8 เคล็ดลับควรรู้ ก่อนเริ่มรีโนเวทบ้านในฝันให้ได้ตามแผน

ปัจจุบันคนส่วนใหญ่เลือกที่จะรีโนเวทบ้าน เพราะมีค่าใช้จ่ายที่ค่อนข้างถูกกว่าการซื้อบ้านหลังใหม่  อีกทั้งยังช่วยเพิ่มความสวยงาม ความน่าอยู่ ความปลอดภัยให้บ้านได้ แถมยังเหมือนได้บ้านหลังใหม่จากที่พักเก่าของเราอีกด้วย


ดังนั้นวันนี้เราจึงมีเคล็ดลับหลักและข้อแนะนำดีๆ สำหรับใครที่คิดปรับปรุงบ้านของตัวเองมาฝากกัน


1. คิดเตรียมการให้ดีก่อนเริ่มรีโนเวทบ้าน

การรีโนเวทบ้านแต่ละครั้งเหมือนทำบ้านครั้งใหม่ เราต้องมองถึงจุดมุ่งหมายในการรีโนเวทบ้านของเราให้ดี บางทีต้องใช้สถาปนิกมืออาชีพเข้ามาช่วยเพื่อให้งานราบรื่นมากขึ้น ที่สำคัญต้องนึกถึงการใช้ประโยชน์ของตัวบ้านเป็นหลัก เช่น การจัดโซนต่างๆ ของบ้านต้องคำนึงถึงประโยชน์ใช้สอยมาก่อนเรื่องของความสวยงาม ดังนั้นจึงควรให้สถาปนิกช่วยออกแบบให้ เพื่อให้เห็นภาพชัดขึ้นก่อนสร้างจริง ซึ่งจะช่วยลดความล่าช้าไปได้มาก

 

2. ตรวจสอบสภาพพื้นที่ กำหนด และสรุปแนวทาง

ก่อนรีโนเวทบ้าน อย่าลืมหาข้อมูลในหลายๆ ด้านเสียก่อน เพราะการรีโนเวทบ้านนั้นมีความแตกต่างกับการลงมือสร้างใหม่ ด้วยข้อจำกัดของสภาพโครงสร้างและข้อกฎหมาย อาจเริ่มจากการตัดเก็บรูปภาพมุมบ้านสวยๆ จากนิตยสารแต่งบ้านหรือรูปจากอินเทอร์เน็ต แล้วลองสอบถามผู้รู้เฉพาะทาง อย่างสถาปนิก วิศวกร ช่างรับเหมาก่อสร้างดู เพื่อที่เราจะได้เห็นภาพที่ชัดเจนว่าเมื่อรีโนเวทบ้านไปแล้วทุกอย่างตรงตามความต้องการที่จะปรับปรุงบ้านจริงหรือไม่

3. กำหนดงบประมาณที่จะใช้สำหรับการรีโนเวท

การคิดคำนวณหรือกำหนดแผนการในเรื่องของงบประมาณสำหรับการรีโนเวทบ้าน ถือเป็นสิ่งสำคัญ เพราะการรีโนเวทบ้านนั้นต้องใช้เงินก้อนเป็นจำนวนมาก ไม่ว่าจะเป็นค่าแบบ, ค่าวัสดุ, ค่าแรงต่างๆ ดังนั้น ต้องมีการเตรียมให้ดีเพื่อให้งบประมาณไม่บานปลาย 


4. ควรตัดสินใจให้เด็ดขาดเพียงครั้งเดียว

การรีโนเวทบ้านต้องตัดสินใจให้ดี ไม่ควรเปลี่ยนไปมาขณะเริ่มงานไปแล้ว เช่น เปลี่ยนสี เปลี่ยนสเปกวัสดุกลางคัน  ดังนั้นจึงควรทำลิสต์รายชื่อวัสดุอุปกรณ์ต่างๆ สำหรับการรีโนเวทบ้านไว้ก่อน จากนั้นก็จัดลำดับความสำคัญและความจำเป็นของอุปกรณ์แต่ละชนิด ซึ่งจะช่วยให้งานเดินไปได้รวดเร็ว และงบไม่บานปลายอีกด้วย


5. หาช่างฝีมือที่ไว้ใจได้

การหาช่างผู้รับเหมาที่มีประสบการณ์ และนักออกแบบ รวมถึงวิศรกรโครงสร้างที่จะมารับงานออกแบบก่อสร้างก็เป็นปัจจัยที่จะชี้ได้ว่างานต่อเติมของเราจะสำเร็จไปด้วยดีหรือไม่ การรีโนเวทจำเป็นต้องตรวจสอบสภาพโครงสร้างบ้าน ระบบไฟฟ้า-ประปาเดิมของอาคารให้ดีก่อน เพราะการต่อเติมอาจจะไปเพิ่มน้ำหนักให้กับโครงสร้างเดิม  หรือไปกระทบกับตำแหน่งท่อไฟฟ้า ท่อประปาของเดิมได้ ทั้งนี้เพื่อป้องกันไม่ให้ส่งผลเสียต่อโครงสร้างโดยรวมในระยะยาว หรือกระทบกับความปลอดภัยในการทุบเจาะผนังซึ่งอาจทำให้ท่อประปาแตก หรือไฟรั่วจนอาจเป็นอันตรายได้

6. การเลือกอุปกรณ์ในการรีโนเวทบ้าน

ควรเลือกสิ่งของและวัสดุที่แข็งแรง คงทนต่อการใช้งาน เพื่อให้บ้านของเราคงสภาพต่อไปได้อีกนาน การเลือกวัสดุอุปกรณ์ที่ดีอาจเป็นของที่มีราคากลางๆ ก็ได้ ซึ่งการเลือกวัสดุก็ต้องพิจารณางบประมาณของเราประกอบด้วย


บางคนอาจคิดว่าการซื้อวัสดุเองจะช่วยประหยัดได้มากกกว่าให้ผู้รับเหมาซื้อให้ เพราะคิดว่าผู้รับเหมาบวกกำไร แต่ในความเป็นจริงผู้รับเหมาจะรู้แหล่งซื้อวัสดุที่ได้ราคาถูกกว่าในตลาด อาจจะได้ราคาต่ำกว่าที่เราไปซื้อเอง แต่สิ่งที่เราควรทำก็คือตั้งสเปกวัสดุให้แน่นอนเพื่อป้องกันการซื้อวัสดุสเปกต่ำกว่าความต้องการ


7. อย่าจ่ายเงินทั้งหมดให้ผู้รับเหมา

การรีโนเวทบ้าน เราไม่ควรจ่ายเงินทั้งหมดให้กับผู้รับเหมา ควรแบ่งจ่ายเป็นงวดๆ ตามชิ้นงานที่ทำเสร็จ เพราะหากผู้รับเหมาทำงานไม่ตรงกับความต้องการ เราสามารถเปลี่ยนผู้รับเหมาได้ และควรจ่ายเงินก้อนสุดท้ายให้กับผู้รับเหมาก็ต่อเมื่อเสร็จสิ้นการรีโนเวทบ้านทุกขั้นตอน และทุกอย่างเป็นไปตามความต้องการของเราแล้วเท่านั้น


หากมีความผิดพลาดหรือจุดบกพร่องจากการทำงานของผู้รับเหมาต้องรีบคุยกันให้เข้าใจ เพื่อทำการแก้ไขให้เรียบร้อย ไม่เช่นนั้นเราเองอาจต้องเสียเงินในการซ่อมแซมเพิ่มขึ้นในภายหลังได้


8. ไม่ควรอยู่ในบ้านที่กำลังรีโนเวท 

ข้อนี้ดูเหมือนจะทำยากซักหน่อย เพราะส่วนใหญ่เจ้าของบ้านมักจะยังอยู่ในบ้านตัวเองเมื่อมีการซ่อมแซม แต่หากเป็นไปได้ควรอยู่ที่อื่นก่อนซักระยะหนึ่ง เพื่อไม่ต้องปวดหัวและตามทำความสะอาดทุกวันหลังซ่อมเสร็จ หรือต้องทนกับเสียงก่อสร้างและกลิ่นของสีที่ยังไม่แห้ง อีกอย่างที่ควรทำคืออย่าปล่อยให้เด็กและสัตว์เลี้ยงเข้ามาในพื้นที่ เพราะนอกจากจะเป็นอันตรายแล้ว ยังทำให้ช่างทำงานไม่สะดวกอีกด้วย


การรีโนเวทบ้านไม่ใช่เรื่องยาก เพียงแต่เราต้องศึกษาข้อมูลไว้ล่วงหน้าและหาคำแนะนำดีๆ จากผู้มีประสบการณ์ในจุดที่เราไม่เชี่ยวชาญ  แค่นี้เราก็จะสามารถรีโนเวทบ้านได้อย่างสบายใจ แถมยังสบายเงินในกระเป๋าด้วย