เรื่องเล่าจากมนุษย์หลังอานคนหนึ่ง

เรื่องโดย: ภู  เมฆพิพัฒน์

ผมเป็นคนหนึ่งที่ใช้จักรยานในการเดินทางไปทำงานในลักษณะที่เรียกว่า Bike to Work ร่วมกับขนส่งมวลชนอย่างรถไฟฟ้า  ซึ่งหลายคนอาจมองว่าเป็นเรื่องน่าอัศจรรย์หรือท้าความตาย วันนี้ขอไขความลับให้ฟังว่า การปั่นจักรยานร่วมกับพาหนะอื่นๆ บนท้องถนนมีความเป็นไปได้และมีความปลอดภัยพอสมควร ขอเพียงให้ปั่นอย่างมีสติและไม่ประมาทเท่านั้นเอง


นี่พูดจากประสบการณ์ตรงของคนที่ปั่นจักรยานบนท้องถนนในกรุงเทพฯ “เกือบทุกวัน” นับตั้งแต่เดือนเมษายน 2553 เรื่อยมาจนวันนี้จะย่างเข้าสู่ปี 2561 ก็ 7 ปีกว่าๆ นะครับ


จุดเริ่มต้นของความคิดแผลงๆ นี้มาจากความเหลือทนกับสภาพการจราจรบนท้องถนนในกรุงเทพฯ ที่ทำให้เสียสุขภาพจิตอยู่หลังพวงมาลัยรถยนต์ปีแล้วปีเล่า  จนวันหนึ่งในเดือนเมษายน 2553 ผมก็ตัดสินใจเปลี่ยนวิถีโคจรการเดินทางไปทำงานของตัวเองด้วยรถจักรยาน  ก่อนหน้านั้นก็ศึกษาข้อมูลอยู่นานพอสมควร  รวมทั้งฟังเสียงทัดทานจากมิตรสหายหลายคน... อันตราย, จะปั่นได้ซักกี่วัน... เดี๋ยวก็เลิกเห่อ, จักรยานคันละเป็นหมื่น... บ้ารึเปล่า?


ว่าแล้วก็จัดรถจักรยานแบบพับได้มาคันนึง  จากนั้นมา.... ชีวิตผมก็ไม่เหมือนเดิมอีกต่อไป

การเดินทางไปทำงานด้วยจักรยานของผมใน พ.ศ. นั้นเริ่มจากคอนโดฯ ย่านสุขุมวิท 77 ปั่นมาขึ้น BTS ต้นทางอ่อนนุช  (ในยุคที่ยังไม่มีส่วนต่อขยายแบริ่ง) โดยใช้บริการ “BTS เที่ยวแรกของวัน” ประมาณ 6:00 น. ผู้โดยสารยังไม่เยอะ พับรถเสร็จก็จับยัดเข้าไปในช่องประตูหลังห้องพนักงานขับรถเพื่อไม่ให้เกะกะผู้โดยสารคนอื่น  นั่งยาวมาเกือบสุดสาย ลงสถานีสะพานควายแล้วกางจักรยานปั่นต่ออีกราว 3 กิโลเมตรก็ถึงที่ทำงานย่านบางซื่อ เหงื่อยังไม่ทันออกเลย


ทั้งหมดนี้ ใช้เวลาเดินทางพอๆ กับตอนขับรถไปทำงาน แต่ที่ได้มามากกว่านั้นคือ สุขภาพที่แข็งแรงขึ้น กับเงินที่เหลือในกระเป๋าวันละเกือบ 200 บาท


มองในแง่การลงทุน... ผมได้ทุนคืนจากจักรยานคันนี้ตั้งแต่ 5 เดือนแรกแล้วครับ  จากที่ต้องจ่ายค่าน้ำมันรถกับค่าทางด่วนตกเดือนละ 5,000 บาท  เหลือแค่ค่าบัตรรถไฟฟ้าประมาณพันบาทต่อเดือน แถมด้วยสิ่งที่ได้เพิ่มมาแบบไม่คาดคิดจริงๆ คือ “เวลา”

  • เวลา... ที่ได้กลับมาอยู่กับครอบครัวมากกว่าคนอื่นๆ ที่อาจจะยังหงุดหงิดอยู่หลังพวงมาลัยรถยนต์
  • เวลา... ที่ได้พักผ่อนมากขึ้น
  • เวลา... ที่ได้กลับมาอ่านหนังสือ อันเป็นงานอดิเรกที่ห่างหายไปนาน รู้ตัวอีกที ก็อ่านหนังสือที่ซื้อตุนมาจากงานสัปดาห์หนังสือฯ จบไปแล้วหลายเล่มโดยอาศัยช่วงเวลาราว 1 ชั่วโมงบนรถไฟฟ้านั่นเอง


ที่เหลือจากนี้ ผมถือว่าเป็นกำไรล้วนๆ  หยุดเสาร์-อาทิตย์ก็จับจักรยานออกไปปั่นท่องเที่ยวทั่วเมืองกรุง ซอกแซกซอกซอนไปตามที่ต่างๆ ที่ผมไม่รู้มาก่อนว่ากรุงเทพฯ เรามีหลืบมุมนี้อยู่

และ... เอ่อ... อาจหาญถึงขนาดชวนเพื่อนอีกคนปั่นจักรยานจากกรุงเทพฯ ไปเชียงใหม่ ในไม่กี่ปีต่อมาด้ว

ปัจจุบัน ย้ายมาอยู่ย่านประเวศ ผมก็ยังคง Bike to Work อยู่ เพียงแต่เปลี่ยนจาก BTS เป็นแอร์พอร์ต เรียลลิงค์ ปั่นออกจากบ้านมาขึ้นรถที่สถานีบ้านทับช้าง “เที่ยวแรกของวัน” อีกแล้ว  ก่อนจะต่อ MRT สถานีเพชรบุรี  โผล่อีกทีก็ MRT สถานีบางซื่อเลย  สะดวกแทบไม่ต่างจากเดิม

ถึงวันที่เขียนบทความนี้... อีกไม่กี่เดือน ผมก็จะเป็นมนุษย์หลังอานครบ 7 ปีเต็ม  พร้อมๆ กันกับจักรยานที่งอกมาจากไหนอีกไม่รู้ตั้ง 4 คัน ;)  โดยส่วนตัวแล้วอยากให้คนไทยมาใช้จักรยานในชีวิตประจำวันเยอะๆ  เคยอ่านเจอว่า ที่โบโกต้า เมืองหลวงของประเทศโคลัมเบีย ภายหลังจากผู้นำท้องถิ่นใจเด็ดเปลี่ยนเมืองให้เป็นเมืองจักรยาน ลดพื้นที่ถนนสำหรับรถยนต์ให้จักรยาน เพื่อสนับสนุนให้คนหันมาปั่นจักรยานกันมากขึ้น   พบว่าอัตราการเกิดอาชญากรรมลดลงอย่างมีนัยสำคัญเลยทีเดียว  ในรายละเอียดระบุว่า พอคนปั่นจักรยานกันมากขึ้น มีโอกาสได้เห็นหน้าค่าตากัน  ยิ้มแย้มให้กัน ทักทายถามไถ่กัน เคลื่อนไปบนสองล้อที่ความเร็วพอๆ กัน  ความเครียดลดลง  ก่อให้เกิดมิตรภาพระหว่างกัน  ความคิดร้ายต่อกันก็ลดน้อยลงไปด้วย


คำแนะนำสำหรับผู้ริจะปั่นจักรยานในเมืองหลวงจากประสบการณ์จริงกว่า 7 ปี

  1. สวมใส่อุปกรณ์ป้องกันทุกครั้งเมื่อออกปั่น หมวกกันน็อคสำหรับจักรยาน, แว่นกันลม, ไฟหน้า-ไฟท้าย เป็นสิ่งที่ “ต้องมี”  หากมีกระดิ่งหรือกระจกมองหลังเสริมเข้ามาด้วยก็จะดีมาก
  2. ทำความรู้จักเส้นทางที่จะปั่น หลุ่มบ่อ ถนนปะ ลูกระนาด ป้ายรถเมล์ ฯลฯ เพื่อหลีกเลี่ยงความเสี่ยงต่างๆ ที่จะตามมา
  3. หลีกเลี่ยงการปั่นขนาบข้างหรือใกล้กับรถขนาดใหญ่ เช่น รถเมล์หรือรถบรรทุก มีโอกาสที่รถขนาดใหญ่จะไม่เห็นรถจักรยานจากมุมมองของผู้ขับ
  4. มีสติอยู่เสมอ เหตุการณ์ไม่คาดคิดอาจเกิดขึ้นได้ตลอดเวลา เช่น มอเตอร์ไซค์ย้อนศร, คนเปิดประตูรถโดยไม่มอง, รถออกจากซอยกะทันหัน รวมทั้งบรรดาเจ้าถิ่น 4 ขา  สิ่งเหล่านี้อาจทำให้เราเจ็บตัวได้ถ้าประสาทสัมผัสไม่ไวพอ
  5. บนถนนสายหลักที่มีการจราจรคับคั่งและรถแล่นเร็ว การจูงจักรยานข้ามสะพานลอยก็เป็นทางเลือกหนึ่งที่น่าสนใจ
  6. ฟุตบาทบางที่อนุญาตให้ปั่นจักรยานได้ แต่พึงระลึกไว้เสมอว่า ควรมีมารยาท ให้สิทธิคนเดินเท้าเป็นอันดับแรก  ใช้ความเร็วต่ำและใช้กระดิ่งเท่าที่จำเป็นเท่านั้น
  7. การใช้จักรยานร่วมกับขนส่งมวลชนแต่ละประเภทมีเงื่อนไขแตกต่างกัน ควรศึกษาให้เข้าใจก่อนใช้บริการ
  8. การเป็นเจ้าของจักรยานสักคันในปัจจุบันไม่ใช่เรื่องยาก มีผู้ผลิตหลายแบรนด์ หลายแบบ หลายราคาให้เลือกตามความต้องการและงบประมาณ  ผู้จำหน่ายหลายรายมีโปรโมชั่นส่งเสริมการขายลดแลกแจกแถม รวมทั้งผ่อนกับบัตรเครดิตได้ด้วย


ลองดูครับ... ปั่นจักรยานในเมืองใหญ่ไม่ใช่เรื่องน่ากลัว เราเคยสนุกกับมันตอนเด็กๆ  กลับมาคร่อมมันอีกสักครั้งคุณอาจจะพบความเป็นเด็กในตัวคุณอีกคราก็เป็นได้.