช่น รถยนต์ บ้านที่อยู่อาศัยอีกด้วย  โดยทั่วไปวิธีจัดการความเสี่ยง จะพิจารณาจากโอกาสที่เกิดขึ้น และผลกระทบที่มีต่อเราหรือทรัพย์สินของเราหากเกิดเหตุการณ์นั้นขึ้น แบ่งออกได้ 4 วิธีตามตารางด้านล่าง

  สูญเสียน้อย
สูญเสียมาก
โอกาสน้อย ยอมรับความเสี่ยงไว้เอง (Accept)
ถ่ายโอนความเสี่ยงให้ผู้อื่น (Transfer)
โอกาสมาก ควบคุมความเสี่ยง (Control)
หลีกเลี่ยงความเสี่ยง (Avoid)

สำหรับความเสี่ยงที่ได้รับการพูดถึงอย่างมากในปัจจุบัน เชื่อว่าทุกคนคงนึกถึง ความเสี่ยงของฝุ่น PM2.5 หรือ ฝุ่นละอองขนาดเล็กไม่เกิน 2.5 ไมครอน ซึ่งก็คือ มลพิษฝุ่นที่มีขนาดเล็กกว่า 1 ใน 25 ส่วนของเส้นผ่าศูนย์กลางของเส้นผมมนุษย์ กล่าวคือ เล็กจนสามารถเล็ดลอดขนจมูกเข้าสู่ร่างกายได้ และมีขนาดเพียงครึ่งหนึ่งของขนาดเม็ดเลือด (5 ไมครอน) ดังนั้น ฝุ่นพิษจึงสามารถเข้าสู่เส้นเลือดฝอยและกระจายไปตามอวัยวะได้ ฝุ่นจะมีลักษณะที่ขรุขระคล้ายสำลี จึงสามารถนำสารอื่นเข้ามาด้วย เช่น แคดเมียม ปรอท โลหะหนัก ไฮโดรคาร์บอน และสารก่อมะเร็งอื่นๆ

จากการศึกษาโดย Institute for Health and Evaluation มหาวิทยาลัยวอชิงตัน พบว่ามลพิษทางอากาศเป็นปัจจัยร่วมที่เป็นสาเหตุของโรคต่างๆ เนื่องจากมีส่วนประกอบของสารเคมีหลายชนิด ทั้งที่เป็นสารระคายเคืองไปจนถึงสารก่อมะเร็ง และเป็นสาเหตุก่อให้เกิดโรค ได้แก่ โรคปอดอุดกั้นเรื้อรัง โรคหลอดเลือดในสมอง โรคหัวใจขาดเลือด โรคมะเร็งปอด และโรคติดเชื้อเฉียบพลันระบบหายใจส่วนล่าง เป็นต้น ซึ่งก่อให้เกิดการเสียชีวิตก่อนวัยอันควร และความสูญเสียให้กับครอบครัว โดยในเบื้องต้นเมื่อสูด PM2.5 เข้าไปจะทำให้แสบตา แสบคอ แสบจมูก บางรายลมพิษขึ้น ทำให้เกิดค่าใช้จ่ายในการรักษาพยาบาลเล็กน้อยตั้งแต่เจ็บป่วยไอจาม ไปจนถึงรักษาตัวในโรงพยาบาล และในระยะยาวอาจส่งผลให้เกิดโรคร้ายแรง โดยเฉพาะในผู้ป่วยรายที่เป็นโรคหลอดเลือดสมองอาจทำให้ทุพพลภาพและเสียชีวิตในเวลาต่อมา

เราจะมีวิธีบริหารจัดการความเสี่ยงฝุ่น PM 2.5  ได้อย่างไรนั้น สามารถประยุกต์ 4 เทคนิคจัดการความเสี่ยงข้างต้น ได้ดังนี้
 

ความเสี่ยง ความสูญเสีย โอกาส วิธีจัดการความเสี่ยง
หลีกเลี่ยง
ความเสี่ยง
ควบคุมความเสี่ยง รับความเสี่ยงไว้เอง ถ่ายโอนความเสี่ยง
เสียชีวิต มาก น้อย

 

 

 

ย้ายที่อยู่

- ออกกำลังกาย
- ตรวจสุขภาพ
- หลีกเลี่ยงพฤติกรรมเสี่ยง
- ใส่หน้ากากป้องกันมลพิษ

สำรองเงินให้เพียงพอ
สำหรับคนในอุปการะ

ประกันชีวิต
ทุพพลภาพ มาก น้อย สำรองเงินให้เพียงพอ
สำหรับค่ารักษาพยาบาล
และค่าใช้จ่าย
ในการดำรงชีพ
ประกันทุพพลภาพ
โรคร้ายแรง มาก น้อย

- ออกกำลังกาย
- ปรับพฤติกรรม
- ตรวจสุขภาพ
- ใส่หน้ากาก
- ใส่หน้ากากป้องกันมลพิษ

ประกันโรคร้ายแรง
รักษาตัวในโรงพยาบาล มาก น้อย ประกันสุขภาพ
เจ็บป่วยเล็กน้อย น้อย ปานกลาง

กลยุทธ์ในการรับมือ PM2.5

  1. หลีกเลี่ยงความเสี่ยง (Avoid)  เป็นวิธีที่ดูเหมือนง่ายที่สุดแต่ทำยากสุดคือ การย้ายที่อยู่ ย้ายบ้านและที่ทำงาน หากที่อยู่อาศัย ที่ทำงานในปัจจุบันอยู่ในแหล่งที่มีค่า PM2.5 สูง ซึ่งเป็นการหลีกเลี่ยงภัยคุกคามที่เกิดขึ้น แต่ทว่าในความเป็นจริงวิธีนี้ยากที่จะสามารถทำได้
  2. ควบคุมความเสี่ยง (Control)  อยู่ในบ้านหรือที่ทำงานขณะที่ PM2.5 อยู่ในระดับสูง สวมหน้ากากกรองฝุ่นเมื่อต้องออกจากบ้านหรือที่ทำงาน ปิดหน้าต่าง ติดตั้งเครื่องฟอกอากาศ  รับประทานอาหารและเครื่องดื่มที่มีวิตามินซี อี และ โอเมก้า 3 สูง ก็จะช่วยควบคุมความเสี่ยงให้ลดลง
  3. รับความเสี่ยงไว้เอง (Accept)  รับสภาพที่เป็นอยู่ เมื่อเจ็บป่วยก็ใช้เงินที่สะสมมา ใช้ประกันสังคม ประกันสุขภาพถ้วนหน้า
  4. ถ่ายโอนความเสี่ยง (Transfer)  พิจารณาซื้อประกันสุขภาพ ประกันโรคร้ายแรง ประกันทุพพลภาพ และ ประกันชีวิต


การบริหารความเสี่ยงในชีวิตจริง ไม่จำเป็นที่จะต้องเลือกเพียงวิธีใดวิธีหนึ่ง เราสามารถประยุกต์ใช้หลายวิธีพร้อม ๆ กัน เพื่อลดความเสี่ยงให้ได้มากที่สุดได้ เช่น  คนที่มีกำลังทรัพย์น้อย สามารถควบคุมความเสี่ยงโดยใช้หน้ากากอนามัยแทนหน้ากากกรองฝุ่นเมื่อออกจากบ้านหรือที่ทำงาน ปิดหน้าต่างที่บ้าน และรับความเสี่ยงไว้เองในกรณีที่เจ็บป่วยจากฝุ่น PM 2.5 โดยการใช้สิทธิ์ที่มีจากประกันสังคมหรือประกันสุขภาพถ้วนหน้า ในขณะที่คนที่พอมีกำลังทรัพย์ หรือเจ้าของกิจการ สามารถควบคุมความเสี่ยงโดยสวมหน้ากากกรองฝุ่น ติดตั้งเครื่องฟอกอากาศทั้งที่บ้านและรถยนต์ ซื้อวิตามินซี อี และโอเมก้า3ทาน หลีกเลี่ยงความเสี่ยงโดยเลือกทำงานที่บ้าน ไม่ออกไปข้างนอก และถ่ายโอนความเสี่ยงด้วยการซื้อประกันสุขภาพเพิ่ม


จะเห็นได้ว่า เมื่อมีเหตุการณ์ต่าง ๆ เข้ามาในชีวิต ที่ประเมินแล้วน่าจะเป็นความเสี่ยงกระทบต่อสวัสดิภาพของชีวิต ก็สามารถนำวิธีจัดการความเสี่ยงข้างต้นมาประยุกต์ใช้ได้ โดยประเมินโอกาสและความรุนแรงที่จะเกิดขึ้นจากเหตุการณ์ดังกล่าว เพื่อเลือกหาวิธีรับมือกับความเสี่ยงที่จะเกิดขึ้น ซึ่งเมื่อเกิดผลกระทบขึ้นจริงๆ ก็จะไม่ส่งผลกับชีวิตตัวเราเองและคนในครอบครัวมากนัก เนื่องจากได้วางแผนเตรียมรับมือไว้ล่วงหน้าไว้อย่างดีแล้ว


บทความโดย
กนกพร อัศวยนต์ชัย นักวางแผนการเงิน CFP®

ขอบคุณข้อมูลจากสมาคมนักวางแผนการเงินไทย http://www.tfpa.or.th